"...กรรมาธิการฟากหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นอนุกรรมาธิการที่ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยศึกษาพิจารณาเฉพาะประเด็นสำคัญ 3-4 กลุ่ม เห็นว่า ตำรวจต้องอยู่ห่างฝ่ายการเมืองในระดับที่มีนัยสำคัญ การบริหารงานภายในรวมทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายควรเป็นเรื่องการจัดการภายในของตำรวจกันเองภายใต้กฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ให้เข้มข้นขึ้นในกฎหมายหลัก ฝ่ายการเมืองควรคุมเฉพาะกรอบนโยบายเท่านั้น นายกรัฐมนตรีจึงไม่ควรมาเป็นประธานองค์กรบริหารที่ชื่อ ‘ก.ตร.’ ตามร่างฯที่ผ่านวาระ 1 ซึ่งกำหนดไว้ให้มี ‘ก. เดียว’ เท่านั้น..."
เอาเข้าจริงแล้ว หนึ่งในประเด็นสำคัญที่เป็นแกนกลางของการปฏิรูปตำรวจ ผ่านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการของรัฐสภา และมีความเห็นต่างจนถึงขั้นจะต้องลงมติกันในกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับการบริหารงานภายในขององค์กรตำรวจที่ว่าจะเอา ‘ก. เดียว’ หรือ ‘2 ก.’ กันในวันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.15 น. ก็คือ...
ความเป็น ‘อิสระ’ ขององค์กรตำรวจ !
หรือนัยหนึ่ง อำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ !!
กรรมาธิการฟากหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นอนุกรรมาธิการที่ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยศึกษาพิจารณาเฉพาะประเด็นสำคัญ 3-4 กลุ่ม เห็นว่า ตำรวจต้องอยู่ห่างฝ่ายการเมืองในระดับที่มีนัยสำคัญ การบริหารงานภายในรวมทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายควรเป็นเรื่องการจัดการภายในของตำรวจกันเองภายใต้กฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ให้เข้มข้นขึ้นในกฎหมายหลัก ฝ่ายการเมืองควรคุมเฉพาะกรอบนโยบายเท่านั้น
นายกรัฐมนตรีจึงไม่ควรมาเป็นประธานองค์กรบริหารที่ชื่อ ‘ก.ตร.’ ตามร่างฯที่ผ่านวาระ 1 ซึ่งกำหนดไว้ให้มี ‘ก. เดียว’ เท่านั้น
แต่ควรเป็น ผบ.ตร. !
แล้วหาที่หาทางใหม่ให้นายกรัฐมนตรี โดยแยกงานนโยบายไว้ให้อยู่กับอีกองค์กรหนึ่งเพิ่มขึ้นมาชื่อ ‘ก.ตช.’ กลายเป็นมี ‘2 ก.’ ตามแบบที่มีอยู่ในกฎหมายปัจจุบัน ให้นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นพระประธานตรงนั้น พร้อมพรั่งด้วยผู้แทนหน่วยราชการภายนอกทั้งด้านความมั่นคงและด้านบริหารราชการแผ่นดิน
โดยตามตุ๊กตาบทบัญญัติรายมาตราในส่วนนี้ที่อนุกรรมาธิการไปศึกษายกร่างมา ก.ตช.ไม่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายเลยแม้แต่ตำแหน่งเดียว
ย้ำอีกที - ไม่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่ตำแหน่งเดียว — ไม่ยกเว้นแม้แต่ตำแหน่ง ผบ.ตร.
เรียกว่าไปไกลกว่ากฎหมายปัจจุบันเสียอีก เพราะกฎหมายปัจจุบันยังคงกำหนดให้ก.ตช.พิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร.
ความคิดเห็นกรรมาธิการฟากนี้นอกจากจะเห็นว่างานนโยบายกับงานบริหารควรจะแยกจากกันแล้ว เมื่ออภิปรายกันลงลึกแล้วยังให้เหตุผลว่าต้นเหตุแห่งปัญหาที่แท้จริงในองค์กรตำรวจ โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย การวิ่งเต้น การใช้อามิส คือการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง หากกันฝ่ายการเมืองออกไปให้ตำรวจดูแลกันเอง จะแก้ปัญหาได้
กรรมาธิการอีกฟากเห็นต่าง !
