"...จากเหตุผลดังกล่าวห้าประการ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ทั้งผลประโยชน์ด้านบวกที่ต้องการ (เช่น ประโยชน์ทางการแพทย์ ทางเศรษฐกิจ และความนิยมทางการเมือง) และผลกระทบด้านลบที่จะตามมา (เช่น การเสพติดและผลกระทบต่อเยาวชน ครอบครัวและสังคม) ตลอดจนต้องมองในมิติของการควบคุมในทางปฏิบัติด้วย (เช่น จะควบคุมการใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้อย่างไร) จึงควรชะลอการกำหนดว่าจะตัดคำว่ากัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ก่อน โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ฝ่ายการแพทย์และจิตแพทย์ ฝ่ายครอบครัวของเด็กและเยาวชน ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายศาสนา ฝ่ายตำรวจและกระบวนการยุติธรรมต่างๆ และอื่นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจนโยบายซึ่งจะชี้อนาคตระยะยาวของประเทศไทย ไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้ต้องเร่งรัดกระบวนการตัดสินใจนี้..."
แม้กัญชาสามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และการวิจัยได้ แต่กัญชายังเป็นยาเสพติด
ประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา นิยามคำว่า “ยาเสพติดให้โทษ” ให้มีความหมายว่า “สารเคมี พีช หรือวัตถุชนิดใดๆซึ่งเมื่อเสพแล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเป็นลำดับ มีอาการถอนยาเมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง” ซึ่งกัญชาเป็นพืชที่ก่อผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะดังกล่าวข้างต้นชัดเจน โดยก่อให้เกิดการเจ็บป่วยทางจิตใจในกลุ่มผู้ใช้กัญชาทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกและสมาคมจิตแพทย์อเมริกาได้กำหนดให้มีโรคทางจิตเวชและการเสพติดที่เรียกว่า “กลุ่มความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชา (cannabis related disorders)” ครอบคลุมตั้งแต่การเมากัญชา ไปจนถึง การเกิดอาการวิกลจริตจากการใช้กัญชา การใช้กัญชาเกินขนาด และ การเสพติดกัญชา อีกทั้งองค์การสหประชาชาติได้กำหนดข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศต่างๆทั่วโลกเกี่ยวกับยาเสพติด ที่มีชื่อว่า Single Convention on Narcotic Drugs เพื่อควบคุมปัญหายาเสพติดระดับโลก ข้อตกลงนี้กำหนดให้กัญชาเป็นหนึ่งในยาเสพติดที่ต้องถูกควบคุมทั่วโลก และ ประเทศไทยได้ลงนามร่วมในข้อตกลงนี้ด้วยแล้ว กัญชาในประเทศไทยจึงยังเป็นยาเสพติดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ต่อมามีการค้นพบว่าสารบางชนิดในกัญชามีประโยชน์ในทางการแพทย์ ถ้าใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น สารที่เราคุ้นเคย คือ CBD เป็นต้น จึงได้รับการปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ให้ประเทศไทยสามารถใช้กัญชาเพื่อการรักษาและการวิจัยได้ แม้กัญชาจะยังเป็นยาเสพติดก็ตาม ต่อมามีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งหมดให้เป็นกฎหมายฉบับเดียว โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ในประมวลกฎหมายยาเสพติดนี้กำหนดประเภทยาเสพติดเป็นหมวดใหญ่ๆไว้ห้าประเภท และมีการยกตัวอย่างชื่อยาเสพติดบางชนิดในยาเสพติดประเภทต่างๆไว้ในตัวประมวลกฎหมายยาเสพติด (ทั้งนี้ไม่สามารถระบุชื่อยาเสพติดทุกประเภทได้ทั้งหมด เพราะมีจำนวนมาก) และกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ปปส.) ประกาศกำหนดรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทต่างๆต่อไป
การตัด “กัญชา” ออกจาก “รายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5” เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
ขณะนี้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกำลังจะประชุมเพื่อกำหนดรายชื่อยาเสพติดประเภท 5 โดยการตัด “กัญชา” ออกจาก “รายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5” จะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลห้าประการ ดังนี้
หนึ่ง การอ้างเหตุผลว่า ไม่มีคำว่ากัญชาในประมวลกฎหมายยาเสพติด กัญชาจึงไม่ใช่ยาเสพติด แล้วจะให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดตัดชื่อกัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษเป็นการตรรกะที่ไม่ถูกต้อง การที่ตัวประมวลกฎหมายยาเสพติดระบุตัวอย่างสารเสพติดในประเภทนั้นๆได้เพียงบางชนิดเพราะจำนวนสารเสพติดมีมากมาย เช่น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 มีถึง 75 ชนิด แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดได้ระบุเพียง เฮโรอิน เพียงตัวอย่างเดียวในตัวกฎหมาย หากใช้ตรรกะเดียวกันว่า “ถ้าไม่ได้ระบุคำว่ากัญชาในประมวลกฎหมายยาเสพติด แสดงว่ากัญชาไม่เป็นยาเสพติด” จะหมายถึงว่าขณะนี้ “ยาบ้า”(methamphetamine) หรือ เฟนทานิล (fentanyl) ซึ่งไม่ได้ระบุในประมวลกฎหมายยาเสพติดเช่นกัน ก็ไม่ใช่ยาเสพติดในประเทศไทยแล้วกระนั้นหรือ
สอง กัญชายังเป็นยาเสพติดและเป็นประตูสู่การเสพติดอื่นที่ร้ายแรงกว่า กัญชาก่อให้เกิดการเสพติดและการเจ็บป่วยจากการเสพติดที่ชัดเจน แม้จะมีสารบางส่วนของกัญชาที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ การสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ โดยยังกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด เป็นทางออกสายกลางที่ดีที่สุดในระหว่างสองทางเลือกสุดโต่ง คือ การกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดโดยไม่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เลย หรือ การกำหนดให้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดเลย
สาม กระทรวงสาธารณสุขต้องการกำหนดให้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด หรือ ช่อดอกกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แต่กำหนดให้สารสกัดกัญชาเท่านั้นที่เป็นยาเสพติด โดยยกเว้นสารสกัดกัญชาที่มี THC น้อยกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักเท่านั้นที่ไม่เป็นยาเสพติด เป็นตรรกะที่ผิดและการควบคุมกระทำได้ยากในทางปฏิบัติ เช่น หากเยาวชนนำช่อดอกซึ่งระบุว่าไม่ใช่ยาเสพติดไปสูบจะถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่เพราะช่อดอกกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด หากกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้สารสกัดกัญชาที่มี THC น้อยกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักไม่เป็นยาเสพติด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้นั้น ยังคงสามารกำหนดให้กัญชาเป็นสารเสพติดได้ แต่ยกเว้นสารสกัดกัญชาที่มี THC น้อยกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักไม่เป็นยาเสพติดได้ ทำเพียงแค่นี้ประชาชนก็จะเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้มากแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องปลดกัญชาออกจากการเป็นสารเสพติด
สี่ การกำหนดให้สารสกัดกัญชาที่มี THC มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักเป็นยาเสพติด จะมีความยากมากในทางปฏิบัติที่จะควบคุมเพราะเป็นการยากที่จะตรวจสอบว่ายาหรืออาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มีอยู่ในท้องตลาดหรือตามบ้านจะมีระดับ THC ไม่เกินปริมาณดังกล่าว หากเยาวชนนำช่อดอกไปต้มดื่มใครจะทราบว่ามีปริมาณ THC เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักหรือไม่ หากร้านอาหารผสมช่อดอกในอาหารให้รับประทานใครจะไปตามตรวจสอบอาหารทุกจานว่ามีปริมาณ เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักหรือไม่
ห้า กัญชาก่อให้เกิดผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเยาวชน และก่อให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมวงกว้าง ดังที่เห็นเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น “หลอน!! ลูกพี้กัญชาจนผวาเกรงคนมาฆ่า แทงพ่อแม่เจ็บ” “สลด!พ่อบังคับลูกวัย 13 ให้คนข่มขืนแลกกัญชา” “พ่อทาสกัญชา ประสาทหลอน ฆ่าลูกในไส้ 1 ขวบ” เป็นต้น หากในอนาคตประชาชนและเด็กและเยาวชนเสพใช้กัญชาโดยเข้าใจว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด สังคมไทยจะหายนะขนาดไหน
ทางออกสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน
จากเหตุผลดังกล่าวห้าประการ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ทั้งผลประโยชน์ด้านบวกที่ต้องการ (เช่น ประโยชน์ทางการแพทย์ ทางเศรษฐกิจ และความนิยมทางการเมือง) และผลกระทบด้านลบที่จะตามมา (เช่น การเสพติดและผลกระทบต่อเยาวชน ครอบครัวและสังคม) ตลอดจนต้องมองในมิติของการควบคุมในทางปฏิบัติด้วย (เช่น จะควบคุมการใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้อย่างไร) จึงควรชะลอการกำหนดว่าจะตัดคำว่ากัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ก่อน โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ฝ่ายการแพทย์และจิตแพทย์ ฝ่ายครอบครัวของเด็กและเยาวชน ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายศาสนา ฝ่ายตำรวจและกระบวนการยุติธรรมต่างๆ และอื่นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจนโยบายซึ่งจะชี้อนาคตระยะยาวของประเทศไทย ไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้ต้องเร่งรัดกระบวนการตัดสินใจนี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.hfocus.org