"...เฮาเซิล ได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเป็นวิชาชีพที่ต้องมีการเรียนรู้และฝึกฝน ไม่มีทางที่รี้ดจะสามารถผ่าตัดหัวใจได้ดีกว่าวิสัญญีแพทย์หรือออกแบบตึกระฟ้าได้เหนือกว่าสถาปนิกผู้ถูกฝึกมาอย่างดี แต่ความสำเร็จในเรื่องการลงทุนถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังนั้น ความสำเร็จทางการเงินนั้นไม่ได้เป็นทักษะแบบตรงไปตรงมา แต่เป็นทักษะทางด้านอารมณ์และการบริหารจัดการความคิดซึ่งพฤติกรรมที่ทำนั้นมีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่คุณรู้หรือทักษะที่เรียกว่า จิตวิทยาทางการเงินนั่นเอง..."
“เงินคือพระเจ้า” คำพูดที่พวกเราน่าจะส่ายหัวและเถียงว่าไม่จริง เพราะเงินไม่ใช่ทุกสิ่งในชีวิตและไม่สามารถแลกกับสุขภาพกายและใจที่ดีได้ อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องมีไว้ในการดำรงชีวิต แน่นอนระดับอภิมหาเศรษฐีมีเงินใช้ทั้งชาติก็ไม่หมด ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งหาเงินใช้วันต่อวัน แทบจะอดมื้อกินมื้อ ที่สำคัญเงินที่ได้รับมานั้น แต่ละคนมีวิธีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ด้วยพื้นฐานที่ไม่เหมือนกันทั้งด้านอายุ การศึกษา พื้นฐานครอบครัว และประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต
หนังสือจิตวิทยาว่าด้วยเงิน (The Psychology of Money) เขียนโดย มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) นักเขียนและคอลัมนิสต์ด้านการเงิน และด้วยประสบการณ์ในแวดวงตลาดวอลสตรีทและเป็นหุ้นส่วนในกองทุน Collaborative Fund ทำให้เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แตกต่างจากหนังสือบริหารจัดการด้านการเงินทั่วไป เพราะเชื่อว่า พฤติกรรมทางการเงินมาจากอารมณ์ ความรู้สึก และการรับรู้ของปัจเจกบุคคลมากกว่าทฤษฎีทางการเงิน [1]
เฮาเซิลได้หยิบยกเรื่องราวความแตกต่างฐานะการเงินของ โรนัลด์ เจมส์ รี้ด (Ronald James Read) ภารโรงและช่างซ่อมรถยนต์และริชาร์ด ฟัสโคน (Richard Fuscone) ผู้จัดการวาณิชธนกิจ รี้ดเรียนจบเพียงชั้นมัธยมศึกษา แต่ก็ทำให้ครอบครัวภูมิใจเป็นอย่างมากเพราะถือเป็นคนแรกของครอบครัว ชีวิตของเขาไม่ได้โลดโผนมากนัก ทำงานเป็นช่างซ่อมรถเป็นเวลากว่า 25 ปี และทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดที่ห้างสรรพสินค้า JCPenney อยู่ 17 ปี จนสามารถเก็บเงินซื้อบ้านราคา 12,000 ดอลลาร์ สรอ. เมื่ออายุ 38 ปี และเป็นบ้านที่เขาอาศัยจนเสียชีวิตในปี 2014 เมื่ออายุได้ 92 ปี หากเป็นคนทั่วไปคงจะเป็นชีวิตคนอเมริกันธรรมดา ๆ เรียบง่ายคนหนึ่ง แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ทั่วโลกเพราะในพินัยกรรมของรี้ด ได้ทิ้งเงิน 2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ให้กับบุตรบุญธรรม และมอบเงิน มากกว่า 6 ล้านดอลลาร์ สรอ. ให้กับโรงพยาบาลและห้องสมุดท้องถิ่น ซึ่งทุกคนต่างตกตะลึงว่า รี้ดมีเงินมาจากไหน เพราะเขาไม่ได้ รับมรดกตกทอดใด ๆ และไม่เคยถูกลอตเตอรี่ คำตอบคือ มาจากการออมและลงทุนในหุ้นบลูชิพ และปล่อยให้มูลค่าสูงขึ้นเป็นเวลาหลายสิบปี
