"...โม บราวน์ (Moe Brown) นักบำบัดจิตวิทยาชาวสหรัฐฯ จึงได้กล่าวว่า “ความไม่แน่นอนได้รับการตีความหมายว่า เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เป็นที่มาของความกลัวและความวิตกกังวล แต่หากเราสามารถเปลี่ยนมุมมองว่า ความไม่แน่นอนทำให้เราเกิดความตระหนักและทำวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการใช้ความไม่แน่นอนนั้นเป็นพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ดีขึ้น รวมทั้ง ใช้ให้เกิดเป็นปัญญาเติมเต็มความสุขให้กับชีวิต” หากเราสามารถที่จะแก้ไขความวิตกกังวลที่เกินพอดี เราจะใช้ชีวิตอยู่กับเจ้าอสรพิษโควิด-19 ได้ ผมขอเป็นกำลังใจให้กับพวกเราทุกคน และหวังว่าจะดำเนินชีวิตได้อย่างรู้เท่าทันรับกับปีเสือที่ยอมถอดเขี้ยวเล็บแล้ว..."
ผู้คนคาดว่าปีเสือ 2565 คงจะดุสมชื่อ เพราะเพียงช่วง 3 วันแรก แต่ละคนใจระทึกเฝ้าลุ้นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่าจะสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน และคำพูดฮิตที่ใช้ปลอบใจกันก็คือ “เราต้องอยู่กับเจ้าวายร้ายตัวนี้ให้ได้” แม้ในใจลึก ๆ ทุกคนจะมีความวิตกกังวลอยู่โดยธรรมชาติ
ความวิตกของมนุษย์มีสารพัด ทั้งเรื่องการครองชีพ เรื่องสุขภาพ เรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน เรื่องปัญหาสัตว์เลี้ยง และอาจจะมีเรื่องเลยเถิดที่จินตนาการไปเอง เช่น กลัวว่าไฝที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดตรงต้นแขนอาจจะเป็นเนื้อร้าย กลัวลูกจะถูกลักพาตัวระหว่างเดินทางไปเรียนหนังสือ กลัวขโมยจะเข้าบ้านเพราะลืมล็อคประตู กลัวผู้ก่อการร้ายจะบุกโจมตีสนามฟุตบอล และยังมีเรื่องที่กลัวอีกร้อยแปด
มีเรื่องเล่าถึงความกังวลของลูกพี่ลูกน้อง มนุษย์ยุคหินสองคนที่อาศัยอยู่ในถ้ำเดียวกัน คนแรกวิตกไปทุกเรื่อง เช่น วิตกว่ากองไฟที่ก่อไว้จะลุกลามเข้าไปในถ้ำ ลูกชายที่ไปล่าสัตว์จะกลับมาปลอดภัยหรือเปล่า เสือที่เดินป้วนเปี้ยนอยู่จะเข้ามาในถ้ำไหม กลัวแม้กระทั่งว่า เห็ดที่เก็บมาแถวใกล้ ๆ ถ้ำจะเป็นเห็ดมีพิษหรือเปล่า ขณะที่อีกคนกลับคิดตรงกันข้ามคือคิดว่ากองไฟคงจะดับมอดไปเอง ลูกชายที่ออกไปล่าสัตว์คงกลับมาอย่างปลอดภัยเหมือนทุก ๆ วัน เจ้าเสือตัวร้ายไม่เข้ามาในถ้ำแน่ ๆ เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์อย่างนี้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนเห็ดที่กินอยู่ทุกวันไม่เห็นจะมีพิษเลย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความวิตกกังวลของคนแรกจะดูเพ้อเจ้อ และทัศนะของคนหลังจะมีเหตุมีผลมากกว่า แต่ปรากฏว่า ด้วยสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของมนุษย์ ผู้คนส่วนใหญ่คล้อยตามความคิดของคนแรก[1]
แดน กรูเป้ (Dan Grupe) นักจิตวิทยาของ Center for Healthy Minds มหาวิทยาลัยวิสคอนซินแมดิสัน สหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ว่า “สมองของคนเราพยายามใช้ประสบการณ์จากอดีตมาจัดระเบียบความคิดเพื่อคาดการณ์อนาคต” อย่างไรก็ดี โลกใบนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ความไม่แน่นอนทำให้สมองต้องใช้พลังงานมากเป็นพิเศษเพื่อทำความเข้าใจกับการคาดการณ์อนาคต และส่วนใหญ่มนุษย์มีแนวโน้มคาดการณ์ในทาง ด้านลบมากกว่าด้านบวก ทำให้เพิ่มระดับความเครียดขึ้น เกิดความรู้สึกไม่สบาย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ กลายเป็นความกังวล[2] บางคนถึงกับเป็นโรค “ความวิตกกังวลผิดปกติ” หรือ Generalized Anxiety Disorder (GAD) ซึ่งในสหรัฐฯ มีจำนวนประชากรที่เป็นโรคนี้สูงกว่า 10 ล้านคน[3]
อันที่จริง ความวิตกกังวลเป็นเรื่องดี เพราะทำให้เราได้ตระหนักว่า ความไม่แน่นอนเป็นสัจธรรมที่หลีกไม่พ้น อย่างไรก็ตาม เราต้องรู้จักแยกแยะให้ได้ว่า อะไรคือปัญหาที่แท้จริง อะไรคือปัญหาที่เกิดจากการมโน เช่น สถานการณ์โควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 2 ปี เตือนเราว่า ทุกอย่างในโลกใบนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเราคิดแต่เพียงว่า สามารถจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการล้างมือ การใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างในสังคม ก็คงจะเพียงพอแล้ว แต่ถ้าเราเกิดมโนว่าสถานการณ์จะต้องเลวร้ายจนถึงขั้นล้างโลกมันก็จะทำให้เราเกิดภาวะเจ็บปวดทางจิตใจอย่างรุนแรง ในขณะที่ วิธีการคลายความวิตกกังวลด้วยการเบี่ยงเบนความกลัวของตัวเอง เช่น การไปทำงานอดิเรก ดูหนัง ฟังเพลง ไปงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือหลีกเลี่ยงการดูข่าวใน LINE นั้น เป็นเพียงการประวิงเวลาหรือยารักษาชั่วครั้งชั่วคราว เพราะในที่สุดความวิตกกังวลก็ยังอยู่ในความคิดของพวกเราอยู่ดี
โม บราวน์ (Moe Brown) นักบำบัดจิตวิทยาชาวสหรัฐฯ จึงได้กล่าวว่า “ความไม่แน่นอนได้รับการตีความหมายว่า เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เป็นที่มาของความกลัวและความวิตกกังวล แต่หากเราสามารถเปลี่ยนมุมมองว่า ความไม่แน่นอนทำให้เราเกิดความตระหนักและทำวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการใช้ความไม่แน่นอนนั้นเป็นพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ดีขึ้น รวมทั้ง ใช้ให้เกิดเป็นปัญญาเติมเต็มความสุขให้กับชีวิต”[2] หากเราสามารถที่จะแก้ไขความวิตกกังวลที่เกินพอดี เราจะใช้ชีวิตอยู่กับเจ้าอสรพิษโควิด-19 ได้ ผมขอเป็นกำลังใจให้กับพวกเราทุกคน และหวังว่าจะดำเนินชีวิตได้อย่างรู้เท่าทันรับกับปีเสือที่ยอมถอดเขี้ยวเล็บแล้ว
แหล่งที่มา:
[1] Psychology Today. 2022. Why People Worry All the Time (A Tale of Bernie and Charlie). [online] Available at: <https://www.psychologytoday.com/us/blog/fighting-fear/201206/why-people-worry-all-the-time-tale-bernie-and-charlie> [Accessed 2 January 2022].
[2] Discover Magazine. 2022. Uncertainty is Uncomfortable. Here's How We Can Learn to Live With It. [online] Available at: <https://www.discovermagazine.com/mind/uncertainty-is-uncomfortable-heres-how-we-can-learn-to-live-with-it> [Accessed 2 January 2022].
[3] Adaa.org. 2022. Generalized Anxiety Disorder (GAD) | Anxiety and Depression Association of America, ADAA. [online] Available at: <https://adaa.org/understanding-anxiety/generalized-anxiety-disorder-gad> [Accessed 2 January 2022].