"...เงินก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่ใช่ว่าจะใช้หมดไปในปีสองปี จึงควรหาวิธีบริหารเงินให้งอกเงย โดยเงินที่ยังไม่ต้องใช้ภายใน 5 ปีขึ้นไปสามารถนำไปลงทุนที่รับความเสี่ยงได้เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น ท่านจะบริหารเองก็ได้ถ้าท่านมีความรอบรู้เพียงพอ แต่ต้องระวังอย่ากระโจนใส่การลงทุนที่หลอกลวง หรือลงทุนในอะไรที่ท่านไม่เข้าใจแต่จูงใจเหลือเกิ๊นนนนนน..."
วัยเกษียณคือวัยที่มีรายได้ลดน้อยลง เพราะเกษียณแล้วไม่ได้ทำงานประจำแบบเดิม และแม้จะสามารถลดค่าใช้จ่ายทั่วไปในการดำรงชีวิตได้ แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น
เมื่อเป็นอย่างนี้ แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนจะมีโอกาสสูงเกินกว่ารายได้รายเดือนที่อาจได้รับจากการทำงานพิเศษต่างๆ และอาจจะมากกว่ารายได้จากดอกเบี้ยและการลงทุน ซึ่งยิ่งสูงวัยรายได้ก็จะหดหายลงไปเรื่อยๆ จนอาจเหลือแต่เงินก้อนสุดท้ายที่จะมีค่าน้อยลงเพราะราคาสินค้าและบริการจะแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้เกษียณคือแผนการจัดการเงินทองที่เหมาะสม
ใครพึ่งพาบุตรหลานได้ก็ถือว่ามีมหาโชค แต่อาจพบว่าพึ่งพาไม่ได้เพราะลำพังครอบครัวของเขาก็ดิ้นรนลำบากอยู่แล้ว
เมื่อเป็นอย่างนี้ การวางแผนเงินทองของตนเองยามเกษียณก็ยิ่งสำคัญ ต้องทำให้เงินที่มีเพียงพอต่อการใช้ไปตลอดชีวิต
แต่ก่อนเคยแนะนำว่าหากเงินเกษียณไม่พอ พึ่งพาใครไม่ได้ ก็ให้ไปผูกชีวิตกับวัด แต่ยุคโควิดทำให้ทุกอย่างเปลี่ยน เพราะวัดไม่อู้ฟู่แบบเดิมแล้ว ขืนไปเกาะวัดกินก็อาจได้ไปเกิดใหม่ก่อนจะใช้เงินก้อนสุดท้ายจนหมด
สิ่งที่ต้องทำทันทีเมื่ออ่านบทความนี้จบ
1. ตรวจสอบสวัสดิการสุขภาพของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง ... สิทธิข้าราชการ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ และศึกษาวิธีการเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพที่ท่านมีเอาไว้ล่วงหน้า เพราะนี่จะเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดของคนวัยนี้ที่ท่านจะได้ใช้แน่ๆ
2. ตรวจสอบหนี้สินที่คงเหลือและปลดภาระให้จบสิ้นทันที หรือปลอดหนี้ให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยทิ้งไว้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
3. จัดทำบัญชีรายจ่ายเป็นรายเดือนล่วงหน้า ว่าแต่ละเดือนมีรายจ่ายชนิดต่างๆ เท่าไหร่ อันนี้ให้เริ่มต้นทำใหม่เพราะเกษียณแล้วชีวิตจะปรับเปลี่ยน รายจ่ายจึงเปลี่ยนไปด้วย ... ส่วนด้านรายได้รายเดือนนั้นถ้ามีเพิ่มจากการทำงานในวัยเกษียณก็ใส่ลงไป ถ้าไม่มีก็คือไม่มี ทำไงได้ ... หลังจากนั้นให้ดูว่าจำนวนเงินก้อนสุดท้ายที่มีอยู่นั้นเมื่อหักรายจ่ายดังกล่าวแล้วจะเพียงพอใช้ไปอีกกี่ปี
ตัวอย่าง
ศิริ มีเงินก้อนอยู่ 8 ล้านบาท ประมาณการรายจ่ายต่อเดือนคือ 30,000 บาท หรือ 360,000 บาทต่อปี ... แบบนี้เงินก้อน 8 ล้านบาทจะทำให้ดำรงชีวิตต่อไปได้อีกประมาณ 22 ปี
มงคล มีเงินก้อนอยู่ 20 ล้านบาท ประมาณการรายจ่ายต่อเดือนคือ 200,000 บาท หรือ 2,400,000 บาทต่อปี ... แบบนี้เงินก้อน 20 ล้านบาทจะทำให้ดำรงชีวิตต่อไปได้อีกประมาณ 8 ปีเท่านั้น
