“…ชีวิตของเราหรือองค์กร เปรียบเหมือนหนังเรื่องหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงเพียงทำให้ภาพสวยขึ้น แต่เค้าโครงเรื่องเหมือนเดิมแบบ Remaster คงไม่เพียงพออีกต่อไปในโลกอนาคตหลังวิกฤตโควิด ต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น แต่หากจะ Reset หรือสร้างใหม่ทั้งหมด ก็คงไม่เหลือเค้าโครงความเป็นเรา ดังนั้นการเปลี่ยนแบบ Remake อาจจะตอบโจทย์กว่า ที่ยังเหลือเค้าโครงเก่า แค่ปรับตัวเองให้เป็นเวอร์ชันใหม่ที่ดีกว่า ตรงนี้สามารถทำไปใช้ได้ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และสถาบันการศึกษา…”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหง นายสันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการ Sea Group ประเทศสิงคโปร์ ในฐานะผู้เขียนหนังสือ The Great Remake ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษการก้าวสู่โลกใหม่ หลังวิกฤตโควิด ผ่านโปรแกรม zoom
โดยเปิดแนวทางการ ‘Remake’ เตรียมความพร้อมบุคคลและองค์กร ในการดำเนินชีวิตในอนาคตหลังวิกฤตโควิด ซึ่งประกอบไปด้วยหลัก 3R ได้แก่ Rethink คือการชวนคิดว่าโลกหลังวิกฤตโควิดจะเป็นอย่างไร, Reimagine คือการมองลึกถึงความต้องการในโลกอนาคต ว่าเราควรจะเตรียมความพร้อมปรับตัวเองหรือองค์กรอย่างไรต่อไป และ Remake คือบทบาทในการเปลี่ยนแปลงของสถาบันการศึกษาในอนาคตควรจะเปลี่ยนแลงอย่างไร ให้ตอบโจทย์โลกอนาคต
“ชีวิตของเราหรือองค์กร เปรียบเหมือนหนังเรื่องหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงเพียงทำให้ภาพสวยขึ้น แต่เค้าโครงเรื่องเหมือนเดิมแบบ Remaster คงไม่เพียงพออีกต่อไปในโลกอนาคตหลังวิกฤตโควิด ต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น แต่หากจะ Reset หรือสร้างใหม่ทั้งหมด ก็คงไม่เหลือเค้าโครงความเป็นเรา ดังนั้นการเปลี่ยนแบบ Remake อาจจะตอบโจทย์กว่า ที่ยังเหลือเค้าโครงเก่า แค่ปรับตัวเองให้เป็นเวอร์ชันใหม่ที่ดีกว่า ตรงนี้สามารถทำไปใช้ได้ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และสถาบันการศึกษา” นายสันติธาร กล่าว
จุดเริ่มต้นของการ Remake จะต้องเริ่มจาก ‘Rethink’ การทำความเข้าใจกับวิกฤตโควิด จะช่วยให้เราก้าวเดินสู่โลกหลังใหม่ได้อย่างสมดุล สำหรับโควิด ถือเป็นวิกฤตที่เป็นตัวเร่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พบอยู่ด้วยกัน 6 ด้าน ดังนี้
1. De-globalisation (โลกาภิวัตน์) โลกาภิวัตน์คือการเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน เช่น การส่งออกข้ามประเทศ ซึ่งพบว่าในด้านการค้า ระหว่างประเทศกลับเติบโตได้ดีมาก จนมีปัญหาท่าเรือเต็มหรือส่งของไม่ทัน, การลงทุนข้ามประเทศ พบในตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวได้ดีมาก ทั้งในไทยและต่างประเทศ, การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ อย่างใน Youtube หรือ Netflix ต่างเติบโตอย่างมากเช่น
แต่ที่น่าห่วง คือ การท่องเที่ยว แม้หลายประเทศทั่วโลกจะประกาศเปิดเมืองและมีนโยบายว่าจะอยู่ร่วมกับโควิด แต่ตอนนี้มีผู้เดินทางทั่วโลกหายไปกว่า 1 พันล้านคน ซึ่งลดลงอย่างมากเทียบเท่าตัวเลขย้อนหลังไป 30 ปี ดังนั้นในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้บริโภคอาจยังชะลอตัวอีก 1-2 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะการมีมาตรการทางสาธารณสุขเข้ามากำกับทำให้คนรู้สึกยุ่งยากขึ้น
2. Devided (ความเหลื่อมล้ำ) การแพร่ระบาดของโควิดทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ผู้ที่กระทบมากที่สุดคือภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงมาอยู่บ้านมากขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs รายได้ลดลง 73% ส่งผลให้สุขภาพจิตแย่ลง และกลุ่มผู้หญิงที่ต้องเทคแคร์ครอบครัวดูแลครอบครัวมากขึ้นในช่วงนี้ ส่งผลให้รายได้หายไป 70% และการต้องทำหลายอย่างจึงทำให้สุขภาพจิตก็ลดลงไปด้วย รวมถึงกลุ่มแรงงานที่โดนการแทรกแซงของเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโรค
3. Dept (หนี้) ปัจจุบันรัฐไทยยังไม่ถือว่าถังแตก ไทยยังพอมีความสามารถในการกู้ในยามฉุกเฉินได้อยู่ แต่ที่น่ากลัวกว่าคือหนี้ภาคครัวเรือนของไทย ซึ่งน่ากลัวอยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่มีโควิด พอในยุคโควิดกลับทำให้กราฟโปร่งขึ้นไปอีก แสดงว่าความสามารถในการชำระหนี้ส่วนบุคคลตกต่ำลงมาก
4. Degradation of Environment (ESG) (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) เทรนด์นี้กำลังมาแรงขึ้น เพราะส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนที่หันมาผลักดันกันมากขึ้น เพราะปัจจุบันนักลงทุนใหญ่ได้ให้ปฏิญญากับองค์การสหประชาชาติ (UN) ว่าจะลงทุนในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมแบบ ESG ประกอบกับการทำข้อตกลงระหว่างจีนและอเมริกาว่าจะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้กระแสเศรษฐกิจสีเขียวมาแรงมาก
5. Divergence (ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ) ปัจจุบันขั้วอำนาจเริ่มแปรเปลี่ยน จากเดิมสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำโลกเสมอ แต่หลังจากก้าวพลาดในวิกฤตโควิด ส่งผลให้จีนและเอเชียเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งในอีก 10 ปี ข้างหน้าจีนอาจมาแทนที่อเมริกา
อย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นมามีบทบาทของจีนไม่ใช้แค่เรื่องไซส์อย่างเดียว ยังมีเรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้วย เพราะแม้สหรัฐอเมริกาจะมีเทคโนโลยีเขาจะล้ำ แต่ประชากรของเขานั้นไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมาก แต่ประชาชนในจีนกลับยืนยอมเปิดเผย ทำให้การพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ของจีนมีความแม่นยำมากกว่า ไม่เพียงแค่จีน เอเชียเองก็เนื้อหอม เพราะภายในปีครั้งที่ผ่านมา มีบริษัทรายใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว
6. Digitalisation (การเข้าสู่โลกดิจิทัล) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ 6 ประเทศใหญ่ๆ ในภูมิภาคอาเซียน อาทิ ประเทศไทย มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบประชาชนรายใหม่ใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นเป็น 70 ล้านคน คิดเป็น 64% ขณะที่จีนเพิ่มขึ้น 350 ล้านคน คิดเป็น 78% และการที่โควิดทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถออกจากบ้านได้
ทำให้พรมแดนระหว่างการซื้อสินค้าออนไลน์ การสื่อสาร และความบันเทิงไปด้วยกัน เช่น จากเดิมเราอยากจะซื้อสินค้าใด ถึงจะเข้าไปดู แต่เดี๋ยวนี้เข้าไปโดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการอะไร ก็จะเข้าไปดูภายในแอปพลิเคชัน เข้าไปดูไลฟ์ ดูกิจกรรม หรือดีลต่างๆ เสมือนกับการไปห้าง ตรงนี้ทำให้นักลงทุนสนใจเศรษฐกิจในอาเซียนมาก
นอกจากนี้ในยุควิกฤตโควิดยังพบผู้ประกอบการหลายรายได้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ถึง 50% และมีผู้ประกอบการสร้างงานใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดแรงงาน 25%
“เทคโนโลยี ด้านหนึ่งเหมือนจะสร้างโอกาส แต่อีกด้านก็สร้างความเหลื่อมล้ำ เพราะ การขาดทักษะและความรู้ที่เกี่ยวข้อง อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์มีราคาแพงหรือคุณภาพต่ำ และมีความกังวลต่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ดังนั้นหากเราต้องการให้เทคโนโลยีช่วยเราได้อย่างแท้จริง เราต้องเอาชนะสิ่งเหล่านี้ให้ได้” นายสันติธาร กล่าว
สำหรับ ‘Reimagine’ หรือ ความต้องการของทักษะในโลกอนาคต จะต้องมี 4 ทักษะสำคัญ คือ Digital Skills ต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นอย่างไร้ข้อจำกัดของอายุ, Creativity and Innovation มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ และมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของมนุษย์ที่มีมากกว่าระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือหุ่นยนต์, Growth Mindset มีความรักในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเราจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาต่อไปได้ และ Leadership มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น สามารถทำงานเป็นทีมได้ เพราะทักษะนี้ไม่เพียงทำให้ตัวเราดีขึ้น แต่ยังรวมถึงทุกคนในองค์กรด้วย
ส่วน ‘Remake’ หรือบทบาทในการเปลี่ยนแปลงของสถาบันการศึกษาให้ตอบโจทย์โลกอนาคต จะต้องเปลี่ยนแปลง 5 ประการ คือ Soul การเป็นพื้นที่ให้หาตัวเองให้เจอว่าอะไรที่เราถนัดหรือไม่ถนัด, Accepting Diversityการเป็นพื้นที่สร้างการยอมรับ เคารพ และเรียนรู้จากความแตกต่างจากผู้คนที่หลากหลาย เพราะความแตกต่างตรงนี้จะช่วยทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆที่มีความหลากหลายได้, Empathy การเป็นพื้นที่ในการเข้าอกเข้าใจกัน สิ่งนี้สำคัญมากเพราะความหลากหลายอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง เช่น ความแตกต่างของเจเนอเรชัน ดังนั้นเราต้องสร้างพื้นที่ที่ให้คนเข้าใจและศึกษาความหลากหลายของกันและกันมากขึ้น แล้วความแตกต่างตรงนี้จะกลายเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ได้ Failure การมีพื้นที่ให้ได้ลองได้ล้ม ความล้มเหลวไม่ใช่ตราบาป แต่สิ่งที่แสดงความกล้าหาญที่จะฉีดกฎอะไรใหม่ๆ และ Safe การมีพื้นที่ปลอดภัย ให้แต่ละคนได้ค้นหาตัวเอง มีพื้นที่ให้ลองและล้มได้ โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นตราบาปของชีวิต
“แม้ว่าเทคโนโลยี หรือออนไลน์จะสำคัญ แต่จุดที่สำคัญที่สุดของการเป็นมหาวิทยาลัย คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งไม่มีพื้นที่อื่นที่จะทำได้เท่า” นายสันติธาร กล่าวทิ้งท้าย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage