ผมก็เชื่อว่าภายในปี 2567 เราสามารถจะมีโครงการสร้างรายได้ให้กับ อคส.เพื่อให้พ้นจากภาวะขาดทุนซ้ำซากนี้ได้ โดยเป้าหมายที่ต้องตั้งไว้ในปี 2567 ก็เพราะว่าจะมีทั้งภารกิจการปรับปรุง ซ่อมแซม ทำให้คลังสินค้าราษฎร์บูรณะ เป็นคลังห้องเย็นที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร และศักยภาพนั้นจะรองรับสินค้าได้ประมาณ 50,000 ตัน เหล่านี้ถ้าเสร็จสมบูรณ์ก็จะทำให้รายได้ของ อคส.มีมากขึ้นตามไปด้วย และในปี 2567 นั้นเราน่าจะเห็นกำไรมากกว่านี้
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า หรือ อคส.เกี่ยวกับนโยบายที่สำคัญๆและภารกิจเร่งด่วนต่างๆที่ อคส.จำเป็นต้องเร่งดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพของหน่วยงาน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
*******************
สำนักข่าวอิศรา: ตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ อคส.นโยบายแรกที่เร่งจะดำเนินการ ถือว่าเป็นภารกิจเร่งด่วนคืออะไร
นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผอ.อคส. :ภารกิจเร่งด่วนนี้ ต้องขอเท้าคววามกลับไปยังยุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์ก่อน ก็คือเป็นตลาดทางการผลิต ส่วนตัว อคส.นั้นถือว่าเป็นข้อต่อในเรื่องของเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ยุทธศาสตร์ของ อคส.ก็คือคำว่าแก้มลิงบวกบวก หมายความว่าอย่างไร ผลการผลิตทางการเกษตรนั้นจะออกมาในปีหนึ่งแค่ครั้งถึงสองครั้งเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาผลผลิตออกมา รูปแบบก็จะเป็นเหมือนกับการทะลักของน้ำท่วม ตัว อคส.เองก็จะทำตัวเป็นแก้มลิงโดยใช้คลังสินค้าที่มีอยู่ ซึ่งมีไม่กี่ที่และจะพัฒนาต่อไป โดยจะเป็นในรูปแบบของแก้มลิงรักษาสินค้าเกษตรเหล่านั้น คำถามที่เกิดขึ้นก็คือว่าจะเก็บอย่างไรให้สินค้าเสื่อมสภาพช้าลง และสามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น ก็คือบวกที่หนึ่ง การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตรเข้ามาช่วย
ยกตัวอย่าง ในวันนี้เรามีการประสานงานกับ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ทำอย่างไรให้คลังสามารถเก็บสินค้าได้นานขึ้น อาทิ ทำให้ในคลังไม่มีออกซิเจนได้หรือไม่ เพราะออกซิเจนทำให้แมลงสามารถเติบโตได้ อันนี้คือความร่วมมือในเบื้องต้น รวมไปถึงการทำ Value Processing (กระบวนการเพิ่มมูลค่า) ยกตัวอย่างเช่นทำอย่างไรให้ชาวนานั้นปลูกข้าวขายแป้ง ซึ่งวันนี้มีโครงการนำร่องแล้วที่ จ.ลพบุรี เราได้ที่มา 19 ไร่ 1 จังหวัด ที่เราจะทำในทั้งโรงอบ โรงสี และโรงแป้ง วันนี้ข้าวสารกิโลกรัมละ 15 บาท ข้าวเจ้ากิโลกรัมละ 30 บาท ห่างกันเท่าตัว ซึ่งข้าวเจ้านั้นจะนำไปทำขนมจีน เส้นหมี่ ก๋วยเตี๋ยว อุตสาหกรรมเหล่านี้นั้นมีความต่อเนื่องและมีจำนวนมาก ซึ่ง อคส.สามารถที่จะเป็นข้อต่อในเรื่องของตลาดเพื่อทำการผลิตได้ อันนี้คือบวกที่หนึ่ง
บวกที่สองคือภายใต้กระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีทูตพาณิชย์อยู่ 58 คนทั่วโลก เราสามารถดึงสินค้าจากประเทศไปได้ ผ่านเชื่อมเครือข่ายของทูตพาณิชย์ทั้ง 58 ประเทศ ในส่วนของในประเทศ เราก็มีพาณิชย์จังหวัด 77 จังหวัด ตัวนี้จะเป็นเรื่องของช่องจำหน่ายในร้านค้าธงฟ้า ก็มีการลงพื้นที่ไปในระดับหนึ่งแล้ว
