5 แคนดิเดต ประชันวิสัยทัศน์แก้ปัญหาคนกรุง หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จะทำอะไรเป็นอย่างแรก 'สุชัชวีร์' สร้างเมืองสวัสดิการ ยึดหลักบริหาร 3 ข้อ 'วิโรจน์' เปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวใน 1 ชม. - ทวงคืนเมืองที่เท่ากัน 'สกลธี' ใช้เทคโนโลยีช่วยบริหาร-กทม.ต้องหาเงินได้เอง 'รสนา' เปิดพื้นที่ฟังประชาชน-ลุยลอกคูคลองย่อย 'ชัชชาติ' ดูแลเส้นเลือดฝอย-พัฒนาคุณภาพบริการก่อน
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2565 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี จัดเวทีเสวนา 'เลือกตั้งผู้ว่าฯ แก้ปัญหาคนกรุง' โดยจัดขึ้น เวทีแรก ในหัวข้อ 'กทม.ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว'
ทั้งนี้มีผู้สมัครผู้ว่าราชกรกรุงเทพ (ผู้ว่าฯ กทม.) รวม 5 คน ประกอบด้วย นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) , นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ , น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ , นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล มาร่วมเวทีเพื่อวิสัยทัศน์ในการปัญหาเพื่อคน กทม.
'สุชัชวีร์'สร้างเมืองสวัสดิการ ยึดหลักบริหาร 3 ข้อ
นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า การดูแลเมืองขนาดใหญ่ที่มีคนอาศัยอยู่มากกว่า 10 ล้านคนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเริ่มต้นด้วยวิสัยทัศน์ วิสัยทัศน์ของตนชัดเจนคือ กทม.ต้องเป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย เป็นเมืองต้นแบบของอาเซียน ไม่ว่ายากดีมีจน ต้องอยู่ในเมืองนี้อย่างเท่าเทียม และเป็นสวัสดิการฟรีมีคุณภาพ
สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางการสัญจร กทม.วางแผนผิดตั้งแต่ต้น ถนนมีไม่ถึง 7% ของพื้นที่เมือง ขณะที่เมืองหลวงประเทศอื่นวางแผนให้ถนนกว้าง ถนนเยอะ กรุงโตเกียวมีพื้นที่ถนน 20% กรุงปารีส 40% ส่วน กทม.ใช้พื้นที่ไปกับการก่อสร้าง และมีปัญหารถจอดเต็มซอย สิ่งที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ ทวงคืนผิวทางจราจรที่หายไปจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า เราพบว่าระหว่างก่อสร้างผิวทางการจราจรหายไป 1-2 เลน เรื่องนี้ผู้ว่าฯ กทม.สามารถเข้าไปเจรจาและแก้ปัญหาได้ทันที
ส่วนเรื่องค่าทางเดินทางของคน กทม.ที่มีราคาแพง เราจะเปลี่ยนรถเมล์จากรถใช้น้ำมันมาเป็นรถเมล์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนถูกลงเหลือกิโลเมตร 3-4 บาท และเปลี่ยนให้เป็นการวิ่งระยะสั้น และถี่ขึ้น คนจะได้ไม่ต้องรอรถเมล์นาน
ขณะที่รถไฟฟ้าจะสามารถทำให้ค่าตั๋วอยู่ที่ 20-25 บาทตลอดเส้นทาง หากทำได้ จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนคนเป็น 1 ล้านคน เท่ากับว่าเราจะมีเงิน 7 พันล้านบาทต่อปีจากค่าโดยสาร ซึ่งจะนำมาใช้ในการจ้างบริษัทเดินรถ
“กทม.ต้องเป็นเมืองสวัสดิการ ระบบขนส่งมวลชนถือเป็นบริการของรัฐ โครงสร้างพื้นฐานรัฐต้องเป็นผู้รับภาระ เพราะคือการสนับสนุนขั้นพื้นฐานของเมืองสวัสดิการ หากทำได้ตามนี้ คน กทม.จะมีต้นทุนการอยู่ที่ 20% ของรายได้ขั้นต่ำ” นายสุชัชวีร์ กล่าว
นายสุชัชวีร์ กล่าวด้วยว่า กทม.มีปัญหาเยอะมาก หากไม่โฟกัสคงเกิดอาการเมาหมัด การบริหาร กทม.ของตน มีแนวทางการบริหาร 3 ข้อ คือ 1.บริหารด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง 2.บริหารด้วยเป้าหมาย 3.บริหารด้วยเทคโนโลยี หากทำ 3 ข้อนี้ เปลี่ยน กทม.เราทำได้
'วิโรจน์'เปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว - ทวงคืนเมืองที่เท่ากัน
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ขณะนี้คนที่แบกรับปัญหา กทม.มากที่สุดคือ คนจนเมือง คนที่มีรายได้จำกัด กลุ่มเปราะบาง ส่วนคนร่ำรวย มีรถขับไม่ต้องมาพูดว่ารถเมล์มีปัญหาอย่าไงร ไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องพื้นที่สีเขียว อุบัติเหตุก็ไม่ต้องเสี่ยงเท่ากับคนเดินเท้า คนขี่รถจักรยานยนต์ ดังนั้นตนตกผลึกว่า หากเราไม่แตะต้นตอที่ปัญหาที่แท้จริงของ กทม. และหากไม่ยอมรับว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่ให้ค่ากับคนไม่เท่ากัน เราแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ เพราะหากให้เพิ่มงบประมาณลงไป นายทุนและกลุ่มอภิสิทธิ์ชนก็จะสูบทรัพยากรเหล่านั้นไปเสียหมด สุดท้ายประชาชนจะได้แต่เศษเนื้อข้างเคียงเพิ่มเติมเท่านั้น
ขอตั้งคำถามว่า รถเมล์ไม่ได้พัฒนามา 30 ปี เพราะนายทุนที่ดิน เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้รับประโยชน์จากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ผู้มีอำนาจไม่ได้ใช้รถเมล์เดินทางใช่หรือไม่ สิ่งเหล่านี้หรือไม่ ที่ทำให้รถเมล์ถูกทอดทิ้ง กลายเป็นการเดินทางของคนยากจน ทั้งที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน รถเมล์คือการเดินทางของทุกคนอย่างเท่าเทียม นอกจากนั้นเรายังตั้งเป้าหมายบริการรถเมล์ผิด ปัจจุบัน ขสมก.เป็นหนี้แสนล้านบาท แต่รถเมล์ยังห่วยแบนี้ ไม่คุ้มค่ากับการอุดหนุนและไม่คุ้มค่ากับการขาดทุน หากเราตั้งเป้าว่าบริการรถเมล์จะต้องทำกำไร เมื่อไรก็ตามที่ขาดทุน การบำรุงรักษาจะด้อยลง ซื้อรถใหม่ก็เลิกทำ รถเมล์ที่แย่อยู่แล้วก็จะห่วยลงเรื่อยๆ
