พอมาถึงรัสเซียกับยูเครน ผมคิดว่าจีนนั้นวางนโยบายได้ยาก แต่ก็ทำได้ดี ตั้งแต่ตอนไครเมียร์แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งจีนก็อยากจะยึดหลักการนโยบายกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตรสหประชาชาติ การไม่รุกรานกัน เพราะว่าจีนก็ไม่อยากให้ใครมารุกรานที่ซินเจียง จีนไม่อยากให้ใครมาใช้เหตุผลว่าเพราะจีนเข้าไปแทรกแซงเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งจีนมองว่านั่นคือส่วนหนึ่งของเขา จีนไม่อยากให้ต่างชาติเข้ามาใช้ข้ออ้างเรื่องฮ่องกงนี้ ฮ่องกงกับซินเจียง รวมไปถึงไต้หวันนั้นจึงถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน
หมายเหตุ:เมื่อวันที่ 5 มี.ค. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้มีการจัดปาฐกถาพิเศษทางไกล โดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานสันติภาพแห่งเอเชียและสภาสมานฉันท์ (APRC) ในหัวข้อยุทธศาสตร์ สี จิ้น ผิง เขย่าโลก ไทยจะอยู่อย่างไร ? โดยจัดที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือสำนักข่าวไทยพีบีเอส
โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอาบางส่วนของปาฐกถา โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายของต่างประเทศอันเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
นายหวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศจีนนั้นได้มีการรายงานในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของยูเครนทั้งการไม่ประณามสหรัฐอเมริกา การจะเข้าไปมีบทบาทในเรื่องของสันติวิธีได้อย่างไร และทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความเข้าใจว่ารัสเซียมีความห่วงใยในเรื่องความมั่นคงของตัวเอง ไม่อยากให้ทางนาโต (องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) หรือสหรัฐฯ เข้ามามีความสามารถภายใต้นาโต เข้ามาตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนซึ่งก็จ่อติดกับพรมแดนของรัสเซียได้ แต่นโยบายต่างประเทศของจีนนั้นก็ค่อนข้างจะเดินบนเส้นด้ายที่บางพอสมควร คือการโหวตในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ จีนก็ไม่ได้โหวตโนกับมติที่ประณามรัสเซีย ให้รัสเซียถอนทหาร แต่จีนก็ไม่ได้ออกเสียงเช่นกัน คือไม่ประณามแต่ไม่เข้าข้างประเทศที่ต้องการจะประณามทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์
โดยที่ผ่านมาทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างคนก็แข่งขันกันวิจารณ์กันไปมา และสร้างภาพเชิงลบในสาธารณะ ทำให้ภาพลักษณ์สาธารณะของสหรัฐฯในจีน และภาพลักษณ์ของจีนในสหรัฐฯ นั้นต่างก็มีภาพของความเป็นลบซึ่งกันและกัน เราจะเห็นว่าในเวทีต่างประเทศจีนมีความชัดเจนในจุดยืน แต่ก็ปรับตัวได้ อย่างเช่นในเรื่องเมียนมาร์ จีนก็ไม่ได้ออกมาประณามรัฐบาลทหารเมียนมาร์แต่ก็ไม่ได้ขัดขวางคณะมนตรีความมั่นคงมีมติที่ค่อนข้างประณามรัฐบาลทหารฯ และให้กลับคืนสู่รัฐบาลประชาธิปไตยโดยเร็ว
ทูตจีนในเมียนมาร์เองก็เคยออกมาแถลงเลยว่าที่ออกมาบอกว่าจีนสนับสนุนรัฐบาลทหารฯนั้น ให้ไปดูมติของคณะมนตรีความมั่นคง ถ้าจีนมีจุดยืนแบบนั้นจริง ถ้อยแถลงประณามแบบนั้นออกมาไม่ได้ ในเวลานี้จีนก็ต้องปรับจุดยืนตัวเองพอสมควร เพราะคนในเมียนมาร์ไปเข้าใจว่าจีนสนับสนุนรัฐบาลทหารฯและเริ่มโจมตีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนในเมียนมาร์
กรณีในอัฟกานิสถาน จีนเอียงข้างตาลีบัน จีนบอกว่าสหรัฐฯไม่ควรจะถอนทหาร แต่จีนก็ไม่ได้ว่าอะไรกับตาลีบันเข้ามายึดอำนาจ สงครามในยุคถัดไปที่จะเป็นสงครามระหว่างสหรัฐฯกับจีนนั้นจะเป็นสงครามเศรษฐกิจสีเขียวหรือว่ากรีนอีโคโนมี่ ประเทศอัฟกานิสถานนั้นมีแร่ธาตุแรร์เอิร์ธจำนวนมาก มีลิเธียมอันเป็นวัตถุดิบสำคัญที่จะใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจของจีน
พอมาถึงรัสเซียกับยูเครน ผมคิดว่าจีนนั้นวางนโยบายได้ยาก แต่ก็ทำได้ดี ตั้งแต่ตอนไครเมียร์แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งจีนก็อยากจะยึดหลักการนโยบายกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตรสหประชาชาติ การไม่รุกรานกัน เพราะว่าจีนก็ไม่อยากให้ใครมารุกรานที่ซินเจียง จีนไม่อยากให้ใครมาใช้เหตุผลว่าเพราะจีนเข้าไปแทรกแซงเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งจีนมองว่านั่นคือส่วนหนึ่งของเขา จีนไม่อยากให้ต่างชาติเข้ามาใช้ข้ออ้างเรื่องฮ่องกงนี้ ฮ่องกงกับซินเจียง รวมไปถึงไต้หวันนั้นจึงถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน
นายไมค์ ปอมเปโอ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ไปเยือนไต้หวันเมื่อ 2 วันก่อนก็ออกมาพูดว่าสหรัฐฯควรจะรับรองอธิปไตยของไต้หวันได้แล้ว ซึ่งนี่นั้นเป็นหัวใจของสิ่งที่จีนพูดกับสหรัฐฯมาตลอดว่าอย่าข้ามเส้นเรื่องไต้หวัน เพราะฉะนั้นจีนจึงจะสนับสนุนในเรื่องของหลักการเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเข้มงวดในเรื่องของการไม่รุกรานกัน แต่ถ้าหากสนับสนุนตรงนี้อย่างตึงมากๆแล้ว จีนต้องประณามรัสเซียซึ่งจีนก็ไม่อยากประณามรัสเซีย เพราะจีนมีความใกล้ชิดกับรัสเซียมาก
โดยการพบกันระหว่างนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียในช่วงโอลิมปิกฤดูหนาว และเมื่อโอลิมปิกจบลง รัสเซียก็ประกาศรับรองอธิปไตยของแคว้นดอนบาสก์ ของเขตที่มีคนที่แบ่งแยกดินแดนในยูเครนอยู่ แต่ขณะเดียวกันจีนเองก็ไม่อยากที่จะให้ความสำคัญกับการไม่ใช้กำลังเกินไป เพราะจีนพูดเสมอว่าต้องเข้าใจรัสเซียว่าเขามีความกังวลในเรื่องของความมั่นคง ไม่อยากให้อาวุธนิวเคลียร์ของทั้งนาโตและสหรัฐฯ มาตั้งอยู่ที่พรมแดนของตัวเอง ซึ่งประเด็นนี้นั้นก็สามารถย้อนกลับมามองที่ไต้หวันได้เช่นกัน เนื่องจากว่าจีนพูดเสมอว่าต้องการที่จะเดินหน้าไปสู่การรวมชาติ ดังนั้นในเรื่องทะเลจีนใต้ ในเรื่องไต้หวัน ฮ่องกง ซินเจียง ทางพีแอลเอ หรือว่ากองทัพจีนนั้นก็พร้อมที่จะใช้กำลังเหมือนกัน ถ้าตะวันตกทำอะไรที่เป็นการคุกคามความมั่นคงของจีน
ดังนั้นจีนไม่ว่าจะไปทางซ้ายหรือขวาก็ไม่อยากจะไปกระทบตัวเอง ไม่อยากจะกระทบเพื่อนของตัวเอง นั่นก็นำไปสู่การไม่ออกเสียงในสหประชาชาติ
นายสุรเกียรติ์ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่าดังนั้นจากนโยบายของจีน มีสิ่งที่ประเทศไทยควรทำด้วยกัน 7 ประการได้แก่
1.เข้าใจยุทธศาสตร์และนโยบายของจีน
2.เข้าใจยุทธศาสตร์การแข่งขันกันด้านการต่างประเทศระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ
3.สร้างสมดุลความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ โดยเฉพาะจีน-สหรัฐฯ โดยต้องใกล้ชิดทั้ง 2 ประเทศ
4.มีความแน่นแฟ้นกับกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง และอาเซียน (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ในการสร้างสมดุลกับมหาอำนาจ
5.มีความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับมหาอำนาจในระดับรองเช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เพื่อถ่วงสมดุลจีน-สหรัฐฯ
6.มีจุดยืนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่มีบูรณาการ เพื่อให้เกิดสมดุลในปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจ
7.ดึงประโยชน์จากยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจที่มีต่อเศรษฐกิจ,สังคมไทย