เสวนาฯถกทางรอดปากท้อง วิกฤตโควิดทำพนักงานโรงแรมออกนอกระบบ 50% จี้ปลดล็อกมาตรการเข้าไทยไม่กักตัว ขณะที่คนตกงาน-ว่างงานแฝงรวม 1 ล้านคน ห่วงราคาน้ำมันยังพุ่งสูง กระทบเงินเฟ้อ หลังเจอสงครามรัสเซีย-ยูเครน แนะรัฐทบทวน 'คนละครึ่ง' ใช้เงินอัดฉีดเงินเฉพาะกลุ่มเน้นคนรากหญ้ามากขึ้น ส่วนรองโฆษก สศค.เชื่อปีนี้เศรษฐกิจยังโตได้อย่างน้อย 3%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2565 ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 10 จัดเสวนาในหัวข้อ “ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง?”
โควิดระบาด‘คนโรงแรม’ออกนอกระบบ 50%
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวสูงสุด 39.8 ล้านคน สร้างรายได้ 3 ล้านล้านบาท แต่ปี 2564 เหลือนักท่องเที่ยว 420,000 คนเท่านั้น เช่นเดียวกับการเดินทางภายในประเทศก็ลดลงต่อเนื่อง เพราะคนไทยกำลังซื้อลดลงและมีการล็อกดาวน์ แม้จะมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐเป็นระยะแต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก
สำหรับภาคธุรกิจโรงแรม ถือว่าลำบากที่สุดเท่าที่เคยประสบมาทั้งชีวิต ลำบากยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 โดยพบว่ามีโรงแรมปิดตัวไปแล้ว 5-6% อย่างไรก็ตามโรงแรมขนาดกลางเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจครอบครัวหรือกลุ่มที่สร้างมาเพื่อรองรับทัวร์โดยเฉพาะ ขณะที่บุคลากรที่เกี่ยวกับธุรกิจโรงแรม หรือที่เรียกว่า คนโรงแรม ออกจากระบบไปแล้ว 50-60% เนื่องจากความไม่แน่นอนว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาเมื่อไร
“แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะมีมาตรการทางสินเชื่อเพื่อบรรเทาปัญหาให้ผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่ธุรกิจโรงแรมต้องการมากที่สุดคือ การทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาให้ได้โดยเร็วที่สุด” นางมาริสา กล่าว
เลิก Thailand Pass – Test & Go ทางรอดท่องเที่ยว
นางมาริสา กล่าวด้วยว่า สิ่งที่อยากฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี คือ ขอให้มีการพิจารณายกเลิก Thailand Pass และ Test & Go เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว รวมถึงมีมาตรการกระตุ้นให้คนไทยเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น ให้หน่วยงานราชการของรัฐเดินทางมาใช้บริการโรงแรม ซึ่งจะช่วยทำให้ธุรกิจโรงแรมยังเดินหน้าต่อไปได้
“หากรัฐไม่ปลดล็อกมาตรการ เราจะวางแผนไม่ได้ว่าจะจ้างคนกลับมาทำงานเมื่อไร รวมถึงอยากให้มีมาตรการเยียวยาเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ที่นอกจากเจอปัญหาเรื่องไม่มีนักท่องเที่ยว แต่ยังต้องแบกรับภาระเรื่องค่าไฟ รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีกด้วย” นางมาริสา กล่าว
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA)
พลิกวิกฤตราคาน้ำมัน ใช้โอกาสปรับโครงสร้าง
ด้านนายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต จากโควิดและเจvสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่วนตัวเห็นว่า เรื่องโควิดได้อยู่ในช่วงที่พบการระบาดเร็ว แต่เชื้อไม่รุนแรงแล้ว แต่เรื่องราคาน้ำมัน เราพบเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคมานาน และภาครัฐควรพลิกวิกฤตโอกาสให้เป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งระบบ ทั้งอัตราภาษีสรรพสามิต รวมถึงมาตรการอุ้มโรงกลั่นที่เราทำกันมาตั้งแต่ปี 2540 สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาระหนักตกมาอยู่ที่ผู้บริโภคซึ่งก็คือประชาชน
“ผมเห็นว่า การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันต้องเกิดความเป็นธรรมสำหรับประชาชน ไม่ให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน” นายทองอยู่ กล่าว
