“..การย้ายขบวนรถเชิงพาณิชย์มาสิ้นสุดที่สถานีกลางบางซื่อ ยังช่วยเพิ่มความสะดวกด้านการเดินทางให้ประชาชนได้มากกว่า เพราะสถานีกลางบางซื่อมีพื้นที่รวม 2,325 ไร่ มากกว่าสถานีหัวลำโพงที่มี 120 ไร่ รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 6.2 แสนคนเที่ยวต่อวัน มากกว่าหัวลำโพงที่รองรับได้ 6 หมื่นคนเที่ยวต่อวัน อีกทั้งยังมีชานชาลาบริการมากถึง 24 ชานชาลา มากกว่าหัวลำโพงที่มี 14 ชานชาลา..”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ‘อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา’ จากทุกภาคส่วน
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมไม่เคยมีแนวคิดปิดหัวลำโพง หรือสถานีรถไฟกรุงเทพ เพียงแต่ปรับลดบทบาทลงมา เพื่อบริหารจัดการระบบราง และการเดินทางอื่นๆ ให้ดีขึ้น เนื่องจากหัวลำโพงเป็นสถานีต้นทาง-ปลายทางที่มีการเดินรถเข้า-ออกทางเดียว ไม่สะดวก อีกทั้งขนาดที่ตั้งก็ไม่สามารถรองรับการพัฒนา และการเชื่อมต่อในอนาคตได้
ที่มาของการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ เริ่มตั้งแต่ปี 2542 มีเป้าหมายเพื่อทำศูนย์กลางการคมนาคม โดยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 กระทรวงคมนาคม ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อบริหารจัดการการเดินรถ อัตราค่าบริการ การประชาสัมพันธ์ การเชื่อมต่อโหมดอื่นๆ และการดูแลความเรียบร้อย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เรียบร้อย
“ประชุมมาแล้ว 7 ครั้ง ไม่เคยพูดเรื่องการปิดหัวลำโพง แค่ลดบทบาทไปอยู่ที่บางซื่อ เพื่อการบริหารจัดการการเดินรถให้ง่ายขึ้นและเพื่อให้มีชุดเชื่อมต่อได้ง่ายในเรื่องของระบบราง ลดปัญหาการจราจรติดขัดจากปัญหารถไฟวิ่งเข้าออกในเมือง โดยเราพยายามให้ถนนทุกสายมุ่งไปที่บางซื่อ ถนนและรางมาอยู่ที่นี่ ดังนั้นรถไฟทางไกลจะมีการเปลี่ยนบทบาท จากฮับที่หัวลำโพงมาเป็นฮับที่บางซื่อแทน แต่ยังมีการเดินรถไฟชานเมืองอยู่ นี่คือคำว่าลดบทบาท” นายสรพงศ์ กล่าว
สถานีกลางบางซื่อ เป็นการพัฒนารูปแบบใหม่ที่จะสร้างคามภูมิใจระดับชาติ พร้อมยืนยันยังคงการเดินรถช่วงชานเมืองเข้าหัวลำโพงไว้ แต่ลดบทบาทเพราะการเชื่อมต่อที่สถานีกลางบางซื่อสามารถเชื่อมต่อขนส่งมวลชนได้สะดวกกว่าจากการปรับการเดินรถของ ขสมก. ให้เข้าไปยังสถานีกลางบางซื่อ ฉะนั้นการปรับลดบทบาทสถานีหัวลำโพง จากเดิมเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟ แต่หลังจากพิจารณาเพื่อให้เกิดการใช้สถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทั้งรถไฟ กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีม่วง สีเขียว และอนาคต แอร์พอร์ต เรล ลิ้ง อีกทั้งยังมีรถเมล์หลายสายที่ปรับเส้นทางให้มาเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายคมนาคม ดังนั้น รถไฟทางไกลจึงต้องเปลี่ยนมาใช้บางซื่อแทนหัวลำโพง
