"...เราเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่อาจไม่ใช่ 2 มาตรฐาน แต่มีหลายมาตรฐานขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กับใคร เราเห็นการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในหมู่ผู้มีอำนาจ ไม่แตกต่างไปจากการทุจริตของนักการเมือง การทุจริตซึ่งเคยเป็นเป้าหมายสำคัญของการรัฐประหาร ยังคงมีอยู่ ความแตกต่างสำคัญคือในอดีตเรามีองค์กรตรวจสอบจับนักการเมืองเข้าคุก แต่ปัจจุบันเรามีกลไกเช่นนั้นสำหรับนักการเมืองหรือผู้มีความคิดตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจรัฐเท่านั้น..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2565 ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และประธานกรรมการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตธรรมศาสตร์ อนาคตสังคมไทย’ ณ หอประชุมศรีบูรพา มธ.ท่าพระจันทร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยกองทุนทำบุญวันเกิดกับธรรมศาสตร์ และสำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจส่วนหนึ่งของการปาฐกถา ดังนี้
ศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่พวกเราตระหนักที่พูดถึงความแตกแยก ความขัดแย้งทางความคิดที่ปรากฏอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง และต่อเนื่องกันมายาวนานในสังคมไทย มธ.จะเดินไปข้างหน้าอย่างไร สังคมไทยในอนาคตอันใกล้จะเกิดอะไรขึ้น ในฐานะอธิการบดี มธ. ปี 2547-2553 และก่อนหน้านั้นเมื่อดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ ตนมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยมากมาย และมีบทบาทที่สัมพันธ์กับการเมืองเยอะมาก จากนั้น 12 ปีต่อมา สังคมการเมืองไทย พัฒนาไปเยอะมากจนยากที่จะทำความเข้าใจหรือเห็นภาพอะไรชัดเจน จึงพยายามรักษาระยะห่างในการแสดงความเห็นแม้แต่ในเรื่องทางวิชาการต่อปัญหาการเมือง ปัญหาสังคม และปัญหาการปกครอง
“ผมคิดว่าพวกเราทุกคนอึดอัดต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ พวกเราไม่ค่อยแน่ใจว่าทิศทางข้างหน้าของประเทศเป็นอย่างไร อนาคตลูกหลานเป็นอย่างไร” ศ.ดร.สุรพล กล่าว
ศ.ดร.สุรพล กล่าวอีกว่า ในทัศนะของคนที่อยู่มหาวิทยาลัยนี้มานาน มธ.มีลักษณะพิเศษอะไรบางอย่างตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน น่าจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดสิ่งที่เป็นในช่วงเวลาต่อไป มธ.มีอะไรพิเศษ 2-3 เรื่องที่ไม่เหมือนกับที่อื่น คือ 1.เป็นมหาวิทยาลัยที่สอนให้คนรู้จักความยากลำบาก รู้จักความยากจน รู้จักการดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้โอกาสที่ดีในสังคม รวมถึงการต่อสู้เพื่อคนที่เสียเปรียบ 2.ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คน มธ.เป็นคนที่ไม่กลัว มีความกล้าหาญในทางจริยธรรมที่จะลุกขึ้นโต้แย้ง คัดค้านในสิ่งที่เราเห็นว่ามันไม่ถูก ซึ่งมันไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เราเห็นว่าไม่ถูกนั้นจะถูก สุดท้ายเราอาจจะต้องยอมรับว่าเราคิดผิดเมื่อเวลาผ่านไป แต่เรากล้าที่ปกป้องความเชื่อหรือสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความถูกต้อง และ 3.คน มธ.มีความรักในสถาบันการศึกษาของตัวเองมากเป็นพิเศษ ทั้ง 3 ข้อเป็นลักษณะของคน มธ.และถือเป็นบุญเก่าของมหาวิทยาลัยที่ได้ทำมาตั้งแต่อดีต การอยู่ข้างคนเดือดร้อน ช่วยคนเสียเปรียบในสังคม การกล้าแสดงความเห็น กล้าโต้แย้งในสิ่งที่เราเห็นว่าไม่ถูกต้อง กับการรักในสถาบันไม่ใช่เพียงมหาวิทยาลัย แต่อาจหมายความรวมถึงสถาบันต่างๆที่ทำให้เกิดโอกาสทางการศึกษาของเขา สิ่งที่เคยเป็นอยู่ในอดีต เชื่อว่าเป็นสิ่งที่คน มธ.ตระหนักและรู้สึกอยู่
