"...หลักนิติธรรมนั้นว่าไปแล้วมันคือหลักที่ใช้คานอำนาจของฝ่ายบริหาร คานอำนาจฝ่ายตุลาการ คานอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลักตรวจสอบการใช้อำนาจ ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ ไม่ให้เกินไป ไม่ให้เสียความเป็นธรรม เป็นหลักที่นักนิติศาสตร์พึงรับรู้ พึงเข้าใจ..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ฝ่ายบริหารกับการรักษาความเชื่อมั่นตามหลักนิติธรรม ภายในงานสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง หลักนิติธรรมกับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบศาลไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ทศวรรษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
นายวิษณุ กล่าวว่า หลักนิติธรรม ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง และในประเทศไทยมีความพยายามบัญญัติคำให้ถูกต้องตามความหมายของ Rule of Law ซึ่งเป็นหลักการที่พัฒนามาจากแนวความคิดในระบบกฎหมายของอังกฤษ ซึ่งคำว่าหลักนิติธรรมนี้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ริเริ่มใช้ จากนั้นคำนี้ก็ถูกใช้อย่างพร่หลายในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ หลักนิติธรรม ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (รธน.) ครั้งแรก เมื่อปี 2550 ต่อมาใน รธน.ปี 2560 ได้นำมาบัญญัติไว้ในมาตรา 3 และ มาตรา 26 แม้จะไม่เหมือนกันทุกถ้อยคำ แต่หลักการเดิมยังรักษาสาระสำคัญที่ระบุว่า รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นฝ่ายบริหาร และศาลเป็นฝ่ายตุลาการ รวมถึงหน่วยงานทั้งหลายของรัฐ ตลอดจนองค์กรอิสระ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม หากไม่ปฏิบัติตามจะฝ่าฝืนกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้นำไปสู่การฟ้องร้องกันได้ และความจริงก็มีการฟ้องร้องกันเรื่อยมาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องหลักนิติธรรม
ฝ่ายบริหารจึงถูกผูกมัดโดยหลักนิติธรรม 2 ประการ คือ 1.การปฏิบัติหน้าที่ต้องถูกต้องสอดคล้องกับหลักนิติธรรม 2.การทำหน้าที่ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด ต้องดูแลรักษาให้การออกกหมายทุกระดับที่อยู่ในอำนาจของตนเองสอดคล้องกับหลักนิติธรรม หากไม่สอดคล้องและมีการร้องเรียน ศาลอาจตัดสินให้กฎเหล่านั้น เช่น พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) , กฎกระทรวง หรือ มติ ครม. ขัดต่อหลักนิติธรรม และไม่สามารถบังคับใช้ได้ ดังที่เคยปรากฏมาแล้วในหลายกรณี
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารมีที่ปรึกษาทางกฎหมายคือ สำนักงานกฤษฎีกาที่คอยให้คำแนะนำว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ในการออกกฎหมายของฝ่ายบริหาร ยกตัวอย่างในอดีตมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เรือ ที่มีบทบัญญัติว่า ผู้เป็นเจ้าของเรือจะต้องจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยผู้โดยสาร ต่อมามีการออกกฎกระทรวงขึ้นมารองรับ กำหนดให้มีการติดตั้งเสื้อชูชีพ เชือกช่วยชีวิตประจำเรือ หากไม่มีจะต้องมีความผิดทางอาญา
ต่อมาเกิดเหตุเรือบรรทุกทรายชนเรือข้ามฝากที่ท่าพระจันทร์-รพ.ศิริราช เป็นเหตุให้เรือล่ม มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จึงเกิดการฟ้องร้องจากญาติผู้เสียหาย เรือบรรทุกทรายที่เป็นต้นเหตุไม่มีเงิน ยอมถูกฟ้องล้มละลาย ส่วนเรือโดยสาร ก็ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพราะมีการติดตั้งเสื้อชูชีพ เชือกช่วยชีวิตไว้อย่างถูกต้อง และยังมีหลักฐานว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็สวมเสื้อชูชีพไว้ด้วย จะให้ไปบอกว่าเขาประมาทก็ไม่ได้ จะเรียกค่าเสียหายก็ไม่ได้
