โดยร่างกฎหมายที่เสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอทางกฎหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้เกิดการใช้กฎหมายบริหารโทษหลังคำพิพากษาอย่างมีความรัดกุม โปร่งใส ถูกต้อง ไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ดุลยพินิจและอำนาจโดยมิชอบต่อไป อีกทั้งเป็นการสร้างระยะปลอดภัยให้สังคมและเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้ตระหนักถึงการกระทำผิดของตน โดยเฉพาะความผิดอาญาร้ายแรงบางฐานซึ่งก่อความเดือดร้อนแก่สังคมอย่างรุนแรง มิให้เกิดความประมาทหรือชะล่าใจว่า จะได้ประโยชน์จากหลักเกณฑ์ในการขอพระราชทานอภัยโทษเกินความเหมาะสม
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เขียนจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 2 ถึงนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง หลังจากครบกำหนด 30 วันที่มีคำสี่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
เนื่องด้วยครบกำหนด 30 วัน ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 337/2564 ลงวันที่ 16 ธ.ค.2564 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ ที่มี นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุดและประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมเป็นประธาน ให้มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ความเป็นมาและการดำเนินการเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว
จากการที่ตนและภาคประชาชนที่รักความเป็นธรรมในสังคมเห็นว่า การลดโทษบางกรณี เช่นการลดโทษมากสุดถึง 42 ปีให้กับนักโทษเด็ดขาดคดีทุจริตจำนำข้าวอย่างต่อเนื่องรวม 4 ครั้งในระยะเวลาเพียง 1 ปี 3 เดือนเศษ ทั้งที่ศาลฎีกาตัดสินจำคุกสูงสุดถึง 48 ปี นั้นเป็นการกระทำที่อาจมิชอบ เพราะคดีดังกล่าวเป็นคดีอาญาทุจริตร้ายแรง มีผลเสียหายต่อประเทศชาติมากถึงเกือบ 6 แสนล้านบาท
การใช้กฎหมายกฎกระทรวงและระเบียบที่ใช้ดุลยพินิจที่อาจเชื่อว่า นำบุคคลเฉพาะบางกลุ่มเข้าเกณฑ์ขอพระราชทานอภัยโทษนั้น เป็นการอ้างเพื่อเอื้อประโยชน์ หรือการใช้อำนาจฝ่ายบริหารพิจารณาบริหารโทษที่น่าจะไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่เกิดความเป็นธรรม และอาจก้าวล่วงเป็นอำนาจเหนือคำพิพากษาศาลยุติธรรม
รวมถึงอาจถือว่าเป็นการกระทำมิบังควรในการอาศัยเหตุการณ์ เพราะในการออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษที่มีความมุ่งประสงค์ต้องการให้บังเกิดผลประโยชน์ต่อผู้ต้องโทษและสังคมโดยรวม ตามความในเหตุผลและหลักการในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีลงนามนั้น
บัดนี้ครบระยะเวลา 30 วัน ตามที่มีคำสั่งให้ประธานและคณะกรรมการทั้ง 8 ท่าน มีหน้าที่รายงานผลการตรวจสอบพร้อมข้อเสนอแนะหรือแนวทางแก้ปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน
ตนและภาคประชาชนที่รักความเป็นธรรมยังจะเฝ้าติดตามรอคอยฟังรายงานดังกล่าวที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะ ที่เป็นไปตามข้อเสนอแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ว่ามีผลประการใดตามที่เคยกราบเรียนไปแล้วอย่างไร แต่ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่า คณะกรรมการและนายกรัฐมนตรีจะได้ข้อสรุปพร้อมสั่งการให้แก้ไขให้เกิดความถูกต้องโปร่งใส รัดกุม รอบคอบ เกิดความเป็นธรรมและเป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยไม่ปล่อยผ่านความผิดพลาดดังกล่าวให้เป็นแบบเลยตามเลย เพราะจะเกิดความเสื่อมศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดินและกระบวนการบริหารโทษหลังคำพิพากษาตามมามากกว่า
ดังนั้นเพื่อให้นายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขปัญหาระยะกลางตามที่เคยไปพร้อมกันด้วย
จึงได้ขอเสนอร่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต่อสาธารณะมาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 133 ที่กำหนดให้ ผู้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ 1.คณะรัฐมนตรี 2.ส.ส.รวมกันไม่น้อยกว่า 20 คน และ 3.ประชาชน 10,000 คน เข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย ตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ เพื่อให้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาตามบันทึกหลักการและเหตุผลที่แนบมาดังนี้
- ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... จำนวน 8 มาตรา
- ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.... จำนวน 3 มาตรา
โดยร่างกฎหมายที่เสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอทางกฎหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้เกิดการใช้กฎหมายบริหารโทษหลังคำพิพากษาอย่างมีความรัดกุม โปร่งใส ถูกต้อง ไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ดุลยพินิจและอำนาจโดยมิชอบต่อไป
อีกทั้งเป็นการสร้างระยะปลอดภัยให้สังคมและเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้ตระหนักถึงการกระทำผิดของตน โดยเฉพาะความผิดอาญาร้ายแรงบางฐานซึ่งก่อความเดือดร้อนแก่สังคมอย่างรุนแรง มิให้เกิดความประมาทหรือชะล่าใจว่า จะได้ประโยชน์จากหลักเกณฑ์ในการขอพระราชอภัยโทษเกินความเหมาะสม
หมายเหตุ ไม่สงวนสิทธิใดๆ ในร่างกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ หาก ครม. , ส.ส. , ประชาชน จะนำไปพิจารณาเสนอร่างเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรหรือจะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไปก็สามารถทำได้ และหากเห็นร่างนี้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจะอ้างอิงความเป็นมาและที่มาด้วย จักเป็นกำลังใจยิ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.บแก้ไขพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.... จำนวน 3 มาตรา เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในวรรคสามและวรรคสี่ ของ มาตรา 261 ทวิ แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2517 เพื่อกำหนดให้การขอพระราชทานอภัยโทษ คดีความผิดอุกฉกรรจ์หรีอคดีทุจริตที่มีลักษณะร้ายแรง ผู้ต้องคำพิพากษาต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปีหรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามกำหนดโทษ แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า และให้มีการกำหนดลักษณะความผิดอุกฉกรรจ์หรือคดีทุจริตที่มีลักษณะร้ายแรงให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ และให้มีการทบทวนพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวทุก 5 ปี
ส่วน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... จำนวน 8 มาตรา เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาหน้าที่ของคณะกรรมการราชทัณฑ์ โดยเฉพาะในส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คนที่ให้เลือกจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้เสนอ
ทั้งนี้ยังกำหนดให้เพิ่มเติมวรรคสามของมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ที่ระบุว่า “นักโทษเด็ดขาดในคดีความผิดอุกฉกรรจ์หรือคดีทุจริตที่มีลักษณะร้ายแรงตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา จะได้รับประโยชน์ ต่อเมื่อได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปีหรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้น แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า