จากตัวอย่างจะเห็นว่า มงคลมีเงินเก็บมากกว่าศิริ แต่มงคลมีสถานการณ์แย่กว่าศิริ เพราะมีเงินดำรงชีพไปได้อีกแค่ 8 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นจะทำอย่างไร … ต้องรีบตายไปเลยใช่ไหม ... ไม่ต้องรีบ ควรอยู่ดูโลกใหม่ที่มีวิวัฒนาการเปลี่ยนรูปโฉมไปนานๆ
สรุปคือจำนวนเงินเก็บก้อนสุดท้ายที่มีอยู่ แม้จะดูมาก แต่ไม่ใช่ว่าได้เปรียบคนอื่น เพราะมันขึ้นกับรายจ่ายของเราด้วย
ถ้าคำนวณแล้วพบว่าเหลือเงินใช้อีกไม่กี่ปี และคงไม่ตายเร็ว จะทำอย่างไร
1. ลดรายจ่ายประจำ เช่น ค่าอาหาร ค่าสังสรร ค่าเสื้อผ้า ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ค่าสมาชิกต่างๆ ฯลฯ และระวังอย่าช้อปออนไลน์จนเพลิน
2. ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย โดยขายไป หรือให้เช่า แล้วไปอยู่ร่วมกันกับญาติ ลูกหลาน เพื่อนสนิท หรือไปอยู่ในจังหวัดที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าที่เราอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ การไปอยู่ในที่พักเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ ถ้ามันทำให้เราประหยัดเงินได้มากกว่า ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก เพราะหลายที่มีบริการดูแลที่เหมาะสมกับวัยเกษียณอีกด้วย
มีหลายท่านที่มีเงินพอใช้ยามเกษียณก็ยังย้ายไปอยู่เลย เพราะมีชีวิตที่ดีกว่า เหมาะสมกว่า มีการทำกิจกรรมสูงวัยที่เหมาะสม มีเพื่อน แถมจะเจ็บป่วยอย่างไรก็มีการดูแลหรือช่วยเหลือติดต่อส่งท่านไปยังสถานพยาบาลอีกด้วย
3. นำที่อยู่อาศัยไปทำ Reverse Mortgage กับธนาคารต่างๆ
นี่คือนวัตกรรมทางการเงินที่ยอดเยี่ยมที่เกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้ให้ผู้สูงวัยที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตน ซึ่งเป็นการจำนองแบบย้อนกลับ คือเอาที่อยู่อาศัยของท่านไปจำนองกับธนาคาร แล้วธนาคารจะให้เงินให้ท่านทุกเดือนเหมือนธนาคารมาขอผ่อนซื้อบ้านของเรา เราจะได้เงินสดมาใช้จ่ายแต่ละงวดตามที่ทำสัญญากับธนาคารโดยท่านยังอยู่อาศัยในบ้านของท่านได้ พอครบกำหนดตามที่ตกลงกับธนาคารไว้บ้านหลังนั้นก็จะตกเป็นของธนาคาร
แล้วกำหนดเวลาที่ว่าจะนานกี่ปี ... จะเกิดกรณีที่ยังไม่ตายแต่ธนาคารมายึดบ้านไปจนท่านต้องไปนอนใต้สะพานลอยไหม
กรณีนี้ธนาคารจะตีมูลค่าบ้านพร้อมกับประเมินอายุเฉลี่ยของท่าน แล้วธนาคารจะทยอยจ่ายเงินค่าบ้านให้ท่านเป็นรายเดือน หรือรายงวดตามแต่จะตกลงกัน โดยท่านยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหลังนั้น ยังอาศัยอยู่ในบ้านได้จนเสียชีวิตหรือตัดสินใจขายบ้านไปก่อน ซึ่งหลังครบกำหนดตามสัญญา บ้านก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร โดยธนาคารสามารถนำบ้านไปขายทอดตลาดต่อไป
4. เพิ่มรายได้จากการขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็น เช่น ของสะสมอย่างกระเป๋า เสื้อผ้า นาฬิกา เครื่องประดับ (บางคนมีเป็นหลายล้าน)
5. หารายได้เสริม ผู้เกษียณจำนวนมากยังใช้ความสามารถสร้างรายได้ ได้อยู่ เช่น ทำขนม อาหาร เป็นที่ปรึกษาบริษัท เป็นบล็อคเกอร์ เป็นยูทูบเบอร์แนะนำเรื่องต่างๆ ฯลฯ
ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม
เงินก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่ใช่ว่าจะใช้หมดไปในปีสองปี จึงควรหาวิธีบริหารเงินให้งอกเงย โดยเงินที่ยังไม่ต้องใช้ภายใน 5 ปีขึ้นไปสามารถนำไปลงทุนที่รับความเสี่ยงได้เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น ท่านจะบริหารเองก็ได้ถ้าท่านมีความรอบรู้เพียงพอ แต่ต้องระวังอย่ากระโจนใส่การลงทุนที่หลอกลวง หรือลงทุนในอะไรที่ท่านไม่เข้าใจแต่จูงใจเหลือเกิ๊นนนนนน ... เช่น ไม่เข้าใจใน “บิทคอยน์” แต่เห็นผลตอบแทนสูงปรี๊ดเลยกระโจนเข้าไปลงทุน ผลที่ได้ในที่สุดอาจเป็นการถูก “บิดคอ” ก็ได้
การลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยมีการปรึกษาหารือกับผู้แนะนำการลงทุนของ บลจ./ ของธนาคาร / ของ บล / ของ บลน ที่เขามีใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า เพราะท่านจะได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมกับสถานะของท่านเป็นการเฉพาะ และมีกองทุนรวมที่เปิดโอกาสให้ลงทุนได้หลากหลายให้พิจารณา
ทั้งนี้ ควรเน้นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอจากการลงทุนเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย และลดการดึงเงินต้นออกมาใช้ให้มากที่สุด เช่น กองทุนตราสารหนี้ที่จ่ายเงินคืนระหว่างการลงทุน กองทุนหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จ่ายปันผล กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ เป็นต้น
ตัวอย่างสัดส่วนการลงทุนสำหรับผู้เกษียณ
เงินฝาก หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนตราสารหนี้ 40-60%
หุ้น กองทุนหุ้น 10-40%
ทองคำ กองทุนทองคำ 5-10%
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ / กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน / กองทุนทางเลือกอื่นๆ 10-15%
ที่สำคัญคือ ควรปรึกษากับผู้แนะนำการลงทุนที่มีใบอนุญาตดังกล่าวข้างต้น ก่อนจะจัดสรรการลงทุน เพราะแต่ละท่านมีความต้องการ มีข้อจำกัด ที่ไม่เหมือนกัน และอย่าลืมว่าการลงทุนนั้นๆ ต้องมีสภาพคล่องในการไถ่ถอนมาใช้จ่ายด้วย
สิ่งที่ต้องระมัดระวัง
การให้เงินก้อนให้ลูกหลาน หรือเพื่อนฝูง ต้องมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อเงินออมเพื่อดำรงชีพในวัยเกษียณ ถ้าเรายังไม่พอใช้ก็อย่าไปจ่ายให้
หลายคนอยากไปทำสวนทำไร่ แต่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน เรี่ยวแรงก็ถดถอย อาจขาดทุน เจ็บป่วย และกระทบเงินออมสำหรับวัยเกษียณได้
ระวังการต้มตุ๋น หลอกลวง แชร์ลูกโซ่ กองทุนที่ผิดกฏหมาย ฯลฯ โดยเฉพาะผลตอบแทนที่เหลือเชื่อ หรือมีคนเข้ามาเยินยอความสำเร็จในอดีต ทำให้หลงเชื่อจ่ายเงินไป
คำเตือน
คนวัยเกษียณจะมีเวลาว่างและมีเงินก้อนในมือ จึงมักจะอยากใช้จ่าย อยากให้รางวัลตนเอง อย่าเพลิดเพลินกับเวลาที่มีและเงินในมือ ต้องประมาณให้ดีก่อนใช้ ไม่เช่นนั้นเงินอาจหมดได้
มันเป็นเรื่องเศร้า ถ้าเราตายก่อนใช้เงินหมด ….. เป็นเรื่องแสนสลด ถ้าใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย
วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด
18 พฤศจิกายน 2564