"...มีรายงานว่า แนวทางทางการเมืองทั้งหมดนี้ ท่านนายกฯน่าจะต้องตัดสินใจภายในเดือน มี.ค. เพราะหากช้ากว่านั้นอาจจะดำเนินการบางอย่างไม่ทัน โดยเฉพาะการย้ายไปพรรคใหม่ และต้องยุบสภาเร็ว ราวๆ เดือน พ.ค...."
ท่านนายกฯมีสภาพเหมือนกำลังถูก “รุกฆาต” ทางการเมือง
แม้การเล่นการเมืองเกินพอดี แถมยังชิงดีชิงเด่นกันเองของพรรคฝ่ายค้านในเกมล่มสภา จะช่วยให้ภาพลักษณ์ของท่านนายกฯดูน่าสงสารขึ้นบ้างก็ตาม
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากรัฐบาลคุมเสียงข้างมากได้ รักษาองค์ประชุมได้ด้วยตัวเอง (ซึ่งความจริงควรเป็นเช่นนั้น) ฝ่ายค้านก็จะเล่นเกมล่มสภาไม่ได้ หรือในทางกลับกันก็คือ ฝ่ายค้านเล่นเกมนี้ได้ เพราะความอ่อนแอไร้เสถียรภาพของรัฐบาล
และต้องไม่ลืมว่านี่คือการประชุมสภานัดธรรมดาๆ ที่ยังไม่ใช่นัดสำคัญ แพ้ไม่ได้ และกลุ่มของ “ผู้กองธรรมนัส” ก็ยังไม่ได้ออกฤทธิ์ออกเดชอย่างเต็มกำลัง
คำถามที่น่าสนใจก็คือ แท้ที่จริงแล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดกลุ่ม 21 ส.ส.ของผู้กองธรรมนัส (ซึ่งปัจจุบันน่าจะเหลืออยู่ราวๆ 18-20 คน) ได้หรือไม่
ตัวเลข ส.ส.ทั้งสภา = 474 คน (หัก นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง กลุ่มผู้กอง ที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ออกไปแล้ว)
องค์ประชุม = 237 เสียง
เสียงเกินกึ่งหนึ่ง = 238 เสียง
รัฐบาลที่ไม่มีกลุ่มผู้กอง 20 เสียง = 246 เสียง
ฝ่ายค้าน = 208 เสียง
แปลว่ารัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง = 8 เสียง
พรรคเล็กที่พร้อมเทให้ผู้กอง = 4 เสียง (พรรคขนาด 2 เสียง 1 พรรค และพรรค 1 เสียงอีก 2 พรรค)
รัฐบาลจะเหลือเพียง = 242 เสียง
เท่ากับเสียงของรัฐฐาลเกินกึ่งหนึ่งเพียง 4 เสียง แต่เวลาโหวตจริงๆ ประธานในที่ประชุมโหวตไม่ได้ ก็จะเหลือ 3 เสียง ไม่นับรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. และ ส.ส.ที่ขาด ลา มาสาย ฉะนั้นเสียงรัฐบาลจึงอันตรายอย่างยิ่ง
กรณีที่กลุ่มผู้กอง และพรรคเล็กหันไปโหวตสนับสนุนฝ่ายค้าน จะทำให้ฝ่ายค้านมีเสียงราวๆ 232 เสียง ถ้ามีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านหาอีกแค่ 5 เสียง ก็จะมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง นายกฯหรือรัฐมนตรีที่โดนอภิปรายต้องลาออก เพราะเท่ากับแพ้โหวต
กรณีกฎหมายการเงิน โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฝ่ายค้านหา ส.ส.มาอีกเพียง 4-5 เสียง ก็จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะผ่านกฎหมายการเงินไม่ได้ ต้องลาออกเท่านั้น
นี่คือความสำคัญของกลุ่มก้อน ส.ส.ภายใต้การนำของผู้กองธรรมนัส ในชื่อพรรคใหม่ “เศรษฐกิจไทย”
จะว่าไปสาเหตุหลักที่ทำให้ท่านนายกฯอยู่ในภาวะ “เข้าตาจน” ที่สุด ก็คือเบื้องหลังของพรรคเศรษฐกิจไทย
จริงๆ แล้วพรรคนี้มี “บิ๊กฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย อยู่เบื้องหลังในการจัดตั้ง นำพรรคมาอาบน้ำประแป้งแต่งตัว ตั้งสาขา หาสมาชิก เพื่อเตรียมไว้สำหรับให้ “บิ๊กตู่” ใช้เป็นทางออกทางการเมือง และเดินบนเส้นทางการเมืองต่อไป
แต่วันนี้ พรรคเศรษฐกิจไทยกลายเป็นของ “พี่ใหญ่ - บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปแล้ว เพราะเจ้าตัวก็พูดเองว่า “พรรคผมทั้งนั้น” (ทั้งพลังประชารัฐ และเศรษฐกิจไทย)
ข่าวจากคนใกล้ชิดท่านนายกฯ เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมา “บิ๊กฉิ่ง” ขยับอะไรไม่ได้ เพราะโดน “คนที่ท่านนายกฯเกรงใจ” คอยจับตา และกดดันไม่ให้ขยับ ทำให้การเดินงานการเมืองในนามพรรคเศรษฐกิจไทยภายใต้การขับเคลื่อนของ “บิ๊กฉิ่ง” ต้องหยุดชะงักไป
กระทั่งก่อนจะเกิดกรณี “ขับกำมะลอ” (ขับพ้นพรรคแบบเตี๊ยมกันไว้ก่อน) เพียงไม่นาน มีคนเห็น “บิ๊กฉิ่ง” ผ่านไปแถวๆ บ้านป่ารอยต่อฯ หลังจากนั้นก็มีข่าว 21 ส.ส.กลุ่มผู้กองถูกจับจากพลังประชารัฐ จะไปซบพรรคเศรษฐกิจไทย
นั่นหมายความว่ามีกระบวนการ “หักเหลี่ยมโหด” ดึงพรรคที่น้องรักเตรียมไว้เป็นอะไหล่ทางการเมือง นำไปให้น้องรักอีกคนที่ไม่ถูกกับน้องคนแรก ตั้งเป็นพรรคสาขาอีกพรรคของตัวเองหรือไม่
สรุปแล้ววันนี้ “บิ๊กตู่” ไม่มีพรรค แต่ “พี่ใหญ่” มี 2 พรรค แล้วใครจะมีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากกว่ากัน หากมีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ สองพรรคนี้ได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ ก็พร้อมตั้งรัฐบาล หรือร่วมรัฐบาลกับใครก็ได้
ส่วน “บิ๊กตู่” อาจเผชิญกับภาวะ “ไม่มีทางไป” สถานการณ์ขณะนี้จึงเหมือนโดดเดี่ยว ตัวคนเดียว พี่รักก็หักเหลี่ยม ศัตรูก็ผงาด เพื่อไทยก็รุกฆาต คนแดนไกลก็ไล่เช้าไล่เย็น
สิ่งที่สังคมจับตามากที่สุดคือ ท่าทีของท่านนายกฯ และการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ทุกฝ่ายต้องคาดเดากันไปต่างๆ นานา
แนวทางทางการเมืองของท่านนายกฯ มีอยู่ 3 ทาง คือ
1.”อยู่” คือ อยู่ต่อ ในความหมายของการอยู่ที่มีเสถียรภาพและแข็งแกร่งพอสมควร
2.”ยื้อ” หมายถึงไปต่อไม่ได้ ไปต่อไม่ไหว สถานการณ์ไม่เอื้อ แต่ยังยื้อต่อไปให้อยู่ในอำนาจนานที่สุด หวังลูกฟลุคหรือรอจังหวะพลิกเกม
3.”ยุบ” หมายถึง ยุบสภา แปลว่าถอดใจ ไม่เอาแล้ว หรือเจออุปสรรคทางการเมืองที่ไม่มีทางออกอื่นนอกจากลงจากอำนาจ
จาก 3 แนวทางทางการเมือง มาวิเคราะห์กันต่อถึงวิธีการที่ท่านนายกฯจะทำได้
1.ยุบสภาหรือลาออก โดยไม่รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯอีกต่อไป
วิธีการนี้ แปลว่า เลิกเล่นการเมือง เพราะถ้าท่านถอดใจ และไม่รับการเสนอชื่ออีก ก็เท่ากับยุติบทบาท หยุดเส้นทางรัฐบาลประยุทธ์เอาไว้ที่ 7 ปีกว่า และหยุดเส้นทางสายอำนาจเอาไว้เกือบๆ 8 ปี (ครบ 8 ปี วันที่ 22 พ.ค. คือวันยึดอำนาจ)
วิธีการนี้สอดคล้องกับเสียงเปรยจากเพื่อนสนิทของท่านนายกฯ และคนใกล้ชิดที่ถือเป็น “บุคคลอันเป็นที่รัก” ว่าอยากให้ท่านหยุดงานการเมือง และเลือก “พอ” ในช่วงที่ยังมีคนรักและชื่นชมผลงาน ดีกว่าลากต่อไปแล้ว “จบไม่สวย”
ต้องบอกว่าตอนนี้ท่านนายกฯก็ไม่มีคดีความอะไรที่น่ากังวล เรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ก็เป็นไปตามกลไกการเมือง ค่อนข้างเอาผิดท่านยาก หากลงจากอำนาจตอนนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะไม่ “โดนเสือกัด”
2.ยึดพรรคพลังประชารัฐ บางคนเรียก “ยึดซาก พปชร.” เพราะสภาพของพรรคตอนนี้ไม่ต่างจาก “ซาก” เท่าใดนัก แม้จะยังมี “กลุ่ม 6 รัฐมนตรี” อยู่ก็ตาม
วิธีการนี้ กลุ่ม 6 รัฐมนตรีสนับสนุน ด้วยหวังว่าถ้านายกฯยึดพรรค จัดการปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าได้สำเร็จ ก็จะเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมาได้
แต่เจตนาแฝงของกลุ่มก๊วนต่างๆ ที่ยังไม่ตีจาก ก็คือ ยื้อเวลาอยู่ในอำนาจ อยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยไม่ต้องเหนื่อยเลือกตั้งเร็ว โดยอาศัยเครดิตของนายกฯลากไปแทน
สถานการณ์นี้นายกฯเจ็บ แต่กลุ่มก๊วนต่างๆ ลอยตัว (รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลด้วย) และเมื่อถึงเวลาสิ้นสุดของรัฐบาล ไม่ว่าจะยุบ หรืออยู่ครบวาระ กลุ่มก๊วนเหล่านี้ก็จะประเมินอีกครั้งว่าจะอยู่กับนายกฯต่อไปหรือไม่ เพราะพร้อมดีดตัวตลอดเวลาถ้าอยู่แล้วไม่ได้เป็นรัฐบาล และกลุ่มก๊วนเหล่านี้ก็มีทางไปหลายทาง ทั้งกลับเพื่อไทย หรือไปร่วมกับพรรคใหม่อย่างพรรคสร้างอนาคตไทย
ปัญหาของแนวทางยึดพรรค ก็คือ “บิ๊กป้อม” จะยอมหรือไม่ เพราะเพิ่งประกาศไปไม่นานนี้ว่า ทั้งพลังประชารัฐ และเศรษฐกิจไทย เป็น “พรรคผมทั้งนั้น”
3.ย้ายไปพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ หรือตั้งเตรียมไว้ ซึ่งล่าสุดมีข่าว 2 พรรค คือ
- พรรคไทยสร้างสรรค์ มีข่าวว่าอดีตมือทำงานของนายกฯ ที่วันนี้ไม่มีตำแหน่งแห่งหนใดๆ แล้ว เตรียมตั้งไว้รอ แต่เมื่อตรวจสอบดูข้อมูลจาก กกต. พบว่าย้งไม่มีสาขาพรรค และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเลย โดยพรรคนี้ตั้งเมื่อ 25 ต.ค.64 ที่ตั้งพรรคอยู่ถนนสุโขทัย
