"...ด้วยความที่เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่มีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป รัฐธรรมนูญจึงวางมาตรการตรวจสอบร่างไว้มากกว่า โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 132 ก่อนอื่น คงทราบแล้วว่าใช้กระบวนการพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ไม่ใช่พิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้วจึงไปวุฒิสภาเหมือนพระราชบัญญัติทั่วไป ต้องพิจารณาให้แล้ว เสร็จภายใน 180 วัน และต้องใช้เสียงโหวตมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา จากนั้นจะต้องไปด่านหินที่ 1 ที่เรากำลังพูดกันวันนี้..."
ยังไม่จบสำหรับประเด็นหาร 100 หรือ 500 แม้หาร 500 จะผ่านด่านแรกชนะโหวตวาระ 2 มาแล้ว และไม่มีปัญหาแน่นอนในการพิจารณาให้จบทั้งฉบับและโหวตวาระ 3 ในการประชุมวันที่ 26-27 กรกฎาคม 2565
ต้องผ่านอีก 3 ด่านหิน
- ด่าน กกต.
- ด่านรัฐสภา
- ด่านศาลรัฐธรรมนูญ
ด้วยความที่เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่มีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป รัฐธรรมนูญจึงวางมาตรการตรวจสอบร่างไว้มากกว่า โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 132
ก่อนอื่น คงทราบแล้วว่าใช้กระบวนการพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ไม่ใช่พิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้วจึงไปวุฒิสภาเหมือนพระราชบัญญัติทั่วไป ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน และต้องใช้เสียงโหวตมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา
จากนั้นจะต้องไปด่านหินที่ 1 ที่เรากำลังพูดกันวันนี้
ตัองส่งไปกกกต.ให้ความเห็นภายใน 15 วัน
ทั้งนี้ ตามมาตรา 132 (2)
“ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น…”
ที่ตัองคัดลอกตัวบทมาให้ดูกัน เพราะมีคนเข้าใจผิดว่าต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยอัตโนมัติตั้งแต่ด่านนี้เลย
ไม่ใช่นะครับ
โปรดสังเกตคำ ‘หรือ’ และ ‘ที่เกี่ยวข้อง’ ในตัวบท
จึงไม่ใช่ส่งทั้ง 2 ศาล และทุกองค์กรอิสระ
ในกรณีนี้ที่แน่นอนคือส่งกกต.
กกต.จะตัองให้ความเห็นกลับมาภายใน 10 วันว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฉบับนี้ที่รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบในช่วง 26-27 กรกฎาคม 2565 มีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทําให้ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่
ถ้าพ้นกำหนด 10 วันไปแล้วไม่ทักท้วงมาก็ถือว่าผ่านด่านแรก
ถ้าทักท้วงมาก็จะเข้าสู่ด่านหินที่ 2 คือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเองที่จะต้องดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยมีอำนาจที่จะแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ได้รับความเห็นหรือข้อทักท้วงมา
ก็จะเกิดการอภิปรายทั่วไปในรัฐสภาอีกครั้ง
จะเป็นการอภิปรายแบบ ‘ทั่วไป’ จริง ๆ ไม่จำกัดเฉพาะกรรมาธิการเสียงข้างมาก กรรมาธิการที่สงวนความเห็น และผู้แปรญัตติที่สงวนความเห็น ดังเช่นในการอภิปรายวาระ 2 ที่ผ่านมา
และต้องจบลงด้วยการโหวตอีกครั้ง
โหวตว่าจะยืนยันความเห็นตามที่รัฐสภาได้พิจารณาไปแล้ว หรือจะแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ได้รับความเห็นหรือข้อทักท้วงมา
ทั้ง 2 ด่านนี้ใช้เวลารวม (15 + 10 + 30) 55 วัน
เกือบ 2 เดือน
ประมาณกลางเดือนกันยายน 2565 โน่น จึงจะผ่าน 2 ด่านแรกนี้ไป
กรณีนี้ ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ กกต.จะไม่ทักท้วงมา ตอบว่าโดยปกติแล้วเนื่องจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กกต. เป็นผู้ยกร่างเสนอมา โดยตีความรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 91 ที่แก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนระบบเลือกตั้งเมื่อปี 2554 โดยให้ใช้สูตรคำนวณหาร 100 จึงน่าจะต้องยืนยันความเห็นเดิมมา ทั้งด้วยเหตุผลว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ/หรือเหตุผลอื่น ๆ ในการออกแบบระบบการคำนวณส.ส.บัญขีรายชื่อให้เหมาะสมกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งอาจจะมีเหตุผลที่ว่าการพาสูตรคำนวณแบบสัดส่วนผสม หรือ MMP เข้าทางประตูหลังบนพื้นฐานบัตร 2 ใบ 400 : 100 ที่ควรจะเป็นระบบคู่ขนาน หรือ MMM นั้นจะก่อให้เกิดความเบี่ยงเบนหรือไม่อย่างไร
แต่สำหรับประเทศไทย อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้นอย่าคิดตามเหตุผลทั่วไปสถานเดียว
กกต.อาจจะไม่ทักท้วงมาก็ได้ !
