"...รัฐบาลแค่ถือหางเสือดีๆ ประชาชนมีสติ (คือทุกคนเถียงถกกันด้วยเหตุผล และเสนอทางเลือก ทางออกจากจุดยืนของตน ไม่เอาแต่ ทะเลาะกัน เชือดเฉือนกัน สนุกปากด้วยสงครามน้ำลาย อันเป็นการประลองที่ไร้ปัญญา ไม่พาให้ได้ผลดีอันใด) ไม่ให้ใครเข้ามายุแยงหรือว่าป่วนให้เรือโคลงจนล่ม เราอยู่ได้แน่ๆ..."
ผัดไทยจานนี้เล่าอะไรได้หลายอย่าง
ขอบ่น: ตอนนี้แพงมาก เงินเฟ้อทำให้เงินเล็กลง (inflation) แต่ก่อนจะขึ้นราคา ก็ตั้งราคาเดิมไว้พักหนึ่งแล้ว แต่ของน้อยลง กุ้งก็ตัวเล็กลง (shrinkflation) พูดอะไรได้อีก ถ้าไม่ลากเป็นเรื่องด่ารัฐบาล หรือสะใจที่ราคาขึ้น และไม่โอดครวญให้ใครช่วยคุมราคาแบบโง่ๆ
แม่: ก็เลือกกินอย่างอื่น ไม่ต้องหรู ทำกินเองก็ได้ไม่แพง
ดิฉันสวมบทนักเศรษฐศาสตร์: ดีนะ ยังมีให้กิน ดูสิ ทุกอย่างในผัดไทย ผลิตได้ในประเทศไทย
แต่ว่ากระบวนการผลิต ตั้งแต่ปลูกข้าว เลี้ยงไก่เอาไข่ กระทั่งจับปลาล้วนใช้พลังงานที่เราผลิตเองไม่ได้ และคนทุกคนก็ต้องกินต้องใช้เหมือนกัน ก็ต้องขึ้นราคาบ้าง ทุกคนต้องประหยัดการใช้จ่ายทุกด้าน แต่ยังไงเราก็มีของกินของใช้ ผิดกับบางประเทศที่เป็นข่าวว่า ข้าวของหมดเป็นชั้นๆ ในบางประเทศ (ไม่นับที่ตื่นข่าว กลัวของขาด กลัวของราคาขึ้ จีงรีบๆ ตุน) ตอนนี้ขาดจริง
พายุเงินเฟ้อจากซีกโลกตะวันตก
อเมริกาสร้างเงินเฟ้อขึ้นมา ด้วยการพิมพ์แบงก์ออกมาท่วมโลก ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน แล้วยังบอยคอตรัสเซีย ซึ่งทุกมาตรการบูมเมอแรงกลับไปซ้ำเติมให้เงินเฟ้อในประเทศตัวเองเพิ่มยิ่งขึ้น พายุนี้แผ่ไปคลุมซีกโลกตะวันตก แล้วเริ่มเคลื่อนมาสู่สุวรรณภูมิ ด้วยความเร็วพอสมควรเราไม่ควรตกใจ และไม่ควรแปลกใจ เพราะใครๆ ก็รู้ว่าเงินเฟ้อ ไปจ่ายตลาดทีไร ได้ของน้อยลงอย่างรู้สึกได้ น้ำมันขึ้นราคาลิ่วๆ เติมน้ำมันราคาเดิม ได้น้ำมันครึ่งถัง ทุกคนรู้ และเรารู้แม้กระทั่งว่าทำไม ข้าวสาลีขาด เพราะส่งออกจากประเทศผู้ผลิตไม่ได้ ฝรั่ง (แถมยิว) มัวแต่รบกันอย่างไม่เดือดร้อนว่า ใครอื่นจะตายบ้าง ก็ได้ยินอยู่
แบบนี้ คนมีปัญญาก็ต้องตั้งหลัก น้ำมันไม่ใช่ว่าจะไม่เคยขึ้นราคาแบบนี้ ส่วนสินค้าอื่นๆ นั้น ก็รู้อยู่ว่า โลกทั้งโลกยึดโยงกันอยู่ เราไม่ใช่อาณาจักรศักดิ์สิทธิ์ที่ลอยอยู่เหนือสถานการณ์โลกสักหน่อย ประเทศไทยเรามีภาคเกษตร เป็นความแข็งแกร่งของประเทศ ภาคเกษตรช่วยเศรษฐกิจไทยมาตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ไม่ว่าใกล้หรือไกล และเราใช้สินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคที่ผลิตเองในประเทศ เป็นสินค้าพื้นฐานของชีวิต สินค้าที่เหลือก็ส่งออก เงินเหลือก็อาจจะซื้อสินค้านำเข้าดีๆมาใช้ ในสมัยปัจจุบัน การที่ผู้ผลิตคนไทยยังคงฐานการผลิตในประเทศไทยเอาไว้ (ไม่โยกย้ายไปแบบผู้ผลิตต่างชาติที่มาหากำไรเพียงอย่างเดียว) ทำให้เราอยู่กันได้แม้ไม่หรูหรา ก็ไม่ขาดแคลน ซึ่งนับว่าดีมาก
