"...ดังนั้น การปล่อยให้คนผิดลอยนวลหรือดึงเรื่องล่าช้าจึงเป็นการคอร์รัปชันต่อหน้าที่และต่อบ้านเมือง เพราะเท่ากับเปิดโอกาสให้พ่อค้าเกเรหากินกับทุกหน่วยงานรัฐได้ต่อไป โดยไม่มีหลักประกันเลยว่าจะไม่เอาเปรียบอีก ซ้ำยังเป็นแบบอย่างให้พวกเห็นแก่ได้ย่ามใจว่า โกงหลวงนั้นง่าย ถูกจับได้ก็แอบเจรจากันได้หากมีเส้นสายหรือแจกจ่ายผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่รัฐบ้าง จนเป็นธรรมเนียมว่าใครมีโอกาสก็โกงเลย ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเอกชนที่ซื่อสัตย์ตั้งใจค้าขายตรงไปตรงมาและไม่รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินตามหน้าที่..."
มีเอกชนราว 451 รายต่อปีที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นผู้ทิ้งงาน (Blacklist) โดยกระทรวงการคลัง แต่ยังมีเอกชนอีกจำนวนมากที่ทำผิดแต่ไม่ถูกขึ้นบัญชีฯ เพราะหน่วยงานรัฐที่ถูกฉ้อโกงหรือได้รับความเสียหายเพิกเฉยไม่ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาลงโทษ หรือดึงเรื่องล่าช้าจนน่าสงสัยว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่
ปัญหาดังกล่าว มีทั้งกรณีที่พิสูจน์ความผิดของเอกชนได้แจ้งชัดโดยหน่วยงานนั้นๆ เอง และกรณีที่ถูกชี้มูลความผิดโดย ป.ป.ช. หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแล้ว
ผู้ทิ้งงานคือผู้ที่รับงานหรือทำสัญญากับรัฐแล้วไม่รักษาสัญญา ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือกระทำการโดยไม่สุจริต เป็นเหตุให้รัฐเสียหายจึงไม่สมควรให้มาค้าขายกับรัฐอีกอย่างน้อยก็ช่วงเวลาหนึ่ง
ดังนั้น การปล่อยให้คนผิดลอยนวลหรือดึงเรื่องล่าช้าจึงเป็นการคอร์รัปชันต่อหน้าที่และต่อบ้านเมือง เพราะเท่ากับเปิดโอกาสให้พ่อค้าเกเรหากินกับทุกหน่วยงานรัฐได้ต่อไป โดยไม่มีหลักประกันเลยว่าจะไม่เอาเปรียบอีก ซ้ำยังเป็นแบบอย่างให้พวกเห็นแก่ได้ย่ามใจว่า โกงหลวงนั้นง่าย ถูกจับได้ก็แอบเจรจากันได้หากมีเส้นสายหรือแจกจ่ายผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่รัฐบ้าง จนเป็นธรรมเนียมว่าใครมีโอกาสก็โกงเลย ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเอกชนที่ซื่อสัตย์ตั้งใจค้าขายตรงไปตรงมาและไม่รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินตามหน้าที่
มาตรการขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงาน จำต้องใช้ลงโทษกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่า งานเล็กงานใหญ่ ซื้อมากซื้อน้อย ตั้งใจโกงหรือไม่ตั้งใจ ความผิดเรื่องนี้เป็นคนละส่วนกับการล็อคสเปก ฮั้วประมูล การจ่ายใต้โต๊ะในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือเอกชนกับเจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกันทำสัญญาให้รัฐเสียเปรียบ
"การขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงานหรือขึ้นแบล็คลิสต์ เป็นมาตรการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ด้วยการประจานและปิดโอกาสไม่ให้พวกคนโกงหรือชอบเอาเปรียบเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับรัฐได้อีก” ทุกคนจึงต้องใส่ใจ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะไม่มีทางควบคุมคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างฯ ได้เลย
หมายเหตุ..เอกชนหลายรายต้องทิ้งงานเพราะการปฏิบัติไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ เช่น โดนกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่เพราะไม่ใช่พวกพ้อง, ชนะประมูลงานโดยไม่ร่วมมือกับกลุ่มฮั้ว, โดนเจ้าหน้าที่รีดไถจนขาดทุน, ถูกต่อรองว่าจะจ่ายเงินหรือถูกขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงาน เป็นต้น
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)