- พรรคไทยชนะ มีข่าวว่า มือทำงานอีกคนของนายกฯ ซึ่งปัจจุบันยังมีตำแหน่งอยู่ ไปจดแจ้งจองชื่อไว้กับ กกต. ตรวจสอบข้อมูลล่าสุด พบว่าพรรคนี้จัดตั้งเมื่อ 31 ส.ค.64 มีกรรมการบริหารพรรค 17 คน สมาชิก 17 คน ยังไม่มีสาขาและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเช่นกัน ที่ตั้งพรรค อยู่แถวๆ บางรักพัฒนา บางบัวทอง จ.นนทบุรี และ อาคารนันทิรุจ ห้อง 1002 สุขุมวิท ซอย 8 กทม. ถือว่าที่ตั้งพรรคอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางเมืองเลยทีเดียว
วิธีการที่ท่านนายกฯจะดำเนินการ ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหน ล้วนมีข้อดีข้อเสีย และมีหมายเหตุทางการเมืองที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ทั้งสิ้น
1.แนวทางที่ 2 กับ 3 คือ ยึดพรรคพลังประชารัฐ หรือย้ายไปอยู่พรรคใหม่ ไม่ได้แปลความว่าท่านจะอยู่ครบวาระ เพราะอาจยุบสภาก่อนได้ทุกเมื่อ
2.ตัวท่านนายกฯไม่ต้องกังวลกับระยะเวลาการสังกัดพรรคการเมือง เพราะท่านไม่ลงสมัคร ส.ส.
3.ท่านนายกฯจะเล่นสูตรเดิม คือไม่ทำพรรคเอง แล้วรอให้พรรคเสนอชื่อท่านเป็นแคนดิเดต แม้แนวทางยึดพลังประชารัฐ ก็มีข่าวว่ท่านจะไม่นั่งหัวหน้าพรรคเอง แต่มีข่าวว่าจะผลักดัน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค
4.มีข่าวว่าจะนำ “พรรคลุงกำนัน” คือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) มาควบรวม
5.วิธีการที่ท่านนายกฯ ไม่เป็นหัวหน้าพรรคเอง แต่ใช้วิธีรอเสนอชื่อแคนดิเดต ก็เพื่อที่ว่า สมมติพรรคตัวเองไม่ชนะเลือกตั้ง ก็หายไปเงียบๆ ได้เลย เรียกว่าวางมือทางอ้อม ไม่ต้องดันทุรังเล่นการเมืองต่อไป เพราะไม่มีพรรคให้ต้องรับผิดชอบ
6.หากย้ายไปพรรคใหม่ที่ชื่อยังไม่คุ้นหูประชาชน อาจกระทบกับบรรดา “ส.ส.นกแล” ที่หมายถึง ส.ส.สมัยแรกที่อาศัยกระแสพรรค กระแส “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” เข้ามานั่งในสภา แต่ไม่มีคะแนนของตัวเองมากนัก เช่น ส.ส.กทม. และส.ส.ใต้ เกือบทั้งหมดของพลังประชารัฐ กลุ่ม ส.ส.นกแล จะเอาอย่างไร เพราะอนาคตทางการเมืองอยู่บนความเสี่ยง โดยเฉพาะถ้าคะแนนนิยมนายกฯยังไม่ฟื้น
7.ถ้าทำพรรคใหม่ หรือยึดพรรคพลังประชารัฐสำเร็จ แล้วสู้ศึกเลือกตั้ง ปรากฏว่าได้ ส.ส.ต่ำกว่า 25 ที่นั่ง จะไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯให้สภาโหวตได้ นี่คือความยาก และความเสี่ยง
มีรายงานว่า แนวทางทางการเมืองทั้งหมดนี้ ท่านนายกฯน่าจะต้องตัดสินใจภายในเดือน มี.ค. เพราะหากช้ากว่านั้นอาจจะดำเนินการบางอย่างไม่ทัน โดยเฉพาะการย้ายไปพรรคใหม่ และต้องยุบสภาเร็ว ราวๆ เดือน พ.ค.
นับถอยหลังรอดูจังหวะก้าวทางการเมืองใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะหยุด จะยุบ หรือจะยื้อต่อไป...
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกัน