“…พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนในเรื่องของศาสนา เราเริ่มขยายตัวแล้ว ไม่ได้อยู่แค่ในวัด หรือมัสยิด แต่เริ่มกระจายไปในโลกออนไลน์ และหลายคนสามารถวิพากษ์วิจารย์ และถ่ายทอดการตีความศาสนาได้…”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา : สมาคมสังคมวิทยาสาธารณะจัดงานเสวนาศาสนากับความรุนแรงในมุมมองของผู้หญิง ผ่านเฟซบุ๊ก สมาคมวิทยาสาธารณะ - PSA เพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะของตัวแทนผู้หญิงในสังคมไทย เกี่ยวกับอำนาจของศาสนาและความรุนแรง
โดยยกปรากฏการณ์กระแสนิยม เมื่อพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ได้ออกมาไลฟ์สดสนทนาสอดแทรกธรรมะทางเฟซบุ๊ก และมีผู้เข้ามาชมกว่า 2 แสนคน มีข้อมูลดังนี้
ผศ.ดร.อัมพร หมาดเด็น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสัมคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า เดิมในชุมชนทั่วไปเราอาจคาดหวังให้พระสงฆ์สำรวมกายและจิตใจ แต่เมื่อเกิดปรากฏการ ‘กระแสนิยม พส.’ ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก มีการใส่ลูกเล่น ให้คนเข้ามาสนใจ ทำให้เกิดเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางสังคมที่มีคนเข้ามาชมกว่าแสนคน ซึ่งหลายคนให้ความสนใจมาก เพราโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด เพราะการไลฟ์สดดังกล่าวทำให้คนรู้สึกว่ามีที่พึ่ง บางคนได้กลับมาทบทวนตัวเอง ได้กลับมาทบทวนคำสอน และกรณีที่ว่าง หลายคนก็มาดูไลฟ์สดตลอด
“ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนในเรื่องของศาสนา เราเริ่มขยายตัวแล้ว ไม่ได้อยู่แค่ในวัด หรือมัสยิด แต่เริ่มกระจายไปในโลกออนไลน์ และหลายคนสามารถวิพากษ์วิจารย์ และถ่ายทอดการตีความศาสนาได้” ผศ.ดร.อัมพร กล่าว
ส่วนกรณีผู้หญิงมุสลิมเป็นผู้ที่ถูกกดขี่ในทางศาสนานั้น มีหลายคนที่พยายามยกตัวอย่างจากงคัมภีร์อัลกุลอานเพื่อแสดงถึงการยกย่องผู้หญิง เพื่อตอบกลับสังคมว่าในหลักการทางศาสนาไม่ได้กดขี่ผู้หญิง แต่เป็นการปลดปล่อยผู้หญิง อย่างไรก็ตามหากเรามองลึกเข้าไปจะพบว่า การอธิบายแบบนี้คือการไม่ยอมรับในความเป็นจริงที่มองว่ากระบวนการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงไม่มีความจำเป็น ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดปัญหากับสังคมมุสลิมและศาสนาที่ถูกตั้งคำถามและถูกท้าทาย
การนำเสนอทั้งชุดความเชื่อและประวัติศาสตร์มักนำมาต่อต้านกระแสการเรียกร้องสิทธิสตรี ว่ากลุ่มผู้เรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้รู้จักศาสนาอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็มักโยนปัญหา ชี้ให้เห็นว่าการเรียกร้องสิทธิสตรีมาจากการถูกอิทธิพลจากโลกตะวันตกครอบงำ
อย่างไรก็ตาม หากมองในสิ่งที่เราเผชิญไม่ว่าจะเป็นมุสลิม หรือไม่ใช่มุสลิม ตั้งคำถามว่าผู้หญิงถูกกดขี่จากศาสนาหรือผู้ชายกันแน่ ต้องย้อนกลับไปว่าหลักฐานทางศาสนาถูกบันทึกและรายงาน มาจากผู้ชายเป็นหลัก และในแง่ของการตีความก็จะมาจากชุดประสบการณ์ การจัดวางคำ การเลือกอภิปราย หรือการขยายข้อมูล จากกลุ่มของผู้ชายเป็นผู้รวบรวมข้อมูล
ขณะเดียวกันหากกลุ่มนักสตรีนิยมมีการยกข้อมูลคำสอนทางศาสนาออกมาโต้แย้ง ก็จะมีการใช้หลักการว่า หลักฐานใดทางศาสนาที่เข้มหรืออ่อน หรือมีการกำหนดความชอบธรรมว่าใครควรจะเป็นผู้ตีความ ทำให้นักสตรีนิยมบางกลุ่มที่คิดว่าหลักคำสอนศาสนาที่ถูกตีความแล้ว ยากที่จะรื้อ จึงไม่เอาหลักการทางศาสนาหรือการพูดถึงประวัติศาสนามาพูด
ด้าน ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่พระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปองมาไลฟ์สดแล้วมีคนติดตาเป็นแสนคนนั้น เราจะต้องมองเป็นบรรยากาศทั้งทางการเมืองและสังคมรวมๆ กัน หากสังเกตวิธีดารไลฟ์สดของพระวงฆ์ดังกล่าวนั้น จะคล้ายกับสไตล์การพูดของ น.ส.ลักขนา ปัณวิชัย หรือแขก คำผกา คือ ใช้ภาษาที่ตรงใจกลุ่มวัยรุ่นและคนวัย 20-30 ปี ที่เขาจะฟังภาษาและฟังเรื่องเล่า