โดยภารกิจเหล่านี้นั้นจะเห็นภาพชัดเจนเลยว่า อคส.นั้นเป็นข้อต่อสำคัญในนโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด อันนี้คือในภาครวม ส่วนภาคภารกิจเร่งด่วนนั้น อคส.ภายใต้บทบาทของผมที่เข้ามาดูแล ก็จะมีภารกิจอยู่ 4 ส่วนด้วยกัน คือการ ซ่อม สร้าง เพิ่ม และ สะสาง
การซ่อมหมายความว่าทรัพย์สินของ อคส.ส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถใช้งานได้ เช่นพื้นทรุด คลังที่ขาดการดูแลรักษา ก็ต้องซ่อมให้ทรัพย์สินนั้นสามารถใช้งานได้ ในเรื่องของโครงสร้างองค์กร ที่ผ่านมามีการวางตำแหน่งการขายไว้เพียงแค่สำนักเดียว ก็จะมีการปรับโครงสร้าง วางตำแหน่งหน่วยงานที่จะดำเนินการขายมากขึ้น ต่อมาในระยะที่ 2 ก็จะมีการลดส่วนกลางให้เล็กลง ทำงานอย่างชาญฉลาดมากขึ้น เหล่านี้คือตัวอย่างของการซ่อม รวมไปถึงข้อบังคับระเบียบต่างๆที่ล้าหลัง อาทิ การจ่ายเงิน การซื้อขายสินค้าปกติเป็นต้น
การสร้างก็คือการสร้างเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างยุทธศาสตร์แก้มลิงบวกบวก สร้างในเรื่องของภาพลักษณ์ใหม่ในเรื่องแบรนด์ ต่อมาคือการเพิ่ม ในวันนี้เรามีคลังอยู่ 5 คลังสินค้าทั่วประเทศเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่พอในการสนับสนุนผลการดำเนินงานของ อคส.เราจึงต้องมีการเพิ่มคลังสินค้า ซึ่งก็ตามที่เรียนไปแล้วว่าเราได้พื้นที่ 19 ไร่ ที่ จ.ลพบุรีไป เราได้พื้นที่ 50 ไร่ ที่ จ.ประจวบคิรีขันธ์ เราจะได้พื้นที่เพิ่มเติมจากหน่วยงานราชการอีก เพื่อสร้างคลังสินค้าเพิ่มเติม ส่งผลทำให้ อคส.มีผลการดำเนินงานที่ดี สามารถสนับสนุนเอกชนให้พร้อมแข่งขันมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มคลังนั้น ก็มีการทำคลังห้องเย็น ที่จะมีมูลค่ามากกว่า และห้องเย็นที่ว่านี้ก็จะเป็นเฟืองจักรสำคัญในการสนับสนุนเอกชน การเพิ่มอีกส่วนหนึ่งก็คือเพิ่มเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ค้า พันธมิตรต่างๆรวมถึงเกษตรกร
ภารกิจเร่งด่วนสุดท้ายก็คือการสะสาง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 โครงการ หลักๆก็เป็นเรื่องของโครงการรับจำนำข้าว ที่เราตั้งเป้าว่าต้องระบายข้าวทั้งหมดในเดือน นายเกรียงศักดิ์ย. 2565 พอหลังจากข้าวระบายหมดแล้ว เราก็จะเห็นว่าความเสียหายมีมูลค่าเท่าไร มีกี่เรื่องที่ต้องดำเนินคดี ซึ่งในเดือน นายเกรียงศักดิ์ย. 2564 เราได้มีการระบายมันสำปะหลังหมดแล้ว ปีนี้ ก็อยู่ระหว่างการชำระบัญชี และนอกจากนี้ยังมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรอีกกว่า 26 โครงการที่จะต้องสะสางอีกเช่นกัน ซึ่งคาดว่าการสะสางดังกล่าวก็น่าจะแล้วเสร็จได้ประมาณ 10 กว่าโครงการในเดือน นายเกรียงศักดิ์ย. 2565 เช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา: ภารกิจทั้ง 4 โครงการดังกล่าวนั้น ภารกิจใดเป็นเรื่องที่ยากที่สุด
นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผอ.อคส. :งานนโยบายเรื่องที่ยากที่สุดก็คืองานสะสาง ถามว่าทำไมถึงยาก เพราะว่าอำนาจไม่ได้อยู่ใน อคส.โครงการรัฐเอง อคส.เป็นคู่สัญญา รัฐบาลเป็นคนกำหนดนโยบายว่าจะซื้อข้าวจำนวนเท่าไร มันราคาเท่าไร ประมาณเท่าไร คลังไหนเป็นคลังกลาง พอจำหน่ายหรือจะระบายออก รัฐบาลก็ต้องเป็นผู้ระบายออก ซึ่งช่วงเวลาเราไม่สามารกำหนดได้ เราเป็นแค่คู่สัญญา
ผมยกตัวอย่าง อย่างการระบายข้าวที่ยังคงข้างอยู่ ประมาณแสนตันก็ต้องเข้าไปที่ประชุมใหญ่ของ นบข.(คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว) ก่อน และเรื่องฐานอำนาจ ตามพระราชกฤษฎีกาก็ไม่ได้ให้อำนาจ อคส.เอาไว้ เรื่องนี้คือความยาก
อีกประเด็นก็คือตัวปฏิบัติการณ์ การดำเนินงานในโครงสร้าง ของอคส.เอง เมื่อมีโครงการรัฐบาล อคส.จ้างคน พอหมดโครงการรัฐบาลแล้ว พนักงานยังอยู่ ดังนั้นถ้าให้คิดเป็นค่าใช้จ่าย ก็จะมหาศาลพอสมควรสำหรับขนาดองค์กรของ อคส. ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างทั้งยุทธศาสตร์เพิ่มเติมเช่นแก้มลิงบวกบวก เพิ่มคลังสินค้าเพื่อให้มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงค่าใช้จ่ายสำหรับ อคส.ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งผมก็เชื่อว่าภายในปี 2567 เราสามารถจะมีโครงการสร้างรายได้ให้กับ อคส.เพื่อให้พ้นจากภาวะขาดทุนซ้ำซากนี้ได้ โดยเป้าหมายที่ต้องตั้งไว้ในปี 2567 ก็เพราะว่าจะมีทั้งภารกิจการปรับปรุง ซ่อมแซม ทำให้คลังสินค้าราษฎร์บูรณะ เป็นคลังห้องเย็นที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร และศักยภาพนั้นจะรองรับสินค้าได้ประมาณ 50,000 ตัน เหล่านี้ถ้าเสร็จสมบูรณ์ก็จะทำให้รายได้ของ อคส.มีมากขึ้นตามไปด้วย และในปี 2567 นั้นเราน่าจะเห็นกำไรมากกว่านี้
สำนักข่าวอิศรา: กว่าจะถึงปี 2567 ที่บอกว่า อคส.จะพ้นจากภาวะขาดทุน ถ้าหากในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น คิดว่าจะนโยบายของ อคส.หรือไม่
นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผอ.อคส. :ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือยุทธศาสตร์ที่อยู่ในมือของ อคส.เอง ซึ่งยุทศาสตร์แก้มลิงบวกบวกนั้นนอกจากจะสอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบันแล้ว ยังสอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อคส.เหล่านี้ ถ้าหากจะถามว่าการเมืองจะสามารถบิดเบี้ยวยุทธศาสตร์เหล่านี้ได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าเราทำตามพันธกิจของ อคส.อยู่แล้ว
แต่ส่วนที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ก็ต้องยอมรับว่าถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นก็จะเป็นความเสี่ยงของ อคส.อยู่เหมือนกัน ในเรื่องของคดีฟ้องร้องต่างๆ สมมติเช่น ถ้าเราจะกลับไปใช้ระบบจำนำข้าวอีก ก็จะทำให้เป็นภาระขาดทุนของ อคส.ในอนาคตต่อไปได้
สำนักข่าวอิศรา: มีข้อกังวลอื่นๆหรือไม่ กับการทำงาน
นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผอ.อคส. :สิ่งที่กังวล ก็ตามที่เรียนว่าตั้งแต่วันแรกที่ทำหน้าที่นี้ อคส.เองไม่ได้เตรียมการในการสร้างคน สร้างพันธกิจ ตามพระราชกฤษฎีกา แต่วันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เราสามารถจะตั้งสำนักในโครงสร้างองค์กรใหม่ ครอบคลุมถึงสินค้าเกษตรครบตามพันธกิจ ไม่ว่าจะเป็นข้าว พืชสวน พืชไร่ ปศุสัตว์และสัตว์น้ำ นอกจากนั้น ปีนี้ ก็จะเป็นปีแรกที่เราเริ่มดำเนินการ อย่างเป็นรูปธรรม ในด้านการสร้างคน ผ่านโรงเรียนกำเนิดคลัง ซึ่งรูปแบบการสร้างคนของเรานั้นจะเป็นรูปแบบของการรับสมัคร อาทิ รับสมัครคนจบ ม. 3 แล้วเราก็มีหลักสูตรของเราเอง ศึกษาต่อ 5 ปี จบ ปวส.
