"...ปัจจัยของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุทั้ง 4 ด้าน ทั้งการลดภาระค่าครองชีพ การส่งเสริมการประกอบอาชีพ การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ และการปรับปรุงระบบการคุ้มครองทางสังคม มีความสำคัญเกี่ยวข้องโดยตรงกับหน้าที่การงานและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีงานทำในกรุงเทพมหานครทุกคน ทั้งคนทำงานที่เป็นข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน หรือแม้กระทั่งแรงงานนอกระบบด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ภาพความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครจะเป็นจริงได้นั้น เศรษฐกิจภาคนอกระบบและแรงงานนอกระบบถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของกรุงเทพมหานคร..."
กรุงเทพมหานครเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีประชากรสูงที่สุดของประเทศไทย และกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete-aged society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด โดยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ณ มกราคม 2565 ประมาณ 1.15 ล้านคน [1] มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพมหานคร 61,604 คน และมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ในกรุงเทพมหานครลดลงมาอย่างต่อเนื่อง [2] ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้มีงานทำในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 อยู่ที่ 5.38 ล้านคน ผู้มีงานทำส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบอาชีพบริการในร้านค้าและตลาด ในอุตสาหกรรมการขายส่งขายปลีก การผลิต กิจกรรมโรงแรมและร้านอาหาร มีสภาพการทำงานเป็นลูกจ้างภาคเอกชนและทำงานส่วนตัว มีชั่วโมงการทำงาน 40-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ [3] กล่าวได้ว่า ตอนนี้คนกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนประชากรวัยทำงานต่อการดูแลผู้สูงอายุและวัยเด็ก ประมาณ 5 : 1 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอันเกิดจากอัตราการเกิดที่ลดลง จำนวนประชากรวัยพึ่งพิง และอัตราส่วนการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยทำงานเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น ทั้งภาระค่าใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐด้านเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินบำเน็จบำนาญ และค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุข [4] รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และค่าเสียโอกาสของผู้ดูแลผู้สูงอายุ [5] ในขณะที่ คนไทยและคนกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มที่จะหารายได้ได้น้อยกว่าการบริโภค แรงงานต้องหารายได้เพื่อนำมาดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และการวางแผนเกษียณอายุของตนเอง ในขณะที่ภาระของวัยทำงาน และจำนวนประชากรที่ลดลงจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง ในขณะที่ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะจัดเก็บภาษีได้ลดลง [6] [7]
การออกแบบเมืองที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน เพื่อเตรียมความพร้อมและเอื้อต่อการรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยการเพิ่มศักยภาพและลดข้อจำกัดภาระของผู้สูงอายุและประชากรวัยแรงงาน กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตใน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. การลดภาระค่าครองชีพในเมือง ทั้งภาระค่าใช้จ่ายเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย และค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้อยู่ในอุปการะ เพื่อให้วัยแรงงานมีรายได้เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ มีเงินเหลือสำหรับเก็บออม และเตรียมการสำหรับการเกษียณของตนเอง รวมถึงผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตในเมืองได้ด้วยเงินสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
2. การสร้างโอกาสการประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ยังมีทักษะ ความรู้ความสามารถ สุขภาพแข็งแรง มีความต้องการจะประกอบอาชีพ สามารถทำงานและมีรายได้หลังจากเกษียณอายุ เช่น งานค้าขาย หรืองานบริการในเมืองและชุมชน
3. การสร้างเครือข่ายการดูแลสมาชิกทุกช่วงวัยในชุมชน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ในการดูแลครอบครัว ภาระงานบ้าน และดูแลเด็ก คนพิการ ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ เครือข่ายที่ช่วยให้คนที่ต้องการผู้ให้บริการพบกับคนที่ต้องการรับบริการ ตลอดจนสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ การช่วยเหลือกัน และสร้างสภาพแวดล้อมให้สมาชิกในชุมชนเกิดความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย
4. การปรับปรุงระบบการคุ้มครองทางสังคมที่สอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อช่วยให้คนทำงานมีรายได้ รูปแบบการทำงาน รวมถึงได้รับสิทธิและสวัสดิการที่สอดคล้องกับภาระความรับผิดชอบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม การลาหยุดเพื่อดูแลผู้อยู่ในอุปการะ การประกันการทำงาน การฝึกทักษะการดูแลผู้สูงอายุและฝึกอาชีพ การเข้าถึงแหล่งทุนและการสนับสนุนของรัฐ
ปัจจัยของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุทั้ง 4 ด้าน ทั้งการลดภาระค่าครองชีพ การส่งเสริมการประกอบอาชีพ การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ และการปรับปรุงระบบการคุ้มครองทางสังคม มีความสำคัญเกี่ยวข้องโดยตรงกับหน้าที่การงานและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีงานทำในกรุงเทพมหานครทุกคน ทั้งคนทำงานที่เป็นข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน หรือแม้กระทั่งแรงงานนอกระบบด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ภาพความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครจะเป็นจริงได้นั้น เศรษฐกิจภาคนอกระบบและแรงงานนอกระบบถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งการค้าขายและงานบริการในเมือง ตลอดจนอาชีพในภาคเศรษฐกิจนอกระบบอื่นๆ มีส่วนช่วยรองรับการว่างงาน สร้างอาชีพและรายได้แก่คนทำงานและผู้สูงอายุ ทั้งการผลิตและจำหน่ายอาหารของกลุ่มผู้ค้าอาหารและวัตถุดิบที่มีส่วนช่วยเพิ่มทางเลือกการบริโภค ช่วยลดภาระค่าอาหาร และค่าครองชีพในเมือง, การให้บริการด้านการคมนาคมขนส่งของผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างและรถรับจ้างสาธารณะที่ช่วยรับส่งผู้คน อาหาร สินค้า หรือรับส่งผู้สูงอายุในชุมชน, การให้บริการในที่อยู่อาศัยของกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านที่ช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้าน และการดูแลเด็ก คนป่วย คนพิการ และผู้สูงอายุของคนทำงานในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนคนทำงานนอกระบบอื่นๆ ในร้านค้า ร้านอาหาร และงานบริการต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร
การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสูงอายุ กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องสนับสนุนให้งานค้าขายและงานบริการอาหาร การขนส่ง การดูแลผู้สูงอายุและเด็กมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และความปลอดภัย แรงงานที่เป็นผู้ทำการค้าและผู้ให้บริการควรได้รับยกระดับ ฝึกอบรมให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมผู้สูงอายุดังกล่าว รวมทั้งควรได้รับค่าตอบแทน และระบบการคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนทำงานและครอบครัวที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตในกรุงเทพมหานคร การเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านและรับมือสังคมผู้สูงอายุ จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ความเคารพในความแตกต่าง และความเห็นอกเห็นใจกันของทุกคน เพื่อให้ผู้สูงอายุในวันนี้ พี่น้องเรา เพื่อนเรา ตัวเรา รวมถึงลูกหลานของเราที่จะเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในเมืองหลวงแห่งนี้
ดร. บุญสม น้ำสมบูรณ์
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
ดร.กิ่งกาญจน์ จงสุขไกล และดร.บวร ทรัพย์สิงห์
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แหล่งที่มา :
[1] https://stat.bora.dopa.go.th/StatMIS/#/ReportStat/3
[2] http://statbbi.nso.go.th/staticreport/Page/sector/TH/report/sector_01_11301_TH_.xlsx
[3] www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านสังคม/สาขาแรงงาน/ภาวะการทำงานของประชากร/2564/labourforce_Q4_64.pdf
[4] https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parbudget/ewt_dl_link.php?nid=639
[5] http://agingthai.dms.go.th/agingthai/wp-content/uploads/2020/07/book_2.pdf