"...การทำเรื่องเลวร้ายแบบนี้จะด้วยเกรงใจหรือเกรงกลัวก็เป็นเรื่องผิด แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐทำตัวเป็นผู้ร้ายเสียเอง อย่างนี้เราจะปกป้องเด็กและเยาวชนได้อย่างไร คนที่กล้าคอร์รัปชันต่อหน้าที่อย่างไร้ยางอายกันขนาดนี้ สังคมไทยต้องไม่ปล่อยให้ลอยนวลไปง่ายๆ ครับ..."
ครั้งนี้จะอธิบาย กรณีข่าวรองอธิบดีกิจการเด็กและเยาวชน โทรศัพท์สั่งการให้เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกลี้ยกล่อมเด็กในการดูแลของบ้านพักนั้นเองและตกเป็นเหยื่อแก๊งกามคดีค้ามนุษย์ ให้ช่วยปกปิดรายชื่อคนซื้อบริการทางเพศ
ทุกคนรู้ดีว่าทำแบบนั้นมันผิด แต่เป็นเรื่องธรรมดามากในวงราชการที่จะช่วยกันปกปิดเรื่องไม่ชอบมาพากล แม้ร้ายแรงถึงขั้นคอร์รัปชันก็ตาม เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ
ประการแรก ข้าราชการจำนวนมากยังเคยชินกับวัฒนธรรม ‘เกรงใจ’ เห็นแก่ผู้ใหญ่ เห็นแก่พวกพ้อง เมื่อมีใครขอมาก็ยอมทำผิดเพื่อช่วยเหลือกัน จนท่านประธานรัฐสภา ชวน หลักภัย มักพูดเสมอว่า ความเกรงใจในเรื่องไม่ถูกต้องจะทำให้บ้านเมืองเสียหายและตัวคนที่เกรงใจเองต้องติดคุกไปเสียมาก
ประการที่สอง บ่อยครั้งแม้ไม่มีใครขอร้องให้ช่วยเหลือ แต่ผู้ใหญ่ของหน่วยงานมัก ‘เกรงกลัว’ จะเป็นข่าวอื้อฉาว น่าอับอาย เสียชื่อเสียงหน่วยงาน เสียประวัติ หรือกระทบกับผลงานและความรับชอบของตัวผู้ใหญ่เอง เขาจึงไกล่เกลี่ยหรือหาทางให้เรื่องเงียบ
แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกกรณีที่แอบช่วยกัน สำหรับคดีนี้จะทำจริงหรือไม่ ทำเพราะ ‘เกรงใจหรือเกรงกลัว’ คงต้องรอผลการสอบสวนต่อไป
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า วันนี้ จริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐยังบกพร่องเป็นปัญหามาก ขณะที่ระบบการคัดเลือกผู้บริหารของรัฐ ไม่มีประสิทธิภาพดีพอทำให้คนที่มีวุฒิภาวะไม่เหมาะสมก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารได้ ทั้งที่มีคนเก่ง ตั้งใจทำงาน ประสบการณ์สูงอยู่จำนวนมาก
กล่าวโดยสรุป
การทำเรื่องเลวร้ายแบบนี้จะด้วยเกรงใจหรือเกรงกลัวก็เป็นเรื่องผิด แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐทำตัวเป็นผู้ร้ายเสียเอง อย่างนี้เราจะปกป้องเด็กและเยาวชนได้อย่างไร คนที่กล้าคอร์รัปชันต่อหน้าที่อย่างไร้ยางอายกันขนาดนี้ สังคมไทยต้องไม่ปล่อยให้ลอยนวลไปง่ายๆ ครับ
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)