"..41 ล้านบาท มาทีเดียวเลย แล้วเราก็มีการคืนเงินที่เป็นส่วนของดอกไปแล้ว คือ เราถือว่าเงินเข้าบัญชีเรา เราก็จัดการเรื่องดอกเบี้ยไปแล้วประมาณ 6-7 ล้านบาทด้วย ไม่แน่ใจตรงนี้ ทำให้เราไม่ได้เอะใจอะไร เพราะว่าดอกเบี้ยเราก็ให้ไป ซึ่งตามความเข้าใจของเรานั้น คนที่ไม่เต็มใจจะให้กู้ ถ้าหากมีเงินอะไรเข้ามา คุณก็ต้องแจ้งไป มันไม่มีอะไรผิดสังเกตตอนนั้น..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขยายผลการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกคดียักยอกเงินมูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย จํานวน 41,045,966.67 บาท ซึ่งมีนิติบุคคล 2 ราย เกี่ยวข้องตามมคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 คือ บริษัท โอเวอร์ซี เพาเวอร์ จํากัด และ บริษัท กวินลักษณ์ จํากัด เนื่องจากรับโอนเงินจำนวนดังกล่าวและโอนต่อไปยังบุคคลอื่นตามที่รายงานแล้ว
ทั้งนี้ ในคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการระบุชื่อจำเลยคดีนี้ ไว้คือ นายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต จําเลยที่ 1 นายวิรัตน์ หาดเจียง จําเลยที่ 2 บริษัท โอเวอร์ซี เพาเวอร์ จํากัด จําเลยที่ 3 นางสาวทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล จําเลยที่ 4 นายยงยุทธ ธิสกุลวงศ์ เป็นจําเลยที่ 5 บริษัท กวินลักษณ์ จํากัด จําเลยที่ 6 และนายชะโลม ปทุมานน์ จําเลยที่ 7
โดยศาลฯ พิพากษาว่า นายวิรัตน์ หาดเจียง จําเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่เนื่องจากกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด มีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามมาตรา 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจําคุก 15 ปี ส่วนจําเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เป็นการกระทํากรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่เนื่องจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด มีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามมาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จําเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 จําคุกคนละ 7 ปี จําเลยที่ 3 และที่ 6 เป็นนิติบุคคล ปรับรายละ 20,000 บาท และให้จําเลยทั้ง 7 ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน ที่ยังไม่ได้คืนแก่ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) เป็นเงิน 34,945,966.67 บาท
- ปปง.อายัดเงิน 5.3 ล. กก.มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ คดียักยอก 41 ล.
- เปิดพฤติการณ์คดียักยอก 41 ล. มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ คนแบงก์ - 2 บ.ร่วมมือ
- เปิดข้อมูล 2 บริษัท พันคดียักยอก 41 ล. มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ เป็นใคร?
- ไม่มีคนอยู่-เป็นบ้านเช่า! เปิดที่ตั้ง 2 บ.พันคดียักยอก 41 ล.มูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพุทธศาสนาฯ
@ คำสั่ง ปปง. อายัดทรัพย์ในคดีนี้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นางสาวทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล จําเลยที่ 4 และยังปรากฎชื่อเป็นกรรมการบริหารบริษัท โอเวอร์ซี พาวเวอร์ จำกัด เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นทางการ
รายละเอียดการสัมภาษณ์มีดังต่อไปนี้
@ ที่มาที่ไปเกี่ยวกับคดีนี้เป็นอย่างไร?