ต่อมา ทำให้กรมเจ้าท่าขอแก้ไขกฎกระทรวง เสนอมาให้ ครม.พิจารณา โดยกำหนดเพิ่มเติมว่า นอกจากเสื้อชูชีพและเชือกช่วยชีวิต ยังต้องกำหนดให้มีการทำประกันภัยให้กับผู้โดยสาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกรณีข้างต้น แต่สุดท้าย กฤษฎีกา มีความเห็นแย้งว่า กฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการทำเกินอำนาจที่ พ.ร.บ.เรือ กำหนดไว้ และขัดต่อหลักนิติธรรม เนื่องจากเห็นว่า การบังคับให้ทำประกัน ไม่ได้อยู่ในหลักการทำให้เกิดความปลอดภัยตามที่ พ.ร.บ.เรือ กำหนด จึงถือว่าเกินเลยต่อขอบเขตอำนาจ และขัดต่อหลักนิติธรรม จึงเป็นที่เข้าใจว่า ฝ่ายบริหารทำอะไรเกินกว่าอำนาจนั้น จะถือว่าขัดต่อหลักนิติธรรม ฝ่ายบริหารจะเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐานลำเอียงก็ไม่ได้
อีกตัวอย่างคือกรณีที่เกิดขึ้นกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เหตุเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีการเปิดรับสมัครสอบข้าราชการประจำปี มีเด็กคนหนึ่งไปสอบ และเดินทางไปเฝ้าสำนักงาน ก.พ.เพื่อรอดูผลสอบที่จะต้องปิดประกาศไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่าเด็กมานั่งรอทุกวัน แต่ผลสอบยังไม่ออก จึงขอเบอร์โทรศัพท์ไว้จะโทรไปบอกเมื่อผลสอบออก ต่อมาเด็กไปดูผลสอบวันพฤหัสบดีก็พบว่ายังไม่ประกาศ และประเมินว่าวันศุกร์ก็คงไม่ประกาศ ส่วนเสาร์-อาทิตย์เป็นวันหยุดราชการ จันทร์-อังคารถัดมาเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ จึงตัดสินใจเดินทางกลับต่างจังหวัด แล้วตั้งใจว่าจะมาดูผลสอบอีกครั้งวันพุธ
ผลปรากฏว่า วันศุกร์เจ้าหน้าที่นำผลสอบ ก.พ.มาติด พร้อมแจ้งให้ผู้ที่ผ่านมาการสอบข้อเขียนต้องมาสอบสัมภาษณ์ในวันพุธ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ใครไม่มาถือว่าสละสิทธิ์ ปรากฎว่าเด็กคนดังกล่าวกลับมา กทม.มาดูผลสอบอีกทีเย็นวันพุธ ก็รู้ว่าหมดสิทธิ์สอบทั้งที่ผ่านสอบข้อเขียนแล้ว เด็กคนนี้นั่งร้องไห้อยู่หน้าสำนักงาน ก.พ. ก็มีคนปรารถนาดีให้ไปฟ้องศาลปกครอง กระทั่งศาลชี้ว่า จริงอยู่ที่ ก.พ.ดำเนินการตามกฎกติกาถูกต้อง แต่การประกาศผลสอบและนัดสัมภาษณ์กระชั้นชิด เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เห็นหัวอกคนอยู่ต่างจังหวัด ทำให้เกิดการได้เปรียบแก่คน กทม. ถือว่าขัดต่อหลักนิติธรรม ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ยกเลิกประกาศ แล้วให้ทำการประกาศและนัดสัมภาษณ์ใหม่ให้สมควรแก่เหตุกว่านี้
สมัยก่อนเราชินกับการที่ศาลตัดสินว่า จำเลยผิดตามมาตรานั้น มาตรานี้ แต่วันนี้ศาลอาจไม่ต้องอ้างมาตราใดๆ เพราะอาจจะบอกว่าจำเลยผิดเพราะขัดต่อหลักนิติธรรมก็ได้ นี่คือภาพรวมให้เห็นว่าหลักนิติธรรมของเราเดินไปไกลถึงขั้นนั้น และเป็นเรื่องที่ควรรู้และทำความเข้าใจ
นายวิษณุ กล่าวทิ้งท้ายตอนหนึ่งว่า กรณีสุดท้ายที่ขอยกตัวอย่าง คือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 คดีที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้มาจากการเลือกตั้งเพียงทางเดียว เป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกัน ทำให้พบว่า แม้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะถือเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ แต่ถ้าศาลเห็นว่า เสียงข้างมากเหล่านั้นเป็นเสียงข้างมากที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม เสียงข้างมากนั้นก็ใช้ไม่ได้ เพราะหลักนิติธรรมใหญ่กว่าเสียงข้างมาก ถือเป็นคำวินิจฉัยที่สำคัญมาก และเป็นบรรทัดฐานมาถึงปัจจุบัน เพราะกฎหมายที่ออกจากรัฐสภาล้วนดำเนินการโดยเสียงข้างมาก แต่เมื่อเรื่องมาถึงศาล ศาลเห็นว่าต่อให้เป็นเสียงข้างมาก แต่หากขัดต่อหลักนิติธรรมคำเดียว กฎหมายนั้นจะบังคับใช้ไม่ได้ เป็นคำวินิจฉัย 15-18/2556 เป็นหลักที่ทำให้เราหูสว่างตาสว่างเข้าใจหลักนิติธรรมมากขึ้น
“หลักนิติธรรมนั้น ว่าไปแล้วมันคือหลักที่ใช้คานอำนาจของฝ่ายบริหาร คานอำนาจฝ่ายตุลาการ คานอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลักตรวจสอบการใช้อำนาจ ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ ไม่ให้เกินไป ไม่ให้เสียความเป็นธรรม เป็นหลักที่นักนิติศาสตร์พึงรับรู้ พึงเข้าใจ” นายวิษณุ กล่าว