แต่ถ้า กกต.ทักท้วงมาว่ายังคงเห็นด้วยกับหาร 100 รัฐสภาโดยสมาชิกรัฐสภาทุกคนต้องคิดหนักและตัดสินใจให้ดี
คิดและตัดสินใจด้วย ‘เหตุผล’ ไม่ใช่แค่ ‘เหตุโผ’ !
ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่อยากจะบอกว่าการออกแบบระบบเลือกตั้งแบบ MMP ที่ไม่เคยใข้มาก่อนในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แค่เปลี่ยนหาร 100 เป็นหาร 500 เท่านั้น ปกติควรคิดและเขียนกติกากันอย่างรอบคอบพร้อมมีตัวอย่างที่สามารถตอบคำถามได้ให้ห้องพิจารณาของกรรมาธิการ โดยรับฟังผู้ปฏิบัติ ซึ่งในกรณีนี้คือกกต. แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ววันนี้คือปฏิบัติการที่ผมเรียกว่า Backdoor MMP ใช้วิธีการหักด่านเอาดื้อ ๆ โดยให้กรรมาธิการเสียงข้างมากที่ที่มีมคิตามร่างเดิมหาร 100 แพ้กลางสภา แล้วไปหยิบจับเอาข้อความในการแปรญัตติของผู้แปรญัตติกลุ่มหนึ่งขึ้นมาใช้เลยโดยไม่ได้มีโอกาสพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดให้รอบคอบและรอบด้วนเท่าที่ควร
กรณีเข่นนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ไม่ว่ารัฐสภาจะมีมติอย่างไร ยังมีโอกาสที่จะต้องผ่านด่านที่ 3 คือศาลรัฐธรรมนูญ
โดยจะเป็นไปตามกระบวนการของการตราพระราชบัญญัติทั่วไปมาตรา 148 (1)
“ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนําร่างพระราชบัญญัติใดขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย…. หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า”
ด่านนี้ไม่ได้กำหนดเวลาเสร็จไว้
คาดว่า 1 - 2 เดือนเป็นอย่างต่ำ
อย่างเร็วก็เห็นจะใกล้เคียงกับช่วงเสร็จการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 18-19 พฤศจิกายน 2565 โน่น
เพราะการทักท้วงหรือไม่ทักท้วงของ กกต. การโหวตของรัฐสภาทั้งในขั้นพิจารณาร่างฯ และในชั้นพิจารณาข้อทักท้วงของกกต. เจตนารมณ์ของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2564 โดยเฉพาะในชั้นกรรมาธิการ รวมทั้งการตัดสินโหวตของสมาชิกรัฐสภา จะได้รับการหยิบยกขึ้นพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญ
เขียนโดย คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
เขียนเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565
แหล่งที่มา : https://bit.ly/3yQ7yNp