“บริการขนส่งสาธารณะไม่ใช่บริษัทเอกชน เราขาดทุนเพื่อแลกให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง เกิดมลพิษน้อยลง อุบัติเหตุจากการจราจรน้อยลง นอกจากนั้นเส้นทางรถเมล์ที่ดี ยังเป็นกลไกให้คนจนเมืองได้ตั้งตัวและหลุดพ้นจากความยากจนได้อีกด้วย เพราะเส้นทางเดินรถที่ดี ทำให้เราพัฒนาเศรษฐกิจตึกแถว ทำให้เกิดการค้าขายได้ แต่ปัจจุบันร้านค้าไปกระจุกตัวอยู่ในปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ทำให้เสน่ห์ของแต่ละย่านหายไป” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า กทม.สามารถไปขออนุญาตของกรมการขนส่งทางบก ไม่ต้องขึ้นกับ ขสมก.อีกต่อไป เปิดเส้นทางให้คนสามารถเชื่อมต่อจากที่พักอาศัยไปรถไฟฟ้าได้ ส่วนเส้นทางไหนที่มีรถวิ่งอยู่แล้ว เราทำตั๋วอุดหนุน 70 บาทแต่ใช้เป็นค่าโดยสาร 100 บาท สิ่งนี้จะคลี่คลายสถานการณ์การจราจรได้
ปัญหาน้ำท่วม เราเจอปัญหาโครงกระดูก ตนไปจุดที่ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญเชื่อมต่อกับถนนประชาอุทิศ มี 2 โครงการที่เพิ่งทำเสร็จปี 2564 เพื่อปรับปรุงระบบระบายน้ำ แต่ฝนตกน้ำท่วมทันที คำถามคือ ณ วันนี้เราไม่เข้าใจหลักวิศวกรรมหรือสำนักการระบายน้ำเราอ่อนขนาดนั้นหรือไม่ หรือว่าเราเจอปัญหาจากการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง แล้วไปจ้างช่วงต่อ ฟันหัวคิวจนไม่สามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้ และเจอปัญหาติดสินบน ตรวจรับงานที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้สุดท้ายการลอกท่อ เป็นแค่การเปิดบ่อพักตักขี้เลน ขุดลอกคูคลองทำได้ลึกตามสเป๊กของงานหรือไม่ วันนี้เราต้องลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุงให้ได้
“ผมยอมรับจริงๆว่า กทม.เอางบประมาณไปอยู่ในจุดที่มีการปรับปรุงทัศนียภาพหมด แต่คนที่อยู่ในตรอกในซอยไม่ได้รับการเหลียวแล” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า งบประมาณสำนักการระบายน้ำที่มี 7 พันล้านบาทสำหรับดูแลท่อระบายน้ำ เมื่อค่าเงินเดือนข้าราชการจะเหลือเงินแค่ 117 ล้านบาท ขณะที่การปรับปรุงคลองช่องนนทบรี มีวงเงิน 980 ล้านบาท ซ้ำร้ายกว่านั้น โครงการที่มีงบประมาณใกล้เคียงกันอย่าง เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ มูลค่า 1 พันล้านบาท กลับถูกตัดงบประมาณเหลือศูนย์ นี่หรือคือการให้ความสำคัญกับคนที่อยู่อาศัยในเมืองจริงๆ หรือไม่
พื้นที่สีเขียว ทุกคนจะพูดว่าต้องปลูกต้นไม้เพิ่ม แต่ตนขอถามสั้นๆว่า เราจะหาที่เพิ่มตรงไหน หนึ่งคือ สนามหลวง ต้องทำให้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคน กทม.ไม่ล้อมรั้ว สองคือที่ราชพัสดุของทหาร ให้ กทม.เช่าพื้นที่ราชพัสดุมาทำสวนสาธารณะได้หรือไม่ และสิ่งเรารับไม่ได้กับการเอาพื้นที่ใจกลางเมืองมาปลูกกล้วย ปลูกมะนาว แล้วล้อมรั้วลวดหนาม ไม่มีมหานครไหนในโลกทำแบบนี้ เราต้องออกข้อบัญญัติใหม่ว่าห้ามทำแบบนี้ และถ้าให้สิทธิ์ กทม.ทำสวนสาธารณะ คุณก็ไม่ต้องจ่ายภาษีที่ดิน อย่าเลี่ยงภาษีด้วยวิธีนี้ สุดท้าย นายทุนที่ดินขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ทำให้ใจกลางที่ดินเป็นที่ตาบอด ทำให้ราคาที่ดินถูกลง กทม.จะเสนอเวนคืนที่ดิน เพื่อนำมาทำสวนสาธารณะ
ถ้าเราคืนเมืองที่เท่ากันให้คน กทม.ไม่ได้ ปัญหาแต่ละคนจะได้รับการเหลียวแลไม่เท่ากัน ทางเท้าเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญที่ชี้ว่า มองคนไม่เท่ากัน ทำไมทางเท้าหน้าห้างสรรพสินค้า หน้าวัดพระแก้วเรียบได้ แต่ทำไมทางเท้าทั่วทั้ง กทม.จะเรียบเหมือนกันไม่ได้ ทั้งที่ใช้ทีโออาร์เดียวกัน ราคาใกล้เคียงกัน
สิ่งแรกที่ตนอยากจะทำ ยังยืนยันเหมือนเดิม ใน 1 ชั่วโมง เอาบันทึกข้อตกลง การต่อเงื่อนไขการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ดำมืด หากไม่เปิดรายละเอียด เราแก้ปัญหารถไฟฟ้าแพงไม่ได้
ที่ผ่านมา กทม.อยู่ในสภาพผิดปกติจากสารตกค้างของคณะรัฐประหาร การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบันตอบว่า แล้วแต่ผู้ใหญ่ ทั้งที่เป็นของคน กทม. วันนี้คน กทม.กลายเป็นผู้ถูกปกครอง ที่แม้แต่ผู้ว่าฯ กทม.ที่ควรจะเป็นผู้แทนของคน กทม.ต้องสยบยอมกับอำนาจอย่างนั้นแล้วหรือ ไม่ต้องคำนึงถึงเสียงคน กทม.แล้วหรือ
“นี่คือเวลาที่สำคัญที่สุด ที่จะคืนอำนาจ คืนเมืองเท่ากันให้คน กทม. และผมเป็นแคนดิเดต ผู้ว่าฯกทม.คนเดียวจากพรรคฝ่ายค้าน ที่จะนำพาเจตจำนงในการคืนเมืองเท่ากันให้คน กทม. ถ้าเราคืนเมืองเท่ากันให้ไม่ได้ เราก็บริหาร กทม.ให้คืนความเป็นธรรมให้คน กทม.ไม่ได้” นายวิโรจน์ กล่าว
'สกลธี'ใช้เทคโนโลยีช่วยบริหาร-กทม.ต้องหาเงินได้เอง
นายสกลธี กล่าวว่า กทม.ดีกว่านี้ได้ โดยการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยปรับปรุง หน้าที่ของฝ่ายบริหาร ถ้ามีโอกาสอยู่ที่การบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่จำกัด กทม.ได้งบประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นเงินเดือน 40% ไม่รวมหนี้ที่ผูกพัน ก็ต้องนำสิ่งเหล่านี้มาบริหาร ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ กทม.แต่ละท่านว่าจะเห็นเรื่องสิ่งแวดล้อม โยธา หรือคุณภาพชีวิต จึงนำไปสู่การวางน้ำหนักที่แตกต่างกันไป
อำนาจผู้ว่าฯ กทม.ในการแก้ปัญหารถติดต้องอาศัยหลายหน่วยงานไม่เหมือนประเทศอื่น หน้าที่ กทม.มีแค่ขีดสีตีเส้นจราจร ป้ายสัญญาณไฟ ตัวนับถอยหลังไฟแดง แต่คนใช้คือตำรวจ ดังนั้นควรจะเอาระบบการจัดการมาใช้ เช่น ai หรือ สมองกลมาช่วยเก็บข้อมูลและช่วยบริหาร เรื่องนี้ต้องทำควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เปิดผิวทางจราจร ยกรถที่จอดกีดขวางตามซอย ก็เป็นอำนาจที่ทำได้
