"...ถ้าท่านนายกฯสู้ต่อไปจนถึงวันโหวตซักฟอก แล้วมี ส.ส.พร้อมแตกแถว 40 เสียง นายกฯจะถูกโค่นกลางสภา คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่สำคัญการประชุมสภานับจากนี้ต่อไป ล่มได้ทุกนัด เพราะ ส.ส.รัฐบาลไม่มีทางเข้าครบ และบางส่วนก็เป็นรัฐมนตรี ซึ่งมีภารกิจของฝ่ายบริหารมากมาย ย่อมขาดประชุมสภา.."
ท่ามกลางสถานการณ์ถูก “รุกฆาต” ทางการเมือง ทางเลือกของท่านนายกฯที่หลายฝ่ายประเมินกัน รวมทั้ง “เสธ.แมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาฯสมช. และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ฟันธงเอาไว้ก็คือ รัฐบาลชุดนี้อยู่ได้ถึงเดือน พ.ค.เท่านั้น
นับจากนั้นจะมีทางเลือกเพียง 3 ทาง คือ ยุบสภา, ลาออก หรือ โดนขับไล่
แต่สัจธรรมการเมืองไทย ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ฉะนั้นท่านนายกฯก็ยังมีสิทธิ์พลิกเกมได้ โดยมีแนวทางดังนี้
- ใช้บริการกลุ่ม 6 รัฐมนตรีขับเคลื่อนจัดโครงสร้างพรรค และสร้างพันธมิตรทางการเมืองเพิ่ม
- เคลียร์ใจกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งล่าสุดท่านนายกฯก็ทำแล้ว ทั้งการหารือวงเล็กและแถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และการไปเป็นประธานงานแต่งลูกสาวของ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ น้องสาวของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ขุนพลภูมิใจไทย
- เคลียร์ใจกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อให้ 3ป. กลับมากลมเกลียวเหมือน
- ปรับ ครม.ครั้งใหญ่ เกลี่ยตำแหน่งใหม่ ซื้อใจ และอาจต้องให้เก้าอี้พรรคเล็กบางพรรคเพื่อเกี่ยวพรรคที่เหลือให้สนับสนุนรัฐบาลต่อไป
แต่ก่อนจะไปถึงแนวทางเหล่านั้น ทุกฝ่ายต้องไม่ลืมว่าท่านนายกฯมี 2 ทางเลือกที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน คือจะ “สู้ต่อ” หรือจะ “พอแค่นี้” เพราะถ้าจะวางมือ ก็ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น แค่ยื้ออยู่ให้นานที่สุดก็พอ
มีคำยืนยันจากคนใกล้ชิดของท่านนายกฯ ซึ่งได้คุยกับท่านโดยตรง ถามกันแบบเพื่อน ตรงไปตรงมา ว่าท่านจะเอาอย่างไร “บิ๊กตู่” ตอบว่า “ขอไปต่อ”
ฉะนั้นทางเลือกของท่านนายกฯตอนนี้จึงมีอยู่ 2 ทาง คือยึดพรรคพลังประชารัฐ หรือไปสร้างพรรคใหม่
และประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ ท่านนายกฯบอกกับคนใกล้ชิดว่า จะไปนั่งเป็นหัวหน้าพรรคเอง ไม่ยอม “ขาลอย” อีกต่อไปแล้ว (แต่อาจจะส่งนอมินีเข้าไปก่อน ไม่ผลีผลามเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองทันที เพราะมีผลผูกพันระยะยาว
เมื่อท่านนายกฯตัดสินใจแบบนี้ ก็เหลือเพียงอย่างเดียวว่าจะฟื้นพรรคพลังประขารัฐต่อ หรือไปสร้างพรรคใหม่ ซึ่งก็มีเงื่อนไขที่น่าพิจารณา คือ การเลือกไปพรรคใหม่มีแนวโน้มดีกว่าหรือไม่ เท่ากับสร้างแบรนด์ใหม่ เนื่องจากแบรนด์พลังประชารัฐเสียหายไปมากแล้ว
ส่วนพรรคใหม่ที่มีแนวโน้ม คือ รวมไทยสร้างชาติ ไทยสร้างสรรค์ และไทยภักดี
เมื่อท่านนายกฯลั่นวาจา “ขอไปต่อ” ก็แปลว่าไม่วางมือ คือลุยสู้ศึกเลือกตั้ง หวังรีเทิร์นกลับมาเป็นนายกฯสมัยที่ 3
แต่ปัญหาคือ เส้นทางบนเก้าอี้นากยฯในสมัยที่ 2 นี้ จะอยู่ได้ถึงเมื่อไร ซึ่งประเด็นนี้ “ทีมงาน” ของท่านนายกฯ เก็บข้อมูลพร้อมข้อสังเกตเอาไว้
1.อยู่ได้ถึงเดือน พ.ค.ก่อนเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 และน่าจะต้องยุบสภา เพราะไม่อย่างนั้นจะโดนยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ
2.ถ้าพลาดโดนยื่นญัตติซักฟอก จะยุบสภาไม่ได้ (ทันทีที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151) ส่งผลให้อำนาจต่อรองไม่มีเหลือ
3.เช็คเสียงแล้ว ฝั่งกบฏพลังประชารัฐในนาม พรรคเศรษฐกิจไทย + พรรคเล็ก + ส.ส.รัฐบาลทั้งพลังประชารัฐเองและพรรคอื่นที่แตกแถว มีราวๆ 40 เสียง
จำนวน ส.ส.เท่าที่มีอยู่ - 474 เสียง
ฝั่งรัฐบาล นับรวมพรรคเศรษฐกิจไทย - 264 เสียง
ฝ่ายค้าน - 207 เสียง
องค์ประชุม - 237 เสียง
เกินกึ่งหนึ่ง - 238 เสียง
จำนวน ส.ส.รัฐบาลเกินกึ่งหนึ่งอยู่ - 26 เสียง
ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย 16 เสียง + กลุ่ม 16 (ของ ส.ส.เต้ มงคลกิตติ์)) เฉพาะที่ไม่ซ้ำซ้อนกับฝ่ายค้านและเศรษฐกิจไทย มีราวๆ 8 เสียง รวมกัน = 24 เสียง
หาก ส.ส.กลุ่มนี้โหวตหนุนฝ่ายค้านทั้งหมด จะทำให้รัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแค่ 2 เสียง
ฉะนั้นถ้าท่านนายกฯสู้ต่อไปจนถึงวันโหวตซักฟอก แล้วมี ส.ส.พร้อมแตกแถว 40 เสียง นายกฯจะถูกโค่นกลางสภา คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ที่สำคัญการประชุมสภานับจากนี้ต่อไป ล่มได้ทุกนัด เพราะ ส.ส.รัฐบาลไม่มีทางเข้าครบ และบางส่วนก็เป็นรัฐมนตรี ซึ่งมีภารกิจของฝ่ายบริหารมากมาย ย่อมขาดประชุมสภา
ฉะนั้นทีมงานของท่านนายกฯ และคนใกล้ชิด จึงเสนอให้ยุบสภาเดือน พ.ค. โดยไม่ต้องสนใจร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับที่เตรียมเสนอแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ในประเด็นกติกาเลือกตั้งแบบ บัตร 2 ใบ เพราะสามารถตราเป็นพระราชกำหนด เดินหน้าต่อไปได้
เพราะการฝืนเดินหน้าต่อไปจนถึงการโหวตศึกซักฟอก จะไม่สามารถไว้วางใจพรรคร่วมรัฐบาลและกลุ่มพรรคเล็กได้เลย เนื่องจาก
- money politics จะแรงขึ้น
- เงื่อนไขเอานายกฯลง แล้วล้างไพ่ใหม่ (เปลี่ยนนายกฯ แล้วตั้งรัฐบาลใหม่) น่าสนใจกว่า แจกตำแหน่งได้มากกว่าแจกกล้วย
- อาจเจอ “แผนลับ..สลับขั้ว” ที่พรรคการเมืองบางพรรคหักหลังท่านนายกฯ หันไปโหวตหนุนฝ่ายค้าน แล้วดันตัวเองขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯคนใหม่แทน
ในแง่นี้พรรคภูมิใจไทยมีโอกาสสูงสุดด เนื่องจาก อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นแคนดิเดตนายกฯที่เหลือเพียงคนเดียวที่มีสถานะเป็น ส.ส. และพรรคที่สังกัดมีเสียงสนับสนุนในสภาเกิน 25 เสียง (ต้องมี 25 เสียงขึ้นไปถึงจะเสนอชื่อแคนดิเดตนากยฯได้)
ล่าสุดจึงมีการเสนออีก 1 แผน คือ ปรับพรรคการเมืองบางพรรคที่เล่นเกมตลอดเวลาออกจากการร่วมรัฐบาล แล้วยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย รอจังหวะดีๆ เพื่อยุบสภา โดยสิ่งที่จะได้ตามมาคือ
- เครดิตนายกฯจะดึขึ้น
- ภาวะผู้นำจะปรากฏชัดเจน
- เร่งจัดการปัญหาภายใน และเรื่องค้างคาในรัฐบาล รวมถึงปัญหาอื่นๆ ให้เรียบร้อย แล้วยุบสภา เลือกตั้งใหม่
- เจรจาจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นไว้ก่อน เพื่อกลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบ
นี่คือทิศทางการเมืองล่าสุด ณ เวลานี้ที่รอเพียงนายกรัฐมนตรีตัดสินใจว่าจะเลือกเส้นทางเดินแบบไหน...แค่นั้นเอง!