จี้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯให้ถูกวัตถุประสงค์
นายทองอยู่ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้มันมีเงินกองทุนฯอยู่ 3 ปี ถ้าจำไม่ผิด ช่วงปี 2559-2561 จำนวน 2 หมื่นกว่าล้านบาท ถูกโอนออกจากกองทุนฯไปที่กระทรวงการคลัง ถามว่าทำไมไม่โอนเงินเหล่านี้กลับมาที่กองทุนฯ แต่กลับจะไปกู้เพิ่มเรื่อยๆ แก้ปัญหาราคาน้ำมัน ดังนั้นต้องใช้เงินกองทุนฯให้เกิดประโยชน์ที่สุดสำหรับผู้ที่จ่ายเงินให้กองทุน คือ กลุ่มดีเซล กับกลุ่มเบนซิน มองว่า เมื่อโครงสร้างราคาน้ำมันไม่เป็นธรรม ต้องเอากองทุนมาทำให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันระบบ ควรเริ่มตั้งแต่การเปิดเผยต่อสาธารณะว่า แต่ละเดือนไทยซื้อน้ำมันจากต่างประเทศจำนวนเท่าไร ขุดเจาะได้ในประเทศเท่าไร และต้องมีการกำกับดูแลตามข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการชี้นำตลาด
เช่นเดียวกันกับการ กำกับดูแลกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ต้องทำให้ชัดว่า หน้าที่หลักคือการรักษาเสถียรภาพราคา ที่พบว่ามีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เช่นการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินไปอุดหนุนก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ถามว่า การบริหารจัดการภาครัฐทำถูกหรือไม่ หรือเขาอาจจะมองว่าเก็บจากคนรวยไปช่วยคนจน แต่ส่วนตัวเห็นว่า กองทุนฯต้องมีความชัดเจนและใช้ให้ตรงวัตถุประสงค์
“ในช่วงที่เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต สิ่งแรกที่อยากฝากถึงผู้บริหารประเทศ คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคน มีความสุขโดยทั่วถึงกันและเฉลี่ยกัน ไม่ใช่สุขๆ ดิบๆ และขอให้หาคนดี คนเก่ง เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้กับประเทศโดยเร่งด่วน อย่าปล่อยให้ประชาชนอยู่อย่างนี้ และอยากฝากประชาชนว่า อย่าคุ้นเคยกับคำว่าแจกกล้วย แบ่งเค้ก และคำว่า ทนๆกันอยู่” นายทองอยู่ กล่าว
นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย
ตกงานล้านคน – รอเด็กจบใหม่อีก 4.9 แสน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาภาครัฐหรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะประชาสัมพันธ์อย่างไรก็แล้วแต่ แต่ข้อมูลเป็นทางการ คือ เรามีคนว่างงาน 6.3 แสนคน และมีกลุ่มว่างงานแฝงอีก 5.3 แสนคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา หรือแค่ทำงาน 1 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์ก็ถูกเรียกว่ามีงานทำ หากรวม 2 กลุ่มนี้ จะพบว่าไทยมีคนว่างงานมากกว่า 1 ล้านคน
นอกจากนั้นยังพบว่า แรงงานในระบบประกันสังคมเมื่อเทียบช่วงก่อนเกิดโควิดหรือไตรมาสแรกปี 2563 กับปีล่าสุดช่วง ม.ค.2565 พบว่าคนหายออกจากระบบไป 596,000 คน ที่ภาครัฐยังไม่สามารถนำกลับมาขสู่ระบบได้
“อีกตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของสถานการณ์ในขณะนี้คือ คนรับเงินชดเชยการออกจากงานหรือถูกเลิกจ้างเมื่อเดือน ม.ค.2565 พบว่ามีมากถึง 300,000 คน นับว่าสูงกว่าภาวะปกติถึงครึ่งหนึ่ง ไม่นับรวมกับเด็กจบใหม่ประจำปีนี้อีก 490,000 คน ซึ่งเกินครึ่งเป็นผู้ที่ จบ ป.ตรีหรือสูงกว่านั้น” นายธนิต กล่าว
นายธนิต กล่าวอีกว่า นิยามการว่างงานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติใช้นิยามขององค์กรระหว่างประเทศ คือไปสำรวจใครก็แล้วแต่ ถ้ายังทำงานในรอบ 1 สัปดาห์ ทำงานเกิน 1 ชั่วโมง ได้เงินหรือไม่ได้ ก็ถือว่ามีงานทำ หากเรายึดตามนิยามนี้ ประเทศไทยที่อยู่ในภาคการเกษตร แค่ถอนหญ้าก็ถือว่ามีงานทำแล้ว หากนิยามแบบนี้ ตัวเลขคนว่างงานในระบบจะไม่สูงขึ้น ขณะที่หลายประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงจีน ญี่ปุ่น เขาแยกสำรวจคนว่างงานในเมืองกับชนบทอย่างชัดเจน
