"...ความจำสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ระดับแบบชั่ววูบจากภาพ เสียง และสิ่งสัมผัส ทำให้เราจดจำในช่วงที่สิ่งเร้านั้นยังอยู่ เรียกว่าจำเป็นเสี้ยววินาทีและจะลืมไปหากสิ่งเร้านั้นไม่มากระตุ้นเราอีก ระดับต่อมาคือความจำต่อยอดที่มาจากสิ่งเร้านั้น ๆ เช่น ทะเบียนรถยนต์หรือผลการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งจะจำได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่หากข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาใช้บ่อย ๆ ความจำนั้นจะถูกถ่ายโอนมาเป็นความจำระยะยาว..."
เมื่อวานผมนั่งคิดถึงรหัสผ่านเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเพื่อเขียน weekly mail ฉบับนี้นานเป็นพิเศษ แสดงให้เห็นถึงความจำที่เริ่มเสื่อมลงตามวัย และทำให้คิดถึงเสน่ห์ในการจดจำ ผมชื่นชมเสมอกับผู้ที่เข้ามาทักทายด้วยการเอ่ยชื่อแต่ละคนได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าจะไม่ได้เจอกันมานานแล้ว ความจำของมนุษย์มีข้อจำกัดหรือไม่? เราจะสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในแต่ละวันได้อย่างไร? คำถามเกี่ยวกับ “ความจำ” ที่กลายเป็น “ความทรงจำ” จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจจนต้องนำมาถ่ายทอดเขียนลงใน weekly mail ฉบับนี้ ก่อนที่ผมจะลืมจากหน่วยความจำ
ความจำสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ระดับแบบชั่ววูบจากภาพ เสียง และสิ่งสัมผัส ทำให้เราจดจำในช่วงที่สิ่งเร้านั้นยังอยู่ เรียกว่าจำเป็นเสี้ยววินาทีและจะลืมไปหากสิ่งเร้านั้นไม่มากระตุ้นเราอีก ระดับต่อมาคือความจำต่อยอดที่มาจากสิ่งเร้านั้น ๆ เช่น ทะเบียนรถยนต์หรือผลการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งจะจำได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่หากข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาใช้บ่อย ๆ ความจำนั้นจะถูกถ่ายโอนมาเป็นความจำระยะยาว1/
ในการจะวัดว่า ใครมีความจำดีกว่ากันสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ แต่สำหรับผู้ที่สามารถจดจำทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนั้น ๆ ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวและกับตัวเอง ถือว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ยิ่งนัก จิลล์ ไพรซ์ (Jill Price) หญิงชาวอเมริกันวัย 50 ปี ค้นพบว่า เธอสามารถจดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอทุกวันเมื่ออายุ 14 ปี ไม่เพียงแต่สามารถจะระบุได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันใด แต่สามารถจดจำได้ว่าสภาพอากาศในวันนั้นเป็นอย่างไร มีเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ รวมถึงกิจกรรมที่เธอทำในวันนั้น ซึ่งเธอตกใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่เรียกว่าอยู่ในภาวะ “Total Recall” เธอตัดสินใจขอคำปรึกษาจากศาสตราจารย์กิตติคุณ เจมส์ แมคกวา (James McGaugh) ผู้อำนวยการสถาบันด้านการเรียนรู้และประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ ซึ่งในเบื้องต้น ศ. แมคกวา คิดว่าเกิดจากการท่องจำเหตุการณ์เหล่านั้นมากกว่า แต่เมื่อได้ทำการทดสอบด้วยการนำหนังสือสารานุกรม 20th Century Day by Day มาถามจิลล์ ความจริงก็ปรากฏ เพราะเธอสามารถตอบได้ทุกคำถาม เช่น “วันที่คนอเมริกันในสถานทูตสหรัฐในอิหร่านถูกจับคือวันไหน?” จิลล์ตอบได้ทันทีว่า 4 พฤศจิกายน 1971 หรือถามเธอว่า “วันที่ 20 ธันวาคม 1997 เป็นวันอะไร เธอใส่เสื้อสีอะไรไปทำงาน ทานอะไรเป็นอาหารกลางวัน พบปะและพูดคุยกับใครบ้าง รายงานข่าวโทรทัศน์มีข่าวสำคัญ ๆ อะไรบ้าง?” เธอสามารถเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นได้อย่างละเอียดราวกับว่า เหตุการณ์นั้นเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน2/3/
ความสามารถจดจำที่น่าอัศจรรย์ของจิลล์นำไปสู่การวิจัยเพิ่มเติม จนค้นพบว่า ความสามารถพิเศษของจิลล์เกิดจากมีหน่วยความจำในสมองมากกว่าคนปกติทั่วไป ทำให้สามารถจดจำรายละเอียดประสบการณ์ในชีวิตได้อย่างมากมาย นำมาสู่การตั้งชื่อภาวะความทรงจำแบบ Total Recall นี้ว่า ไฮเปอร์ธีมีเซีย (hyperthymesia) พร้อมขยายผลจนพบว่า ผู้มีภาวะเช่นนี้มีเพียง 10 คนทั่วโลก และหนึ่งในนั้นคือ มาริลู เฮนเนอร์ (Marilu Henner) นักแสดงและโปรดิวเซอร์ ชาวอเมริกันวัย 70 ปี ความทรงจำแรกสุดของเธอมีอายุย้อนไปเมื่ออายุเพียง 18 เดือน มาริลูสามารถเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเธอได้อย่างละเอียด แม้แต่บทพูดหรือฉากที่เธอแสดงในหนังและละครในแต่ละเรื่อง เช่น ในละครโทรทัศน์ ซิทคอมโด่งดังเรื่อง “TAXI” ที่ออกอากาศในช่วงปี 1978-1982 กว่า 112 ตอน เธอสามารถเล่าได้อย่างแม่นยำถึงเรื่องราว คำพูดของตัวละครที่โต้ตอบกัน แม้กระทั่งชุดที่เธอสวมใส่สีอะไรในแต่ละตอน4/
พวกเราคงอยากมีความทรงจำแบบจิลล์และมาริลู แต่สำหรับเธอทั้งสอง การมีความจำเหนือมนุษย์ทั่วไปได้ส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขาต่างกับคนอื่น ๆ เพราะต้องตื่นขึ้นมาพร้อม ๆ กับความทรงจำเหล่านั้น ซึ่งบางเรื่องไม่ได้อยากจะจดจำ จิลล์ได้เขียนหนังสือเรื่อง “The Woman Who Can’t Forget” เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ของเธอ และทางเลือกระหว่างคน “ขี้ลืม” กับคน “ไม่มีวันลืมอะไรได้เลย”
แม้ว่า เราจะไม่จะอยู่ในภาวะ Total Recall เหมือนกับจิลล์และมาริลู แต่ความสามารถในการจำถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของคนเรา เพราะความทรงจำเป็นทั้งอดีตและอนาคตบ่งบอกถึงตัวตนของเรา (Memory is our past and future. To know who you are as a person) ซึ่งผมจะได้ขยายความใน Weekly Mail ในสัปดาห์หน้าต่อไป
เขียนโดย รณดล นุ่มนนท์
เขียนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565
แหล่งที่มา :
1/ www.thairath.co.th. 2022. “ความจำดี” สร้างได้! ก่อนถึงวัยสูงอายุ. [online] Available at: <https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1900072> [Accessed 6 March 2022].
2/ Petmaya.com. 2022. นี่คือหญิงสาวผู้ไม่เคยลืมทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ตั้งแต่อายุ 12 ปี | เพชรมายา. [online] Available at: <https://petmaya.com/best-memory>
[Accessed 6 March 2022].
3/ 2022. [online] Available at: <https://www.blockdit.com/posts/5dd131c4d842c90d108e838f> [Accessed 6 March 2022].
4/ Minikar.ru. 2022. หน่วยความจำ Eidetic - ของขวัญอัจฉริยะหรือความผิดปกติทางจิต? ผู้ชายที่มีความทรงจำที่มหัศจรรย์ ผู้ชายที่มีความทรงจำที่มหัศจรรย์. [online] Available at: <https://minikar.ru/th/its-interesting/eideticheskaya-pamyat-genialnyi-dar-ili-psihicheskoe-otklonenie-chelovek-s/> [Accessed 6 March 2022].