"...สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและนาวาตรี วรวิทย์ เตชะสุภากูร อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีท่องเที่ยวมาร่วม 'ปั่นร้อยใจไทย-เกาะกง ครั้งที่ 3' จากขอบชายแดนไทยที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ผ่านด่านพรมแดนเพื่อเข้าสู่จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา พร้อมคาราวานนักปั่นจักรยานชาวไทยและชาวกัมพูชารวมกว่า 500 คนครับ สนุก และได้เห็นศักยภาพใหม่ๆ ระหว่างไทยและกัมพูชาอีกเพียบ..."
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและนาวาตรี วรวิทย์ เตชะสุภากูร อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีท่องเที่ยวมาร่วม 'ปั่นร้อยใจไทย-เกาะกง ครั้งที่ 3' จากขอบชายแดนไทยที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ผ่านด่านพรมแดนเพื่อเข้าสู่จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา พร้อมคาราวานนักปั่นจักรยานชาวไทยและชาวกัมพูชารวมกว่า 500 คนครับ สนุก และได้เห็นศักยภาพใหม่ๆ ระหว่างไทยและกัมพูชาอีกเพียบ
ด่านชายแดนนี้น่าจะเป็นแห่งเดียวในไทยที่ขณะเดินผ่านด่านบนบก จะมองเห็นชายทะเล รับลมทะเลจากฝั่งขวา และรับลมภูเขาที่สดชื่นจากซ้ายมือ สภาพแวดล้อมธรรมชาติของพื้นที่นอกเขตด่าน สวยงามมาก
คนไทยโดยมากรู้จักตราด ผ่านภาพจำของเกาะช้าง เกาะกูด และเกาะหมาก เป็นส่วนใหญ่ แต่คนไทยยังไม่มากนักที่จะเคยมาสุดเขตแดนสยามที่ติดกัมพูชาทางชายฝั่งทะเล
น่าสนใจยิ่งในการเร่งความร่วมมือ ส่งเสริมและดึงดูดการท่องเที่ยวของชาวโลกให้เข้ามาเยือนสามประเทศในการเดินทางคราวเดียว (one trip-3 countries) และเชื่อมการท่องเที่ยว 5 เกาะ ตั้งแต่ เกาะฟูก้วกในเวียดนามใต้-เกาะกงนอกในกัมพูชา-เกาะกูด-เกาะหมาก-และเกาะช้างในไทย
เพราะอะไร…
เพราะถนนสาย R 10 ที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ให้ทุนสร้าง เชื่อมถนนเก่าในกัมพูชา ซึ่งเชื่อมตั้งแต่ชายแดนไทยผ่านเมืองชายฝั่งต่างๆในกัมพูชาไปจนสุดทางที่ชายฝั่งเวียดนามนั้น ทำเสร็จแล้ว ขาดช่วงกลางๆอีกนิดหน่อยเท่านั้น
สนามบินที่จังหวัดตราดของบางกอกแอร์เวย์กำลังขยายรันเวย์ให้เป็นสนามบินนานาชาติเพื่อรับเครื่องบินใหญ่ๆได้ในไม่ช้า และจะบินเชื่อมเกาะสมุยเข้ามาเพิ่ม
ส่วนสนามบินที่จังหวัดเกาะกง (ซึ่งเป็นชื่อจังหวัดบนแผ่นดินใหญ่ …ไม่ใช่เกาะ) ก็กำลังมีแผนจะขยายให้เป็นสนามบินนานาชาติ
เหมือนกับที่สนามบินเมืองสีหนุวิลล์ที่เป็นสนามบินนานาชาติไปก่อนแล้ว
สนามบินเหล่านี้จะทำให้นักเดินทางนานาชาติเข้ามาสู่เมืองชายฝั่งเวียดนาม กัมพูชา และไทยได้เพิ่มขึ้นจากที่เคยต้องเข้าเฉพาะที่สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา หรือสนามบินที่โฮจีมินท์ซิตี้เท่านั้น
แปลว่าทางบก ทางอากาศส่งคนไปมาหาสู่สะดวกขึ้น
แถมจุดนี้สามารถขนส่งสินค้าทางเรือและเรือท่องเที่ยวเชื่อมท่าเรือในกัมพูชา เวียดนามกับชายฝั่งตะวันออกของไทยได้อีก ตั้งแต่เมืองท่าต่างๆ ของเวียดนามไล่มาถึงเมืองท่ากำปอต เมืองท่าสีหนุวิลล์ แวะเกาะกง ผ่านเขตแดนทางทะเลเข้ามาถึงท่าเรือที่ตราด จันทบุรี มาบตาพุด และแหลมฉบัง
หรือแม้แต่จะเข้ามาปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนตัดข้ามอ่าวไปถึงกลุ่มเมืองเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ก็ยังไหว ถ้ามีท่าเรือที่พร้อมยื่นออกมารับนะ
ในการปั่นจักรยานเชื่อม 2 แผ่นดินครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 สองหนแรกเกิดขึ้นในช่วงที่ผมยังเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยวในปี 2561 และ 2562 จากนั้นด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้ต้องงดจัดกิจกรรมไปยาว จนเพิ่งมาช่วงผ่อนคลายในกลางปี 2565 จึงได้จัดกิจกรรมปั่นจักรยานมิตรภาพ 2 แผ่นดินในชื่อ 'ปั่นร้อยใจไทย-เกาะกง' อีกครั้ง
สำหรับผมเอง นี่นับเป็นทริปออกนอกราชอาณาจักรไทยหนแรกของผมนับแต่โควิดปรากฏตัวขึ้นบนโลกเมื่อ 3 สงกรานต์ที่ผ่านมา จึงน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผมเชียวละครับ
ผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกงเป็นสุภาพสตรีสาววัยเพียง 40 เศษ นามว่า คุณหญิงมิถุนา ภู่ทอง และสามีในชุดปั่นจักรยานนำคณะนักปั่นฝ่ายกัมพูชา 200 คน มาต้อนรับและสมทบกับขบวนคาราวานจักรยาน 300 คันของฝ่ายไทย ซึ่งฝ่ายไทยมีมาจากหลายจังหวัดครับ ทั้งจากตราด จันทบุรี มีแม้แต่คณะนักปั่นจากชมรมจักรยานมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ และจากจังหวัดอื่นๆ อีกหลายคณะ
ที่จุดนัดสมทบขบวนนักปั่นที่ฝั่งกัมพูชานี้ มีรองรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของกัมพูชา เดินทางจากกรุงพนมเปญมาเป็นประธานปล่อยตัวกิจกรรม ที่บริเวณถนนสายกลางของฝั่งชายแดนกัมพูชา ที่นั่นมีกิจการทั้งโรงแรมที่พักร้านอาหารและย่านบันเทิงที่ไม่ต้องเดาก็พอจะรู้ว่าเป็นทุนจากจีนเป็นจำนวนพอควร
ถนนสายกลางนี้ใหม่ กว้างและนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินเรียบร้อย ซึ่งกำลังเป็นมาตรฐานของเมืองที่กำลังบูมในกัมพูชาและเวียดนามในปัจจุบัน
ระยะทางที่เราเตรียมตามโปรแกรมคือปั่นจักรยานเป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร เลียบไปตามชายหาดอันยาวเหยียดของจังหวัดเกาะกง จุดเด่นคือจะได้ปั่นข้ามสะพานข้ามแม่น้ำสตึงงัม (บางคนเรียกแม่น้ำครางคืน บ้างก็เรียก คลองคืน) น้ำจืดของแม่น้ำในตอนที่ผมปั่นข้ามสะพานนี้สะอาดใส พื้นท้องน้ำเป็นทรายขาวละเอียด แม่น้ำกว้างถึง 2 กิโลเมตร ผมจึงมีโอกาสปั่นข้ามสะพานด้วยความตื่นตา มีสันทรายกลางแม่น้ำมากมาย สอบถามจากผู้รู้ในพื้นที่ได้ทราบว่า เนื่องจากเทือกเขาบรรทัดที่ทอดตัวยาวเป็นเส้นแบ่งแดนไทยกับกัมพูชานั้น ยังทอดตัวลึกเข้าไปในแผ่นดินฝั่งกัมพูชาอีกไกล มีป่าดิบชื้นขนาดใหญ่ ซึ่งถูกประกาศเป็นเขตอุทยาน มียอดเขาสูงกว่า 1,500 เมตร จึงทำให้เมฆที่พาความชื้นจากทะเลคายเม็ดฝนลงป่าตอนใน ปีละเกิน 6 เดือน (คล้ายลักษณะฝน 8 แดด 4 นั่นเอง) จังหวัดเกาะกงซึ่งมีขนาดที่ดินใหญ่กว่า จังหวัดตราดอยู่หลายเท่าตัว จึงมีน้ำจืดใช้ได้อย่างเหลือเฟือ
ทรายของที่นี่เป็นที่ต้องการ เพราะเป็นทรายที่มีส่วนผสมซิลิก้าสูง ทราบว่าประเทศสิงคโปร์มาซื้อทรายจากที่นี่ไปใช้เป็นประจำ
เป็นอันว่า เมืองนี้มีน้ำจืดดีๆ มีทรายขาว มีป่าไม้ที่แน่นหนา มีชายหาดยาวเหยียด ทีนี้ก็ปั่นไปผ่านป่าชายเลนขนาดมหึมา ป่าชายเลนที่นี่มีขนาดใหญ่จนสหประชาชาติต้องให้ความสนใจส่งเสริมการอนุรักษ์รักษาไว้
เมื่อธรรมชาติของที่นี่อุดมสมบูรณ์อย่างนี้จึงไม่ต้องสงสัยที่อาหารการกินของที่นี่สมบูรณ์ตามไปด้วย รสชาติจะคล้ายกับที่คนสยามทำอาหารกิน คือมีรสเผ็ด ที่นี่เขามีน้ำปลาดี มีกุ้งแห้งกรอบอร่อย และคนจำนวนมากพูดภาษาไทยได้ เพราะที่นี่มีชาวไทยเกาะกง คือชาวสยามที่ติดไปกับแผ่นดินในช่วงที่ฝรั่งเศสเอาพื้นที่ส่วนนี้ไปจากราชอาณาจักรสยามเมื่อสมัยล่าอาณานิคม
ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกงและสามีก็พูดไทยได้คล่องแคล่ว คุณหญิงมิถุนานั้น เคยสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทบุรี ท่านเป็นหลานสาวของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของกัมพูชา ท่านสาย ภู่ทอง และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหญิงเมื่ออายุเพียง 38 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งมาแล้วเกิน 4 ปี
นอกจากราษฏรชาวพุธของที่นี่แล้ว ผมยังสังเกตเห็นชาวมุสลิมท้องถิ่นของที่นี่หนาตาทีเดียว น่าจะเป็นเครือญาติกับพี่น้องมุสลิมทางฝั่งจังหวัดตราดนั่นเอง อนึ่งท่านรองรัฐมนตรีช่วยท่องเที่ยวและกีฬาที่มาเป็นประธานร่วมเปิดกิจกรรมจากพนมเปญนั้น ท่านก็เป็นมุสลิมด้วย ท่านชื่อ กาเธ โมฮัมหมัด นอร์ศรี อายุอานามน่าจะไม่ห่างจากผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกงเช่นกัน พูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว พูดภาษาอาหรับได้อีกด้วย
