"...ในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมาดูเหมือนปัญหาเรื่อง “บัญชีม้า” จะเป็นประเด็นที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มมีคดีใหญ่ให้ได้พบเห็นกันตามแหล่งข่าวต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในโลกยุคดิจิทัลบวกกับช่วงโควิดที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ในตอนนี้ ทำให้คนเราใช้ช่องทางการติดต่อผ่านสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และรูปแบบการกระทำผิดหลายอย่างก็แฝงมากับช่องทางออนไลน์ไม่น้อยเลย การเปิดบัญชีม้า ก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ก็ออกมาให้การยอมรับว่าปัจจุบันมีรูปแบบการว่าจ้างให้บุคคลอื่นเปิดบัญชีเพื่อนำบัญชีนั้นไปใช้ในการกระทำความผิด..."
ในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมาดูเหมือนปัญหาเรื่อง “บัญชีม้า” จะเป็นประเด็นที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มมีคดีใหญ่ให้ได้พบเห็นกันตามแหล่งข่าวต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในโลกยุคดิจิทัลบวกกับช่วงโควิดที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ในตอนนี้ ทำให้คนเราใช้ช่องทางการติดต่อผ่านสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และรูปแบบการกระทำผิดหลายอย่างก็แฝงมากับช่องทางออนไลน์ไม่น้อยเลย การเปิดบัญชีม้า ก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ก็ออกมาให้การยอมรับว่าปัจจุบันมีรูปแบบการว่าจ้างให้บุคคลอื่นเปิดบัญชีเพื่อนำบัญชีนั้นไปใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งจากสถิติคดีที่พบ ผู้เปิดบัญชีโดยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ทำลงไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ทำลงไปเพียงเพราะต้องการได้รับค่าตอบแทนเพียงหลักร้อย หรือหลักพันต้น ๆ เท่านั้น เพื่อแลกกับการเปิดบัญชีให้ผู้กระทำผิด โดยไม่รู้ว่าเมื่อผู้กระทำผิดไปหลอกลวงผู้อื่นแล้วให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีที่เด็กได้เปิดไว้ให้นั้น แล้วผู้ว่าจ้างเปิดบัญชีที่ได้เก็บ ATM เอาไว้ก็จะนำไปกดเงินออกจากบัญชีดังกล่าวจนหมด กว่าที่เหยื่อจะรู้ตัวว่าถูกหลอกแล้วไปแจ้งดำเนินคดี และกว่าที่เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนจะสาวมาถึงตัวเด็กผู้เป็นเจ้าของบัญชี ผู้ว่าจ้างให้เด็กเปิดบัญชีนั้นก็หายเข้ากลีบเมฆไปแล้ว นี่เป็นรูปแบบการกระทำผิดที่พบขึ้นจำนวนมากในปัจจุบัน
แน่นอนว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งแต่ละประเทศก็เริ่มหามาตรการมาจัดการกับปัญหาดังกล่าว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งมองว่าเงินที่มีการผ่านการหลอกให้เปิดบัญชีลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Money Mules โดยในปีที่ผ่านมามีความเสียหายจากเรื่องนี้ไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท จึงมีหน่วยงานจำนวนมากที่ต้องบรูณาการร่วมกันในการแก้ปัญหาเช่น FBI, Department of Justice’s Consumer Protection Branch, U.S. Postal Inspection Service และก็มีหน่วยงานอื่น ๆ มาร่วมดำเนินการในการแก้ปัญหานี้ด้วย เช่น Department of Labor Office of Inspector General, Federal Deposit Insurance Corporation Office of Inspector General, U.S. Immigration and Customs Enforcement’s Homeland Security Investigations (HSI), Social Security Administration Office of Inspector General, U.S. Secret Service และ U.S. Treasury Inspector General for Tax Administration นอกจากนี้ในสหภาพยุโรปเองก็มองเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเกิดความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวประมาณปีละไม่น้อยกว่า 70 ล้านยูโร จึงได้มีการจัดตั้ง European Money Mule Action (EMMA) ขึ้นในปี ค.ศ. 2016 โดยการดำเนินการของ EMMA เป็นการประสานความร่วมมือระดับภูมิภาคของประเทศสมาชิก EU ร่วมกับ Eurojust, INTERPOL, European Banking Federation (EBF) และ FinTech FinCrime Exchange จะเห็นได้ว่าทิศทางส่วนใหญ่ของการแก้ปัญหาเรื่องนี้มุ่งไปที่การจัดการกับผู้กระทำผิดโดยใช้มาตรการทางอาญาเป็นส่วนใหญ่
หากย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย ก็มีความเคลื่อนไหวในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับเรื่องของการเปิด “แผนกคดีซื้อขายออนไลน์” ในศาลแพ่ง ซึ่งเพิ่งประกาศราชกิจจานุเบกษาและผลใช้บังคับไปตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2564 โดยทางศาลได้เริ่มทดสอบระบบตั้งแต่วันจันทร์ที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา การเปิดแผนกคดีซื้อขายออนไลน์นี้เป็นไปตามนโยบายของท่านประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน (นางสาว ปิยกุล บุญเพิ่ม) ที่ศาลมุ่งที่จะยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมถึงการใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิทัล การดำเนินการในส่วนนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะรูปแบบ โครงสร้างของการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์มีความสลับซับซ้อน อีกทั้งพยานอิเล็กทรอนิกส์และพยานดิจิทัลยังเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการโดยผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ จึงจะสามารถที่จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาอันจำกัด รูปแบบของการดำเนินการในส่วนนี้ประชาชนสามารถที่จะฟ้องคดีซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้เองผ่านระบบ (e-filing) แน่นอนว่าการดำเนินคดีเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าออนไลน์จำนวนไม่น้อย มีรูปแบบการหลอกขายสินค้าโดยให้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ขาย แต่ปรากฏว่าเป็น “บัญชีม้า” จึงเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีของเหยื่อที่ถูกจ้างให้เปิดบัญชี ซึ่งเมื่อผู้ซื้อสินค้าออนไลน์หลงเชื่อและโอนเงินให้แล้วมาทราบทีหลังเมื่อไม่ได้รับสินค้าจึงได้ไปแจ้งความ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวน จึงทำให้พบว่าเจ้าของบัญชีที่แท้จริงแล้วนั้น เป็นเพียงเด็กที่ถูกหลอกให้เปิดบัญชี ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงการกระทำของผู้ที่ว่าจ้างให้เปิดบัญชีว่ามีพฤติการณ์ในการหลอกขายสินค้า เท่ากับว่าผู้เปิดบัญชีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของผู้ขายสินค้าแต่อย่างใด
หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้รับจ้างเปิดบัญชีมีส่วนรู้เห็นด้วยกับการหลอกขายสินค้า ย่อมต้องมีความผิดหลายกระทง ไม่ว่าจะเป็นฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 การร่วมกันหลอกลวงโดยการนำเข้าข้อมูลที่บิดเบือน เป็นเท็จ ปลอมทั้งหมดหรือบางส่วนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) และอาจเป็นความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2552 มาตรา 60 ซึ่งในบางกระทงความผิดมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี
แต่หากจะมองจากการฟ้องคดีแพ่งต่อผู้ขายที่ผิดสัญญาซื้อขายที่ไม่ส่งมอบสินค้า และใช้บัญชีผู้อื่นที่ตนเป็นผู้ว่าจ้างให้เปิดบัญชี แล้วก็เชิดเงินของผู้ซื้อไป ซึ่งถือได้ว่าผู้ขายควรเป็นจำเลยในคดีซื้อขายออนไลน์ ดูจะเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย แม้ว่าปัจจุบันศาลแพ่งจะได้มีการจัดตั้ง “แผนกคดีซื้อขายออนไลน์” แล้วก็ตาม เพราะการทำธุรกรรมออนไลน์ในปัจจุบัน หลายกรณีที่ผู้ซื้อก็ไม่สามารถระบุตัวผู้ขายที่แท้จริงได้ และหากใช้วิธีการดำเนินคดีอาญา สุดท้ายหลายคดีพบว่าคนที่พบในทางสอบสวนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้จักกับผู้กระทำผิดแต่อย่างใด และด้วยเหตุที่การฟ้องคดีแพ่ง ต้องสามารถระบุว่าจะฟ้องผู้ใดเป็นจำเลย ซึ่งในความเป็นจริงการซื้อขายออนไลน์ในโลกยุคดิจิทัลโดยส่วนใหญ่ผู้ซื้อไม่ทราบว่าผู้ขายเป็นใคร การจะฟ้องเรียกร้องความเป็นธรรมจากการดำเนินคดีแพ่งในส่วนนี้จึงไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ ซึ่งในทางปฏิบัติจะมีคดีประเภทนี้อยู่ไม่น้อย
ดังนั้น จึงเกิดคำถามตามมาว่า กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับช่องโหว่ดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง เพราะจากข้อมูลที่ปรากฏดูเหมือนว่าการจัดการปัญหาในเรื่องนี้จะมุ่งเน้นไปที่การดำเนินการในทางอาญา โดยเฉพาะในต่างประเทศทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ก็ใช้การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในการรับมือกับปัญหาเรื่องนี้ แต่ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่า การดำเนินการในส่วนของคดีแพ่งที่จะทำได้ สามารถดำเนินการใดเพื่อให้ผู้ที่กระทำผิดในลักษณะนี้ซึ่งนับวันจะทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ควรอยู่ในเงื้อมมือที่ศาลแพ่งจะนำคนเหล่านี้มารับผิดในทางแพ่งได้ด้วย ดังนั้น บุคคลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ส่วนสำคัญในกระบวนการยุติธรรมของบ้านเราคงต้องร่วมกันหาทางออกให้กับเรื่องนี้กันต่อไป
เด็กติดเกาะในแดนไกล
เขียนโดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์