“นี่คือการเข้ามามีบทบาทของกลุ่มคนชายขอบ ที่ในยุคหลังๆนี้เราจะเจอขึ้นบ่อย คือ เดิมท่านเป็นพระนักเทศน์ที่ดังในกลุ่มที่จำกัดก่อน แล้วมาดังในระดับเป็นแสนคน เพราะมีการผูกกับเพจเฟซบุ๊ก veen ของพระมหาเทวีเจ้า และหากติดตามเพจเฟซบุ๊กนี้ เราจะทราบว่าพระมหาเทวีเจ้าเอง ก็เป็นกลุ่มคนชายขอบเหมือนกัน คือ เขาเป็นสมาชิกในกลุ่ม LGBT และเป็นคนพุทธในภาคใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้เขายังไม่เป็นที่รู้จัก จนกระทั่งมาไลฟ์สดในเฟซบุ๊ก ทำให้คนกลุ่มนี้ที่มีความสามารถ และใช้ภาษาที่จึ้งและต๊าซมาก โดนใจกลุ่มผู้ชมที่ต้องการความแตกต่าง ไม่ใช่ว่าเวลาดูไลฟ์จะต้องใช้ภาษาทางการ ซึ่งดูล้าสมัยไปแล้วสำหรับคนยุคใหม่” ผศ.ดร.ลลิตา กล่าว
ความโดดเด่นของคนกลุ่มชายขอบนี้ เป็นเรื่องของใช้ภาษา และการผูกโยงสังคมเข้ากับการเมือง ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้เป็นช่วงที่การเมืองในประเทศไทยเข้มข้นมาก ทั้งพระมหาไพรวัลย์ พระมหาสมปอง เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Veen รวมถึงทุกคนที่ไลฟ์สด ต่างพูดเรื่องการเมืองหมด ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เราจะเห็นว่าคนดังจะไม่พูดเรื่องการเมือง แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นกระแสโต้กลับ หากใครไม่พูดถึงเรื่องการเมืองจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม
อย่างไรก็ตามตนเองมองว่า เนื่องจากคนรุ่นใหม่ก็ห่างวัด และขาดความเชื่อมั่นในศาสนา จากเหตุการณ์ต่างๆที่ได้พบเจอด้วยตาตัวเอง เมื่อเขาเห็นพระสงฆ์ทางเลือก เขาจึงสนใจ แต่จะสนใจในพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปองเป็นหลัก ไม่ใช่ในส่วนของศาสนา
ขณะที่ นางสาวนลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ thisable.me กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับ ผศ.ดร.ลลิตา ว่า ตนเองในฐานะคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้สนใจเรื่องศาสนา เพราะคนที่เชื่อในคอนเซ็ปต์ศาสนาพุทธ ค่อนข้างกดทับตนเองในฐานะที่เป็นผู้หญิงและคนพิการ
แต่เมื่อตนเองได้มาเจอพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง ก็รู้สึกว่าตรงนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้คนได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แล้วก็รู้สึกว่าเราสามารถพูดถึงศาสนากันได้โดยไม่รู้สึกว่าโดนกดทับจากคำสอนของศาสนา หรือรู้สึกว่าเป็นคนบาป เพราะก่อนหน้านี้เรามักจะโดนเสมอว่าที่เราพิการแบบนี้ เป็นเพราะชาติที่ผ่านมาเราทำไม่ดี และเมื่อจะเข้าวัดก็จะโดนน้ำมนต์ราดตลอด
สำหรับสิ่งที่ตนเองมองว่าคำสอนของศาสนานั้น กดทับในกลุ่มผู้พิการอย่างมากมีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องเวรกรรมภพชาติ มาตรฐานศีลธรรม คอนเซ็ปต์ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน และการบำบัดฟื้นฟู
เนื่องจากผู้พิการมักถูกมองว่า ชาติที่ผ่านมาทำไม่ดี ชาตินี้จึงพิการ ส่งผลให้เกิดใบอนุญาติ ที่ทำให้ผู้พิการถูกล่วงละเลยเมิดทางร่างกายและจิตใจ และไม่ถูกมองว่าเป็นมนุษย์ เป็นที่มาให้บางคนทำสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือมาตรฐานศีลธรรมต่อผู้พิการ เช่น การมาจับขาเพื่อดูว่าเป็นขาปลอมหรือไม่ ทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน หรือการไม่มีสิทธิตัดสินใจทำแท้งหรือการเก็บรักษาลูกไว้ เป็นต้น
ส่วนในเรื่องคอนเซ็ปต์การพึ่งพาตนเองนั้น มักจะถูกนำมาโต้แย้งเมื่อผู้พิการเรียกร้องสิทธิเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ หรือความเท่าเทียมกันทางเพศ บางคนมองว่าสังคมให้คนพิการมากอยู่แล้ว จึงถูกมองว่าเป็นผู้ที่ไม่รู้จักพอ และในการบำบัดฟื้นฟู เราอาจเคยเห็นหรือได้ยินเหตุการณ์ว่า ให้ตบบ้องหู เพื่อทำให้ได้ยิน การเอาคางคกมาตบปาก เพื่อให้กลับมาพูดได้ หรือการเอาน้ำร้อนมาเทใส่ขา เพื่อให้เกิดความรู้สึก พิธีเหล่านี้แม้จะไม่ใช่พิธีกรรมทางศาสนา แต่ก็มีพบในอารามวัด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage