"...“คนจ่ายสินบนอาจไม่ต้องติดคุก ถ้าเขามาเปิดโปงอย่างหมดเปลือกต่อ ป.ป.ช. ก่อนเรื่องจะถูกเปิดโปงหรือถูกจับได้ และที่ทำไปเพราะจำยอมหรือเดือดร้อนจากเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง ไม่ใช่กรณีจงใจติดสินบนเพื่อให้ตนมีอภิสิทธิ์หรือได้งาน” วิธีนี้จะทำให้คอร์รัปชันลดลง เพราะคนโกงกลัวถูกย้อนศรภายหลังและเสี่ยงมากจนไม่คุ้มที่จะรับเงินหรือถ้ารับก็ต้องแพงมาก..."
“คนจ่ายสินบนอาจไม่ต้องติดคุก ถ้าเขามาเปิดโปงอย่างหมดเปลือกต่อ ป.ป.ช. ก่อนเรื่องจะถูกเปิดโปงหรือถูกจับได้ และที่ทำไปเพราะจำยอมหรือเดือดร้อนจากเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง ไม่ใช่กรณีจงใจติดสินบนเพื่อให้ตนมีอภิสิทธิ์หรือได้งาน” วิธีนี้จะทำให้คอร์รัปชันลดลง เพราะคนโกงกลัวถูกย้อนศรภายหลังและเสี่ยงมากจนไม่คุ้มที่จะรับเงินหรือถ้ารับก็ต้องแพงมาก
เงื่อนไขให้มีการผ่อนปรนได้นี้ คือ การรับสารภาพ ยอมชดใช้ความเสียหาย ถูกทัณฑ์บนหรือมีข้อตกลงอื่นกับรัฐ และต้องมีโทษปรับรุนแรงจนมั่นใจว่าเขาจะไม่ทำเช่นนั้นอีก
แนวทางนี้มีใช้ในญี่ปุ่น อเมริกาและประเทศสมาชิก OECD ที่มีมาตรฐานสูงในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย จนกลายเป็นกติกาที่ประชาชน เอกชนและนักลงทุนต่างชาติมั่นใจว่า ทุกคนต้องปฏิบัติในบรรทัดฐานเดียวกัน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีใช้มาตรการลักษณะนี้ในตลาดหลักทรัพย์ คือการลงโทษทางแพ่งที่รุนแรงและเปิดเผยแทนการดำเนินคดีอาญากับนักปั่นหุ้นหรือผู้ค้าหุ้นที่ใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบผู้อื่น
เหตุผลสนับสนุนเพิ่มเติมคือ
ทุกวันนี้ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐกล้ารีดไถ เรียกรับส่วยสินบน กินเงินใต้โต๊ะอย่างไม่เกรงกลัวใคร ทั้งที่เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง สร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองและประชาชน แต่พวกเขาก็รู้ดีว่า พ่อค้าประชาชนที่ถูกกระทำมักเงียบเฉย เพราะเรื่องแบบนี้หาพยานหลักฐานการรับจ่ายเงินยาก หรือมีการข่มขู่ให้เกรงกลัว ซ้ำร้ายหากตกเป็นข่าวคนจ่ายก็อาจโดนคดีด้วย ขณะที่หลายคนปิดปากเงียบเพราะสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
ดังนั้น หากทำให้ผู้รับและผู้จ่ายต่างระแวงกัน คือ เจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิ์แจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้ยื่นเสนอ ฝ่ายผู้เสียหายหรือคนที่จ่ายไปแล้วก็สามารถกลับใจไปร้อง ป.ป.ช. ได้เช่นกัน จึงเชื่อว่าวิธีนี้จะเพิ่ม โอกาสในการจับเจ้าหน้าที่รัฐที่คดโกงได้มากขึ้น จนการรีดไถ ส่วย สินบนลดน้อยลง
การควบคุมส่วย สินบน เงินใต้โต๊ะที่ทั่วโลกนิยมใช้ คือ การเล่นงานคนร่ำรวยผิดปรกติ การตรวจสอบการเคลื่อนไหวทางการเงินอย่างเข้มข้นอย่างไม่เลือกหน้า เช่น การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นไว้ต่อ ป.ป.ช. ร่วมกับมาตรการทางภาษี เป็นต้น
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
3 สิงหาคม 2565