น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล : "เอากันตรงๆ เราคิดว่ามันเป็นเงินกู้ แต่ว่าพี่ (นายชะโลม ปทุมานน์) เขาเป็นคนคุย ตัวเราไม่ได้เป็นคนเข้าไปคุย เขาจะผ่านนายชะโลมโดยตรง ไม่ได้ผ่านตัวเรา ตอนแรกเขาเหมือนว่ามีเงินให้กู้ ดอกร้อยละ 5 หรือร้อยละ 10 ต่อปี อันนี้เราไม่แน่ใจ แต่อันนี้เราเห็นว่าดอกถูก ถ้าเขาปล่อย ก็เอามา แต่เขาบอกว่ามันต้องไปกู้ในนามบริษัท มันก็หมายถึงต้องเป็นชื่อเรา เราก็บอกว่าถ้าร้อยละ 5 มันก็น่าสน ก็เลยบอกว่าลองยื่นไปดูว่าเขาปล่อยไหม"
"พี่เขาเล่าให้ฟังว่า เขามีเอกสาร ให้เราทำหนังสือว่ามีความจำนงจะขอกู้ พอกู้ไปแล้ว พี่เขาก็ไม่โอเคในเที่ยวแรก และก็อยู่มาอีกประมาณ 2-3 อาทิตย์ เขาก็ให้กู้ เราก็บอกหรือแจ้งเราว่าเงินจะมาเข้าวันไหน แล้วเหมือนเงินมันก็เข้าในวันที่เขาได้แจ้งกับเรา เราก็ไม่ได้เอะใจอะไร พอเงินเข้ามา อยู่กับเราได้ประมาณ 2 เดือน ทางเหรัญญิกซึ่งก็คือ นายชาญบุณฑ์ สุนทรวิภาต เขามาขอเหมือนกับว่าขอคืน เขาบอกว่ามูลนิธิฯไม่เต็มใจ เหมือนกับว่ามูลนิธิต้องการที่จะเอาเงินคืน"
"ในความรู้สึกเรามันก็รู้สึกแล้วว่าเหมือนจะเอามาทำอะไร แต่ก็เอามาไม่ได้ ในความเข้าใจเรา เราคิดว่ากู้มาแล้วก็สามารถที่จะนำเงินนี้มาใช้บริหารกิจการของเราได้ แต่ปรากฏว่ามีกรณีขอคืนเงิน เราก็คืนเงินเขาไปในฐานะที่เขาเป็นเหรัญญิก เพราะเขาบอกว่าเขาเป็นคนรับผิดชอบเงินเหล่านี้ เขาจะเอาเงินไปรวมไว้แล้วก็จะจัดการเอง เราก็คิดว่าเป็นเหรัญญิกที่มีหน้าที่รับผิดชอบเงินตรงนี้อยู่ก็เลยโอนเงินให้เขาไป"
"การโอนเงินนั้นก็ไปโอนที่ธนาคาร แล้วบอกทางพี่ด้วยว่าโอนคืนให้เขาไปเลย จริง ๆ ตอนแรกนั้นเราจะโอนให้มูลนิธิ แต่ว่าเขา (นายชาญบุณฑ์) ก็บอกว่าไม่ได้ เงินมันยังไม่เต็มจำนวน แล้วเขาเป็นคนรับผิดชอบมา เราถึงไปโอนให้เขา แต่เราก็เคยเข้าไปหาพระครูในช่วงที่ประกันตัวออกมาแล้ว เราก็ไปกราบท่าน บอกท่านว่าเราไม่รู้จริงๆ ท่านตอบเรามาว่า ถ้าท่านมาช่วยเราก็เท่ากับว่าความผิดก็จะเข้าท่านไปด้วย เราก็เลยพูดอะไรไม่ออก ก็เลยถอยออกมา"
"คือเหมือนว่าเรานั้นเข้าไปหาท่านเพราะต้องการที่จะอธิบายให้ท่านเข้าใจว่ามันเป็นแบบนี้ ท่านตอบเรามาว่ามันเป็นแบบนี้ เราก็เลยกราบออกมาเลย"
@ นายชโลม กับนายชาญบุณฑ์ มีความเกี่ยวข้องในเรื่องของการไปเอาเงินมาอย่างไร?
