"...ตามปกติแล้ว จัดซื้อคลอรีนจะแยกการจัดซื้อตามความต้องการใช้งานของแต่ละโรงผลิตน้ำ อำนาจอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง หากวงเงินสูงเกิน 200 ล้านบาท ต้องนำเรื่องเข้า คณะกรรมการกปน.ให้พิจารณาอนุมัติ คนเป็นกรรมการหากไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของเรื่อง เผลอไปเห็นชอบมีมติให้ผ่าน มีหวังโดนลากเข้าไปรับผิดแทนคนสั่งการ ผู้ว่าต้องพิงบอร์ดให้ช่วยค้านก็น่าจะดี..."
ขุมทรัพย์ที่นักกินบ้านกินเมืองทุกยุคทุกสมัยจ้องตาเป็นมัน คงหนีไม่พ้น งบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง
อย่าถามว่าปี ๆ หนึ่งใช้จ่ายไปเท่าไรเลย ถามว่าปีหนึ่งรั่วไหลเข้ากระเป๋าคนทุจริตไปเท่าไร น่าจะสนุกกว่า
ตัวอย่างที่จะมาเล่าให้ฟังวันนี้ เกี่ยวกับคลอรีนสำหรับบำบัดน้ำดิบที่ส่งเป็นน้ำประปาถึงทุกบ้าน ปี ๆ หนึ่ง ต้องจัดซื้อจัดหามาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต เพื่อให้เพียงพอหล่อเลี้ยงสำหรับคน 10 ล้านคนในเขตกรุงเทพมหานคร
เคยทราบหรือไม่ว่าราคาสารคลอรีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต มีราคาต่อหน่วยอยู่เท่าไร และ แต่ละปีใช้เงินจัดซื้อไปมากเท่าไร ข้อมูลนี้ เราสามารถหาคำตอบได้ที่ actai.co (ราคาซื้อขายคลอรีนย้อนหลังเข้าถึงได้ที่ https://actai.co/Project?search="การประปานครหลวง"%2B"คลอรีน"&fillterPj="")
1. ราคาซื้อคลอรีนต่อหน่วย (ท่อ/ตัน) มีตั้งแต่ 2,500 - 15,000 บาท
2. กลไกตลาดมีผู้ผลิตรายใหญ่ 3 - 4 ราย ผู้ขายผลิตขายเอง หรือ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว นำไปขายเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาต่อหน่วยจะแปรผันมากขนาดนี้
3. ลูกค้าชั้นดีที่เป็นหน่วยรัฐ ได้แก่ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และ การประปาชุมชน รวมถึงลูกค้าเอกชนทั่วไป
4. การประปานครหลวง มีโรงงานกรองน้ำอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ บางเขน สามเสน ธนบุรีและมหาสวัสดิ์ โดยปกติจะจัดซื้อแยกของแต่ละโรง หรือบางครั้งก็จับคู่ซื้อพร้อมกัน
จากฐานข้อมูลสืบค้นย้อนหลัง พบว่า
ปี 62 จัดซื้อคลอรีน 10,700 ตัน ราคาเฉลี่ยต่อหน่วย 2,556 บาท โดยวิธี E-Bidding
ปี 63 จัดซื้อคลอรีน 5,000 ตัน ราคาเฉลี่ยต่อหน่วย 3,369 บาท โดยวิธีเจาะจง
ปี 64 จัดซื้อคลอรีน 7,300 ตัน ราคาเฉลี่ยต่อหน่วย 4,699 บาท โดยวิธีเจาะจง
3 ปีย้อนหลังที่เคยจัดซื้อสารคลอรีนเหลวแบบบรรจุท่อ ปริมาณจัดซื้อรวม 23,000 ตัน ราคาเฉลี่ยต่อหน่วย อยู่ประมาณ 3,500 บาทต่อตัน เท่านั้นเอง !!!