ศ.ดร.สุรพล กล่าวด้วยว่า ตนมีความเชื่อต่อไปอีกว่าในอนาคต เราไม่ได้พูดกันเรื่องความเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ มหาวิทยาลัยชั้นนำของภูมิภาค หรือมหาวิทยาลัยวิจัยที่ได้รับการยอมรับ สิ่งที่ มธ.ยังคงยืนหยัดและทำให้กับสังคมไทยในช่วงเวลาต่อไปคือการผลิตคน ซึ่งกล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าเถียง และคนซึ่งไม่แปลกแยกออกไปจากคนในสังคมส่วนใหญ่ อยู่ข้างคนเสียเปรียบ มีความรักในมหาวิทยาลัยนี้ นั่นคือสิ่งที่เราทำมาในอดีตและจะทำต่อไปในอนาคต
สังคมไทยในอนาคตจะมีลักษณะอย่างไร บอกได้ยากมาก แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้ คิดว่าทุกคนตระหนักว่าสังคมไทยมีความขัดแย้ง แตกแยก และมีกรอบความคิดที่แตกต่างกันมากมาย ถ้าจะโฟกัสเรื่องการเมืองการปกครอง เราพบว่าสังคมมีความขัดแย้งรุนแรงในเชิงความคิด โฆษณาลาซาด้าคงเป็นตัวอย่างสำคัญ ผู้คนคิดและเชื่อ ในเรื่องที่แตกต่างกัน
“ผมมีความเห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองจะเริ่มจากอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายสิ่งที่เราเกรงกลัวว่าจะเกิดการแตกหัก ระหว่างความคิดในหลายขั้ว จนเกิดสงครามการเมืองขึ้น มันได้จบลงไปชั่วคราวเมื่อเกิดการรัฐประหารปี 2557 หลายคนโล่งอก หลายคนเสียใจ หลายคนเสียดายที่เกิดเหตุการณ์นั้น แต่สิ่งที่ตามมาหลังรัฐประหารคราวนั้นคือความสงบสุขเพียงชั่วคราว” ศ.ดร.สุรพล กล่าว
ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่ออีกว่า ทุกที่ที่มีการรัฐประหารเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยใช้อาวุธ ระบบการเมืองการปกครองหลังจากนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวเอง เมื่อได้อำนาจมาโดยการใช้อาวุธ ก็ต้องถืออาวุธต่อไป ต้องมีกฎกติกาการเมืองการปกครองปกป้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นผู้กระทำรัฐประหาร มันเป็นความจำเป็นโดยธรรมชาติของทุกสังคมในโลกนี้ที่เมื่อไรใช้อาวุธเพื่อให้ได้อำนาจ ก็จำเป็นต้องใช้อาวุธต่อไปเพื่อปกป้องให้การเมืองมีเสถียรภาพและปลอดภัยต่อผู้ปกครองระดับหนึ่ง คำถามของสังคมไทยก็คือ ระยะเวลาที่สมควรจะรับได้ ควรเนิ่นนานเพียงใด จนถึงวันนี้เราผ่านมาแล้ว 9 ปีกว่า
หลายคนคาดหวังว่าการมีรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับถาวรที่ประกาศใช้เมื่อปี 2560 จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นำบ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์ปกติ แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลังจาก รธน.ใช้บังคับจนถึงวันนี้เกือบ 5 ปี ยังมีระบบการปกครองแบบที่ทำให้คนจำนวนมากอึดอัด ใช้อำนาจที่ดูเหมือนว่าเป็นไปตามกฎกติกา หรือแนวทางการตีความขององค์กรผู้ถืออำนาจ แต่ทุกคนทราบและรู้สึกอยู่ในตัวว่าการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่ เรากำลังพูดถึงปีที่ 10 หลังการรัฐประหาร การใช้อำนาจ การดำเนินการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น
“เราเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่อาจไม่ใช่ 2 มาตรฐาน แต่มีหลายมาตรฐานขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กับใคร เราเห็นการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในหมู่ผู้มีอำนาจ ไม่แตกต่างไปจากการทุจริตของนักการเมือง ในชีวิตจริงพวกเราตระหนักว่าการทุจริตซึ่งเคยเป็นเป้าหมายสำคัญของการรัฐประหาร ยังคงมีอยู่ ถ้าไม่พูดก็มีมากกว่าสมัยที่นักการเมืองปกครองประเทศ ความแตกต่างสำคัญคือในอดีตเรามีองค์กรตรวจสอบจับนักการเมืองเข้าคุก แต่ปัจจุบันเรามีกลไกเช่นนั้นสำหรับนักการเมืองหรือผู้มีความคิดตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจรัฐเท่านั้น” ศ.ดร.สุรพล กล่าว
ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อไปว่า เราเห็นองค์กรอิสระที่ตีความ รธน. ตีความกฎหมายแตกต่างไปจากสามัญสำนึกของคนปกติที่แม้จะไม่ได้เรียนกฎหมาย เราไม่สามารถจัดการอะไรกับเรื่องนี้ได้ เราเห็นอะไรบางอย่าง ท่ามกลางความแตกแยกทางความคิด ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีคนรุ่นใหม่เรียกร้องอะไรมากมาย แล้วดูเหมือนมีคนจำนวนมากยอมรับว่าการบริหารจัดการของรัฐบาลที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ในเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และการระบาดของโรค ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าที่คนคาดหวังเอาไว้ แต่เราก็เห็นว่ามีความพยายามที่อยากจะให้ระยะเวลา 10 ปีกลายเป็น 12 ปี 13 ปี 15 ปี เราอาจไม่ได้ตระหนักว่าปรากฎการณ์ที่ผ่านมาหลายเรื่อง บอกอยู่ในตัวว่ามีความพยายามที่อยากจะขยายเวลาเหล่านี้ออกไป
ถ้าย้อนประวัติศาสตร์ไป 4-5 ปี เราจะคิดทบทวน และมีความประหลาดใจที่เห็นร่าง รธน.ที่ร่างขึ้นโดยกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นโดย คสช.ถูกปฏิเสธโดยสภาที่ คสช.ตั้ง เพื่อจะได้ร่าง รธน.อีกฉบับขึ้นมาใหม่ 2 ปีจากนั้น เราเห็นการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่ใช้เวลาอธิบาย 1 ปีว่า ระบบจัดสรรปันส่วนแบบผสมเป็นระบบที่เหมาะสม สอดคล้องสังคมไทย สอดคล้องระบบประชาธิปไตย เราเพิ่งใช้ระบบนั้นไปครั้งเดียว รัฐสภาก็ลงมติว่าจะกลับไปสู่บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนเดิม โดยลืมไปว่า 4-5 ปีก่อนเราอธิบายสิ่งเหล่านี้ว่าอย่างไร
“ระบบการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบโดย รธน.ปี 2560 ที่ตั้งใจจะจัดการพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล แต่ระบบมีข้อบกพร่อง จัดการไม่ได้ ก็ต้องออกแบบระบบใหม่เพื่อที่จะจัดการให้ได้ ในฐานะนักกฎหมายมหาชน ผมขอเรียนว่าก็จะจัดการไม่ได้เหมือนเดิม” ศ.ดร.สุรพล กล่าว
ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อด้วยว่า ผู้คนจำนวนมากรู้สึกถึงความไร้ประสิทธิภาพ รู้สึกถึงระยะเวลาที่ยาวนานเกินสมควร ถึงการใช้อำนาจที่มิอาจตรวจสอบได้ นี่เป็นปัญหาที่แท้จริงในเวลานี้ ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นใหม่ที่คิดเห็นแปลกแยกแตกต่าง แม้คนที่ผ่านอะไรมาพอสมควรก็เข้าใจสิ่งเหล่านี้ แต่สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก เมื่อเราพบว่า การเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยี การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ยิ่งทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นไปอีก คนรุ่นใหม่ที่มีวิถีชีวิตของตัวเองเขาเอง ตั้งคำถามบางอย่างกับสังคมไทย เขาถามง่ายๆว่า เขาเป็นคนไทยหรือไม่ เขามีสิทธิ์ที่จะทำงาน มีสิทธิ์ได้งานทำหลังเรียนจบหรือไม่ มีสิทธิ์มีชีวิตต่อไปในโลกนี้อย่างมีความสุขเหมือนคนรุ่นเราหรือไม่ มีสิทธิ์พื้นฐานในการเลือกคนที่จะปกครอง ที่จะออกคำสั่งกับเขาหรือไม่ ภายใต้ความเท่าเทียมกันหรือไม่ เขาอยากจะมีสิทธิ์ มีส่วนกำหนดอนาคตซึ่งไม่ใช่เรื่องการเมืองการปกครองเท่านั้น แต่เป็นอนาคตของเขาเอง ในการมีโอกาสได้มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ แต่เขาพบว่าสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่อาจคาดหวังอะไรได้
คนรุ่นที่มีอายุเกิน 60 ปีแล้ว เรามีความเข้าใจในชีวิตความเป็นอยู่ วิธีคิด ความเชื่อ ของเด็กรุ่นใหม่น้อยมาก เรามักดูถูกว่าคนเหล่านี้ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้ ขาดข้อมูล คำถามคือเราเคยเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ประสบการณ์ แสดงความคิดเห็น แสดงข้อมูลที่เขาได้รับหรือไม่
ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อด้วยว่า ในเดือน มี.ค.2566 หรืออีก 10 เดือนข้างหน้า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งจะสิ้นอายุลง และมีการเลือกตั้งใหม่ เร็วกว่านั้น อีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เราจะเห็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชอบหรือไม่ชอบก็ตาม คิดว่าพวกเรารู้ผลการเลือกตั้งในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าอยู่แล้ว ชอบหรือเชื่อหรือไม่ก็ตาม เรารู้ว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปในอีก 1 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะมีความพยายามอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เกิดเพิ่มขึ้น เข้าสู่การมีสิทธิเลือกตั้งปีละ 7-8 แสนคนเท่านั้น แต่คิดว่าคนรุ่นเก่าอย่างพวกเรา แม้จะไม่ได้ล้มหายตายจากไป อายุยืนยาว ก็มีคนรุ่นเก่าจำนวนมาก เริ่มมองเห็นอะไรบางอย่างชัดขึ้น เข้าใจบางสิ่งบางอย่างชัดขึ้น อนาคตของสังคมไทย ตนเชื่อเองว่าจะเป็นอนาคตของสมาชิกของสังคมรุ่นต่อไปซึ่งอยู่นานกว่าพวกเราจะเป็นคนกำหนดและตัดสิน หน้าที่คนรุ่นเราคือพยายามรักษาสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยทำมา และส่งมอบให้คนรุ่นต่อไป
“ผมไม่เชื่อว่า แนวทางที่เป็นอยู่ในมุมผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะเป็นไปในทิศทางที่ทำให้การส่งผ่านเป็นไปอย่างสันติ ควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ใช่คนอายุ 20-25 ปี แต่เป็นคนอายุ 40-50 ปี อย่างที่เราเห็นเป็นเทรนด์ในโลกทุกวันนี้ที่ผู้ปกครองรุ่นใหม่ เป็นผู้ปกครองที่เกิดมาจากเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ รู้เห็น เข้าใจการเปลี่ยนแปลงและวิถีชีวิตของผู้คนเป็นอย่างดี แต่ออกจะไม่ค่อยสบายใจ ที่จะเรียนว่า ผมยังไม่พบว่าเราจะมีการเปลี่ยนผ่านอย่างปกติ หรือสันติที่จะเกิดขึ้นภายใต้ความพยายามที่คนรุ่นเก่า พยายามทุกวิถีทาง เพื่อดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศต่อไป” ศ.ดร.สุรพล กล่าว
ศ.ดร.สุรพล กล่าวอีกว่า หากจะเอาอนาคตของ มธ.มาผูกกับอนาคตสังคมไทย ได้แต่หวังว่าเรามีผู้คน มธ.จำนวนมากอยู่ในทุกสีเสื้อ ในทุกกรอบความคิด ทุกฝักฝ่ายที่เห็นต่างเห็นแย้ง ตนมีความคาดหวังว่า ผู้คน มธ.ที่มีจิตวิญญาณ กล้าพูด กล้าคิด กล้าแสดงออก เห็นใจและเข้าใจความทุกข์ยากเดือดร้อน อยู่ข้างคนเสียเปรียบกับความรักในสถาบัน ซึ่งกินความกว้างไปกว่ามหาวิทยาลัยเท่านั้น จะช่วยทำให้ความรุนแรง ความขัดแย้ง ที่จะนำไปสู่การปะทะของความคิด 2 ฝ่าย ให้ช่วยมีความเบาบางลง ด้วยความรักในสถาบัน ด้วยความรักในสิ่งที่เกิดขึ้น และต้องการให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างสันติเพื่อประโยชน์ทุกคนในประเทศนี้
“สังคมไทยจะต่างไปจากที่เราเห็น ขอให้ชาว มธ.ในที่ต่างๆ ช่วยกันทำให้ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างสันติและเป็นประโยชน์กับทุกคน กับสังคมไทย อย่างที่ธรรมศาสตร์ เคยทำหน้าที่นี้มาอย่างดีในอดีต ผมหวังว่าจะทำหน้าที่นี้ต่อไปในอนาคตในฐานะคนธรรมศาสตร์ด้วย” ศ.ดร.สุรพล กล่าว