"...ถ้าจะทำให้การรัฐประหารหมดไปจากประเทศไทยสิ่งที่สาคัญที่สุดคือ ฝ่ายตุลาการหรือศาลต้องเปลี่ยนบรรทัดฐานนี้โดยไม่รับรองการรัฐประหารว่าชอบด้วยกฎหมายหรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกต่อไป..."
หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอ บทความวิชาการเนื่องในวาระ 90 ปีประชาธิปไตย ในหัวข้อ 'การทำให้รัฐประหารหมดไปจากประเทศไทยด้วยมาตรการทางกฎหมายและบรรทัดฐานของศาล' สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเนื้อหาในส่วนของ รูปแบบการรับรองการทำรัฐประหารและการนิรโทษกรรมในแต่ละสมัย มาสรุป หลังจากได้เสนอข่าวทางออกในการขจัดการรัฐประหาร สำหรับเนื้อความมีดังนี้
1. ทำไมการทำรัฐประหารจึงชอบด้วยกฎหมายในประเทศไทย
ความจริงแล้วการทำ ‘รัฐประหาร’ ในประเทศไทยนั้น มิได้เพิ่งมีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 หากมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เพราะพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด 33 พระองค์ มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงขึ้นครองราชด้วยการ ‘ปราบดาภิเษก’ ถึง 16 พระองค์ การขึ้นสู่อำนาจในสมัยราชาธิปไตยจึงมิได้มีแต่การ ‘สืบสันตติวงศ์’ แต่มีการ ‘ปราบดาภิเษก’ ด้วย
ซึ่งการปราบดาภิเษกก็คือการรัฐประหารนั่นเอง แต่เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งมีฐานะเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของประเทศไทย มีมาตรา 1 บัญญัติว่า ‘อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ โดยรัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธยโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประเทศไทยก็ได้เริ่มต้นระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ ที่อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของปวงชน และทุกคนเสมอกันใต้กฎหมายตามหลัก ‘การปกครองโดยกฎหมาย’ โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดมานับแต่บัดนั้น
ดังนั้น หลังจากนั้นเป็นต้นมา การเข้าสู่อำนาจต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน การรัฐประหารหรือการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศที่เคยทำกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ต้องหมดไปนับแต่บัดนั้น
แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ประเทศไทยมีการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จถึง 13 ครั้ง และมีรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ ระบอบประชาธิปไตยและการปกครองโดยกฎหมายจึงล้มเหลวอยู่ตลอดมา และจะล้มเหลวต่อไปถ้ายังมีการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ คำถามคือคือ อะไรที่ทำให้การยึดอำนาจ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ฐานเป็นขบถที่มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตและอย่างต่ำจำคุกตลอดชีวิต จึงชอบด้วยกฎหมายในประเทศไทย และทำให้ยังคงเกิดรัฐประหารมาเรื่อยๆ คำตอบคือเป็นเพราะคำพิพากษาของศาลฎีกาที่วางบรรทัดฐานเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 ว่า '... ข้อเท็จจริงได้ความว่าใน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไขยกเลิกและออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติ เพื่อบริหารประเทศชาติต่อไป ...' (คำพิพากษาฎีกาที่ 45/2496)
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย
ซึ่งเป็นการรับรองการยึดอำนาจปี 2490 ซึ่งเป็นการยึดอำนาจที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก การรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งต่อมาซึ่งเกิดขึ้นในปี 2501 ก็ได้รับการรับรองจากศาลฎีกาอีก 'คณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสาเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อานาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย' (คำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505) และหลังจากนั้นศาลฎีกาก็รับรองการรัฐประหารมาทุกครั้ง
บรรทัดฐานของศาลฎีกาที่รับรองการรัฐประหารนี้ ถ้าจะสรุปก็คือ การรัฐประหารทำได้ในประเทศไทย ถ้าทำสำเร็จศาลจะยอมรับและรับรองทุกอย่างที่ผู้ยึดอำนาจประกาศออกมา ตั้งแต่การล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างรัฐบาล ล้มล้างสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการนิรโทษกรรมตนเองให้ไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ซึ่งเท่ากับว่า ประเทศไทยไม่ได้ใช้ 'หลักการปกครองโดยกฎหมาย' หรือ The Rule of Law แต่ยังคงใช้ 'กฎการปกครองโดยกาลัง' หรือ Law of Jungle คำพิพากษาฎีกาที่เป็นบรรทัดฐานรับรองประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารนั้น มีสถานะเท่ากับเป็นรัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือ uncodified constitution ของไทยที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร หรือ codified constitution ของประเทศไทยทุกฉบับที่ผ่านมา เพราะให้ความชอบธรรมแก่ทหารในการล้มล้างรัฐธรรมนูญที่เป็น codified constitution ได้
การรับรองประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารนั้น ผลทางกฎหมายไม่ใช่เป็นเพียงการรับรองสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว โดยเหตุผลที่ว่าทหารยึดอำนาจไปแล้วย่อมเป็น 'รัฏฐาธิปัตย์' และดังนั้นศาลก็จำเป็นต้องรับรองการรัฐประหาร แต่ความจริงแล้วผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจริงๆ สำคัญกว่านั้นคือ เป็นการรับรองการรัฐประหารที่จะมีในอนาคต หรือ การอนุญาตให้มีการรัฐประหารอีกในอนาคต ว่าง่ายๆ คือแม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรมาตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2475 แต่ประเทศไทยยังคงใช้รัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่กำหนดว่า การปราบดาภิเษกหรือการยึดอำนาจสามารถทำได้ถ้าทำสาเร็จ ที่ต่างกันก็คือหลังจากที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองนับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2475 การยึดอำนาจไม่ใช่การยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์อีกต่อไป แต่เป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น การจะทำให้การรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญหมดไปจากประเทศไทย เราก็ต้องเลิกรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับนี้ ซึ่งเพียงแค่เขียนในรัฐธรรมนูญว่าการรัฐประหารล้มล้าง
รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้แต่เพียงอย่างเดียวไม่อาจเป็นวิธีการที่ได้ผล เพราะรัฐธรรมนูญที่เขียนแบบนั้นก็ยังจะถูกยกเลิกได้ ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 ที่บัญญัติว่า การนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทาการล้มล้างรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ ก็ถูกล้มล้างโดยการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519
และพอไปถึงศาลก็จะได้รับการรับรองจากศาลอีก ดังนั้น ถ้าจะทำให้การรัฐประหารหมดไปจากประเทศไทยสิ่งที่สาคัญที่สุดคือ ฝ่ายตุลาการหรือศาลต้องเปลี่ยนบรรทัดฐานนี้โดยไม่รับรองการรัฐประหารว่าชอบด้วยกฎหมายหรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกต่อไป
2. คณะรัฐประหารได้มีการรับรองการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของตนโดยวิธีการอย่างไรบ้าง
การเปลี่ยนบรรทัดฐานของศาลไม่ได้หมายความว่า ต้องรอให้เกิดรัฐประหารครั้งต่อไปแล้วจึงใม่รับรองการรัฐประหาร เพราะในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยากจะดำเนินการได้เมื่อมีการยึดอำนาจแล้ว อีกทั้งฝ่ายตุลาการหรือศาลก็อาจจะถูกคณะรัฐประหารล้มล้างไปอีกอำนาจหนึ่งด้วย ที่สำคัญกว่านั้นคือคณะรัฐประหารจะออกรัฐธรรมนูญชั่วคราวมารับรองประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร และนิรโทษกรรมตนเองจากการล้มล้างรัฐธรรมนูญที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จากนั้นก็จะรับรองด้วยรัฐธรรมนูญถาวรอีกครั้ง ทำให้ฝ่ายตุลาการยากที่จะไม่รับรองการยึดอำนาจ เพราะมีการรับรองโดยรัฐธรรมนูญไปแล้ว การเปลี่ยนบรรทัดฐานของศาลจึงต้องดำเนินการก่อน ที่จะมีการรัฐประหารในครั้งต่อไป
หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เปลี่ยนบรรทัดฐานของศาลเพื่อไม่ให้มีการรัฐประหารครั้งหน้า หรือป้องกันไม่ให้มีการปฏิวัติอีกต่อไปนั่นเอง คำถามต่อไปคือ การเปลี่ยนบรรทัดฐานก่อนการยึดอำนาจครั้งหน้าจะมีแนวทางในการดาเนินการทางกฎหมายอย่างไร
แนวทางคือเลิกรับรองประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารใน อดีต ที่ยังใช้บังคับอยู่ใน ปัจจุบัน ซึ่งจะทาให้เห็นว่าศาลได้เปลี่ยนบรรทัดฐานในเรื่องนี้แล้ว ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหารใน อนาคต อย่างไรก็ตามปัญหาคือรัฐธรรมนูญ 2560 และรัฐธรรมนูญหลายฉบับก่อนหน้านั้น ได้มีการรับรองประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารว่า 'ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ' จึงต้องศึกษาต่อไปว่าการรับรองประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารว่า ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นเริ่มต้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับใด และรับรองมากน้อยแค่ไหนเพียงใด ซึ่งผู้วิจัยแยกได้เป็น 3 กรณีดังต่อไปนี้
กรณีที่ 1 รัฐประหารที่ไม่มีการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ แต่รับรองโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ มี 4 ครั้ง
รัฐประหาร วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นการยึดอำนาจล้มล้างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกของประเทศไทยโดยผู้นำเหล่าทัพที่ใช้ชื่อว่า 'คณะทหาร' ทำาการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2489 โดยการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) 2490 ขึ้นมาแทนที่ในวันถัดมาคือวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 โดยใช้คำปรารภเป็นพระบรมราชโองการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2489 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490
จะเห็นได้ว่าการล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งแรกนี้ยังไม่ได้ใช้ประกาศของคณะรัฐประหารดังเช่นในสมัยหลัง จากนั้นได้มีการตรา พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้กระทารัฐประหาร 2490 โดย มาตรา 3 ได้นิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำรัฐประหาร และได้รับรองการรัฐประหารด้วยการบัญญัติประโยคต่อมาว่า 'การใดๆ ที่ได้กระทำ ตลอดจนบรรดาประกาศและคำสั่งใดๆ ที่ได้ออกสืบเนื่องในการกระทำรัฐประหารที่กล่าวแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันชอบด้วยกฎหมายทุกประการ' ซึ่งได้เป็นต้นแบบของการนิรโทษกรรมและรับรองการทำรัฐประหารในเวลาต่อๆ มา
พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (นั่ง) ผู้นำรัฐประหาร 2490 ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภาพจากคลิป รัฐประหาร 2490 ฉบับสมบูรณ์ Coup d’etat 1947 โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 เป็นการยึดอำนาจโดยคณะบริหารประเทศชั่วคราว ซึ่งได้ประกาศในคำแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2495 ว่าเป็นการกระทำเพื่อนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ แต่มิได้มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้ในขณะนั้นคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2494 จนเวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ จึงได้มี พระบรมราชโองการให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 โดยก็มิได้มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2492 แต่ก็เท่ากับเป็นการยกเลิกโดยปริยาย จากนั้นก็ได้มีการตรา พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้อีกครั้ง
รัฐประหาร 16 กันยายน 2500 เป็นการยึดอำนาจโดย คณะทหารซึ่งมี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า ซึ่งได้ระบุไว้ใน ประกาศพระบรมราชโองการตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ประกาศ ณ วันที่ 16 กันยายน 2500 ซึ่งเป็นพระบรมราชโองการแต่งตั้ง จอมพลสฤษดิ์ ให้เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร โดยไม่มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 เพียงแค่ให้ใช้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ เช่นเดียวกับ 2 ครั้งก่อนหน้านี้ หลังการยึดอำนาจได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500
รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 เป็นการยึดอำนาจซ้ำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครั้งนี้เรียกตนเองว่า คณะปฏิวัติ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำนี้ และก็เป็นครั้งแรกเช่นกันที่มีการใช้ประกาศคณะปฏิวัติยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในขณะนั้นคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 พร้อมกับยกเลิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรี โดยให้ศาลคงอยู่ต่อไป
หลังจากนั้นได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งเป็นต้นแบบของการรัฐประหารครั้งต่อๆ มาจนปัจจุบัน และเช่นเดียวกับสามครั้งที่ผ่านมา ได้มีการออก พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทาการปฏิวัติเมือวันที่ 20 ตุลาคม 2501-2502 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับผู้ทาการรัฐประหาร พร้อมกับการรับรองประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารโดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 3 เช่นทุกครั้ง
กรณีที่ 2 รัฐประหารที่ประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญเพียงชอบด้วยกฎหมาย
หลังจากปี 2501 การรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือในปี 2514 เริ่มมีการแยกการรับรองการทารัฐประหารออกมาจากกฎหมายนิรโทษกรรม โดยมาเขียนรับรองในรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า การทำรัฐประหารชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีการรัฐประหารที่ดำเนินการเช่นนี้ในช่วงนี้ทั้งหมด 3 ครั้ง ดังนี้
รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ได้ยึดอำนาจนำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ใช้ชื่อว่าคณะปฏิวัติ โดยใช้ประกาศคณะปฏิวัติ ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2511 พร้อมกับยกเลิกวุฒิสภา สภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรี โดยให้ศาลทั้งหลายอยู่ต่อไป และหลังจากนั้นมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2515 ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับคณะปฏิวัติปี 2501 แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือได้มีการใช้ธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร 2515 รับรองประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติ โดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 21
รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เป็นการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้ใช้ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2517 และยกเลิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี โดยศาลทั้งหลายอยู่ต่อไป และได้ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2519 โดยได้เดินตามแนวทางของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2515 คือใช้ รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ รับรองการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของตน โดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 29 อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้ได้เพียง 1 ปีก็เกิดการรัฐประหารซ้า
รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 กระทาการยึดอำนาจโดย คณะปฏิวัติ หลังจากใช้ประกาศคณะปฏิวัติยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2519 ยกเลิกรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี โดยศาลคงอยู่ต่อไป เช่นดียวกับการยึดอำนาจ 2 ครั้งที่ผ่านมา คณะปฏิวัติก็ได้ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2520 รับรองการกระทำ ประกาศและคำสั่งของตนเอง โดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 32 โดยมีความเหมือนกับมาตรา 21 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2515 และเหมือนกับมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ 2519 ทุกประการ ต่างกันแค่ชื่อของคณะรัฐประหารเท่านั้น