น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล : "เขา(นายชาญบุณฑ์) รู้จักกับนายยงยุทธ ธิสกุลวงศ์ นายยงยุทธนั้นจะเป็นคนสุดท้ายที่ได้เงินก้อนนี้ไป"
"คือเราโอนเงินไปให้ชาญบุณฑ์แล้วชาญบุณฑ์เขาก็โอนต่อไปให้ยงยุทธ ซึ่งเท่าที่เราทราบ ยงยุทธเขาเคยทำงานธนาคาร ติดต่อพวกเงินต่างประเทศ เท่าที่เราพอทราบ แต่ตอนหลังเขาทำอะไรเราก็ไม่ทราบเลย โดยส่วนตัวนั้นเราก็ไม่เคยรู้จักกับทั้ง 2 คนนี้ (นายชาญบุณฑ์และนายยงยุทธ)"
"คือเราเคยเจอกับชาญบุณฑ์หลังจากที่เงินเข้าบัญชีเราไปแล้วประมาณ 2-3 วัน พอเงินเข้าไป เราก็ถามเขาว่าสัญญาเงินกู้ล่ะ เขาก็ตอบมาว่า มันเป็นมติของมูลนิธิ ไม่จำเป็นต้องมีสัญญาเงินกู้ครับ คุณทัศนีย์”
"เขาตอบเรามาแบบนี้ ซึ่งมติของมูลนิธิ คุยกันตรง ๆ เราไม่เคยเห็นเอกสารพวกนี้เลย"
"เขาเคยมีหนังสือที่แต่งตั้งนายยงยุทธเข้าไปคุย ซึ่งเราก็เป็นคนแต่งตั้งตรงนี้ด้วย แต่เอกสารรายละเอียดที่ว่าดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ที่มีการเซ็นกัน ปรากฏว่ามันไม่ใช่ลายเซ็นของเรา"
@มีการปลอมลายเซ็นกันเกิดขึ้น?
น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล : "มันน่าจะเป็นอย่างนั้น"
"แต่ว่าตอนที่ขึ้นศาลเราน่าจะพลาดเอง เราไม่ได้อธิบายตรงนั้น อัยการมาถามเราว่าเคยเห็นใบนี้ไหม เราตอบว่าไม่ แต่อัยการก็ถามเราต่อว่ามันเป็นลายเซ็นคุณนะ แต่ว่าตรงนั้นเราไม่ตอบ เพราะลายเซ็นที่เห็นนั้นมันคล้ายมาก แต่เรามานั่งพิจารณาแล้ว มันไม่ใช่ลายเซ็นเรา พอเราลงมาจากศาลก็มานั่งพิจารณาอยู่สักพักหนึ่ง แล้วก็ถามทางนายชโลมว่า ลายเซ็นอันนั้นไม่ใช่ของเรานี่ ใครเซ็น”
"นายชโลมก็ตอบมาว่าเป็นเด็กในออฟฟิศ เขาตอบเรามาแบบนั้น ซึ่งเราก็นำเอาเรื่องนี้ไปคุยกับทนายของเราเหมือนกัน แต่ทนายก็ตอบว่ามันช้าเกินไปแล้ว มันเหมือนว่าผ่านจุดตรงนั้นมาแล้ว เหมือนว่าตอนนั้นเราไม่ได้ตอบตั้งแต่ทีแรก แต่ยอมรับว่าลายมือนั้นมันเหมือนของเรามาก คือเราก็ไม่แน่ใจว่าตรงนี้นั้นนายชโลมเขารู้มาตั้งแต่ต้นหรือไม่"
@ สรุปคือ เรื่องนี้เริ่มมาจากนายชโลมไปรู้จักกับคนกลุ่มนี้ แล้วไปบอกคุณว่าเป็นเงินกู้ แค่บอกแค่นั้น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเงินมาจากไหน?
น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล : "ใช่"
"อันที่จริงแล้ว ใจเราที่เปิดบริษัทนั้น ก็จะให้นายชโลมอยู่แล้ว ซึ่งเขาก็คุยว่าจะได้เอามาจัดการในบริษัทนั้น คือมันเป็นชื่อเราก็จริง แต่ว่าเขาเป็นคนดูแลตรงนี้อยู่แล้ว"
"เหมือนว่าตอนนั้นนายชโลมก็มีประวัติไม่ค่อยดี คือติดแบล็คลิสต์ เขาไม่สามารถจะทำเรื่องกู้ ทำอะไรได้ ก็เหมือนว่าให้เราทำให้หน่อยได้ไหม เราก็ด้วยความซื่อ เห็นว่าเขาช่วยกิจการเราที่โรงรำ เราก็อยากให้เขามีอะไรที่พอไปต่อได้ เราก็มองตรงนั้น เรามองว่ากู้มา เงินก็อยู่ในบัญชีเรา ที่สำคัญก็คือว่าเราคืนเงินไปนานแล้ว ก่อนที่จะมีเรื่องพวกนี้มา"
@ เงินที่คุณทัศนีย์ได้มามีจำนวนเท่าไร แล้วคืนไปเท่าไร?
น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล : "41 ล้านบาท"
"มาทีเดียวเลย แล้วเราก็มีการคืนเงินที่เป็นส่วนของดอกไปแล้ว คือ เราถือว่าเงินเข้าบัญชีเรา เราก็จัดการเรื่องดอกเบี้ยไปแล้วประมาณ 6-7 ล้านบาทด้วย ไม่แน่ใจตรงนี้ ทำให้เราไม่ได้เอะใจอะไร เพราะว่าดอกเบี้ยเราก็ให้ไป ซึ่งตามความเข้าใจของเรานั้น คนที่ไม่เต็มใจจะให้กู้ ถ้าหากมีเงินอะไรเข้ามา คุณก็ต้องแจ้งไป มันไม่มีอะไรผิดสังเกตตอนนั้น"
"จังหวะที่เราได้มีการคืนเงินไปจำนวนกว่า 30 ล้านบาท เราก็เลยคืนเงินไปกับเหรัญญิก คือเราก็เชื่อในระบบว่าเหรัญญิกเขาต้องดูแลตรงนี้อยู่แล้ว ซึ่งเราก็พลาดเองที่คืนเงินไปกับเขาแทนที่จะเป็นมูลนิธิ คือแกก็อายุตั้ง 70-80 กว่าปีแล้ว ไม่ใช่วัยรุ่นอะไรแบบนี้ ก็ยอมรับตรงๆว่าเราก็โง่เหมือนกันที่มองเกมเขาไม่ออก"
"ที่ผ่านมานั้นเราได้เคยไปพูดคุยกับนายยงยุทธด้วยเช่นกันว่าเงินนั้นอยู่ที่ไหน เขาตอบมาว่า “เงินก็อยู่กับเขาสิ” เราเลยถามว่า “แล้วพี่ทำไมไม่คืน” เขาบอกว่าจะไปวางที่ศาล แต่ปรากฏว่ามันก็ไม่มีตัวนั้นไป"
@สรุปคือเงินยังอยู่ที่นายยงยุทธ
น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล : "เขาก็ตอบมาแบบนั้น คือว่าเงินอยู่ที่เขา ตอนที่ก่อนจะไปขึ้นศาลอุทธรณ์ เขาก็บอกว่าเงินอยู่ที่เขาเช่นกัน แต่ทำไมเขาไม่คืน ถ้ามันมีตัวเงิน เราก็ไม่รู้ว่ายงยุทธเอาเงินไปที่ไหนบ้าง เพราะว่ามันเข้าไปที่ยงยุทธเลย ซึ่งเราก็รู้แค่ว่าตำรวจเขาอายัดบัญชีเงินของนายยงยุทธไปประมาณ 5 ล้านบาท"
"ส่วนทำไมว่าตำรวจเขาไม่สืบต่อว่าเงินของยงยุทธไปไหน อันนี้เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะมันจบที่เข้านายยงยุทธแล้วก็จบเลย ทั้งๆ ที่เขาสืบทราบมาได้แล้วว่าเงินนั้นมันเคยเข้ามา เคยผ่านมาหาทางเรา"
"อันที่จริงเราก็พอทราบมาว่าตอนแรกนั้นก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเขาเข้ามาเกี่ยวข้องในส่วนขอคดีนี้ด้วยเช่นกัน แต่เราก็ไม่รู้จักอะไรโดยส่วนตัว"
@ผู้หญิงคนนี้คือใคร?
น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล : "เขาเป็นคนของมูลนิธิ มากับท่านชาญบุณฑ์ แล้วคนนี้ก็ไม่ได้อยู่ในคดีด้วย"
"ผู้หญิงคนนี้นั้นเป็นคนที่มาออกหน้าออกตาว่าอันนี้จะต้องเป็นแบบนี้ แบบนั้นนะ ท่านชาญบุณฑ์ แต่เราก็ไม่ได้รู้จักเขาเลย แต่เท่าที่ทราบมาก็คือว่าผู้หญิงคนนี้เป็นกรรมการมูลนิธิฯ ค่อนข้างจะมีอายุแล้ว แต่ก็หายหน้าหายตาไปเลย"
"ตอนแรกเราก็มีการพูดถึงเหมือนกันว่าจะซักไปให้ถึงผู้หญิงคนนี้ แต่ทนายเขาพูดว่ามันคนละส่วนกัน แล้วเราก็เคยได้ยินจากทางคุณชโลมเหมือนกันว่าผู้หญิงคนนี้เขาเป็นแฟนนายยงยุทธ แต่ที่เราเห็นก็คือเขาไปไหนก็จะไปกับนายชาญบุณฑ์ เหมือนว่าจะขับรถให้นายชาญบุณฑ์ด้วย ซึ่งประเด็นนี้ไม่เข้าไปที่ศาลแต่อย่างใด"
@พอทราบอะไรเกี่ยวกับนายยงยุทธเพิ่มเติมหรือไม่?
น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล : "อันนี้ไม่ทราบจริงๆ เพราะส่วนตัวเราก็ไม่เคยรู้จักกับเขา รู้ว่าเขาเปิดบริษัทชื่อกวินลักษณ์ ตอนแรกลูกสาวเขาถือหุ้นอยู่ แล้วมาตอนหลังพอมีเรื่องมีราวกันอย่างไร เปลี่ยนชื่อกันตอนไหน อันนี้เราไม่รู้"
@เคยเจอนายยงยุทธที่ศาล ศาลมีการทวงถามเงินจากยงยุทธหรือไม่
น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล : "วันที่คุยกัน มีการไต่สวนก่อนที่จะฟังคำตัดสิน ศาลก็เหมือนมีการพูดว่าเราคุยกันนอกรอบนะ มีการถามว่าเงินอยู่ที่ไหน แต่ก่อนที่ศาลจะถาม ศาลบอกก่อนว่าเราคุยกันนอกรอบ ศาลพูดแบบนั้น นายชาญบุณฑ์ก็ยกมือถามว่า “แล้วถ้าผมเอาเงินมาคืน คดีจะเป็นอย่างไร แต่แกก็ไม่ได้บอกว่าเงินอยู่ที่แกนะ” เขาก็บอกว่าให้เอาเงินมาคืนซะคนอื่นจะได้ไม่เดือดร้อนด้วย มันอยู่ที่ไหนก็ให้เอามาคืนเสีย ซึ่งนายชาญบุณฑ์ เขาก็รับคำบอกว่า “ผมจะเอามาคืน” ซึ่งตอนนั้นเราก็คิดว่ามันคงไม่มีอะไร ศาลพูดถึงขนาดนั้นแล้ว เราก็สบายใจตอนนั้น"
"ส่วนสำหรับเรา เราก็ตอบตรงๆไปว่ารู้จักกับแค่นายชโลมคนเดียว คนอื่นไม่รู้จัก ส่วนนายชาญบุณฑ์ ก็รู้จักประมาณ 1 อาทิตย์หลังจากที่เงินเข้าแล้ว ตอนที่เราไปที่ ออฟฟิศ ณ กรุงเทพ ตรงศรีนครินทร์ ก็ถึงได้เจอแก ซึ่งตามปกติตัวเรานั้นไม่เคยได้ไปที่บริษัทอยู่แล้ว เพราะนายชโลมเขาจัดการหมด นอกงานเขาจะใช้เงินเขาก็จะมาติดต่อเรา บอกว่าโอนเงินให้เขาหน่อย แต่พอมาช่วงหลัง เรายอมรับเลยว่าโอนเงินให้จนไม่มีจะให้เขาแล้ว จนสามีบอกว่าพอแล้วไปกับมันเยอะแล้ว"
@ตอนคืนเงินไป ฟังดูเหมือนว่าเข้าเนื้อตัวเองด้วย?
น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล : "คือเงินที่คืนไปมันก็มีเงินเราอยู่ด้วยประมาณสิบกว่าล้านบาท คือเรามีอยู่ 30 กว่าล้าน คืนให้กับนายชาญบุณฑ์ไปให้หมดเลย แล้วก็บวกลบกับดอกที่นายชาญบุณฑ์เอาไปบ้างแล้ว จำนวนเงินที่เราได้คืนไปมันก็เลยใกล้เคียงกับเงิน 41 ล้านบาทในเบื้องต้น"
"คือมันก็เป็นความผิดพลาดของเรา คือเหมือนว่านายชโลมเขาเอาเงินไปลงงานอะไรสักอย่าง ไปรับงานไว้แล้ว กะว่าจะทำงานต่อ พอดีนายชาญบุณฑ์ขอคืนเงิน เราก็เลยคืนเงินไปแล้วบอกเขาว่าไม่ต้องทำต่อแล้ว เพราะปัญหามันเยอะ"
@แล้วเงินที่นายชโลมได้ไป เขาได้เอาเงินนี้ไปคืนนายชาญบุณฑ์ด้วยหรือไม่
น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล : "ตรงนี้คือเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาได้คืนเงินไปไหม คือเนื่องจากว่าเราไม่สามารถไปต่อได้กับงาน เราก็ต้องทำใจที่เราเสียหน้าเรื่องการรับงานตรงนี้ไปแล้ว แต่เราก็ไม่อยากจะไปมีปัญหากับเรื่องเงินจำนวน 41 ล้านบาท เราก็เลยคืนไปจะได้จบ แล้วเราก็เริ่มไม่มั่นใจในตัวนายชโลมที่ลงงานไปแล้วเพราะว่ามันก็ไปเยอะจัด ก็เลยบอกว่าให้มันจบเท่านั้น แล้วให้เรากลับมาทำในงานที่เราเคยทำที่ จ.อ่างทอง (ธุรกิจโรงรำ) ดีกว่า"
“เราเคยบอกศาลไปว่าเราเข้าใจว่ามันเป็นเงินกู้ พอดีเราก็ผิดพลาดไปที่มันไม่มีสัญญาเงินกู้ เราก็อธิบายไปให้ศาลได้รับทราบแล้วว่าเราเอาเงินคืนไปให้นายชาญบุณฑ์ แต่ศาลก็ไม่ได้ไปถามนายชาญบุณฑ์ว่ามีการเอาเงินไปให้ใครหรือเปล่า ไม่มีในส่วนตรงนี้”
"เราก็ไม่รู้เหมือนกันจริง ๆ ว่าทำไมตำรวจเขาตามเงินตรงนี้ จริง ๆ เราก็เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา การศึกษาไม่ได้สูงมาก ก็เห็นว่าเขานั้นเป็นญาติกัน ก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมทำกันได้ขนาดนี้ ซึ่งบางครั้งเราก็คิดนะว่าเขา (นายชโลม) อาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ หรือไม่รู้เท่าทันเกมเขาว่าวางไว้เป็นอย่างไรก็เป็นได้"
"แต่ว่าในบางครั้งเราก็คิดนะว่าถ้าเราไม่ไปหลวมตัวไปช่วยเขา เราก็ลอยลำตรงนี้ไปแล้ว เพราะแค่ที่เราทำที่บ้านเราแค่นี้มันก็พอแล้ว"
@แล้วคดีตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง จะไปถึงศาลฎีกาเมื่อไร
