"...การคิดค่าปรับตามรายได้หรือระบบ day fine ที่ใช้ในกลุ่มสแกนดิเนเวียเป็นประเทศแรก ๆ เมื่อปีค.ศ. 1921 นั้น หลัก ๆ คือไม่ระบุค่าปรับเป็นจำนวนเงินตายตัว แต่ระบุเป็นจำนวนวัน ตามระดับความรุนแรงของฐานความผิด โดยแต่ละวันก็แปรเป็นจำนวนเงินไม่เท่ากัน เพราะจะคิดเป็นเงินตามรายได้ของผู้กระทำความผิดในแต่ละคดีต่อ 1 วันโดยอิงจากฐานการเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลประจำปี..."
หนึ่งในหัวใจของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. … อยู่ที่การคิดค่าปรับตามสถานะเศรษฐกิจและปัจจัยประกอบรอบด้านต่าง ๆ ของความผิดนั้น ๆ ที่ผมขอเรียกว่า ‘ภววิสัยของความผิด’ ผิดถูกประการใดรบกวนผู้รู้ทางภาษาช่วยชี้แนะ
ประเด็นนี้บัญญัติอยู่ในมาตรา 9 วรรคแรก
“ในการกำหนดค่าปรับเป็นพินัย ให้พิจารณาให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
“(1) ระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ชุมชนหรือสังคมจากการกระทำความผิดทางพินัย และพฤติการณ์อื่นอันเกี่ยวกับสภาพความผิดทางพินัย
“(2) ความรู้ผิดชอบ อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม และสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดทางพินัย
“(3) ผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำความผิดทางพินัย
“(4) สถานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดทางพินัย”
นี่เป็นเรื่องใหม่มาก ถ้าทำสำเร็จจะถือเป็นการปฏิรูปใหญ่
เพราะระบบการคิดค่าปรับตามสถานะทางเศรษฐกิจและภววิสัยของการกระทำความผิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการคิดค่าปรับเป็นวันหรือที่เรียกกันว่า ‘Day Find’ ในภาษาวิชาการทางกฎหมาย
ย้ำว่า ‘เป็นส่วนหนึ่ง’ แต่ไม่ใช่ ‘ทั้งหมด’
ถ้าอย่างนั้นแล้ว ‘ทั้งหมด’ ของ Day Find เป็นไฉน
การคิดค่าปรับตามรายได้หรือระบบ day fine ที่ใช้ในกลุ่มสแกนดิเนเวียเป็นประเทศแรก ๆ เมื่อปีค.ศ. 1921 นั้น หลัก ๆ คือไม่ระบุค่าปรับเป็นจำนวนเงินตายตัว แต่ระบุเป็นจำนวนวัน ตามระดับความรุนแรงของฐานความผิด โดยแต่ละวันก็แปรเป็นจำนวนเงินไม่เท่ากัน เพราะจะคิดเป็นเงินตามรายได้ของผู้กระทำความผิดในแต่ละคดีต่อ 1 วันโดยอิงจากฐานการเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลประจำปี
ตามสูตรคำนวณง่าย ๆ ที่ว่า
ค่าปรับ = จำนวนวัน x รายได้สุทธิต่อวันของผู้กระทำความผิด
นอกจากนี้ยังมีระบบการหักค่าใช้จ่ายที่บุคคลผู้กระทำความผิดต้องดูแลรับผิดชอบบุคคลอื่น เพื่อมิให้บุคคลอื่นต้องมาเดือดร้อนไปด้วย
เรื่องนี้ ส.ส.พรรคก้าวไกลในสถานะสมาชิกรัฐสภา ได้ยื่นคำแปรญัตติเพื่อแก้ไขร่างฯนี้ให้เปลี่ยนระบบการคิดค่าปรับเป็นพินัยให้เป็นระบบ Day Find ทั้งหมด โดยเสนอเพิ่มเติมคำนิยาม ‘ระบบวันปรับ’, ‘วันปรับ’ และ ‘รายได้วันปรับ’ เข้ามา และเพิ่มหมวดใหม่ ‘อัตราค่าปรับพลเมือง’ เข้ามาหลังหมวดบททั่วไป
กรรมาธิการยังพิจารณาไม่ถึงขั้นตอนที่จะต้องมีมติ
เท่าที่อภิปรายกันในภาพรวม แม้โดยส่วนตัวกรรมาธิการที่แสดงความคิดเห็นจะเห็นด้วยกับความก้าวหน้าของระบบ Day Fine แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ หลักการสำคัญเป็นเพียงขั้นต้นหรือก้าวแรกของการเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาสำหรับความผิดประเภทที่ไม่ร้ายแรงในตัวเอง หรือ Mala Prohibita ในกฎหมายจำนวนหลายร้อยฉบับใน 3 บัญชีแนบท้ายที่กำหนดโทษปรับไว้อย่างเดียว ให้เป็นโทษปรับอย่างอื่นที่ไม่ใช่โทษปรับทางอาญาเท่านั้น ยังไม่ได้ไปถึงขั้นเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาสำหรับความผิดต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาเป็นระบบ Day Fine แม้เดิมจะเคยมีแนวคิดว่าสมควรเปลี่ยนโทษประเภท ‘ลหุโทษ’ ในประมวลกฎหมายอาญาให้เป็นโทษปรับที่ไม่ใช่โทษปรับทางอาญา แต่หลังจากหารือกันอย่างรอบด้านแล้วก็ตัดสินใจว่ายังไม่ควรทำในทันที เพราะด้านหนึ่งความผิดลหุโทษแม้ว่าจะเป็นโทษเบาหรือโทษไม่ร้ายแรงก็จริง แต่จะพิจารณาว่าเป็นความผิดประเภท Mala Prohibita ทั้งหมดไม่ได้ เห็นได้ว่าความผิดลหุโทษจำนวนหนึ่งมีโทษจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับรวมอยู่ด้วย แม้จะไม่เกิน 1 เดือนก็ตาม จึงนำมาสู่เหตุผลอีกด้านหนึ่งว่าหากแก้ไขดึงโทษปรับทางอาญาในประมวลกฎหมายอาญาไปเปลี่ยนจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประมวลกฎหมายอาญาทั้งระบบที่มีคณะกรรมการพิจารณาอยู่โดยเฉพาะแล้ว ไม่ควรไปแยกออกมาในขณะนี้
ขั้นต้นหรือก้าวแรกของการนำระบบใหม่มาใช้ ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากจุดเล็ก ๆ ก่อน
ให้สังคมเริ่มเรียนรู้และเข้าใจก่อน
เหมือนอย่างประเทศในยุโรปอื่นอาทิเยอรมันหรือสหรัฐอเมริกาที่นำระบบ Day Fine ของสแกนดิเนเวียมาปรับใช้ ก็เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ก่อนทั้งสิ้น
และแม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่เมื่อมองในภาพรวม หากร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. ผ่านมติรัฐสภาออกมาบังคับใช้ ก็จะถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายครั้งใหญ่ที่สร้างผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง
ที่น่าเป็นห่วงคือกว่าร่างฯนี้จะเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ก็ต้องหลังเปิดสมัยประชุม 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งจะมีประเด็นทางการเมืองร้อนแรงเข้ามาหลายเรื่อง หวังว่าร่างฯนี้จะไม่สะดุดเพราะเหตุเหล่านั้น
เพราะออกจะน่าเสียดายเอาการ !
เขียนโดย คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
เขียนเมื่อวันนี้ 4 เมษายน 2565
แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/100001018909881/posts/4985059041538010/