"...เฮาเซิลได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า การบริหารเงินด้วยการมองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อน อาจจะเป็นผลดีในระยะยาว ซึ่งฟังดูย้อนแย้ง เพราะการมองโลกในแง่ดีจะช่วยให้ตัวเราพยายามทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เฮาเซิลอธิบายว่า การมองโลกในแง่ร้ายช่วยให้เรารู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร และทำให้มั่นใจว่าเราจะไม่ตัดสินใจใด ๆ ในระดับที่เกินพอดี ทั้งนี้ ฮานส์ รอสลิง (Hans Rosling) นักสถิติชื่อดัง ได้กล่าวว่า “ผมไม่ได้เป็นคนมองโลกในแง่ดี แต่ผมเป็นคนที่เชื่ออย่างจริงจังในเรื่องความเป็นไปได้” (I am not an optimist.I am a very serious possibilist)..."
หนังสือ “จิตวิทยาว่าด้วยเงิน” (The Psychology of Money) เขียนโดย มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) หยิบยกตัวอย่างให้เห็นว่า พฤติกรรมทางการเงินมาจากอารมณ์ ความรู้สึก และการรับรู้ของปัจเจกบุคคลมากกว่าทฤษฎีทางการเงิน[1] และทำให้เกิดความเข้าใจว่า ทำไมแนวทางการลงทุนของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน ผู้ที่เกิดมาในช่วงยุคสมัยที่เศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นดิ่งลงแบบถล่มทลายกับผู้ที่เติบโตในภาวะเงินเฟ้อสูง จะมีมุมมองในการลงทุนแตกต่างกัน กลุ่มแรกจะหวาดวิตกกับการลงทุนในหุ้น ในขณะที่กลุ่มสองจะเข็ดขยาดกับการถือครองพันธบัตร
การตัดสินใจที่แต่ละคนเห็นว่าสมเหตุสมผลนั้น มาจากการรับข้อมูลในช่วงเวลานั้นผสมผสานกับพื้นฐานการศึกษาครอบครัว และประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต ทำให้แต่ละคนมีความเชื่อว่า การลงทุนทางการเงินของตนเองเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง เรียกว่าตำรา “การลงทุน” ที่อาศัยทฤษฎีทางการเงินต่าง ๆ แทบจะไม่นำมาใช้ และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำไมคนรายได้น้อย จึงนิยมซื้อลอตเตอรี่ อย่างกรณีคนอเมริกันซื้อลอตเตอรี่เฉลี่ย 412 ดอลลาร์ สรอ. ต่อปี ทั้ง ๆ ที่ คนอเมริกันกว่าร้อยละ 40 ไม่สามารถมีเงินจำนวนนี้ได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่หากคิดถึงการดำรงชีวิตของคนกลุ่มเหล่านี้ที่ไม่เคยได้สัมผัสเงินกองโต อาศัยอยู่ในย่านที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม ไม่เคยได้ขับรถใหม่ ไม่มีประกันสุขภาพ การซื้อหวยหมายถึงการซื้อความฝัน ที่คนมีฐานะยากที่จะเข้าใจ ไมเคิล แบตนิก ( Michael Batnick ) ได้กล่าวว่า “บางบทเรียนนั้น ต้องเจอด้วยตัวเองถึงจะเข้าใจ” (some lessons have to be experienced before they can be understood)[2]
เฮาเซิลได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า การบริหารเงินด้วยการมองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อน อาจจะเป็นผลดีในระยะยาว ซึ่งฟังดูย้อนแย้ง เพราะการมองโลกในแง่ดีจะช่วยให้ตัวเราพยายามทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เฮาเซิลอธิบายว่า การมองโลกในแง่ร้ายช่วยให้เรารู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร และทำให้มั่นใจว่าเราจะไม่ตัดสินใจใด ๆ ในระดับที่เกินพอดี ทั้งนี้ ฮานส์ รอสลิง (Hans Rosling) นักสถิติชื่อดัง ได้กล่าวว่า “ผมไม่ได้เป็นคนมองโลกในแง่ดี แต่ผมเป็นคนที่เชื่ออย่างจริงจังในเรื่องความเป็นไปได้” (I am not an optimist.I am a very serious possibilist)[3]