นายสรพงศ์ กล่าวด้วยว่า อนาคตของสถานีหัวลำโพงมีการหารือกันว่าจะคงระบบรถไฟชานเมืองเอาไว้สำหรับผู้โดยสารที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียง แต่บางกิจกรรมหรือบางหน่วยงาน เช่น การซ่อมบำรุง ก็อาจจะต้องย้ายไปที่บางซื่อ ทาง รฟท. เองก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรกับหัวลำโพงต่อไป
ส่วนหนี้ รฟท. ปัจจุบันมีอยู่ 2 แสนล้านบาท แต่มีหนี้ผูกพันทางสัญญา 4 แสนล้านบาท ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นคราราชสีมา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมหนี้สินเกือบ 6 แสนล้านบาท
“สำหรับแผนวันที่ 23 ธ.ค.นี้ รฟท.มีแผนปรับขบวนรถจาก 118 ขบวน เหลือเข้าหัวลำโพง 22 ขบวน ซึ่งกระทรวงฯ ได้ทำการบ้านเรื่องระบบขนส่งมวลชนรองรับบริการสถานีกลางบางซื่อ ตรวจสอบความพร้อมมากกว่า 90% ยืนยันว่าวันนี้เรามีความพร้อม” นายสรพงศ์ กล่าว
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ยืนยันว่าจะไม่มีการทุบหัวลำโพง และไม่ได้ปิด เพราะยังมีการเดินรถไฟเข้าอยู่ แต่จะลดบทบาทของหัวลำโพง เพราะสถานีกลางบางซื่อดำเนินการสร้างเสร็จแล้ว โดยจะลดขบวนรถไฟ 118 ขบวน เหลือ 22 ขบวน หรือเหลือแค่ 1 ใน 5 เพราะรถไฟฟ้าสายสีแดงถูกออกแบบมานานแล้ว อยู่ในแผนแม่บทมา 20-30 ปี มีการรับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอด อีกทั้งเพื่อแก้ปัญหาจราจร ลดจุดตัดระหว่างรถไฟกับถนนทั้งหมดใน กทม. จำนวน 27 จุด จากข้อมูลรถไฟวิ่งผ่านจุดตัดถนนราว 800 กว่าครั้งต่อวัน
การปรับลดขบวนรถเข้ามายังหัวลำโพงเหลือเพียง 22 ขบวน จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.2564 เป็นต้นไป จะบรรเทาปัญหาจราจรจากจุดตัดทางรถไฟได้ 86% ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 81 ล้านบาท และลดความสูญเสียจากการจราจรติดขัดในภาพรวมอีก 535 ล้านบาท รวมลดความสูญเสียไปถึง 616 ล้านบาทต่อปี
“การย้ายขบวนรถเชิงพาณิชย์มาสิ้นสุดที่สถานีกลางบางซื่อ ยังช่วยเพิ่มความสะดวกด้านการเดินทางให้ประชาชนได้มากกว่า เพราะสถานีกลางบางซื่อมีพื้นที่รวม 2,325 ไร่ มากกว่าสถานีหัวลำโพงที่มี 120 ไร่ รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 6.2 แสนคนเที่ยวต่อวัน มากกว่าหัวลำโพงที่รองรับได้ 6 หมื่นคนเที่ยวต่อวัน อีกทั้งยังมีชานชาลาบริการมากถึง 24 ชานชาลา มากกว่าหัวลำโพงที่มี 14 ชานชาลา” นายพิเชฐ กล่าว
นายอานันท์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รฟท. ชี้แจงว่า ในส่วนของ รฟท. มีส่วนงานของแต่ละฝ่ายค่อนข้างเยอะ มีการประชุมร่วมกันมาโดยตลอดกับหน่วยงานที่เกี่ยวช้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมทางหลวงชนบท ขสมก. ปัจจุบันสายสีแดงเปิดใช้บริการแล้ว ส่วนสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีขนาดใหญ่ ดำเนินงานร่วมกัน มีรถไฟชานเมือง รถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ รถไฟเชิงสังคม นอกจากนี้ยังถูกกำหนดมาให้เป็นจุดศูนย์กลางในการขนส่งระบบราง ก็จะเชื่อมต่อกับรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน รถไฟความเร็วสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือรถไฟอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป เพราะหัวลำโพงยังมีข้อจำกัดหลายอย่างสำหรับการรองรับการพัฒนาในอนาคต