รู้ไหมว่า เราทำให้ดีกว่านี้ได้อีกเพื่อเกษตรกร เรามืแร่โปแตช นำไปเสนอเป็นโครงการอุตสาหกรรมแต่งแร่ในโครงการของอาเซียนเอาไว้ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ นี่ก็สามสิบกว่าปีแล้ว ยังไม่เขยื้อน รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ เอามาปัดฝุ่นเริ่มใหม่หลายปีแล้ว แต่ยังเอื่อยเฉื่อยอยู่ ท่านนายกฯ ช่วยเคาะแรงๆ อีกสักทีสองทีนะคะ กระทรวงที่เกี่ยวข้องจะได้ออกโรงเสียที ภาคเกษตรที่ยังต้องพึ่งปุ๋ยเคมี จะได้รู้สึกว่ามั่นคงขึ้น และราคาอาจจะถูกลง อย่างน้อยๆ ก็เท่ากับ FOB ของแม่ปุ๋ย K ที่นำเข้า แล้วปุ๋ย K ของเรายังเอาไปต่อรอง กับ N และ P ของผู้ส่งออกรายอื่นๆ ได้อีกด้วย
ถ้าไม่มีเงินหรือพอใจกับชีวิตพอเพียง ก็มีผักสวนครัว รั้วกินได้ ในน้ำมีปลาและสัตว์น้ำให้จับ
เรามีคุณสมบัติเด่นสองเรื่อง ที่ดูเหมือนไม่เด่นดัง คือ
1. Diversification เรามีการผลิตที่กระจายหลายหลากสินค้า ทำให้เกิดมี “ตัวช่วย” ยามเมื่อธุรกิจในภาคเศรษฐกิจหนึ่งใดประสบปัญหา
2. Resiliency หรือ Flexibility คนและวัฒนธรรมยืดหยุ่น พร้อมปรับตัว และปรับตัวได้ดี ในยามปกติอาจจะเจ้าปัญหา ทฤษฎีจัด แต่ในยามคับขันกลับไม่คิดมาก เป็นแบบ “เอาไง เอากัน” พร้อมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องๆ ไป (ดูข้อเขียนฉบับเต็มได้ใน
https://thaidialogue.wordpress.com/2020/05/02/super-swot-analysis-2020/)
รัฐบาลแค่ถือหางเสือดีๆ ประชาชนมีสติ (คือทุกคนเถียงถกกันด้วยเหตุผล และเสนอทางเลือก ทางออกจากจุดยืนของตน ไม่เอาแต่ ทะเลาะกัน เชือดเฉือนกัน สนุกปากด้วยสงครามน้ำลาย อันเป็นการประลองที่ไร้ปัญญา ไม่พาให้ได้ผลดีอันใด) ไม่ให้ใครเข้ามายุแยงหรือว่าป่วนให้เรือโคลงจนล่ม เราอยู่ได้แน่ๆถ้าเราสามารถจัดกระบวนท่าของเราให้ดี เราจะดีได้อย่างมากมายในช่วงวิกฤติของโลก
ก้าวที่ควรแก้กลับคืน- ผู้ผลิตหลายรายยังคงมักง่าย ผลิตสินค้าคุณภาพด้อยไปย้อมแมวขาย ทำให้ตลาดพัง ก. พาณิชย์ฯ ก. เกษตรฯ ก. อุตสาหกรรม ทำอะไรได้บ้าง มือเศรษฐศาสตร์ตัวจริงหายไปไหน รัฐบาลโดยกระทรวงต่างๆ จึงทำนโยบายน่าปวดหัว แทนนโยบายที่จะพาประเทศให้รอด เช่น
ปาล์มน้ำมันได้ราคาดีแบบส้มหล่น ควรเตือนให้เก็บเงินไว้เผื่อยามยากบ้าง หรือเก็บเงินมาชดเชยที่เคยช่วยเหลือไปตอนปาล์มราคาตก วัฏฏะ ดีก็สุรุ่ยสุร่าย ฟู่ฟ่า ราคาตกก็ร้องให้ช่วย เป็นวัฏฏะที่ควรตัดให้ขาดสักที น้ำมันขึ้นราคาแบบที่ทั่วโลกไม่คิดว่าน้ำมันจะมีราคาถูกลงไปได้ จนกว่ายักษ์ใหญ่จะเลิกทะเลาะกัน (ซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่) ควรเตือนให้ผู้ใช้นำ้มันปรับตัวตั้งแต่น้ำมันเริ่มขยับราคาขึ้น และเอาเงินน้ำมันไปใช้ในทางสนับสนุนให้เกิดการประหยัดการพึ่งพาน้ำมัน แทนที่จะใช้เงินจนหมดเพื่อกดราคาน้ำมันให้ต่ำ สวนกระแสโลก จะคุมราคาบะหมี่ คิดได้ยังไงในยามนี้ บะหมี่ทำจากข้าวสาลี ไม่มีข้าวสาลีก็ไม่มีบะหมี่ ข้าวสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบขึ้นราคาและหายาก ราคาสินค้าสำเร็จรูปก็ต้องขึ้น การคุมราคาสินค้า เป็นนโยบายสำเร็จรูปของกระทรวงพาณิชย์มาแต่ไหนแต่ไร โดยที่คนทำนโยบายส่วนงานอื่นไม่เคยเห็นด้วย และสงสัยในความได้ผล และความมีประสิทธิภาพ เสมอมา เขาว่ากันว่า “เวลามีวิกฤต อย่ากระโดด ให้เดินทีละก้าว เพราะคนเราคาดหมายจุดจบไม่เคยถูกหรอก”
เตือนสติฝ่ายเล่นการเมือง ฝ่ายประท้วงไม่เลิก คนป่วนป่วนไม่จบ คนทักท้วงเครื่องคอมชำรุด พิมพ์ได้แต่ข้อความซ้ำๆ ว่าไม่ให้รัฐใช้ความรุนแรง เป็นสูตรสำเร็จของการทักท้วงแบบตีปลาหน้าไซ ถ้าจะป่วนจนตัวเองก็เสีย ประเทศก็เสีย ก็ได้แต่สงสารประเทศไทย การทำตัวให้เด่นในเชิงบวก เสนอข้อคิดแบบสร้างสรรค์ น่าฟัง น่าทำ ให้คนอื่นที่ไม่ใช่พรรคพวกสนใจหันมาเชียร์ก็มีนี่นา ฝ่ายค้านในสภาใช้ฝีปากเล่นบทค้านไปทุกเรื่อง (เคยเขียนแล้ว เขียนอีกแปลว่าบ่น) ดิฉันว่า ประเทศไทยอยู่รอดหรือไม่รอด อยู่ที่เราทะเลาะกันและตีกันเองมากน้อยแค่ไหน คนเรียนประวัติศาสตร์มามักต้องรำพึงว่า มันเป็นอย่างนี้มาหลายครั้งเต็มทีแล้ว กำลังจะไปได้ดีๆ ก็หันมาตีกันเอง สะดุดขาตัวเองล้ม กำลังจะเฟื่องฟูเติบโต ซึ่งทุกคนก็จะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น กลับมูมมามจะกินรวบ หรือหัวรั้น ทำนโยบายกลับข้างกับที่พึงทำ เช่น ฝืนกระแสเรื่องค่าเงิน เป็นต้น
อาเซียน/ สุวรรณภูมิ/ อินโดนีเซียและมาเลเซีย มีน้ำมันดิบและน้ำมันปาล์ม ซึ่งราคาขึ้นเอาๆ จนตกใจ
กัมพูชา ก็มีข้าว มีปลา ไม่น่ากังวลว่าจะอดตาย
พม่าไม่มีรายงานข่าว แต่มั่นใจว่าทำนโยบายธรรมดาๆ ก็ไปรอด เพราะมีทุกอย่างเหมือนไทย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว และยังมีน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติอื่นอีกมากมาย
เวียดนามก็น่าจะไม่มีปัญหา มีแต่ลาวกับสิงคโปร์ ที่ผลิตสินค้าในประเทศไม่พอใช้ ต้องพึ่งการนำเข้ามาโดยตลอด ลาวหมดเงิน เงินเฟ้อรุนแรง สิงคโปร์มีเงินจากภาคเศรษฐกิจหลากหลาย แม้สินค้าอุปโภคบริโภคผลิตไม่พอ ก็มีเงินซื้อสินค้านำเข้าได้
มองจากสินค้าที่ผลิตและค้าขายกัน ถ้าวางแนวทางจะค้าขายระหว่างกันเท่าที่ทำได้สุวรรณภูมิ หรืออาเซียนของเรา โดยรวมน่าจะยังพอไปรอด ส่วนในด้านการเมืองระหว่างประเทศกับคนนอกกลุ่ม ถ้าเรารู้เท่าทัน ไม่ยอมให้คนนอกเข้ามายุแยง แทรกแซง ปั่นหัว สุวรรณภูมิทั้งภูมิภาคน่าจะรอดพายุครั้งนี้ได้อย่างไม่บอบช้ำ ทั้งหมดนี้พึ่งสิ่งที่มีค่าที่สุดที่ไม่ต้องซื้อหาคือ สติและปัญญา