เป็นอันว่า ผู้บริหารรุ่นใหม่ๆของกัมพูชาที่อายุน้อยได้ไต่มาถึงตำแหน่งระดับสูงกันแล้ว ความสามารถด้านภาษาและวัฒนธรรมสากลน่าจะเสริมพลังให้การพัฒนาประเทศกัมพูชาสามารถก้าวไปต่อได้อย่างน่าประทับใจ
ยังมีสองจุดแวะสำคัญในเส้นทางปั่นคือ จอดจักรยานเข้าสักการะหลวงพ่อหมึก ซึ่งเป็นพระปูนปั้น ตั้งอยู่ที่วัดชื่อวัดปากคลอง แต่ที่จริงต้องถือว่าตั้งอยู่ที่หน้าชายทะเล มีรูปปูนสักการะขององค์หลวงพ่อทาสีดำองค์ใหญ่จริงๆ
ประวัติศาสตร์ที่จดจำในยุคเขมรแดงปกครองนั้น หลวงพ่อหมึกเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวไทยเกาะกงในยุคแห่งความโหดร้ายที่เขมรแดงมุ่งทำลายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันศาสนาหรือการค้าเสรีทุกชนิด นักปั่นได้รับการมอบผ้ายันต์สีแดงสดลงอักขระมาเป็นสิริมงคลกันถ้วนหน้า แล้วออกปั่นต่อยาวๆไปจนถึงที่ทำการของกำนันตำบลบ้านบางคายัค กลางป่าชายเลน นักปั่นหยุดพักทานมื้อกลางกันที่ศาลาเรียนรู้เรื่องพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของไทย ซึ่งชาวไทยเกาะกงในพื้นที่นี้ยึดถือมาปฏิบัติในการดำรงชีวิตกัน
ที่จุดนี้ เรามีการแถลงข่าวกิจกรรมการปั่นจักรยาน 2 แผ่นดินร่วมกัน มีผลัดกันจับสลากมอบของที่ระลึก แล้วนักปั่นจึงออกปั่นย้อนเส้นทางเดิมมุ่งกลับไปจุดตั้งต้น ก็จะเป็นอันครบ 50 กิโลเมตรพอดี
จบกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงกีฬา และเป็นการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ไปอย่างงดงาม
เท่าที่ได้สนทนาระหว่างปั่นจักรยานคู่ขนานไปกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกง ผมจับความได้ว่า จังหวัดเกาะกงและจังหวัดตราดมีเป้าหมายสอดคล้องกันเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์และเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ รายได้หลักของทั้ง 2 จังหวัดนี้มาจากการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวคล้ายกัน ผู้คนประกอบอาชีพประมงชายฝั่งกันแยะ มีชุมชนมุสลิมอย่างมีสีสรร มีอาหารการกินสมบูรณ์ทั้งสองฝ่าย ประชากรในแต่ละจังหวัดมีเท่าๆกันคือ 2 แสน แต่ที่ดินของจังหวัดเกาะกงนั้นใหญ่กว่าจังหวัดตราด ราว 5 เท่าตัว ตราดมีขนาด 2,819 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่จังหวัดเกาะกงมีขนาด 10,090 ตารางกิโลเมตร
ดังนั้น ความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนที่นี่จึงช่วยเติมเต็มให้กันและกันได้ ด่านชายแดนที่คลองใหญ่ของตราดนี้ไม่เคยถูกปิดเลย ไม่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงจะมีช่วงขลุกขลักขึ้นลงกันอย่างไร