ทางด้าน น.ส.ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล หนึ่งในคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด กล่าวว่า เอสอาร์ที แอสเสท จัดตั้งขึ้นตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 โดยมี รฟท.ถือหุ้น 100% มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่บริหารที่ดินของ รฟท.ที่ไม่ใช่ทางรถไฟเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และประโยชน์กับสาธารณชน โดยพื้นที่ รฟท.ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รอบสถานี ทุกสถานี โดยหลักการในการพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพงในอนาคต ใช้คอนเซปต์ ‘คุณค่าพูน มูลค่าเพิ่ม’ โดยจะเป็นการพัฒนาที่ผสมผสาน ในพื้นที่เน้นการเดินเท้า ใช้พลังงานสะอาด พร้อมปรับปรุงทัศนียภาพ เพิ่มพื้นที่สีเขียว
ขณะที่สถานีหัวลำโพงจะลดบทบาทการเดินรถระยะทางไกล หากไม่ได้พัฒนาในส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน พื้นที่รถร้างอาจถูกบุกรุกได้ จึงต้องอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้มีคุณค่าและเพิ่มพูนมูลค่าด้วยการใช้พื้นที่กว่า 120 ไร่รอบสถานีเกิดประโยชน์ ทั้งการปรับปรุงอาคาร แต่จะไม่มีการทุบหรือรื้อถอนเด็ดขาด เพราะเป็นมรดกของชาติ โดยจะผสมผสานพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่อนุรักษ์ เช่น พื้นที่พ่วงราง และจัดสรรพื้นที่บางส่วน
“ไม่มีการทุบสถานีหัวลำโพง แนวทางในการบริหารพื้นที่ 120 ไร่ จะเป็นรูปแบบ TOD แต่ความพิเศษพื้นที่หัวลำโพงกว่าพื้นที่อื่น เพราะเป็นที่ดินประวัติศาสตร์ที่รัชกาลที่ 5 ให้เป็นสมบัติแห่งชาติ” น.ส.ไตรทิพย์ กล่าว
น.ส.ไตรทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานีรถไฟหัวลำโพงนั้นมีความพิเศษกว่าสถานีรถไฟอื่นๆ เนื่องจากอาคาร สิ่งก่อสร้างบางจุดภายในสถานีเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์แล้ว โดยมี 5 จุดสำคัญที่ยังจะคงรักษาไว้ และจะมีการบูรณะซ่อมแซม ได้แก่ อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร ซึ่งเป็นกิโลเมตรที่ 0 ของการรถไฟ ตัวอาคารสถานีหัวลำโพง อนุสรณ์ปฐมฤกษ์ ตึกบัญชาการรถไฟและตึกแดง โดยจะซ่อมแซมให้คงสภาพอยู่ดี และดำเนินการให้สอดคล้องกับปัจจุบัน
ส่วนบริเวณราง และโรงซ่อมจะปรับให้เป็นพื้นที่พาณิชย์ มีการปรับให้มีความร่วมสมัย เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ให้ศูนย์รวม ศิลปวัฒนธรรม ทั้งด้านอาหาร การแสดง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้กับ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวต่างชาติ และยังมีพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ซึ่งได้ทำการศึกษาจากสถานีรถไฟจากต่างประเทศ ร่วมกับการเดินรถ ที่อนาคตจะเปลี่ยนจากรถไฟดีเซลเป็นรถไฟพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากรถไฟฟ้าสายสีแดง
พื้นที่อีกประมาณ 90 ไร่ ได้แก่ พื้นที่พวงราง ที่จอดรถด้านนอก ด้านข้าง โรงซ่อม ส่วนใหญ่จะย้ายไปบางซื่อ จึงจะกลายเป็นพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่จะเน้นการรักษาวัฒนนธรรม ประวัติศาสตร์รถไฟชัดเจน จะสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ วัฒนธรรมไทยและร่วมสมัย เพื่อประชาชนและชาวต่างประเทศมาเรียนรู้
นายประภัสร์ จงสวงน อดีตผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา จากกระแสข่าวที่ออกมา ค่อนข้างสร้างความสับสนให้กับประชาชน ทั้งเรื่องปิดสถานี ยกเลิกขบวนรถ การก่อสร้างพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะอาคารสูงด้านหลังสถานีหัวลำโพง แต่ถ้าหากผู้ว่า รฟท.มาชี้แจงให้ชัดเจน ก็ไม่ต้องมีเวทีในวันนี้
นอกจากนี้ ยังคิดเห็นว่า ควรที่จะต้องมีการเชื่อมต่อจากสถานีกลางบางซื่อ-หัวลำโพงเสียก่อนที่จะปิดสถานี หรือลดขบวนรถไฟ พร้อมกล่าวยืนยันว่าสถานีหัวลำโพงต้องมีอยู่ จนกว่าโครงข่ายของรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเสร็จสมบูรณ์
นายประภัสร์ กล่าวด้วยว่า ไม่เห็นด้วยที่จะหยุดเดินรถไฟสายระยะไกลเข้าหัวลำโพง เนื่องจากจะทำให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางเข้าเมืองอีก ทำให้เกิดความไม่สะดวกสบาย เป็นภาระกับประชาชน ในส่วนที่อ้างว่ารถไฟทำให้รถติด นายประภัสร์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เนื่องจากคมนาคมระบบราง รถไฟมีมาก่อน ถนนเกิดทีหลัง จึงอยากขอให้ทางกระทรวงคมนาคมพิจารณาใหม่ ปัญหารถติดไม่ได้แก้ด้วยการไม่มีทางกั้นรถไฟ
ขณะที่ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจรฟท. กล่าวว่า วันนี้ ไม่จำเป็นต้องฟังความเห็นแล้ว เพราะทุกสื่อและกระแสสังคมไม่เห็นด้วยกับการปิดหัวลำโพง ส่วนที่บอกว่าสังคมเข้าใจผิด คงไม่ถูกต้องเพราะสื่อคงไม่กุข่าวเอง
“รถไฟ มีกระบวนการที่แสวงหาผลประโยชน์ทุกยุค ขณะที่หน้าที่รถไฟคือบริการประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เพราะเก็บค่าโดยสารถูก ส่วนเลิกวิ่งรถไฟเข้าหัวลำโพง เพราะแก้รถติดได้ ก็เป็นตรรกะที่ผิดมาก บอกให้หยุดลงที่บางซื่อ ให้คนลงและมาต่อฟีดเดอร์ รถยนต์อีก ตกลงจะแก้รถติดอย่างไร” นายสาวิทย์ กล่าว
ในส่วน นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ข้อเสียของ รฟท. คือทำโครงการได้ล่าช้า ต้องยอมรับตรงกันว่าความล่าช้าพัฒนาโครงการสร้างปัญหาในการพัฒนาเมือง เมื่อการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อล่าช้า ส่งผลกระทบทำให้การเดินทางระหว่างเมืองช้าลง แต่เมื่อตอนนี้แล้วเสร็จ หากจะมีการย้ายเส้นทางรถไฟบางส่วนไปจะมีผลกระทบมากน้อยอย่างไร
“กรณีที่มีการพูดตามหลักการว่า ให้จุดเริ่มต้นไปอยู่ที่บางซื่อก็เห็นด้วย และหัวลำโพงจะกลายเป็นสถานีในเมือง ภายใต้เงื่อนไขโครงข่ายพร้อมจะเดินทางเชื่อมโยงบางซื่อ-หัวลำโพง โดยสถานีกลางบางซื่อเป็นจุด Junction เพราะเขตทางมีความกว้าง วางรางได้มาก 4-6 ราง ทำให้มีข้อได้เปรียบ ดังนั้น การย้ายเส้นทางระยะทางไกลมาเริ่มบางซื่อ ปล่อยให้สถานีหัวลำโพงเป็นสถานีสำหรับเส้นทางระยะใกล้ก็เป็นแบบแผนในอนาคต” นายสุเมธ กล่าว
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ การพัฒนาไม่ได้เป็นไปตามแผน เพราะหัวลำโพงมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แต่ถ้าปรับปรุงหัวลำโพง ก็มีความสำคัญระดับหนึ่ง จะต้องปรุงปรุงทั้งทาง และรางภายใต้สถาปัตยกรรมเดิมให้ดียิ่งขึ้น โดยต้องพยายามมาหาข้อตกลงร่วมกัน
“กระทรวงคมนาคมก็ต้องชี้แจงเพิ่มเติม เดิมรถไฟมี 118 ขบวน แบ่งเป็นเชิงพาณิชย์ 68 ขบวน ชานเมือง 50 ขบวน ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม จะลดลงรถไฟชานเมืองเหลือ 22 ขบวน และปิดหัวลำโพงจนกว่า missing link จะเกิด แต่เห็นด้วยที่จะย้ายรถไฟเชิงพาณิชย์ไปที่สถานีกลางบางซื่อ มีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ต้องเพิ่มขบวนเที่ยววิ่งเข้า กทม. และต้องเป็นฮับ ดังนั้นก็ควรเพิ่มจาก 118 ขบวน อาจเป็น 150-200 ขบวน เพราะหลายเมือง เช่น นครปฐม หัวหิน โคราช ก็เป็นรถไฟทางคู่แล้ว” นายสุเมธ กล่าว
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ตนไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องลดบทบาทขบวนรถที่จะเข้าหัวลำโพง เพราะต้นตอปัญหาจริงๆ คือ Missing Link บางซื่อ-หัวลำโพงไม่แล้วเสร็จ เป็นเพราะรัฐบาลจัดการไม่ดีทำให้ประชาชนเดือดร้อนหรือไม่ ฉะนั้นการลดบทบาทเป็นการประนีประนอมที่จะปิดสถานีหัวลำโพง แต่การที่ Missing Link ไม่เกิดขึ้นเพราะมีโครงการอื่นเข้ามาแทรก มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ควรเกิดทีหลังหรือไม่ควรเกิดด้วยซ้ำ และเห็นว่าควรนำพื้นที่มักกะสันมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพราะจะสวยกว่าหัวลำโพงอีก
ขณะเดียวกัน น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยความรู้ว่า หัวลำโพง เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 และได้สร้างรถไฟจุดแรก คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ต่อมาให้กะทรวงคมนาคมรับโอนกิจการกรมรถไฟเพื่อนำมาดำเนินการเพื่อกิจการรถไฟ การที่รัชกาลที่ 5 มอบพื้นที่จำนวนมากเพื่ออำนวยประโยชน์กับประชาชาชนเพื่อสนับสนุนการขนส่งระบบราง หรือรถไฟ
จากการฟังแผนพัฒนา ตนรู้สึกว่า เรากำลังเลิกหรือลดบทบาทของหัวลำโพง คิดว่ารถไฟต้องทำเรื่องการเดินรถเป็นหลัก ส่วนการทำอย่างอื่น เช่น การนำสถานีหัวลำโพงที่มีอายุ 105 ปีและเป็นสมบัติของชาติในเชิงสถาปัตย์ อาคาร การก่อสร้าง ถือเป็นอุตสาหกรรมศิลป์แรกของไทย ดังนั้น การนำไปให้นายทุนเข้ามาทำถือเป็นขายสมบัติของชาติ
“ปรากฎว่าเราอ้างเรื่องหนี้สิน และกำลังลดบทบาท และอาจค่อยๆทำลายก็ได้ ไม่รู้ใครรู้ว่าจะเกิดขึ้น แต่การรถไฟฯ โดยการรับโอนจากกิจการกรมรถไฟหลวงต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ เรามองว่า หัวลำโพง อาจเป็นซุ้มประตูของห้าง” น.ส.รสนา กล่าว
น.ส.รสนา กล่าวถึงการขาดทุนของ รฟท. ว่า เนื่องจากมีผู้โดยสารลดลง โดยปี 52 มีผลขาดทุน 9,155 ล้านบาท ปี 62 ขาดทุน 17,212 ล้านบาท หากดูเรื่องการแข่งขันเชิงธุรกิจ การเดินรถไฟยังมีข้อได้เปรียบมาก เพราะการเดินทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองสะดวกกว่าการเดินทางด้วยเครื่องบิน ดังนั้น รฟท.ต้องปรับปรุงตัวเอง มีการพัฒนาคุณภาพ จึงจะแข่งขันได้ และหากมีการหยุดเดินรถจากหัวเมืองเข้ามายังหัวลำโพงก็จะทำให้ประชาชนลำบากขึ้นและกระทบส่วนที่เกี่ยวเนื่อง เช่น รถแท็กซี่ สามล้อ รวมถึงการค้าขายรอบหัวลำโพง ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วย และคัดค้านการหยุดขายตั๋วจากหัวเมืองมาหัวลำโพง
นอกจากนี้ยังมี นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท) ร่วมวงเวนาแสดงความเห็นว่า เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่ให้รถไฟเข้าสู่หัวลำโพง หลังจากนั้นสหภาพฯ สำรวจความคิดเห็นผู้โดยสาร พบว่าผู้โดยสารจะได้รับผลกระทบเรื่องการเดินทาง และค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้น
“ก่อนออกนโยบาย อยากให้กระทรวงรับฟังความเห็นของประชาชนก่อน” นายสราวุธ กล่าว
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า หาก รฟท.จะเปลี่ยนสีผังเมืองสถานีหัวลำโพงจากสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นที่ดินหน่วยงานราชการไม่สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ให้เป็นสีแดงที่ดินประเภทพาณิชกรรม ไม่ใช้เรื่องง่าย อย่างน้อยต้องผ่านด่านผมก่อน ซึ่งผมฟ้องศาลปกครองแน่นอน
นายกิตติธัช ชัยประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าวว่า ภาครัฐควรทำงานโดยไม่เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ซึ่งเห็นด้วยกับการออกแบบสถานีกลางบางซื่อใหญ่ รองรับได้มาก รวมถึงการพัฒนาหารายได้ แต่รูปแบบ จะทำอย่างไรที่จะเกิดประสิทธิภาพจริง ใครที่จะได้ประโยชน์กับสิ่งนี้
ส่วนจากภาพการพัฒนาที่ออกมาปรากฎ นายกิตติธัช กล่าวว่า จากการสื่อสาร ภาพตึกที่ขึ้นสูงด้านหลังหัวลำโพง ภาพนี้ ไม่รู้ว่าทีมไหนนำเสนอแต่ในแง่ ที่เป็นอาจารย์ด้านนี้นักศึกษาที่ทำแบบนี้จะให้สอบตก เพราะตึกนั้นข่มหัวลำโพง ไม่รู้คนออกแบบทำภาพวางยา รฟท.หรือไม่
อ่านประกอบ:
คค.-รฟท.ยันไม่ปิด 'หัวลำโพง' ย้ำแค่ลดบทบาทลง เหลือรถไฟเข้า 22 ขบวน 23 ธ.ค.นี้