น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล : "ก็แพ้ 2 ศาลไปแล้ว แต่ตอนนี้ยังมีกำหนดว่าจะนัดฟังคำตัดสินที่ศาลฎีกาเมื่อไร แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยว่าเขาจะเอาเงินไปคืนไหม หรือคืนเมื่อไรอย่างไรเราก็ไม่ทราบเหมือนกัน คือเราไม่เคยติดต่อใครเลยแม้กับแต่ทางพนักงานธนาคารในเรื่องนี้ เราก็ไม่รู้ความเกี่ยวข้องแท้จริงในเรื่องนี้ "
"อันที่จริงเราก็มีประเด็นที่สงสัยเหมือนกันว่าการให้ยืมเงินตรงนี้นั้น ถ้าพวกมูลนิธิคนอื่นเขารู้อยู่ก่อนแล้ว แล้วทำไมไม่แย้งกันมาว่ามันเป็นเงินอะไร ถ้าเราคิดว่าเราจะเอาเงินบริจาคตามที่ให้การในชั้นศาล จริงๆก็น่าจะมีใบพวกอนุโมทนาบุญอยู่ตรงนี้มาประกอบ แต่มันก็ไม่มีใบอะไรแบบนี้ออกมาเลย"
@ ภาพ น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล ยื่นขอความเป็นธรรม (จากhttps://www.komchadluek.net/)
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน ธ.ค.2564 ปรากฎเป็นข่าวในสื่อหลายสำนักว่า น.ส.ทัศนีย์ ลิ้มเจริญธัญญะผล พร้อมด้วยนายชณุนาท ณัฐภัทรกุล ทนายความ ได้นำหลักฐานเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดียักยอกเงินนี้ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) หลังได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน สน.ลาดกระบัง ในการแจ้งข้อกล่าวหาในคดีที่ น.ส.ทัศนีย์ ตกเป็นจำเลยร่วมกับพวกอีก 7 คน
นายชณุนาท กล่าวว่า การทำงานของพนักงานสอบสวน รวบรัดคดีและไม่ยอมรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงจากพยานให้รอบด้าน ทั้งที่คดีนี้น.ส.ทัศนีย์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการเบียดเบียนทรัพย์ไปเป็นของตัวเอง โดย น.ส.ทัศนีย์ เป็นหนึ่งในคนที่รู้จักกับจำเลยร่วมของคดีนี้เท่านั้น จึงทำให้น.ส.ทัศนีย์ ไว้ใจปล่อยให้มีการโอนเงินบางส่วนเข้ามาในบัญชีชื่อของตัวเองจริง แต่อ้างว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดแต่อย่างใด (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จากสำนักข่าวเนชั่น)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า ได้พยายามติดต่อนายวิรัตน์ หาดเจียง จำเลยที่ 2 ในคดีนี้ซึ่งเป็นอดีตพนักงานของธนาคารกรุงไทย ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการโอนเงิน เพื่อขอสัมภาษณ์เป็นทางการด้วย
อย่างไรก็ตาม นายวิรัตน์ ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลออกสื่อมวลชนเป็นสาธารณะ ณ เวลานี้