ซึ่งการสร้างคนที่ว่ามานี้อาจจะเริ่มจากเด็กที่ลูกกำพร้าพ่อแม่ หรือลูกเกษตรกรชาวนา ที่เขามีความอดทนมุ่งมั่นเราก็จะคิดเลือกเด็กเหล่านี้ เข้ามาศึกษาหลักสูตรละ 5 ปี ได้คนที่เหมาะสมกับพันธกิจ ของ อคส.และอย่างน้อยก็ต้องมีความเข้าใจสินค้าการเกษตรทั้งหมดใน 5 รูปแบบที่กล่าวมา (ข้าว พืชสวน พืชไร่ ปศุสัตว์และสัตว์น้ำ) เติมความรู้ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กฎหมาย การจัดการ บริหาร รวมไปถึงเรื่องภาษาเข้าไป และหลักสูตรเหล่านี้นั้นก็ผ่านการออกแบบมาเพื่อสอดคล้องกับพันธกิจของ อคส.โดยตรง
เปรียบเทียบให้เห็นภาพ วันนี่เรารับมาเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปอาจจะไม่พอดีกับ อคส.แต่ในอนาคต เราก็จะมีเสื้อที่เหมาะกับพันธกิจ อคส.โดยตรง
สำนักข่าวอิศรา: บอกว่าต้องมีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ความร่วมมือดังกล่าวประสบปัญหาบ้างหรือไม่
นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผอ.อคส. :วันนี้ ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ แต่ละหน่วยงานนั้นก็มีพันธกิจของตัวเอง อาจจะมองแต่หน่วยงานของตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ผมมาวันแรกๆ โครงการพี่เลี้ยงของ สคร. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ก็มีการจับกลุ่มด้วยกันอยู่ในกลุ่มรัฐวิสาหกิจ มี ปตท.เป็นพี่เลี้ยง อคส.กับการรถไฟอยู่ด้วยกัน ก็จะเห็นว่า อคส.กับการรถไฟนั้นพันธกิจสอดคล้องกัน เพราะว่าตัวรถไฟเป็นเรื่องของขนส่ง อคส.เป็นเรื่องคลังสินค้าที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในเรื่องของโลจิสติกส์ และวันนี้เราก็จะมีการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพิ่มเติม อาทิ เอ็กซิมแบงค์ (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย) กับ อสค.หรือองค์การโคนม และรัฐวิสาหกิจอื่นๆทั้งในและนอกกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สามารถเริ่มต้นในก้าวแรกได้อย่างดี มีความคืบหน้าเป็นลำดับและคาดว่าน่าจะมีผลเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นในอนาคตต่อไป
สำนักข่าวอิศรา: แผนการที่ว่ามาทั้งหมดจะเสร็จทันวาระที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ อคส.หรือไม่
นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผอ.อคส. :คิดว่าทัน เพราะอย่างที่เรียนให้ทราบว่า อคส.ประสบภาวะขาดทุนมาเกือบ 10 ปี แต่ถ้าหากเราสามารถทำคลังที่ราษฎร์บูรณะให้เป็นห้องเย็นที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ในขนาด 50,000 ตัน ก็เชื่อว่าเราสามารถทำกำไรได้แน่นอน แต่ก็ใช่ว่าเราจะรอแต่คลังราษฎร์บูรณะอย่างเดียวเท่านั้น วันนี้เรายังมีคลังอื่นๆที่ยังมีพื้นที่อยู่ อาทิ คลังสินค้าปากช่อง จ.นครราชสีมา คลังบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ตรงนี้ก็สามารถทำให้เป็นคลังห้องเย็นเพื่อสนับสนุนเอกชนได้เช่นกัน ควบคู่ไปกับการจัดหาแปลงที่ดินเพื่อทำคลังใหม่ๆ เช่นที่ จ.ลพบุรีตามที่เรียนไปแล้ว และในปีนี้ก็อาจจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดหาคลังสินค้าในแห่งอื่นๆอีกเช่นกัน