ส่วนเรื่องขนส่งสาธารณะ เรามีหลายอย่าง รถกับถนนมีไม่เท่ากัน รถที่ลงทะเบียนใน กทม.มี 11 ล้านคัน ถนนมี 5-6% ทำอย่างไรก็รถติด วิธีแก้คือจะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงขนส่งสาธารณะและใช้มากขึ้น สมัยนี้รถไฟฟ้ามีจำนวนมาก แต่คนทั่วไปถ้าเลือกได้ก็อาจจะไม่ใช้ เพราะเวลาเดินทางจากบ้านไปสถานีมันไม่สะดวก เราขาดการขนส่งสายรอง จึงต้องทำนโยบายเชื่อมต่อ ล้อ ราง เรือ
“สิ่งที่ กทม.จะทำหลังจากนี้ทุกอย่างต้องเป็นไฟฟ้าทั้งหมด ดีเซลเราคงไม่ใช้ เราจะทำขนส่งสายรอง ทำในจุดที่ ขสมก.ไม่ทำ เช่น ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ตรงนั้นมีทั้งเขตบึงกุ่ม คันนายาว บางกะปิ บางเขน ลาดพร้าว วังทองหลาง คนอยู่กันเป็นแสนครอบครัว แต่มีรถเมล์ 1 สาย ตรงนี้ กทม.สามารถเข้าไปแก้ตรงนั้นได้ อาจจะทำรถเมล์ไฟฟ้าพาคนไปสถานีรถไฟฟ้า ทำให้ทั่วถึง ก็จะเป็นการป้อนขนส่งสายรองเข้าสู่สายหลัก” นายสกลธี กล่าว
นายสกลธี กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องพื้นที่สีเขียว เรามีสวนใหญ่ๆ 38 สวน เราต้องทำให้ทันสมัยและตอบโจทย์คนใช้มากขึ้น รวมถึงการสร้างสวนหย่อมเล็กๆ ในทุกเขต ให้คนเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจได้ง่ายขึ้น
ส่วนปัญหาน้ำท่วม ใน กทม.มีท่อระบบเก่า ขนาดเล็ก ประมาณ 80-90% ถ้าเรายอมรับความจริง ถ้าฝนตกหนักก็ต้องมีน้ำรอระบาย แต่ที่ผ่านมาหลายปีมีการแก้ปัญหาตามจุดต่างๆ เช่น อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ 9 อุโมงค์ , การทำท่อลอดใต้ถนนมี 11 โครง , water bank 4 แห่ง ช่วยหน่วงน้ำ รวมถึงแก้มลิงบนดินเรามี 31 แห่ง ส่วนตัวเห็นว่าทุกอย่างกำลังไปได้ดี เพียงแต่ว่า ท่อจากหมู่บ้านที่เป็นระบบเดิม การนำน้ำไปเจอระบบต่างๆ ยังไม่ราบรื่นเพียงพอ จึงต้องใช้แรงคนและความตั้งใจในการเก็บรายละเอียดเพื่อให้ท่อระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น
ถ้ามีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. วันแรกที่จะทำเลยคือการบริหารจัดการใหม่ทั้งหมด นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และบริหารเรื่องงบประมาณ เมืองของเราจะไปทางไหน ขึ้นอยู่กับว่า 4 ปีเราวางงบประมาณอย่างไร ถ้าเป็นตนจะกรายงบประมาณไปแต่ละเขต 50-100 ล้านบาทต่อปี ซ่อมสร้างถนนที่มีปัญหา
ทั้งนี้ กทม.ยุคใหม่ต้องเริ่มหาเงินของตัวเอง เรามีสินทรัพย์ ที่ดินว่างเปล่าจำนวนมากที่ปล่อยให้เอกชนเช่าทำธุรกิจได้ ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยคิดจะหาเงินเพิ่ม และใช้เงินเกินกว่าที่ได้รับจากรัฐ ดังนั้นผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไปจะต้องหาเพิ่มให้ได้ด้วย
'รสนา'เปิดพื้นที่ฟังประชาชน-ลุยลอกคูคลองย่อย
น.ส.รสนา กล่าวว่า นโยบายที่ประกาศไว้คือการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ส่วนเรื่องโครงสร้างสถาปัตยกรรม วิศวกรรมทั้งหลาย ก็ถือว่าตัวเองเป็นพวกวิศวะทางด้านสังคม และคิดว่าการก่อสร้างในเมืองกรุง เราทำโดยไม่รู้จักภูมินิเวศของ กทม. ไม่สนใจว่า กทม.คือเมืองน้ำ เรามีคูและคลอง รวม 1,682 คลอง ยาว 2,604 กิโลเมตร เราสร้างตึกสูง สร้างเมืองเป็นถนน ไม่ได้สนใจเรื่องการสัญจรทางน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในภูมิสังคมของเรา ส่วนคลองเล็กคลองน้อย เราไม่เคยสนใจในการขุดลอก เมื่อเกิดการตีบตันก็ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม
“เราไม่ได้สนใจภูมินิเวศของเราที่มันอ่อนไหว ที่ดินด้านล่างของเราเป็นเลน ถ้าดิฉันเป็นผู้ว่าฯ กทม.จะให้มีการลอกคลองทุกสาย ระบายน้ำท่วม โดยที่คุณจะใช้เงินน้อยกว่าการทำอุโมงค์ระบายน้ำทั้งหลาย” นรน.ส.รสนา กล่าว
น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า การขุดลอกคลองจะทำให้ คน กทม.มีงานทำ ส่วนคนมีพื้นที่ว่างเปล่าให้มาจับมือกับ กทม. เพื่อนำไปจัดสรรให้คนจนเมืองปลูกผักอินทรีย์ ไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน นอกจากนั้นจะส่งเสริมการติด Solar roof แก้ปัญหาค่าไฟแพง ลดการใช้น้ำมันฟอสซิล ส่งเสริมระบบรางให้ราคาถูกให้เป็นขนส่งมวลชน รวมถึงสร้างระบบเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทั้งหมด ส่วนระบบผังเมืองมีปัญหามาก เราจะไม่ยอมให้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นคนเปลี่ยนผังเมืองเพื่อประโยชน์ของเขา เพราะไม่ได้ทำให้ชีวิตคน กทม.ดีขึ้น
นอกจากนั้น ที่ผ่านมาเราทำงาน top down มากเกินไป เราจะทำงานแบบ bottom up สร้างกลไกรับฟังปัญหาประชาชนให้เพิ่มขึ้น
'ชัชชาติ'ดูแลเส้นเลือดฝอย-พัฒนาคุณภาพบริการก่อน
นายชัชชาติ กล่าวว่า เราอยากให้ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ในช่วง 2 ปีครึ่งที่เราลงพื้นที่ เราเจอปัญหาที่เรียกว่าเส้นเลือดใหญ่กับเส้นเลือดฝอย ที่ผ่านมา กทม.ให้ความสำคัญกับระบบเส้นเลือดใหญ่หรือโครงสร้างพื้นฐานลงทุนไปจำนวนมาก แต่เราลืมคนชายขอบที่อยู่ตามเส้นเลือดฝอย ตนคิดว่า กทม.อาจจะต้องทำให้สมดุลกันทั้ง 2 กลุ่ม
ยกตัวอย่าง การคมนาคม เรามีรถไฟฟ้าที่ลงทุนไปเป็นแสนล้านบาท มี 11 สาย มี 200 กว่าสถานี 400 กว่ากิโลเมตร คนอยู่ตามรถไฟฟ้าสบาย แต่คนชายขอบ รถเมล์ไม่มี ทางเดินเท้าไม่ได้คุณภาพ ยกตัวอย่าง พื้นที่สายไหมอยู่ไม่ไกลรถไฟฟ้า แต่ชาวบ้านไปไม่ถึง เพราะไม่มีรถเมล์ ขับรถไปไม่มีที่จอด ดังนั้นเส้นเลือดฝอยที่จะเข้าสู่เส้นเลือดใหญ่ไม่ดี การแก้ปัญหาจราจรก็ต้องทำให้สิ่งเหล่านี้เข้มแข็งขึ้นด้วย นอกจากนั้นรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นปัญหาหนักแน่ และตนคิดว่าไม่ว่าใครเป็นผู้ว่าฯกทม. ก็ต้องเจอปัญหานี้และต้องแก้ไขให้ได้
เรื่องน้ำท่วม เรามีอุโมงค์ระบายน้ำ เสร็จแล้ว 4 โครงการยาว 20 กิโลเมตร แต่ลงทุนไป 3 หมื่นล้านบาท ระบายน้ำได้ 260 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เทียบกับน้ำที่เราต้องระบายทั้งหมด 2,600 ลูกบาศก์เมตร และน้ำก็ไปไม่ถึงเพราะเส้นเลือดฝอยอุดตัน ดังนั้นต้องดูแลสิ่งเหล่านี้ คือ ขุดลอกคูคลอง ขุดลอกระบายน้ำ
“เรามีอุโมงค์ระบายน้ำอีก 6 แห่งที่ต้องทำ มูลค่า 28,000 ล้านบาท ถามว่า เราจะทำต่อหรือไม่ ผู้ว่าฯกทม.ต้องตัดสินใจ หรือควรเอาเงินนี้ไปดูแลเส้นเลือดฝอยก่อน ก็เป็นโจทย์ที่ต้องไปคิด หัวใจคือต้องทำให้สมดุล” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า เราทุ่มเทให้กับสวนสาธารณะขนาดใหญ่ไปเยอะ แต่เราต้องการสวนใกล้บ้าน ที่เด็ก คนชรา เดินไปได้ เราอยากมี กทม. 15 นาที ให้คนเดินไปถึงพื้นที่สีเขียว รวมถึงการเปิดประตูพื้นที่สถานที่ราชการ โรงเรียน วัด ให้คนเข้าไปใช้พื้นที่สีเขียว
“สวนใหญ่ก็สำคัญ สวนลุมพินีมาแผนจะทำสวนโดยใช้เงินอีกพันล้านบาท ก็เสียดายเหมือนกัน แต่ผมไปสวนลุมพินี ผมต้องการสบู่ล้างมือ ไม่ได้ต้องการหรูหราหมาเห่า แต่ขอให้เข้าใจธรรมชาติของคนใช้” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า กรณีปัญหาทางเท้า เรื่องความอันตราย เป็นปัญหาเส้นเลือดฝอยที่แท้จริง ทางม้าลาย ทำไมเราทำให้ดีไม่ได้ พอมีเรื่องหมอกระต่าย ก็สามารถทำได้ภายใน 1 วัน ทำไมเราไม่ทำให้เสร็จก่อนหน้านี้ สิ่งเหล่านี้คือชีวิตคนกรุง ปรับแนวคิดเน้นเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็ง แต่ไม่ได้ทิ้งเส้นเลือดใหญ่ เพียงแต่ต้องทำให้สมดุล
พวกเราเหมือนถูกเลือกให้ปีนภูเขาเอเวอเรสต์ กทม.เป็นงานยาก หลักที่เราคิดคือทำให้ชัดก่อน คือ เราอยากทำให้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน เราพัฒนาเชิงนโยบาย 9 ข้อ คือ ปลอดภัยดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี เรียนดี บริหารจัดการดี เดินทางดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี สร้างสรรค์ดี ทั้งหมดต้องทำให้เกิดการขับเคลื่อน
ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ปีแรกเราแค่พัฒนาคุณภาพการให้บริการ ไม่ต้องใช้หรือเปลี่ยนงบประมาณ เราต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติของข้าราชการ จัดการบริหารจัดการให้ตอบสนองต่อประชาชนว่องไวและเหมาะสม
“ผมตัดสินใจเดินเส้นทางอิสระ 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ทำให้เราได้คนที่อยากทำงานเมือง ที่ไม่อยากยุ่งการเมืองเข้ามาเยอะเหมือนกัน ทั้งนักวิชาการ ข้าราชการ ที่มาช่วยกับเรา มีอาสาสมัครหมื่นกว่าคน ที่มาช่วยทำให้ กทม.เป็นเมืองที่น่าอยู่ได้” นายชัชชาติ กล่าว