แม้ว่าตามกฎหมายบอกว่าให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการลงโทษได้ภายในเวลา 30 วัน แต่ว่าก็ให้อำนาจในการที่ผู้บังคับบัญชาดำเนินการอุทธรณ์ต่อไปได้ ถ้าหากเห็นว่ามีหลักฐานใหม่ที่ผู้ถูกร้องไม่ได้ทำความผิดตามชี้มูล โดยสามารถอุทธรณ์ไปยัง ป.ป.ช.ภายในสามสิบวัน ซึ่งตรงนี้ ป.ป.ช.ก็จะพิจารณาต่อไปว่านั่นคือพยานหลักฐานใหม่หรือไม่ ซึ่งถ้าหากไม่ใช่ ป.ป.ช.ก็จะส่งเรื่องกลับไปยังผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการลงโทษภายในระยะเวลา 30 วัน และตรงนี้ทางผู้ถูกร้องนั้นก็สามารถจะร้องไปยังศาลปกครองให้ยกเลิกต่อคำสั่งของ ป.ป.ช. ที่บอกว่าให้ดำเนินการทางวินัยได้อีกเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่วิทยาลัยยุติธรรมศาลปกครอง ได้มีการจัดเสวนาทวิภาคีระหว่างศาลปกครองกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือนายสุเมธ รอยกุลเจริญ รองประธานศาลปกครองสูงสุด นายอนุชา ฮุนสวัสดิกุล รองอธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการ ป.ป.ช. และนายนิวัติ ไชยเกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.ในหัวข้อการเสวนาเรื่องการดำเนินการทางวินัยเจ้าหน้าที่รัฐตามมติชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
@บทบาทหน้าที่ของ ป.ป.ช.
โดยรายละเอียดการเสวนานั้นมีนายอนุชาทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ ขณะที่นายสุชาติได้กล่าวเบื้องต้นถึงบทบาทหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการดำเนินการทางวินัยว่าการดำเนินการทางวินัยนั้นที่ผ่านมาอาจจะเกิดปัญหาว่าที่ผ่านมานั้น ป.ป.ช.อาจจะเห็นเป็นแบบหนึ่ง แต่ว่าท้ายที่สุดแล้วคำพิพากษาของศาลปกครองอาจจะเป็นแบบหนึ่ง ปัญหาเรื่องผู้บังคับบัญชาข้าราชการคนนั้นเห็นไม่ตรงกับคำวินิจฉัย ป.ป.ช. และปัญหาสุดท้ายก็คือว่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.บางคนก็ยังเห็นไม่ตรงกันเลยในการดำเนินการทางวินัย
นายสุชาติกล่าวว่าหลังจากที่ ป.ป.ช.นั้นได้กลายเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ป.ป.ช.ก็มีอำนาจทั้งการส่งฟ้องศาลและส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาไปให้ดำเนินการทางวินัยได้ ซึ่งต้องดำเนินการภายในสามสิบวัน โดยในช่วงเวลานั้นยังไม่มีศาลปกครอง และต่อมาตามรัฐธรรมนูญปี 2561 ก็มีการระบุถึงอำนาจ ป.ป.ช.ไปเพิ่มเติมอีกว่าให้ดำเนินการพิจารณาความผิดในความผิดว่าด้วยการทุจริต ความผิดด้านการประพฤติไม่ชอบ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ การตรวจสอบคดีร่ำรวยผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากการที่คนร้องเข้ามา หรือตรวจจากที่เจ้าหน้าที่ไปเห็นในบัญชีทรัพย์สินว่ามีความผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องใหม่ที่เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.คือการตรวจสอบจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นายสุชาติกล่าวต่อไปว่าในประเด็นเรื่องการไต่สวนและการชี้มูลทางวินัยนั้น จริงๆต้องดูที่ตัวรัฐธรรมนูญเป็นหลักด้วยว่ามันให้อำนาจ ป.ป.ช.ไว้ตรงไหนบ้าง แต่ตรงกฎหมายจะเขียนทิ้งไว้ในตอนท้ายด้วยตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ซึ่งนี่ก็หมายความว่าหลังจากที่ ป.ป.ช.ได้มีการชี้มูลเอาไว้แล้ว นี่ก็ยังไม่ถึงสิ้นสุด ผู้ที่ถูกชี้มูลทางวินัยโดย ป.ป.ช.นั้นก็สามารถจะไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองได้เช่นกัน
@สิทธิอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหา
ขณะที่นายสุเมธกล่าวในส่วนของศาลปกครองว่าการพิจารณาของศาลปกครองนั้นพิจารณาในหลักการใช้อำนาจของ ป.ป.ช.โดยเฉพาะการใช้อำนาจด้านวินัยว่าตรงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตรงนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด แต่ว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นตัวกำหนด ซึ่ง พ.ร.บ.ฯดังกล่าวนั้นเป็นกฎหมายปกครอง อยู่ในขอบเขตการพิจารณาของศาลปกครอง ดังนั้นศาลปกครองก็จะเข้าไปดูว่า ป.ป.ช.เข้าไปพิจารณาในส่วนของวินัยนี้อย่างไร
ทางด้านนายนิวัติไชยกล่าวว่าเวลามีเรื่องที่ร้องเข้ามายัง ป.ป.ช. ก็จะมีการพิจารณาว่าตรงตามอำนาจ ป.ป.ช.ไหม แล้วดูต่อว่าเรื่องนั้นมีมูลพอจะรับไว้ไต่สวนต่อไปหรือไม่ โดยเพื่อความเป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหา ป.ป.ช.ก็จะใช้คำว่าผู้ถูกร้องแทนคำว่าผู้ถูกกล่าวหา เพราะหมายความว่าอาจจะยังไม่มีมูลก็ได้
และถ้าหากพิจารณาว่ามันมีมูล ก็จะมีการนำเสนอกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้สั่งไต่สวน และถ้าหากเป็นข่าวที่มีความเกี่ยวข้อง มีความเสียหายกับงบประมาณมาก ประชาชนให้ความสนใจ ก็จะมีการให้มีองค์คณะไต่สวนในเรื่องร้องเรียน รวมไปถึงถ้าเป็นเรื่องที่ร้องไปถึงความผิดของคณะรัฐมนตรี ก็อาจจะให้องค์คณะ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนนั้นทำหน้าที่เป็นองค์คณะไต่สวน
ถ้าพบว่ามีมูลความผิดจริงก็จะมีการแจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหา ตรงนี้ผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องมีการชี้แจงกลับมา ซึ่งกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหานั้น ก็จะมีการระบุชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้ถูกกล่าวหาได้ดำรงตำแหน่งอะไรในช่วงถูกกล่าวหา เพื่อให้เขาได้ทราบประเด็นนำไปสู่การชี้แจงได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงสามารถระบุได้ว่าจะใช้พยานหลักฐานอะไรในการแก้ต่าง
โดยตรงนี้องค์คณะของ ป.ป.ช.ก็จะพิจารณาว่าพยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มรการเสนอมานั้นมีประโยชน์ต่อรูปคดีหรือไม่หรือว่ามีไว้เพื่อประวิงเวลา เพื่อจะพิจารณาต่อไปว่าจะตัดพยานหลักฐานหรือไม่ สรุปก็คือ ป.ป.ช.ได้ให้สิทธิ์ผู้ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่ รวมไปถึงการให้โอกาสเขามาชี้แจงด้วย ซึ่งตรงนี้ก็อาจทำให้บางคนมองได้เหมือนกันว่ากระบวนการของ ป.ป.ช.นั้นจะเป็นการประวิงเวลาหรือไม่ ส่วนเรื่องใดที่ถูกตีตกไป ก็จะมีการแจ้งแก่ผู้ที่ถูกร้องเช่นกัน
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการชี้มูลวินัยว่าจะมีผลผูกพันตัวผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่คนนั้นอย่างไรบ้าง นายสุชาติกล่าวว่าการชี้มูลนั้นจะบังคับผู้บังคับบัญชาได้หรือไม่ ก็ให้ดูที่กฎหมาย ป.ป.ช.ที่ระบุว่าต้องดำเนินการทางวินัยภายในเวลา 30 วัน แต่อย่างไรก็ตาม เกิดปัญหาข้อกฎหมายในทางปฏิบัติเพราะว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างปี 2542-2561 นั้นมีความไม่ลงรอยในหลักเกณฑ์ ทำให้เกิดช่องของการตีความ ในกฎหมายปี 2561 บอกว่า ป.ป.ช.ต้องดำเนินการไต่สวนให้เห็นภายใน 2 ปี แต่ว่ากฎหมายอื่นที่เป็นเรื่องของการดำเนินการทางวินัย กลับเขียนหลักเกณฑ์เรื่องการดำเนินการทางวินัยหลังจากพ้นจากตำแหน่งราชการไม่ตรงกัน ปัญหาเรื่องศาลที่มีคำพิพากษาไม่ลงรอยกันจะปฏิบัติกันอย่างไร
ส่วนนายนิวัติไชยกล่าวว่าแม้ว่าตามกฎหมายบอกว่าให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการลงโทษได้ภายในเวลา 30 วัน แต่ว่าก็ให้อำนาจในการที่ผู้บังคับบัญชาดำเนินการอุทธรณ์ต่อไปได้ ถ้าหากเห็นว่ามีหลักฐานใหม่ที่ผู้ถูกร้องไม่ได้ทำความผิดตามชี้มูล โดยสามารถอุทธรณ์ไปยัง ป.ป.ช.ภายในสามสิบวัน ซึ่งตรงนี้ ป.ป.ช.ก็จะพิจารณาต่อไปว่านั่นคือพยานหลักฐานใหม่หรือไม่ ซึ่งถ้าหากไม่ใช่ ป.ป.ช.ก็จะส่งเรื่องกลับไปยังผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการลงโทษภายในระยะเวลา 30 วัน และตรงนี้ทางผู้ถูกร้องนั้นก็สามารถจะร้องไปยังศาลปกครองให้ยกเลิกต่อคำสั่งของ ป.ป.ช. ที่บอกว่าให้ดำเนินการทางวินัยได้อีกเช่นกัน
ขณะที่นายสุเมธกล่าวว่าในกรณีที่ ป.ป.ช.ได้มีการชี้มูลแล้วเกี่ยวกับฐานความผิดทางวินัยนั้น ที่ผ่านมาในการประชุมพิจารณา ที่ประชุมใหญ่เห็นว่าถ้าฟังได้ว่าเป็นการทุจริตเท่านั้นที่ผู้บังคับบัญชาไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนซ้ำอีก แต่ถ้าเป็นฐานความผิดอื่นไม่ใช่การทุจริตนั้น ก็ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบเป็นกรณีไป ซึ่งคำว่าทุจริตนี้เป็นไปตามนิยามใน พ.ร.บ.ฯ ป.ป.ช. ปี 2561 ที่มีความกว้างและครอบคลุมไปถึงความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดต่อกระบวนการยุติธรรมด้วยเช่นกัน
@ฐานความผิดอื่นๆนอกเหนือจากกรณีทุจริต
นายนิวัติไชยกล่าวว่าที่ผ่านมามีการถกเถียงกันว่าจะให้ ป.ป.ช.ได้พิจารณาฐานความผิดทางวินัยด้วยหรือไม่ ซึ่งบทบาทการพิจารณาความผิดของ ป.ป.ช. ทั้งหมดนั้นจริงๆแล้วมันเป็นเรื่องของคดีอาญาหมดเลย แต่เมื่อ ป.ป.ช.พิจารณาในฐานความผิดเสร็จสิ้นแล้ว ก็มีการหารือว่าให้ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดทางวินัยไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้นั้นมีการพูดคุยกันตั้งแต่ตอนยกร่าง พ.ร.บ.ฯ ป.ป.ช.ปี 2542 แล้ว และในกฎหมายดังกล่าวก็ให้อำนาจ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลทางอาญาและวินัยด้วยเช่นกัน ดังนั้นในส่วนของการพิจารณาความผิดอื่นๆแม้ ป.ป.ช.จะพิจารณา ไม่พบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น แต่ก็มีกรณีของฐานความทางผิดวินัยเช่นความประมาทเลินเล่อจนทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ได้ไปแค่ในทางอาญาอย่างเดียว
นายสุชาติกล่าวเสริมว่าความผิดในเรื่องอื่นๆนั้นข้อหามันมีความผูกพันกันเช่นบังคับขืนใจเรียกรับสินบนเป็นต้น บางทีความผิดเกี่ยวพันกันนั้นใหญ่กว่าความผิดหลักของ ป.ป.ช.ที่ต้องจะดำเนินการเสียอีก เช่นความผิดเรียกรับสินบน ที่อาจทำให้มีคนเสียชีวิตขึ้นมาเป็นต้น ตรงนี้ก็มีการส่งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินการโดยเป็นฐานความผิดที่ใหญ่กว่าการทุจริต
ขณะที่นายสุเมธกล่าวว่าแม้ว่าจะมีความผิดที่เกี่ยวพันกัน แต่มันควรจะต้องมีความผิดหลักก่อน ในกระบวนการพิจารณา
นายสุชาติกล่าวต่อถึงการที่ผู้ถูกกล่าวหาให้ดำเนินการทางวินัยจะไปฟ้องคดีต่อศาลปครองนั้น ตามมาตรา 101 ของ พ.ร.บ.ฯ ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีนั้นสามารถจะไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้เลย ซึ่งการอุทธรณ์นั้นจะเป็นการพิจารณาดุลยพินิจในการลงโทษ เช่นว่าการไล่ออกนั้นชอบธรรมหรือไม่ หรืออาจจะเป็นความผิดที่จะมีบทลงโทษปลดออกซึ่งแตกต่างไป เพราะว่ายังสามารถจะประเมินผลงานได้อยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองจะไม่สามารถไปแก้ไขในฐานความผิดของผู้ที่ถูกร้องว่ามีความผิดได้ โดยการฟ้องต่อศาลปกครองตามมาตรา 101 นั้นจะต้องอยู่ในระยะเวลา 90 วันนับตั้งแต่ที่ถูกลงโทษ
ทั้งนี้มีคำถามเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องของคำว่าตัวการผู้สนับสนุนการกระทำความผิด นายสุชาติกล่าวว่าการดำเนินการของ ป.ป.ช. เพื่อจะตรวจสอบในกรณีทุจริตนั้นบางทีก็ไม่สามารถจะสาวไปถึงรายใหญ่ได้ ดังนั้น ป.ป.ช.ก็มีกระบวนการที่จะกันเอาผู้ร่วมกระทำความผิดบางคนมาเป็นพยานบุคคล ซึ่งกระบวนการนี้ก็เหมือนกับคดีอาญาทั่วไป และจุดประสงค์ก็เพื่อจะทำให้หาผู้กระทำความผิดรายใหญ่ได้
อย่างไรก็ตาม กระบวนการกันพยานนั้น เจ้าตัวที่เป็นคนกระทำความผิดนั้นต้องเป็นคนร้องขอเอง และสามารถจะสาวไปถึงตัวการใหญ่ได้ สำหรับ ป.ป.ช.นั้นมองว่าคนที่จะมาเป็นพยานนั้นก็ต้องมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดน้อยที่สุดด้วยเช่นกัน