ทำไมราคาที่เคยจัดซื้อจึงสำคัญ ? เพราะจะกลายเป็นบรรทัดฐานราคาอ้างอิง การจัดซื้อในอนาคตนั้นเอง
อยู่ ๆ เราคงไม่ซื้อของชนิดเดิม สเปคแบบเดิม ในราคาที่สูงกว่าราคาที่เคยซื้อ ถูกไหม ? เว้นแต่มีเหตุพิเศษ
ส่วนวิธีจัดหา ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน จากข้อมูลจะเห็นว่า ปี 62 ใช้วิธีจัดหาโดนเปิดประมูล ทำให้ได้ราคาต่ำสุด แต่พอปี 63-64 เปลี่ยนมาใช้การจัดหาแบบเจาะจง จิ้มตัวคนขายจะเอาเจ้านี้ เห็นชัดว่าราคาแพงขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุ
หรือว่า คลอรีน เอาไปใช้ฆ่าไวรัสโควิดได้ ? ใครรู้วานคอมเม้นบอกหน่อย
จับตามอง
บังเอิญทราบมาว่า การจัดซื้อที่กำลังจะเกิดขึ้น พบความผิดปกติราคากลาง เพราะเล่นประกาศราคากลางไว้ที่ 15,000 บาท ต่อหน่วย สูงกว่าราคาที่เคยซื้อ 4 เท่า ดูสเปคของก็ สารคลอรีนที่เคยใช้มาก่อน ไม่ได้ผสมสารพิเศษอะไรเพิ่มเติม
ถ้าจะต้องจ่ายเงินไปซื้อของแบบเดิมในราคาที่สูงขึ้นเท่าตัว เป็นใคร ๆ ก็คงไม่ทำ ยิ่งต้องควักเงินตัวเองจ่ายยิ่งทำไม่ลง แต่เหตุผลนี้เอามาใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจไม่ได้ !
เกิดข่าวลือว่า มีการเปิดดีลให้คนสนิทวิ่งไปถามเอกชนผู้ผลิตรายใหญ่แห่งหนึ่งว่าสนใจไหม งานนี้ขอทอนจากส่วนต่างราคาที่จัดซื้อ โดยได้ไฟเขียวจากนักการเมืองชื่อดังจากภาคใต้ ท่านหนึ่งจะช่วยสั่งการไปยังผู้ว่าให้จัดการตามที่คุย ส่วนจะตกลงกันกี่เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ให้แพร่งพราย !
เมื่อดีลจบ เลยมาออกประกาศจัดซื้อให้โลกรู้ว่าจะจัดซื้อคลอรีนอีกแล้วนะ แถมตั้งราคากลางโดยไม่สนว่าจะจ่ายแพงแค่ไหน
ด้านนักการเมืองชื่อดังจากภาคใต้ ก็สั่งการตรงไปที่ ผู้ว่าให้จัดซื้อคลอรีนของทั้ง 4 โรงรวบเป็นสัญญาเดียว จากเดิมที่แต่ละโรงกรองน้ำจะแยกกันซื้อ
เจอสั่งการแบบนี้ผู้ว่ายังจะกล้าทำไหมหนอ ?
พวกเราประชาชนคนจ่ายค่าน้ำ คงได้แต่ขอภาวนาให้ท่านโปรดอย่าหลงเชื่อคำกล่าวที่อ้างระเบียบไม่ได้แปลว่า คอร์รัปชันจะไม่เกิด และคนรับผิดคือคนอนุมัติ ไม่ใช่ไอ้คนสั่งการข้างหลัง
ตามปกติแล้ว จัดซื้อคลอรีนจะแยกการจัดซื้อตามความต้องการใช้งานของแต่ละโรงผลิตน้ำ อำนาจอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง หากวงเงินสูงเกิน 200 ล้านบาท ต้องนำเรื่องเข้า คณะกรรมการกปน.ให้พิจารณาอนุมัติ คนเป็นกรรมการหากไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของเรื่อง เผลอไปเห็นชอบมีมติให้ผ่าน มีหวังโดนลากเข้าไปรับผิดแทนคนสั่งการ ผู้ว่าต้องพิงบอร์ดให้ช่วยค้านก็น่าจะดี
ผลสุดท้ายของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร น่าจะทายกันได้ไม่ยาก
หากท่านพบเจอการจัดซื้อที่น่าสงสัย ลองมาสืบค้นราคาย้อนหลังได้ที่ actai.co
ที่มา : https://www.facebook.com/kittidej.koko/posts/10166139096300601