ในขณะที่ริชาร์ด ฟัสโคน มีพื้นเพการศึกษาที่แตกต่างจากรี้ดอย่างสิ้นเชิง เขาเรียนจบสาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยชิคาโกและศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประสบความสำเร็จในสายอาชีพทางการเงินตั้งแต่อายุ 40 ปี จนนิตยสารธุรกิจรายสัปดาห์ Crain ได้ยกย่องให้เขาเป็นหนึ่งใน 40 นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จที่มีอายุ “น้อยกว่า 40 ปี” เขามีทรัพย์สินรวมกันมากกว่า 100 ดอลลาร์ สรอ. รวมถึงคฤหาสน์ที่เมืองกรีนิช มลรัฐคอนเนตทิคัต เป็นคฤหาสน์ที่มีห้องน้ำถึง 11 ห้อง ลิฟท์ 2 ตัว สระว่ายน้ำ 2 สระ โรงจอดรถทั้งหมด 7 หลัง และต้องใช้เงินในการดูแลกว่า 90,000 ดอลลาร์ สรอ. ต่อเดือน แต่เมื่อเกิดวิกฤติการณ์การเงินปี 2008 ทุกอย่างกลับพังไม่เป็นท่าฟัสโคนกลายเป็นบุคคลล้มละลายภายในข้ามคืน เป็นหนี้ที่ทำให้เขาต้องถูกยึดทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ทั้งหมด รวมถึงคฤหาสน์ที่กรีนิชแห่งนี้ด้วย
เฮาเซิล ได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเป็นวิชาชีพที่ต้องมีการเรียนรู้และฝึกฝน ไม่มีทางที่รี้ดจะสามารถผ่าตัดหัวใจได้ดีกว่าวิสัญญีแพทย์หรือออกแบบตึกระฟ้าได้เหนือกว่าสถาปนิกผู้ถูกฝึกมาอย่างดี แต่ความสำเร็จในเรื่องการลงทุนถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังนั้น ความสำเร็จทางการเงินนั้นไม่ได้เป็นทักษะแบบตรงไปตรงมา แต่เป็นทักษะทางด้านอารมณ์และการบริหารจัดการความคิดซึ่งพฤติกรรมที่ทำนั้นมีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่คุณรู้หรือทักษะที่เรียกว่า จิตวิทยาทางการเงินนั่นเอง [2]
หนังสือเล่มนี้ได้เขียนถึงสัจธรรมในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “พลังทบต้น” ที่การเริ่มต้นเพียงเล็กน้อย แต่สามารถเป็นพลังต่อยอดไปสู่ผลการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อย่างเช่น กรณีของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เริ่มต้นลงทุนอย่างจริงจังเมื่ออายุได้สิบขวบ และสามารถมีมูลค่าความมั่งคั่งสุทธิที่ 1 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่ออายุ 30 ปี ในขณะที่ การลงทุนยังขึ้นอยู่กับ “โชคและความเสี่ยง” บางครั้งการตัดสินใจในการลงทุนฟังดูสมเหตุสมผล แต่ปัจจัยภายนอกอาจทำให้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี ในทางตรงกันข้าม ลงทุนแบบเสี่ยง ๆ ไม่รอบคอบ อาจจะโชคดีและได้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด ที่สำคัญ การลงทุนต้องมี “ความพอ” ไม่ควรเปรียบเทียบกับผู้อื่น เพราะมักจะมีคนที่มีมากกว่าเสมอ คำว่าเพียงพอ ไม่ได้หมายถึงการมองข้ามโอกาส แต่เป็นการตระหนักว่า ความต้องการมากเกินไป อาจจะผลักดันให้ทำสิ่งที่เสี่ยงมากขึ้นและจะเสียใจในภายหลัง [3]
หนังสือเล่มนี้ยังมีอีกหลายแง่มุมเกี่ยวข้องกับจิตวิทยาทางการเงินที่น่าสนใจ โดยเฉพาะข้อคิดถึงความมั่งคั่งที่แท้จริงคืออะไรซึ่งผมจะได้นำมาขยายความใน Weekly Mal ในสัปดาห์หน้า
แหล่งที่มา:
[1] คำนำผู้แปล The Psychology of Money (จิตวิทยาว่าด้วยเงิน) มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) เขียน ธนิน รัศมีธรรมชาติ แปล จัดพิมพ์โดย บริษัท ลีฟ ริช ฟอร์เอฟเวอร์ จำกัดพิมพ์ครั้งที่ 3 เมษายน 2565
[2] The Psychology of Money (จิตวิทยาว่าด้วยเงิน) หน้า 17-20
[3] BooksDD. 2022. รีวิวหนังสือ The Psychology Of Money | จิตวิทยาการเงิน บทเรียนเกี่ยวกับความมั่งคั่งความโลภและความสุข - BooksDD. [online]
Available at: <http://www.booksdd.com/2021/06/%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD-the-psychology-of-money-%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2/> [Accessed 15 May 2022].