สิ่งที่ผมมองเห็นจึงเป็น ความต่อเนื่องของความสัมพันธ์ที่ชายแดนจุดนี้ที่ยังก้าวไปให้รุ่งเรืองได้อีกมากๆ เพราะใครก็ทราบ ว่าเมืองท่าชายฝั่งในโลกทุกทวีปนั้น มีจีดีพีโตไวกว่าพวกพื้นที่ไม่ติดชายฝั่งทั้งนั้น ยิ่งถ้าเอาแผนที่มากาง มีถนนทางหลวงมาตรฐานอย่าง R10 ชิดแนวชายฝั่ง มีถนน R1 เป็นสายในแผ่นดินลึกเข้าไปแล่นคู่ขนาน แบบนี้ยิ่งสามารถขนส่งเดินทางได้สะดวกใหญ่ ที่นี่จึงถูกจีนจับตา ถูกตะวันตกสนใจ และมีญี่ปุ่นที่ทำการบ้านในระดับโครงสร้างมานานมากแล้ว จับตาคุณหญิงมิถุนา จับตารองรัฐมนตรีช่วยที่อายุน้อยๆเหล่านี้ไว้เถอะครับ อีกหน่อยจะเป็นกุญแจสำคัญในการเชื่อมความร่วมมืออีกสารพัดด้านได้ต่อไป
ปิดท้ายบทความนี้ด้วยความสงสัยอย่างเดียว ที่ไม่ไกลจากด่านชายแดนที่อำเภอคลองใหญ่ฝั่งไทยเรา ผมมีโอกาสเดินสำรวจสะพานท่าเทียบเรือใหม่ๆ สดๆ มีความยาวที่ยื่นลงไปในทะเลตั้ง 2 กิโลเมตร! มีกำแพงกันคลื่นชนิดหินทิ้งขนาดใหญ่ที่อยู่ไกลออกไปอย่างยาวเหยียด ติดไฟสปอร์ตไลท์แบบเสาสูงมีแสงส่องสว่างทันสมัย มีคานกันเรือกระแทกเวลาเทียบ มีขอบยางลดการเสียดสีกับกราบเรือ ซึ่งดูแล้วคงไม่เคยถูกเรือเสียดสีเลย
ชาวบ้านที่คลองใหญ่บอกว่าเค้าก็สงสัย ทำไมไม่ยักมีการเปิดใช้งานเทียบรับเรือสินค้าหรือแม้แต่เทียบรับเรือโดยสารหรือสปีดโบ้ทสำหรับพานักท่องเที่ยวไปไหนเลย ทั้งที่มองไปข้างหน้าก็เห็นทั้งเกาะกูดและเกาะหมากอยู่เต็มตา เห็นเกาะช้างอยู่ไกลๆ
มีป้ายบอกว่าทางไหนไปท่าเทียบเรือประมง ท่าเทียบเรือท่องเที่ยว และทางไปท่าเทียบเรือตรวจการณ์เสร็จสรรพ แต่เท่าที่มีมาจอดคือเรือตรวจการณ์ของกองทัพเรือเจ้าเดียว
คนพื้นที่บอกว่าสร้างเสร็จสวยงาม ติดป้ายว่าเสร็จเมื่อ พฤษภาคม 2559 แต่ยังไม่เห็นมีกิจการกิจกรรมอะอะไรมาตั้ง 5 ปีแล้ว! ได้ยินว่าใช้งบก่อสร้างไปเกินกว่า 1,300 ล้านบาท ชาวบ้านเล่าว่าท่าเทียบเรือยาวเหยียดขนาดนี้ น่าจะทำประชุมประชาคมให้เกิดการส่งมอบใช้งานจริงๆ หรือถ้านึกอะไรไม่ออกก็มอบให้ชาวจังหวัดตราดไปบริหารจัดการกันต่อดีมั้ย
ถ้ากรมเจ้าท่า กรมประมง การท่าเรือ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งชักชวนชาวตราดมาประชุมทำประชาคมกับฝ่ายรัฐและเชิญเอกชนตลอดจนชุมชนพื้นที่จังหวัดตราด และเชิญหน่วยงานด้านความมั่นคง ศุลกากร มาร่วมฟังข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับการมีท่าเทียบเรือไซส์นี้เสียหน่อย
เชื่อว่าคงเกิดไอเดียใช้งานสิ่งปลูกสร้างจนเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายจนได้เองแหละครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา