“...การใช้จ่ายเงินงบประมาณในการแก้ไขปัญหาโควิดที่ผ่านมา สตง. รับบทบาททำหน้าที่คอยให้คำปรึกษาเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานราชการหลายแห่ง หน่วยงานไหนมีปัญหาเราพร้อมให้คำแนะนำต่างๆ แต่วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะกลับไปตรวจสอบข้อมูลการใช้จ่ายเงินในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวอิศรา ถึงแผนการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะเริ่มต้นเป็นทางการตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นไป
***************************************
สำนักข่าวอิศรา : ปี 2565 สตง.มีแผนงานหลักในการตรวจสอบเรื่องใดบ้าง?
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : ในปี 2565 นี้ สตง.มีแผนงานหลักที่จะเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด -19 ในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งหน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่นด้วย ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่มอบหมายให้ สตง. ว่าควรที่จะย้อนกลับไปดูการใช้จ่ายเงินงบประมาณในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากที่มีการผ่อนปรณกฎระเบียบการใช้จ่ายเงินงบประมาณต่างๆ ในช่วงแรกที่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงที่ผ่านมา ณ วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง การใช้จ่ายเงินเป็นอย่างไร มีอะไรที่ส่อว่าจะมีปัญหาความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นหรือไม่
“การใช้จ่ายเงินงบประมาณในการแก้ไขปัญหาโควิดที่ผ่านมา สตง. รับบทบาททำหน้าที่คอยให้คำปรึกษาเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานราชการหลายแห่ง หน่วยงานไหนมีปัญหาเราพร้อมให้คำแนะนำต่างๆ แต่วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะกลับไปตรวจสอบข้อมูลการใช้จ่ายเงินในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง”
"การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐ เป็นหน้าที่โดยตรงของ สตง. เราเข้าใจดีว่าในช่วงที่เกิดปัญหาโควิดใหม่ๆ ต้องมีการเร่งรีบใช้จ่ายเงิน ซึ่งกรมบัญชีกลางก็ได้มีการผ่อนปรนระเบียบจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ แต่ตอนนี้ก็มีคำถามว่า ที่ผ่อนปรณไป ผ่อนคลายเรื่องระเบียบต่างๆ มามันเป็นอย่างไร"
@ ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
สำนักข่าวอิศรา : สถานการณ์เร่งด่วนก็จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีเร่งด่วนในการทำงาน?
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "ในมุมของผม ถามว่ามันดีหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการตั้งคำถามมาที่สตง. ว่ามันดีหรือเปล่า ถ้าดีแล้วจำเป็นต้องทำให้มันมีขั้นตอนอะไรมาก ๆ เหมือนเมื่อก่อนหรือไม่ ก็ทำอย่างนี้แหละมันรวดเร็วดี งานมันเร็วดี แต่ถ้าสถานการณ์ปกติไม่มีเหตุการณ์อะไรอย่างนี้ การทำแบบนี้มันจะมีการหาช่องทางที่จะทุจริตอะไรหรือเปล่า
"เพราะตอนนี้ทุกคนอาจจะไม่ได้มุ่งเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ หรืออะไร ห่วงว่าจะช่วยประชาชนได้ยังไงก่อน ก็ทำไปโดยสุจริต ทำไปโดยไม่ได้คิดอะไรกันมาก แต่พอถึงสถานการณ์ปัจจุบันแล้วมันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า"
สำนักข่าวอิศรา : สตง.เห็นด้วยหรือไม่กับการผ่อนปรณระเบียบเรื่องการใช้จ่ายเงินอะไรต่าง ๆ
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "ในการดำเนินการที่ทำได้เร็วขึ้น มีการเชิญเอกชน 3 รายมาคุยกันแล้วก็ทำได้เลย หรือการก่อสร้าง ใช้ SME มาช่วย มันก็ทำได้เลย มันเร็วขึ้น แต่อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องดูเหมือนกันว่าในกระบวนการที่มีการผ่อนคลายและมันทำได้ดีแล้วก็มีการควบคุม ถ้าเป็นอย่างนี้กรมบัญชีกลางก็อาจมีการผ่อนคลายบางเรื่องไป อย่างนี้ก็จะทำให้การใช้จ่ายเงินมันดีขึ้น เงินลงไปในระบบเร็วขึ้น ทำเร็วขึ้น"
"แต่ก็ยังไม่ได้คอนเฟิร์มว่าอันนี่มันดีกว่าการทำตามระบบระเบียบปกติที่ครบถ้วนจริง ๆ หรือไม่"
"ในข้อเท็จจริง อาจจะต้องรอดูผลการเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในช่วงที่ผ่านมา ที่ สตง. จะเริ่มดำเนินการอย่างเต็มที่ในปี 2565 ว่าผลลัพธ์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ซึ่งในข้อเท็จจริงต้องยอมรับกันว่า ในช่วงแรกที่เกิดปัญหาโควิด ก็มีข่าวเรื่องการใช้จ่ายเงินของ อปท.ที่ไม่ถูกต้องหลายแห่ง เช่น ลำพูนที่มีการจัดซื้อสินค้าราคาแพง บางที่ก็มีการติดนามบัตรเอาชื่อไปติดเอาของไปแจก แต่ตอนนี้ปัญหามันก็ลดลงไปเยอะ เพราะในช่วงนั้นสังคมช่วยกันประณามมาก คนในสังคมกำลังเดือนร้อน ทำไมคุณมาทำอะไรแบบนี้" ซึ่งตอนนั้นมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเยอะมาก สตง.เราก็ไปตรวจตั้งแต่ช่วงนั้น รวมทั้งเรื่องการซื้อแอลกอฮอล์ หน้ากากอะไรต่าง ๆ สารพัดเรื่องที่ร้องเข้ามา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในช่วงแรกมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ "
สำนักข่าวอิศรา : นอกจากกรณีของ อบจ.ลำพูน แล้ว สตง .มีผลการตรวจสอบที่ไหนอีกบ้าง?
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "ก็มีที่อื่น มีภูเก็ต มีหลาย ๆ ที่ที่เรารายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไป มันก็เป็นปัญหาอย่างนั้นจริง ๆ แต่ในช่วงหลัง ๆ มันก็ไม่มีแล้ว ชี้ให้เห็นว่า กระแสสังคมก็มีส่วนช่วยเรื่องการป้องกันการใช้จ่ายเงินหลวงเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา : คนที่คิดจะทำผิด กลัวที่จะโดนลงโทษมากขึ้น
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "ใช่ เพราะถ้ามันเป็นข่าวขึ้นมานี่ยิ่งกว่าโดนโทษด้านอื่น ๆ อีกนะ"
สำนักข่าวอิศรา : นอกจากการตรวจสอบงบประมาณเรื่องโควิด จะตรวจสอบงบประมาณส่วนอื่น ๆ ด้วยหรือไม่?
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "ตอนนี้เราดูงบประมาณโดยรวมนะครับ ว่าในแต่ละปีงบประมาณลงไปเท่าไหร่อย่างไง ถ้าเป็นงบประมาณจากสภา ก็ประมาณ 3.1-3.2 ล้านล้าน ในแต่ละปี ที่นี่มันมีเงินนอกงบประมาณอีก ถ้าเป็นตัวเลขที่สำนักงบประมาณรวมก็จะอยู่ที่ 4.4-4.5 ล้านล้าน มีการใช้ไป 2 ล้านล้านกว่าเนี่ย มันก็สูง"
"เพราะฉะนั้นนโยบายปี 2565 เราจะให้ตรวจเงินนอกงบประมาณด้วย ให้สุ่มตรวจดูเงินนอกด้วยเพราะว่ามันไม่ผ่านกระบวนการสภาแต่ก็อยู่ที่ข้อกำหนดข้อบัญญัติของแต่ละแห่ง จะเป็นมหาลัย จะเป็นโรงเรียน จะเป็นท้องถิ่น ใช้เงินทั้งนั้น"
"อีกส่วนก็เป็นเงินกู้ ปีนี้ก็ 1.5 ล้านล้าน รวมไปถึงเราให้ความสำคัญกับโครงการขนาดใหญ่ หรือ พีพีพี (โครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private. Partnership) ที่ร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชน ผลมันเป็นยังไงบ้าง เพราะว่าในช่วงปีที่ผ่านมา เราศึกษากระทั่งคู่มือในการตรวจสอบตอนนี้ก็ทำเสร็จแล้ว ปี 2565 นี้ ก็มีจะทำกรอบแผนให้เริ่มตรวจสอบอันนี้ด้วย
" ขณะที่ คตง. ก็ให้ความสำคัญ ถ้าในส่วนของรัฐวิสาหกิจเนี่ย เราดูยังไง เพราะว่าเดิม ๆ เนี่ยเราจะดูเรื่องตรวจรายงานการเงินเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้ สตง.มีการดำเนินนโยบาย มอบให้ผู้ตรวจบัญชีข้างนอกเข้ามารับผิดชอบงานส่วนนี้ไป โดยที่เราทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมแทน เราก็คงต้องเข้าไปดูในส่วนนี้ด้วย ซึ่งก็มีงบลงทุนที่ผ่านทางสภาพัฒน์ ปี 65 อีก 1.3 ล้านล้าน แต่ว่าที่จะจ่ายในปี 2565 จริง ๆ เนี่ย 3-4 แสนล้าน มันก็เป็นเงินอีกส่วนหนึ่งที่คงต้องไปสุ่มดูว่าเป็นโครงการอะไร จัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ก็คงต้องไปดูกัน"
"ฉะนั้นรวม ๆ แล้ว ก็ปีนี้ก็จะมีเงินลงไป 7-8 ล้านล้านบาท ต่อหนึ่งปีเนี่ย ขอบเขตของสิ่งที่เราต้องตรวจมันมากขึ้น เราสามารถตรวจสอบอะไรได้มากขึ้น ในกรอบแผนที่ออกไปเราก็จะมีทุกหัวข้อไว้ เพียงแต่ว่าในส่วนไหนสำนักไหนรับผิดชอบ กลุ่มไหนกระทรวงไหนหน่วยงานไหนมีโครงการก็ให้เลือกตรวจสอบ จะะพยายามดูให้ครบถ้วนทั้งหมด แล้วก็พยามยามเน้นให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์นะว่าสุดท้ายเงินมันไปใช้ยังไงบ้าง"
"ถ้าดูตัวเลขรายงานประจำปี ปี 63 ที่เพิ่งเข้าสภาฯ ไป ความเสียหายในเรื่องของผลสัมฤทธิ์ที่อำนวยการแล้วไม่เกิดประโยชน์เนี่ยตัวเลขมันสูงมาก 4 หมื่นล้าน แต่ว่าพวกนี้ส่วนใหญ่แล้วถ้ามันได้รับการแก้ไขมันก็กลับมาได้ ถ้ามีการดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งในส่วนนี้มันจะมีตัวเลขรถเครื่องบินที่สูงหน่อยของการบินไทย เป็นต้น เราจะเน้นตรงนี้ให้มากขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อสังเกตของสภาทั้งสองสภาว่า เมื่อเทียบโดยรวมกับสิ่งที่สตง.ตรวจสอบกับงบประมาณเงินแผ่นดินโดยรวมแล้วเนี่ยมันยังน้อยมาก"
"เราก็จะพยายามขยายขอบเขตงานตรวจสอบให้มากขึ้น ให้สามารถดูได้มากขึ้น เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐคุ้มค่ามากที่สุด"