โดยเห็นว่าองค์กรตำรวจแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น แต่ก็หาใช่องค์กรที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารอย่างศาล หรือกึ่งอิสระอย่างองค์กรอัยการ หากยังคงเป็นข้าราชการประจำในสังกัดฝ่ายบริหาร โดยเมื่อก่อนเป็นระดับกรมสังกัดกระทรวงมหาดไทย ต่อมาแยกออกมาเป็นสำนักงานขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี
จะตัดฝ่ายการเมืองที่มาจากประชาชนที่ถืออำนาจบริหารออกไปหาได้ไม่
เพราะภารกิจของตำรวจคืองานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม รักษาความสงบภายในประเทศ เป็นนโยบายสำคัญของฝ่ายการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศทุกชุด
ฝ่ายการเมืองนั้นเมื่อต้องรับผิดชอบต่อสภาและต่อประชาชน ก็จะต้องมีเครื่องมือที่พอจะเป็นหลักประกันในการปฏิบัตินโยบายให้สำเร็จด้วย
นั่นคืออำนาจในการคัดเลือกข้าราชการประจำผู้ปฏิบัติ
ก็เหมือนการเลือกข้าราชการประจำผู้ที่จะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงและอธิบดีในกระทรวงทบวงกรมอื่นนั่นแหละ ที่จะต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงและอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่มีคณะกรรมการระดับกระทรวงทบวงกรมจัดการกันเองเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่ให้ฝ่ายการเมืองกระทำการตามอำเภอใจ หรือเพียงภายใต้กฎเกณฑ์ที่หลวม ๆ
ต้องมีองค์ประกอบที่เหมาะสมใน ก.ตร.
ต้องมีกฎเกณฑ์ในการแต่งตั้งโยกย้ายให้ชัดเจนอยู่ในกฎหมายหลักในทุกมิติ อาทิ เกณฑ์ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งแต่ละขั้น เกณฑ์ห้ามย้ายข้ามห้วย เกณฑ์อาวุโสและความรู้ความสามารถที่ตรงตามรัฐธรรมนูญ ระบบคะแนนประจำตัว หรือแม้แต่การให้ประชาชนผู้รับบริการมีโอกาสร่วมประเมิน ฯลฯ
ต้องมีกฎเกณฑ์และกระบวนพิจารณารักษาความเป็นธรรมให้กับข้าราชการประจำให้ชัดเจน
ต้องมีบทลงโทษการแทรกแซงการแต่งตั้งทั้งทางวินัยและอาญา
ต้องมีองค์กรพิจารณาวินิจฉัยที่มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเข้าร่วมด้วย
ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในระดับที่เหมาะสม
ฯลฯ
อันที่จริง สารัตถะสำคัญที่สุดอยู่ตรงนี้
เพราะต่อให้ตำรวจจัดการดูแลกันเอง กันฝ่ายการเมืองออกไป แต่หากปราศจากการปฏิรูปกฎเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายให้ชัดเจนครอบคลุมทุกมิติในกฎหมายหลัก ก็ไม่อาจแก้ปัญหาองค์กรตำรวจได้
ซึ่งก็จะเป็นอีกประเด็นสำคัญที่สุดที่คณะกรรมาธิการอาจจะมีความเห็นต่างกันมาก จนถึงขั้นต้องลงมติชี้ขาด
จะเก็บความมาเล่าให้ฟังต่อไปหากถึงเวลานั้น
เขียนโดย คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
28 พฤศจิกายน 2564
หมายเหตุ : ภาพประกอบคือบางส่วนของรายงานของคณะอนุกรรมาธิการจัดทำเสนอคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ รวมทั้งพาวเวอร์พอยท์นำเสนอบางหน้า
แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/100001018909881/posts/4563714153672503/