"...ท่ามกลางกระแส “ขย่มบิ๊กตู่” โดยใช้เสียงในสภา โดยเฉพาะเสียงสนับสนุนจากพรรคเล็กเป็นตัวบีบ ก็มีกระแส “ชูบิ๊กป้อม” ขึ้นมาแทนที่ ในฐานะ “นายกฯขัดตาทัพ” หรือ “นายกฯสำรอง” แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ..."
เป้าหมายรัฐบาลอยู่ครบวาระ หรืออย่างน้อยหลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปกต้องถูกสั่นคลอน
เมื่อ ส.ส.พรรคเล็กบางส่วนที่เคยร่วมดินเนอร์กับแกนนำรัฐบาล หันมาเคลื่อนไหวสอดรับกับฝ่ายค้าน
ขณะที่พรรคเศรษฐกิจไทยภายใต้การนำของ “ผู้กองธรรมนัส” แสดงท่าทีชัดเจน “ไม่เอาบิ๊กตู่”
ยิ่งใกล้เปิดสภา บรรยากาศการเมืองยิ่งหนาวระทึกสำหรับนายกฯ
เพราะรัฐบาลชุดนี้เป็น “รัฐบาลผสม” และจัดอยู่ในสถานะ “เสียงปริ่มน้ำ” เพราะเสียงที่สนับสนุนอยู่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้
หากยึดข้อมูลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากสมัยประชุมที่แล้ว
จำนวนเสียง ส.ส.ทั้งสภาเท่าที่โหวตได้ อยู่ที่ 475 เสียง
จำนวนเสียงฝ่ายรัฐบาล นับรวม ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย 267 เสียง
จำนวนเสียงฝ่ายรัฐบาล ไม่รวมพรรคเศรษฐกิจไทย 251 เสียง (หักออก 16 เสียง)
จำนวนเสียงของฝ่ายค้าน 208 เสียง
จำนวน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ไม่นับรวมพรรคเศรษฐกิจไทย 251 เสียง มาจาก...
พรรคพลังประชารัฐ 97 เสียง
พรรคภูมิใจไทย 59 เสียง
พรรคประชาธิปัตย์ 50 เสียง
พรรคชาติไทยพัฒนา 12 เสียง
พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง
พรรครวมพลังประชาชาติไทย (เปลี่ยนชื่อเป็นพรรครวมพลัง) 5 เสียง
ที่เหลือคือ พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคชาติพัฒนา พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และพรรคเล็ก 1 เสียง รวมแล้ว 19 เสียง
ถ้าแยกเสียงพรรคพลังท้องถิ่นไทที่ “เสี่ยชัช เตาปูน” หัวหน้าพรรค ยืนยันสนับสนุน “บิ๊กตู่” กับอีกพรรคคือ พรรคพลังธรรมใหม่ ของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ก็จะเท่ากับมีเสียงสนับสนุนรัฐบาลแน่ๆ ในกลุ่มพรรคเล็ก 6 เสียง (พลังท้องถิ่นไท 5 + พลังธรรมใหม่ 1)
ส่วนพรรคชาติพัฒนา เริ่มมี ส.ส.ไปร่วมวงกับ “กลุ่ม 16 ส.ส.” บ่อยขึ้น ทำให้เสียงเริ่มไม่แน่นอน
ฉะนั้นกลุ่มพรรคเล็กที่ “พร้อมเปลี่ยนข้าง” หรือ “มีความไม่แน่นอนสูง” มีอยู่ 13 เสียง (19-6)
ขณะที่รัฐบาล 251 เสียง มากกว่าเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร (238 เสียง) เพียงแค่ 13 เสียงเท่ากัน
นี่คือความน่ากลัวของ “เสียงพรรคเล็ก” ที่อาจจะผันแปรไป และล้มรัฐบาลได้เหมือนกัน
ทั้งหมดนี้ยังไม่นับเสียงสนับสนุนของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีแนวโน้มไม่เป็นเอกภาพ และน่าจะมีกลุ่ม “โหวตสวนมติพรรค” เพื่อต่อต้าน หัวหน้าจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ที่ไม่ยอมลาออกจากกรณี “ปริญญ์ เอฟเฟกต์” อีกจำนวนหนึ่ง
ท่ามกลางกระแส “ขย่มบิ๊กตู่” โดยใช้เสียงในสภา โดยเฉพาะเสียงสนับสนุนจากพรรคเล็กเป็นตัวบีบ ก็มีกระแส “ชูบิ๊กป้อม” ขึ้นมาแทนที่ ในฐานะ “นายกฯขัดตาทัพ” หรือ “นายกฯสำรอง”
แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
คนที่จุดพลุเรื่องนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น “บิ๊กป้อม” ที่ตอบคำถามนักข่าวคล้ายๆ “หลุดปาก” แต่ตอนหลังมาโวยสื่อว่าไม่ได้พูด
จากนั้น อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนพฤษภา 35 หนึ่งในกลุ่มสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย ก็ออกมารับลูก
เหตุผลของ คุณอดุลย์ นับว่าน่าสนใจ คือ “บิ๊กตู่” บริหารไปไม่ไหว ก็ให้ “บิ๊กป้อม” รับผิดชอบ ในฐานะที่สนับสนุนกันมาตลอด และน่าจะบอกให้ลงจากตำแหน่งได้ เมื่อลงจากเก้าอี้แล้ว “บิ๊กป้อม” ขึ้นแทน ก็ระวังหลังให้ “น้องตู่” ได้
ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ประสานได้กับทุกกลุ่ม ทุกพรรคการเมือง จึงน่าจะมาเป็น “นายกฯขัดตาทัพ” จัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อนเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง (เช่น เรื่องกฎหมายลูก และการแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ)
อีกคนที่ออกมารับลูกในปฏิบัติการ “ขย่มบิ๊กตู่ ชูบิ๊กป้อม” ก็คือ “ผู้กองธรรมนัส” เพราะประกาศหนุน “บิ๊กป้อม” เหมาะนั่งนายกฯอย่างชัดแจ้ง
ข้อเสนอที่น่าถอดรหัสก็คือ คำตอบของ “ผู้กองธรรมนัส” กรณีเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองหลังเปิดสภา (รัฐบาลแพ้โหวตกฎหมายสำคัญ นายกฯแพ้โหวตไม่ไว้วางใจ หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปีแล้ว) “ผู้กองธรรมนัส” ไปอ้างถึงกระบวนการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2
“ในความคิดเห็นของผม คงใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2 สำหรับบุคคลที่จะเข้ามาแก้ไขในสถานการณ์นี้ได้”
รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2 หมายถึงอะไร / ต้องย้อนไปดูมาตรา 272 วรรค 1 ด้วย
272 วรรค 1 - ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ในระยะ 5 ปีแรกหลังมีสภาชุดแรกตาม รธน.นี้
272 วรรค 2 - ถ้าเลือกนายกฯจากบัญชีแคนดิเดตที่พรรคการเมืองเสนอไม่ได้ ก็ให้ไปเลือกนายกฯคนนอก โดยขออนุมัติจากรัฐสภา เสียง 2 ใน 3
แปลกหรือไม่ที่ “ผู้กองธรรมนัส” ไม่พูดถึงมาตรา 272 วรรค 1 แต่ข้ามไป 272 วรรค 2 เลย คำตอบก็คือ “ผู้กองธรรมนัส” ไม่เอานายกฯในบัญชีแคนดิเดต แต่จะเอา “คนนอกบัญชี” และ “คนนอก” นั้นก็คือ “บิ๊กป้อม”
เหตุผลที่สนับสนุนแนวคิดนี้ก็คือ
1.การจะล้ม “บิ๊กตู่” หรือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยที่ “พี่น้อง 3ป.” ยังจับมือกันแน่น ไม่แตกคอ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย
2.การจะยุให้ “3ป.” แตกกันจริงๆ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะพี่น้องบูรพาพยัคฆ์น่าจะไม่ถึงกับฆ่ากันเองทางการเมือง
3.แต่การใช้สูตร “ตู่ไม่ไหวก็ให้ป้อม” เป็นแนวๆ “อำนาจเปลี่ยนมือในกลุ่มเดียวกันเอง” ย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า และก็น่าจะมีข้อต่อรองทางการเมืองไม่ให้มีการตามเช็คบิลกัน โดยเฉพาะเช็คบิล “บิ๊กตู่”
4.เป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะ “พรรคร่วมรัฐบาลเดิมเกาะกลุ่มกัน” เพื่อคงเสียงสนับสนุนในสภาให้ได้ 251-267 เสียง เมื่อรวมกับ ส.ว. 250 เสียง ก็จะมีเสียงสนับสนุนเกิน 500 เสียง หรือ 2 ใน 3 ของรัฐสภา สามารถปลดล็อกให้ใช้ “นายกฯคนนอก” ได้
5.หาก “บิ๊กป้อม” ขึ้นมาเป็นนายกฯ การต่อรองทางการเมืองจะทำได้ง่ายขึ้น ทั้งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ และเรื่องอื่นๆ เหมือนกับที่ “บิ๊กป้อม” เคยสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนกติกาเลือกตั้งเป็น “บัตร 2 ใบ” มาแล้ว
การแก้รัฐธรรนูญ เปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งเป็น “บัตร 2 ใบ” ทำให้พรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์ชัดเจน จนอาจชนะแบบแลนด์สไลด์ เมื่อเพื่อไทยชนะ พรรคพลังประชารัฐย่อมเป็นฝ่ายแพ้ แต่ทำไม “บิ๊กป้อม” กลับเอาด้วย
หรือนี่คือร่องรอยของสิ่งที่เรียกว่า “ดีลลับ” หรือ “บิ๊กดีล” ที่พูดๆ กันมาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ และปูทางสู่การตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้ง โดยถอด “บิ๊กตู่” ออกจากสมการการเมืองอย่างถาวร