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2520 บันทึกเหตุการณ์รัฐประหารปี 2520 ภาพจาก facebook เมืองเก่าเล่าใหม่
กรณีที่ 3 รัฐประหารที่ประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และชอบด้วยกฎหมาย ในช่วงนี้ คณะรัฐประหารเริ่มต้นใช้รัฐธรรมนูญที่ตนให้เขียนขึ้นให้รับรองการรัฐประหารของตนว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 เป็นการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งดำเนินการเหมือนการรัฐประหารที่ผ่านมาคือ ใช้ ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ยกเลิก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2521 ยกเลิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรี โดยศาลทั้งหลายคงอยู่ต่อไป และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวคือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2534 รับรองการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของ รสช. ไว้ที่ มาตรา 32 หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2534 จึงได้รับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยบัญญัติไว้ที่ มาตรา 222
นอกจากนี้ยังได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญถาวรเป็นครั้งแรกอีกด้วยว่า 'การยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ' โดยคุ้มครอง บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งได้กระทำไปตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว จะได้รับความคุ้มครองโดยผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องในทางใดมิได้ ซึ่งก็ได้เป็นแนวทางของการรับรองการรัฐประหารโดยใช้รัฐธรรมนูญในการรัฐประหารครั้งต่อมาจนปัจจุบัน
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ได้ใช้ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ยกเลิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และให้ศาลคงอยู่ต่อไปยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นก็ได้ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ที่รับรองการรัฐประหารไว้ใน มาตรา 36
ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวรับรองว่าประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นครั้งแรกด้วยที่คุ้มครองไปถึงช่วงเวลาหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากนี้ยังได้นิรโทษกรรมตนเองโดยบัญญัติไว้ในมาตราถัดมาคือมาตรา 37 ด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการนิรโทษกรรมโดยใช้รัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านั้นคณะรัฐประหารจะนิรโทษกรรมตนเองโดยออกเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ก็ได้รับรองสิ่งที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวรับรองไว้ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วย โดยบัญญัติไว้ในมาตราสุดท้ายคือ มาตรา 309
รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งล่าสุดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้เดินตามแนวทางของการรัฐประหาร 2501 คือใช้ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 และยกเลิกคณะรัฐมนตรี (รักษาการ) ทั้งนี้ ไม่ได้มีการยกเลิกสภาผู้แทนเนื่องจากมีการยุบสภาไปแล้วก่อนหน้านั้น ส่วนวุฒิสภามิได้ยกเลิกในตอนแรก แต่ก็ได้ยกเลิกในเวลาต่อมา
การใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คือ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 รับรองประกาศและคำสั่งของตนเองว่า ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และนิรโทษกรรมตนเองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 47 โดยนอกจากจะระบุว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้ว ยังเพิ่มเข้าไปอีกด้วยว่า เป็นที่สุด ด้วย
ในมาตราถัดมาคือ มาตรา 48 ก็ได้นิรโทษกรรมให้กับ คสช.และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารไว้ทั้งหมด โดยใช้ถ้อยคำที่คัดลอกมาจากมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549
เมื่อมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ก็ได้มีการรับรองสิ่งที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2517 รับรองไว้โดยบัญญัติไว้ในมาตราสุดท้ายเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 คือ มาตรา 279 ทั้งยังระบุไว้ด้วยว่า การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ โดยยกเว้นกรณีประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทาโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี
จากทั้งหมดที่กล่าวไปสรุปได้ว่า การใช้รัฐธรรมนูญรับรองประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นในปี 2534 การใช้รัฐธรรมนูญรับรองประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารว่า ชอบด้วยกฎหมาย เริ่มต้นในปี 2515 โดยก่อนหน้านั้น เป็นการรับรองโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมายในขณะนั้น พร้อมด้วย ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย และศ.ดร.นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ชี้แจงรายละเอียดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม 2557