“…ถ้าเกิดระบบปฐมภูมิ ที่ดูแลเราและมีข้อมูลสุขภาพของบุคคลแต่ละกลุ่ม โดยอาศัยหลักการของ 3 หมอ ที่จะต้องมีข้อมูล มีประวัติ มี Personal Record และอาศัย Digital Health เข้ามาช่วย เพื่อให้คนไทยเข้าถึงระบบบริการทางสุขภาพได้ดีขึ้นและลดภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงการมี Big Data ในการบริหารจัดการข้อมูลของประเทศในภาพรวมด้วย นี่จะเป็นทิศทางในการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เพื่อผู้สูงอายุไทย…”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จัดงานสัมมนาออนไลน์ของโครงการ LTC FORUM 2021 ภายใต้หัวข้อ ‘3 หมอ ดูแลใส่ใจ ผู้สูงวัยแข็งแรง’ ตอนนโยบาย ทิศทาง ผู้สูงอายุของไทย ร่วมกับสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) , สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ (สสป.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ทุกมิติ ผลักดันสังคมสูงวัยของไทยไปสู่สังคมไร้คนติดบ้านติดเตียง
โดย นายธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงทิศทางของสังคมสูงวัยภายในประเทศไทยว่า ในปัจจุบันเรามีจำนวนผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และในปีนี้เราได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) แล้ว คาดว่าในปี 2575 จะมีอัตราส่วนของผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอีกเป็น 28% จากจำนวนประชากรทั้งหมด และในปี 2579 อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 80 ปี ผู้สูงอายุในช่วงเวลาดังกล่าว 79.5% จะดูแลตัวเองได้ดี 19% พึ่งพาตนเองได้บางส่วน และ 1.5% ต้องพึ่งพาผู้อื่นทั้งหมด
ดังนั้นการดูแลผู้สูงวัยให้แข็งแรงและสามารถดูแลตัวเองได้ กระทรวงสาธารณสุขได้มุ่งเน้นนโยบายบูรณาการระบบสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 1.มีการดูแลแบบไร้รอยต่อ โดยใช้เครื่องมือคัดกรองสุขภาพพื้นฐาน 9 เมนู นำร่องใน 7 จังหวัด และจะขยายผลออกไปจังหวัดใกล้เคียง 2.ให้คนไทยมี ‘3 หมอ’ คือ มีแพทย์คนที่ 1 เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักบริบาล หรือครอบครัว แพทย์คนที่ 2 เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และแพทย์คนที่ 3 คือ คลินิกผู้สูงอายุ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตั้งเป้าดูแล 30 ล้านครอบครัว ดำเนินการแล้ว 26 ล้านครอบครัว
3. มีหน่วยงานวิชาการสาธารณสุขมูลฐานของแต่ละภาค เพื่อพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพ ตั้งเป้า 5 ภูมิภาค และ 4.มีการใช้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2563 กำหนดให้สถานดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง มีมาตรฐานกิจการด้านสถานที่ ด้านผู้ดูแล และด้านผู้ดำเนินการ ที่สำคัญมีการกำหนดหลักสูตรผู้ดำเนินการและผู้ดูแลผู้สูงอายุด้วย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับบริการจากผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ
‘เปลี่ยนภาระเป็นพลัง’ นโยบายเพื่อผู้สูงอายุไทยที่สอดรับ WHO
ด้าน นายประเสริฐ อัสสันตชัย นายกสมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย กล่าวอีกว่า จากในปี 2558 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 10-30% คล้ายกับสหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบยุโรป แต่อีกกว่า 30-40 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด ในกลุ่มจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป และหากเทียบกับอาเซียน ไทยจะติดอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ แต่เมื่อเทียบแล้วประชากรเรามีมากกว่าสิงคโปร์ ถึงแม้สิงคโปร์จะมีอัตราสูงที่สุด
ประเทศไทยเราตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ เราจึงพยายามออกนโยบายเพื่อผู้สูงอายุให้สอดรับกับองค์การอนามัยโลก (WHO) มาโดยตลอด ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เริ่มแนวคิดพัฒนาผู้สูงอายุ ภายใต้หลักการใหญ่ๆ ที่ว่า “เปลี่ยนภาระให้กลายเป็นพลัง ผลักดันให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้” มาตั้งแต่ปี 2545 แล้ว จนถึงปัจจุบันก็ยังมุ่งมั่นพัฒนาผู้สูงอายุให้มีสุขภาพแข็งแรง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ล่าสุดได้ออก 4 แนวคิดภายใต้คอนเซปต์ ‘healthy ageing’ เริ่มปี 2563-2573 ดังนี้
-
ปรับระบบสุขภาพให้สามารถบริการผู้สูงอายุอย่างครบวงจร เพราะบางคนอาจมี 5 โรค จะสามารถได้รับการดูแลได้ภายในที่เดียว ไม่จำเป็นต้องไปหาแพทย์เฉพาะทางถึง 5 คน รวมถึงการปรับ ‘3 หมอ’ ให้เป็น one stop service ด้วย โดยอาจเปิดคลินิกเล็กๆ ได้ ในบริเวณโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อตรวจคัดกรองสุขภาพของผู้สูงอายุทุกปีว่ามีสุขภาพเป็นอย่างไร มีอาการป่วยของโรคใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่
-
มีระบบการดูแลระยะยาว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีระบบประกันสุขภาพระยะยาว ตนเองจึงเห็นว่าควรมีเก็บไว้ตั้งแต่ตอนนี้ โดยอาจเริ่มจากการเก็บเงินสะสม เช่น มีเงินเดือน 15,000 อาจจะเก็บคนละ 50 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นที่การันตรีได้ว่าหากสมองเสื่อมแล้ว เราจะไม่ต้องไปนอนข้างถนน
-
สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุ คือ การปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องมีสภาพที่ดีเสมอไป
-
มีระบบติดตามความเข้าใจหรืองานวิจัยพฤติกรรมต่าง ๆ
ทั้งหมดนี้ ประเทศไทยก็ได้นำเอาหลักการขององค์การอนามัยโลกไปออกนโยบายแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับปัจจุบันด้วย เพื่อพัฒนาผู้สูงอายุอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
‘3 หมอ’ตัวช่วยหลักปฏิรูปการดูแลผู้สูงอายุไทย
นายโสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า ปัญหาที่สำคัญของสาธารณสุขประเทศไทย มีประเด็นที่ต้องปฏิรูปด้านสาธารณสุข 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องโรคติดต่อ (EID) 2.เรื่องผู้สูงอายุ และ 3.เรื่องโรคไม่ติดต่อร้ายแรง (NCD) ในการขับเคลื่อนเรื่องผู้สูงอายุนั้น มีแผน คือ มีระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุด้านการบริบาล ซึ่งเดิมประเทศไทยเราทำจุดนี้เริ่มแรก เช่น การวางแผนดูแลผู้สูงอายุติดเตียง มีการรักษาพยาบาลที่บ้านหรือชุมชน ที่มีการใช้ระบบหมอครอบครัว และ Digital Health เข้ามาช่วยในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และมีการดูแลสุขภาพตนเองในระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้
โดยแผนดังกล่าวอาจเริ่มต้นจาก ‘3 หมอ’ ที่ช่วยตรวจคัดกรองสุขภาพของผู้สูงอายุ หลังจากนั้นได้ข้อมูลของผู้สูงอายุแล้ว ก็จะมีการจัดเก็บ (Personal Record) ส่งต่อข้อมูลเพื่อประเมินสุขภาพจะนำไปสู่การให้ข้อมูลความรู้และวางแผนดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในระยะยาว พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่มุ่งเน้นการรักษาตัวที่บ้าน หลีกเลี่ยงการพึ่งพาบ้านพักคนชราให้น้อยที่สุด เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ดูแลผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราจำนวนมากเองก็ส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่า เริ่มดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ดังกล่าวไม่ไหวแล้ว ที่สำคัญยังช่วยลดภาระงบประมาณของประเทศด้วย
ส่วนการดูแลผู้สูงอายุอาจมีการใช้ Digital Health เช่น เทเลเมดิซีน หรือมีการติดตั้งเซนเซอร์ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีขึ้นมาด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไทยยังขาด คือ การมีระบบกลไกการเงินการคลังที่ยั่งยืน ซึ่งในประเทศอื่นๆ เริ่มมีกันแล้ว รวมถึงยังระบบพัฒนาสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ตรงนี้อาจจะต้องให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยเพิ่มเติม
“สรุปได้ว่าถ้าเกิดระบบปฐมภูมิ ที่ดูแลเราและมีข้อมูลสุขภาพของบุคคลแต่ละกลุ่ม โดยอาศัยหลักการของ 3 หมอ ที่จะต้องมีข้อมูล มีประวัติ มี Personal Record และอาศัย Digital Health เข้ามาช่วย เพื่อให้คนไทยเข้าถึงระบบบริการทางสุขภาพได้ดีขึ้นและลดภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงการมี Big Data ในการบริหารจัดการข้อมูลของประเทศในภาพรวมด้วย นี่จะเป็นทิศทางในการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เพื่อผู้สูงอายุไทย” นพ.โสภณ กล่าว