ชงตั้งทีมเศรษฐกิจ ดึงเอกชนหัวหน้าทีม
นายธนิต กล่าว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเราผ่านจุดแรงสุดในวิกฤตโควิดมาแล้ว แต่สถานการณ์สงครามยังตอบไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และสภาพคล่องเป็นสิ่งสำคัญของทุกคน เพราะหากภาคธุรกิจซื้อของไม่จ่ายเงินกัน สักพักจะลามไปกระจุกที่สถาบันการเงิน และสุดท้ายจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งซ้ำสอง ซึ่งเราก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น รวมถึงการช่วยค่าใช้จ่ายแรงงาน ขออย่าทำให้กระแสการปรับค่าจ้างกลายเป็นกระแสเลือกตั้ง
“อย่าเอาเรื่องค่าแรงมาเป็นเรื่องการเมือง ถ้าจะขึ้นค่าจ้างเพื่อเล่นเกมการเมือง จะทำให้เศรษฐกิจที่เปราะบางทรุดตัว เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ที่สุดแล้วสินค้าจะราคาแพงมากขึ้นกว่าเดิม” นายธนิต กล่าว
นายธนิต กล่าวอีกว่า ขณะนี้ไม่มีทางเลือกอื่นที่ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ แต่ภาครัฐต้องประกาศให้ชัดว่าจะใช้เงินเท่าไร อย่าทำแบบกะปริบกะปรอย ใครจะว่าอะไรก็แล้วแต่ ภาวะแบบนี้ยังจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ อำนาจการซื้อมีผลต่อกำลังการผลิต มีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยในค้าปลีก บริการ กระทบจ้างงาน คนบริโภคน้อยลง การใช้จ่ายยิ่งน้อยลง ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้าย นอกจากนี้ ต้องตั้งทีมเศรษฐกิจใหม่หมด เอาคนเก่งๆ จากเอกชนมาเป็นหัวหน้า ส่วนราชการเป็นเลขานุการคุมเกมให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ จะช่วยแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง
“นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจ เราอาจต้องคิดถึงยาแก้พิษด้วย ที่ผ่านมาคนไทยเสพติดามาตรการต่างๆจากรัฐ และเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งจะมีมาตรการลด แลก แจก แถมมาอีก ตัวนี้จะแก้ไขอย่างไร ถือเป็นโจทย์ยากพอสมควร” นายธนิต กล่าว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)
สงครามรัสเซีย-ยูเครนสร้างวิกฤตซ้ำโควิด
ส่วน นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน กับหลังเกิดสงคราม แตกต่างกันอย่างชัดเจน แม้ว่าเราจะมีโควิดโอไมครอน แต่ก็ไม่รุนแรง แม้ว่าจะติดเชื้อง่าย ทำให้หลายประเทศผ่อนคลาย เดินทางเข้าประเทศไม่ต้องกักตัว แต่ของไทยยังไม่ใช่ แต่ก็ถือว่าผ่อนคลายพอสมควร เมื่อดูแนวโน้มระยะหลัง นโยบายนำไปสู่การอยู่กับโควิด ทำให้ภาคเศรษฐกิจไม่ได้ดูแย่นัก ก่อนเกิดสงคราม นักท่องเที่ยวก็ค่อยๆดีขึ้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะโต 3.4% แต่พอเกิดสงคราม ภาพทั้งหมดเปลี่ยนไป
สิ่งที่คุ้นเคยกันคือเรื่องราคาน้ำมันที่จะรุนแรงแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าสงครามจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ก่อนเกิดสงคราม เราคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะสูงไม่นาน และจะลงมาเหลือ 70 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ตอนนี้ไม่มีใครเชื่อแบบนั้น และเชื่อว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้งที่มีการประชุม ทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ว่ามองจากมุมไหนก็จะมีผลทางลบกับเศรษฐกิจไทยเกือบทั้งหมด
ส่วนเรื่องเงินฟ้อ ลึกๆก็น่ากังวล หากราคาน้ำมันไม่ลงตามที่คาดการณ์ ซึ่งน้ำมันเป็นต้นทุนสินค้าหลากหลายประเภท เงินเฟ้อที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับสินค้าบางประเภท จะเริ่มขยายวงกว้าง นำไปสู่ความน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหากักตุนสินค้า เรียกร้องค่าแรงสูงกว่าที่ควรจะเป็น พ่อค้าก็กล้าขึ้นราคาสินค้าให้สอดรับค่าแรงที่เรียกร้อง ทั้งหมดทให้เกิดปัญหาที่สะเทือนทั้งระบบ
ทบทวน 'คนละครึ่ง' ใช้เงินเยียวยาเจาะกลุ่มรากหญ้ามากขึ้น
นายสมชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ทั้งหมด เป็นเรื่องที่คงจะต้อง ติดตามให้ดีว่า ภาครัฐต้องมีนโยบายที่เดินบนขอบเหว คือ ขวาไม่ได้ ซ้ายไม่ได้ ต้องแน่ใจว่าเดินถูกทางในระดับที่เหมาะสม การเยียวยาอาจต้องทำเป็นเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ยกตัวอย่าง การทบทวนมาตรการคนละครึ่งที่ทำให้ชนชั้นกลางได้ประโยชน์ เพื่อเปลี่ยนเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือคนระดับรากหญ้ามากขึ้น
“เพดานหนี้สาธารณะเราปรับขึ้นไปเป็น 70% ของจีดีพี ถ้าจำไม่ผิดเรามีหนี้เพิ่มได้อีก 10% ของจีดีพี ก็เกือบ 2 ล้านล้านบาท แปลว่ายังมีเม็ดเงิน แต่ถามว่าถ้าหนี้สาธารณะขึ้นไปสูงขนาดนั้นน่ากลัวหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเอาเงินไปทำอะไร” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ต้องการฝากภาครัฐ คือ เรื่องนโยบายสินเชื่อ เห็นด้วยว่าหลายธุรกิจต้องการสภาพคล่อง แต่อยากให้ชวนคิดอีกนิดว่า ควรนำสภาพคล่องไปทำอะไร นอกจากเยียวยา ควรมีแนวคิดที่จะฟื้นฟูหรือเป็นสภาพคล่องเพื่อการปรับตัวไปสู่ธุรกิจใหม่ สิ่งที่รัฐจะทำได้ก็คือทำให้เปลี่ยนไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วที่สุด
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ รองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
สศค.เผยหากรัฐไม่เยียวยา อาจมีคนจนเพิ่ม 11 ล้านคน
ขณะที่นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา รัฐบาลกู้เงินไปแล้ว 1.5 ล้านล้านบาท ทำมาตรการที่มีประชาชนได้ประโยชน์อย่างน้อย 40 ล้านคน ตัวเลขของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ปี 2563 มีประชาชนได้รับเงินเยียวยาจากรัฐเฉลี่ย 13,400 บาทต่อคนต่อปี
นายพิสิทธิ์ ยอมรับว่าโควิดทำให้คนจนเพิ่มขึ้นจาก 4.3 ล้านคน เป็น 4.8 ล้านคน แต่หากไม่มีมาตรการรัฐ อาทิ เราไม่ทิ้งกัน เราชนะ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน การเพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาจทำให้คนจนเพิ่มขึ้น 11 ล้านคน ดังนั้นจะเห็นว่า นโยบายรัฐช่วยผู้ได้รับผลกระทบได้
เชื่อเศรษฐกิจยังโตอย่างน้อย 3%
นายพิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2565 โควิดเริ่มดีขึ้น แต่เราเจอสงครามที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันไปแตะที่ 130 เหรียญต่อบาร์เรล หรือค่าเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ที่ 93 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะนี้ 3 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของรัฐ ทำสมมติฐานไว้ว่า หากค่าเฉลี่ยทั้งปีไปแตะที่ 100 เหรียญต่อบาร์เรล จีดีพีอาจจะโต 3.8% แต่ถ้าราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีขึ้นไป 125-150 เหรียญต่อบาร์เรล เราก็อาจจะเห็นเงินเฟ้อที่ค่อนข้างสูง แต่เศรษฐกิจน่าจะโตไม่ต่ำกว่า 3% แต่แน่นอนว่าเงินเฟ้อก็จะสูงขึ้นด้วย ส่วนการเยียวยาภาครัฐ ก็อาจเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
“ผมไม่แม่นเรื่องพลังงานโดยตรง แต่วันนี้ดีเซลราคาประมาณ 30 บาทต่อลิตร เข้าใจว่าหากปล่อยตามกลไกตลาด อาจมีราคา 48 บาทบาทต่อลิตร เพราะตอนนี้มีการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน 14 บาทต่อลิตร และจากการลดภาษีสรรพสามิต 3 บาทต่อลิตร” นายพิสิทธิ์ กล่าว