เฮาเซิลให้เหตุผล 3 ประการที่ควรมองโลกในแง่ร้ายด้านการเงิน ประการแรกคือ การเงินเป็นสิ่งที่กระทบและดึงความสนใจของทุกคน แตกต่างกับเรื่องอื่น เช่น สภาพอากาศที่กระทบกับเพียงคนในพื้นที่นั้น ๆ แต่ภาวะตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่กระทบกับทุกคน ไม่ว่าเราจะลงทุนในหุ้นหรือไม่ ประการที่สอง การมองในแง่ร้ายมักบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น การที่มีการพยากรณ์ว่าราคาน้ำมันจะถีบตัวสูงขึ้น ก็เป็นตัวจุดประกายให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการขุดเจาะน้ำมัน โดยที่ไม่ต้องรอพิสูจน์ว่า พยากรณ์นั้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ประการสุดท้ายคือ การมองไปข้างหน้าดูเหมือนจะเชื่องช้า หากเทียบกับการถอยหลังและมาเริ่มต้นใหม่ โดยยกตัวอย่างของการประดิษฐ์เครื่องบินหรือยารักษาโรคที่ใช้เวลากว่าทศวรรษ เทียบเคียงกับการหดตัวของตลาดหุ้นที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน ดังนั้น ในการบริหารเงิน เราต้องตระหนักถึงการแลกมาถึงความสำเร็จ กับความผันผวนและเวลาที่จะไปถึงเป้าหมาย[4]
หัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้คงจะอยู่ที่ความแตกต่างระหว่างความร่ำรวยและความมั่งคั่ง เฮาเซิลสรุปไว้ว่า การมีเงินทอง และทรัพย์สิน มากมาย แต่ทุก ๆ เดือนยังต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ พึ่งพากับรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่ได้เป็นบทพิสูจน์ว่า คน ๆ นั้นมีความมั่งคั่ง จุดสูงสุดของรูปแบบของความมั่งคั่งคือ ความสามารถในการตี่นมาทุก ๆ เช้าและพูดกับตัวเองว่า “วันนี้ ฉันสามารถทำอะไรก็ได้ตามที่ฉันต้องการ” ความมั่งคั่งวัดด้วยการปันผลในมิติของความเป็นอิสระของเวลา ที่เราจะสามารถทำอะไรก็ได้ที่ตนเองต้องการทั้งในชีวิตส่วนตัวและในด้านการงาน ทั้งนี้ แองกัส แคมป์เบลล์ (Angus Campbell) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้กล่าวว่า “การสามารถคุมชีวิตตัวเองถือเป็นความรู้สึกเชิงบวกมากกว่าเงื่อนไขใด ๆ”[5,6]
ท้ายสุด หนังสือ “จิตวิทยาว่าด้วยเงิน” ได้ตอกย้ำมุมมองที่สำคัญว่า ทักษะด้านอารมณ์และการจัดการบริหารด้านความคิด มีอิทธิพลมากที่สุดต่อพฤติกรรมของมนุษย์ในเรื่องการเงิน
อ่านเพิ่มเติม : บริหารเงินด้วยจิตวิทยา
แหล่งที่มา:
[1] The Psychology of Money (จิตวิทยาว่าด้วยเงิน) มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) เขียน ธนิน รัศมีธรรมชาติ แปล จัดพิมพ์โดย บริษัท ลีฟ ริช ฟอร์เอฟเวอร์ จำกัดพิมพ์ครั้งที่ 3 เมษายน 2565
[2] The Psychology of Money (จิตวิทยาว่าด้วยเงิน) หน้า 25-40
[3] The Psychology of Money (จิตวิทยาว่าด้วยเงิน) หน้า 198
[4] The Psychology of Money (จิตวิทยาว่าด้วยเงิน) หน้า 203-211
[5] The Psychology of Money (จิตวิทยาว่าด้วยเงิน) หน้า 103-104
[6]The Millennial Money Woman | Personal Finance Platform. 2022. Rich vs Wealthy: What's the Key Difference Between the Two?. [online] Available at: <https://themillennialmoneywoman.com/rich-vs-wealthy/?nowprocket=1> [Accessed 22 May 2022].
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com