"...ดังนั้น 'พระภิกษุ' ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์จึงเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ' ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561"
ศาสนาพุทธ อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าน้อมนำหลักธรรมคำสอน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นแนวทางประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม มีพุทธบริษัท 4 ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้สืบทอดและทำนุบำรุงพุทธศาสนา แม้ความหมาย ของคำว่า พระ, ภิกษุ, สงฆ์, พระภิกษุ, พระสงฆ์ และพระภิกษุสงฆ์ จะมีความหมายต่างกัน แต่เมื่อสื่อสารคำดังกล่าวออกไปแล้ว... คนส่วนใหญ่ก็สามารถเข้าใจกันได้ว่าหมายถึงใคร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)1 ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของ พระสงฆ์ กับ สังคมไทย ไว้ในหนังสือ "สถาบันสงฆ์ในสังคมไทย" ว่าพระสงฆ์มีฐานะและความเป็นอยู่ที่ต่างออกไปจากประชาชน เป็นอันมากมีวัตถุประสงค์ในการดำรงเพศโดยเฉพาะ มีระเบียบวินัยสำหรับกำหนดความเป็นอยู่ต่างออกไป และได้รับความยกย่องจากประชาชนให้อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ เรียกได้ว่าเป็นอีกสังคมหนึ่งต่างหาก
แต่การมีฐานะและความเป็นอยู่ต่างหากออกไปนี้ มิได้หมายความว่า พระสงฆ์จะต้องแยกตัวเด็ดขาดออกไปจากประชาชนและปลีกตัวอยู่โดยลำพัง เพราะจุดมุ่งหมายของชีวิตพรหมจรรย์นั้นโดยแท้จริงก็เป็นจุดหมายสำหรับทุกคนหรือทุกชีวิต การออกบวชก็คืออุบายหรือวิธีการที่จะให้เข้าถึงจุดหมายนั้นโดยสะดวกและรวดเร็วขึ้น อีกทั้งท่านยังกล่าวถึงเรื่องการพึ่งพาอาศัยระหว่างพระสงฆ์กับประชาชนไว้ว่า เมื่อบวชแล้วก็ยังต้องอาศัยปัจจัยสี่ ที่เป็นเครื่องดำรงชีวิตด้านวัตถุจากประชาชน และเมื่อปฏิบัติตามวิธีการเพื่อเข้าถึงจุดหมายนั้นได้ผลสำเร็จทางสติปัญญาหรือจิตใจที่สูงขึ้นไป ก็สมควรจะต้องนำมาชี้แจงแนะนำแก่ประชาชนที่ตนได้อาศัยปัจจัยสี่เลี้ยงชีวิตนั้นด้วย
จึงเกิดเป็นข้อผูกพันต่อกันในรูปการณ์ตอบแทนหรือให้และให้ตอบ เป็นวัตถุฝ่ายหนึ่งและจิตใจฝ่ายหนึ่ง แต่ไม่ใช่การซื้อขายหรือกู้ยืมเพราะประกอบด้วยคุณค่าทางจิตใจ อย่างน้อยก็ศรัทธาในฝ่ายหนึ่งและเมตตาในอีกฝ่ายหนึ่ง และความผูกพันนี้ก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในแบบอาศัยกันและกัน
จากคำกล่าวของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ข้างต้นทำให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยกันระหว่าง พระสงฆ์ กับ สังคมไทย ซึ่งบทความนี้มุ่งหวังที่จะอธิบายและทำความเข้าใจเรื่อง “การรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพระสงฆ์” ซึ่งหลายท่านอาจคิดไม่ถึงว่า พระสงฆ์นั้นมีกฎหมายบัญญัติเรื่องการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดด้วยหรือ ?
และผู้เขียนก็มิได้มีเจตนาที่จะก้าวก่ายสถาบันสงฆ์แต่อย่างใด แต่เพราะเหตุที่ปัจจุบันมีกฎหมายห้าม “เจ้าพนักงานของรัฐ” รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไว้ใน มาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 นั่นเอง
ท่านผู้อ่านอาจเกิดความสงสัยขึ้นแล้วว่า... กฎหมายบัญญัติห้าม “เจ้าพนักงานของรัฐ” มิใช่หรือ? เหตุใดจึงต้องตั้งชื่อหัวข้อว่า “พระ” กับ การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด
ก่อนที่จะลงถึงรายละเอียด ขออนุญาตเรียนผู้อ่านก่อนครับว่า เนื้อหาเรื่องนี้มีรายละเอียดยาวพอสมควร จึงขอแบ่งออกเป็นตอน ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยในตอนแรกนี้จะขอเล่าถึงความเป็นมาของกฎหมายที่บัญญัติถึงการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐ และความเกี่ยวข้องกัน ระหว่าง “พระ กับ เจ้าพนักงานของรัฐ” กันก่อน
กฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐ คือ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต” หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า “กฎหมาย ป.ป.ช.” ซึ่งบัญญัติเรื่องนี้ไว้กว่า 20 ปีมาแล้ว คือตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ซึ่งในขณะนั้นจะอยู่ใน มาตรา 1032 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 ซึ่งใช้ประกอบกัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ถูกยกเลิกไป อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ยังคงบัญญัติเรื่องการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐ ไว้ใน มาตรา 128 และยังมีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2563 ซึ่งยังคงหลักเกณฑ์ ที่เป็นสาระสำคัญไว้เช่นเดิม
“พระ กับความเป็น เจ้าพนักงานของรัฐ”
เมื่อทราบที่มาของกฎหมายที่บัญญัติห้ามการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐแล้ว ต่อไปมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางกฎหมาย ระหว่าง “พระ กับ เจ้าพนักงานของรัฐ”
ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้กำหนดความหมายของคำว่า 'เจ้าพนักงานของรัฐ' และ 'เจ้าหน้าที่ของรัฐ' ไว้ดังนี้
'เจ้าพนักงานของรัฐ' หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
'เจ้าหน้าที่ของรัฐ' หมายความว่า ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐหรือในรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ หรือเจ้าพนักงานอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และบุคคลหรือคณะบุคคลบรรดาซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐด้วย แต่ไม่รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในมาตรา 45 ให้ถือว่า พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) บัญญัติว่า “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11340/2556
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 45 บัญญัติว่า "ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา" และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดว่า "การปกครองคณะสงฆ์แต่ละคณะ ให้มีบรรพชิตเป็นผู้ปกครองตามตำแหน่ง ดังนี้ (11) เจ้าอาวาส" ดังนี้
เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ตามกฎกระทรวง จึงถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2003-2005/2500
ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นพระภิกษุได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่การงานในทางทุจริต เรียกเอาเงินสินบนในการให้เช่าที่ดินของวัดมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน การที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์บัญญัติไว้ว่า พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายลักษณะอาญานั้น บ่งชัดถึงอำนาจและหน้าที่ กล่าวคือเมื่อมีอำนาจในวัดเหมือนเจ้าพนักงานแล้ว หากกระทำความผิดในหน้าที่ก็จะต้องเป็นผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดด้วย
มติคณะอนุกรรมการกฎหมายและระเบียบ สำนักงาน ป.ป.ช.
สำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ 1 ได้รับเรื่องกล่าวหาอดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ว่าร่ำรวยผิดปกติไว้ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งผู้ถูกร้องได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2550 และลาสิกขาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
คณะอนุกรรมการกฎหมายและระเบียบ ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เดิมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 12/2544 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 จะเคยมีมติว่า แม้เจ้าอาวาสเป็นผู้ซึ่งใช้อำนาจ หรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย คือ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
แต่ไม่ได้ เป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ เจ้าอาวาสจึงไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งหมายความรวมถึงพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ก็ตาม
แต่ปัจจุบันพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 ได้กำหนดนิยาม 'เจ้าหน้าที่ของรัฐ' ให้หมายความถึง เจ้าพนักงานอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 45 ได้กำหนดให้ถือว่า พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
ดังนั้น ภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร จึงถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 (2)
เมื่อพิจารณาจากนิยามของคำว่า “เจ้าพนักงานของรัฐ” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ประกอบ มาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบ มาตรา 1 (16) แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงอธิบายเป็นลำดับ ได้ว่า
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 54 บัญญัติว่า 'ให้ถือว่าพระภิกษุ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา' และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) กำหนดว่า 'เจ้าพนักงาน หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน' และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 กำหนดว่า 'เจ้าพนักงานของรัฐ หมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ' และกำหนดไว้อีกว่า 'เจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายความว่า ฯลฯ เจ้าพนักงานอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ฯลฯ'
ดังนั้น 'พระภิกษุ' ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์จึงเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ' ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ใน EP ต่อไป... ผู้เขียนจะมาเล่าต่อครับว่า...
“พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์” ได้แก่พระภิกษุในตำแหน่งใดบ้าง
โดย เฉลิมชัยวงค์ บริรักษ์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