ในท้ายที่สุด เราควรหันมาพิจารณาว่า ถึงใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับอาจารย์วีรพงษ์อย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่อาจารย์วีรพงษ์ทำมาได้ตลอดชีวิต คือการรักษาชื่อเสียง เกียรติยศ และความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาจากการทำงานในตำแหน่งต่างๆไม่ว่าในภาครัฐและภาคเอกชน ในความทรงจำของผู้เขียนขณะที่ทำงานอยู่ที่ ป.ป.ช.
ตอนนี้ เพื่อนนักเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัยกับผู้เขียน เริ่มล้มหายตายจากกันไปทีละคนสองคน เมื่อต้นปี 2563 ดร. ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เสียชีวิตไปเฉยๆโดยมิได้เจ็บป่วยหรือมีอาการผิดปกติอะไรมาก่อน ถัดมาอกไม่กี่เดือน สุภชัย มนัสไพบูลย์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานของไทย ก็เสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนไปอีกคน ล่าสุด เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ย. 2564 เราก็ได้ข่าวว่า ดร. “โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ (อีกแล้ว) ได้ถึงแก่กรรมไปอีกคนหลังจากป่วยมาระยะหนึ่ง เพื่อนของผู้เขียนทั้งสามคนนี้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี และมีผลงานของแต่ละคนน่าสนใจทั้งสิ้น แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนจะเขียนถึงเฉพาะความทรงจำเกี่ยวกับ ดร. โกร่ง หรืออาจารย์วีรพงษ์ที่ผมจะเรียกต่อจากนี้ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการไว้อาลัยการสูญเสียนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของประเทศคนนี้
อาจารย์วีรพงษ์ กับผู้เขียนเป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษารุ่นเดียวกัน คือรุ่นที่ 23 ที่เข้าเรียนพร้อมกันเมื่อปี พ.ศ. 2503 เมื่อตอนอยู่โรงเรียนเตรียมฯยังไม่รู้จักกันเพราะอาจารย์วีรพงษ์อยู่แผนกวิทยาศาสตร์ ส่วนผู้เขียนอยู่แผนกอักษรฯ แต่อย่างน้อยเราก็มีอะไรเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือเราต่างโชคดีได้รับเลือกให้อยู่ห้องคิงของแต่ละแผนกด้วยกันทั้งคู่ ทำให้มีโอกาสได้เรียนร่วมกับนักเรียนระดับมันสมองของประเทศอย่างเช่น สุรศักดิ์ นานานุกูล (ที่หนึ่งประเทศไทยแผนกวิทยาศาสตร์) และ นวพร เรืองสกุล (ที่หนึ่งประเทศไทยแผนกอักษรฯ) เป็นต้น และที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่ง เราสองคนคงอยากจะเรียนจบมหาวิทยาลัยไวๆ เลยไปสอบเทียบ ม. 8 ขณะที่ยังเรียนอยู่ ม. 7 เมื่อรู้ผลว่าสอบได้แล้วก็สมัครสอบเข้าจุฬาฯต่อเลยทันที ที่คณะรัฐศาสตร์ และสอบได้เหมือนกันอีก ตกลงเลยเราเลยเข้าเป็นนิสิตปีหนึ่งที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมกันเมื่อปี พ.ศ. 2504 เป็น “สิงห์ดำ” รุ่นที่ 14 และเป็นที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯนี้เอง ที่อาจารย์วีรพงษ์ได้รับฉายาหรือชื่อเล่นจากเพื่อนๆว่า “โกร่ง” เพราะในตอนนั้นอาจารย์ตัวผอมมาก เหมือนตัวการ์ตูน “ลุงโกร่ง กางเกงแดง” ที่เป็นที่รู้จักกันในขณะนั้น
เราสองคนเลือกเรียนสาขาการปกครองเหมือนกัน ซึ่งอนาคตการทำงานในขณะนั้นคือจบแล้วส่วนใหญ่จะสมัครไปเป็นปลัดอำเภอ ถ้าถามว่าผู้เขียนอยากเป็นปลัดอำเภอจริงๆหรือ คำตอบคือไม่ใช่ ที่เลือกเข้าไปเรียนคณะรัฐศาสตร์ก็เพราะว่าเห็นว่ามีวิชาสอบเข้าที่มีโอกาสจะสอบได้มากกว่า ผู้เขียนไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าอาจารย์วีรพงษ์คิดอย่างไรจึงสมัครเข้ามาเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ แต่แล้วในที่สุดเราก็มาเหมือนกันอีกตรงที่ว่า เมื่อตอนที่อยู่ปี 2 ผู้เขียนสอบได้ทุนโคลัมโบที่ทางรัฐบาลนิวซีแลนด์มอบให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อนร่วมคณะที่ได้ทุนพร้อมกับผู้เขียนไม่ใช่ใครอื่น แต่คือชัยอนันต์ สมุทวณิช เพื่อนร่วมชั้นทีรัฐศาสตร์นี้เอง ส่วนอาจารย์วีรพงษ์นั้นเรียนการปกครองจนจบ แต่ไม่ได้ไปเป็นปลัดอำเภอ ด้วยความที่เป็นนิสิตทีเรียนเก่งมากๆ และสอบได้ที่หนึ่งของชั้นทุกปี คณะฯเลยขอให้เป็นอาจารย์ต่อที่คณะ และอีกไม่กี่ปีต่อมาก็ได้ทุน Rockefeller ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษ 1970 (ไปเป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ Lawrence Kline ผู้ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1980) ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกันกับที่ผู้เขียนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกาเหมือนกัน ในที่สุด เราก็กลับมาเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ โดยอาจารย์วีรพงษ์ทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ที่จุฬาฯ ซึ่งเป็นคณะใหม่ที่แยกตัวมาจากสาขาการคลังของคณะรัฐศาสตร์ ส่วนผู้เขียนไปทำงานต่อที่คณะเศรษฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ ต่อมาในปีช่วงปี พ.ศ. 2523 - 2525 เราทั้งสองประสบความสำเร็จได้รับเลือกให้เป็นคณบดีด้วยกันทั้งคู่ในคณะของแต่ละคน
ดูเหมือนว่าชีวิตการเรียนและการทำงานของเราทั้งสองจะคู่ขนานกันไปเรื่อยๆ แต่แล้วสัจธรรมแห่งชีวิตก็ปรากฏให้เห็นว่าถึงแม้ว่าเราจะเรียนมาเหมือนๆกัน แต่ความสามารถในช่วงการทำงานจะสร้างความแตกต่างในแก่ชีวิตอย่างมหาศาล ความสามารถอันโดดเด่นของอาจารย์วีรพงษ์นั้น นอกจากพื้นความรู้ในทางเศรษฐศาสตร์และเศรษฐมิติแล้ว อาจารย์ยังมีความสามารถในการพูดและอธิบายเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการและความหมายในทางเศรษฐศาสตร์มหภาคที่เข้าใจยากอย่างเช่นอัตราแลกเปลี่ยน ภาวะเงินเฟ้อ และดุลการชำระเงิน ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ สัญลักษณ์การพูดของอาจารย์วีรพงษ์คือการพูดช้าๆ เนิบๆ เหมือนทิ้งจังหวะให้ผู้ฟังได้ติดตามสิ่งที่เจ้าตัวต้องการสื่ออย่างไม่ให้ผิดพลาด เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผู้ฟังส่วนใหญ่ติดใจ และเป็นคุณสมบัติติดตัวอาจารย์วีรพงษ์ไปจนตลอดชีวิต ประกอบกับความตรงไปตรงมาในจุดยืนและความคิด และความกล้าหาญที่จะพูดหรือแสดงจุดยืนนั้นออกมา ทำให้อาจารย์วีรพงษ์เป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่อยู่ในแวดวงการเมือง (และธุรกิจ) หลายคน ได้เชื้อเชิญให้อาจารย์ไปเป็นที่ปรึกษา ประธานองค์กร กรรมการ หรือผู้ร่วมงาน อยู่จนตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน อาจารย์วีรพงษ์ได้ผลักดันตัวเองจากอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมดาให้กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย และผู้ประสบความสำเร็จในการควบคุมและชี้แนะการบริหารงานด้านธุรกิจเอกชนด้วยในเวลาเดียวกัน
จุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิตอาจารย์วีรพงษ์คือการได้รับเชิญให้เข้ามาอยู่ในคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2523 อาจารย์ได้ร่วมงานกับนักเศรษฐศาสตร์ฝีมือดีอีกคนหนึ่งคือ ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่พลเอกเปรมเชิญมาจากคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์มาเป็นโฆษกรัฐบาล และอยู่ในทีมที่ปรึกษาด้วย ความสามารถในการพูดและความตรงไปตรงมาของความคิดตามที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น ทำให้พลเอกเปรมให้ความไว้เนื้อเชื่อใจอาจารย์วีรพงษ์เป็นอย่างมาก ถึงเกือบจะพูดได้ว่าเรื่องไหนที่อาจารย์วีรพงษ์เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในทางเศรษฐกิจ พลเอกเปรมก็จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกัน จนหลายคนเชื่อว่าผู้ที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุดในขณะนั้น หากไม่นับพลเอกเปรมแล้ว ก็คืออาจารย์วีรพงษ์นี่เอง ผลงานที่เห็นผลเป็นรูปธรรมหลายเรื่องในช่วงที่อยู่กับพลเอกเปรม อาทิ เรื่องการยกเลิกค่าพรีเมี่ยมข้าว และนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาชายฝั่้งทะเลด้านตะวันออก (Eastern Seaboard) ทำให้ชื่อเสียงและเกียรติคุณของอาจารย์วีรพงษ์ได้รับการสืบทอดต่อมาในรัฐบาลหลายชุดต่อจากนั้น อาทิ รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นต้น โดยตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดที่ได้รับคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ รองนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่มิได้เป็นรัฐมนตรี อาจารย์วีรพงษ์ก็มีโอกาสได้เข้าไปนั่งในตำแหน่งที่สำคัญทางราชการหลายตำแหน่ง อาทิ ประธารคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการบริษัทการบินไทย ประธานกรรมการบริษัททางด่วนกรุงเทพ เป็นต้น ในส่วนนี้ อาจารย์วีรพงษ์คือตัวแทนของนักวิชาการที่มีโอกาสได้ทำหน้าที่ช่วยภาครัฐหรือภาคการเมือง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Technocrats อย่างแท้จริง โดยมิได้ผันตัวเองเป็นนักการเมืองโดยการสมัครรับเลือกตั้ง หรือสนับสนุนพรรคการเมือง หรือผู้นำทางการเมืองคนหนึ่งคนใดอย่างออกหน้าออกตา
แน่นอนว่าสิ่งที่อาจารย์วีรพงษ์คิดและทำนั้น จะมีคนไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น วิธีการเข้าใจและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจแตกต่างกันได้เสมอเพราะเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการเลือกของมนุษย์ซึ่งมีปัจจัยทางด้านต่างๆเข้ามีเกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลได้ตลอดเวลา ผู้เขียนเองก็มีเรื่องที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นต่างจากอาจารย์วีรพงษ์ในทางวิชาการหลายเรื่องด้วยกัน เพราะฉะนั้น เมื่ออาจารย์วีรพงษ์สนับสนุนหรือเห็นด้วยกับใครหรือแนวคิดอะไร คนที่เห็นด้วยก็ชอบใจหรือพอใจ แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่ชอบใจหรือไม่พอใจ แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากชี้เห็นถึงสิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิธีการทำงานของอาจารย์วีรพงษ์ คืออาจารย์จะไม่ออกมาตอบโต้ฟาดฟันกับผู้ไม่เห็นด้วย หรือออกมาแก้ต่างแทนใครประเภท “องครักษ์พิทักษ์นาย” แต่จะเป็นตัวของตัวเองตามหลักการและความเชื่อของตน สิ่งที่ถือว่าเป็นจุดเด่นหรือจุดแข็งของอาจารย์วีรพงษ์ประการหนึ่งคือ ความสามารถที่จะแยกส่วนประเด็นต่างๆเพื่อวิเคราะห์แยกออกจากกันก่อนแล้วเอามารวมกันทีหลัง เพื่อสรุปว่า ในที่สุด ภาพรวม หรือ “ภาพที่ใหญ่กว่า” (ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า A Bigger Picture) เป็นอย่างไร? ดีหรือไม่ดี? ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเมื่อตอนที่อาจารย์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ อาจารย์วีรพงษ์ได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับนโยบายรับจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์อย่างแข็งขันและตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป แต่อาจารย์วีรพงษ์ก็ยังยินดีที่จะทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจต่อไปเพราะเห็นว่า ใน “ภาพที่ใหญ่กว่า” นั้น ประโยชน์ของรัฐบาลชุดนี้ในส่วนรวมยังสูงกว่าต้นทุนในส่วนอื่น
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการชั่งน้ำหนักข้อดี/ข้อเสียของเรื่องหรือประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะต้องใช้อัตวิสัยของแต่ละคนค่อนข้างสูง ดังนั้น สิ่งที่เป็นจุดแข็งของอาจารย์วีรพงษ์อาจจะถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนของอาจารย์วีรพงษ์ก็ได้สำหรับบางคน เช่น มองว่าความเสียหายจากนโยบายรับจำนำข้าวน่าจะมากพอที่ทำให้อาจารย์วีรพงษ์ไม่ร่วมงานกับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์เลยก็ได้ หรือการมองว่าอาจารย์ไม่ควรโจมตีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอย่างมาก อย่างที่ได้ทำไปตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะใน “ภาพที่ใหญ่กว่า” นั้น พลเอกประยุทธ์ “มีความสามารถและความเหมาะสมมากกว่า หรือเหนือกว่าใครทั้งหมดของประเทศไทยในขณะนี้” เป็นต้น ข้อเท็จจริงในส่วนนี้เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?
ในท้ายที่สุด เราควรหันมาพิจารณาว่า ถึงใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับอาจารย์วีรพงษ์อย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่อาจารย์วีรพงษ์ทำมาได้ตลอดชีวิต คือการรักษาชื่อเสียง เกียรติยศ และความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาจากการทำงานในตำแหน่งต่างๆไม่ว่าในภาครัฐและภาคเอกชน ในความทรงจำของผู้เขียนขณะที่ทำงานอยู่ที่ ป.ป.ช. ไม่มีเรื่องร้องเรียนอาจารย์วีรพงษ์ในเรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ไม่ถูกต้องเข้ามาเลย ทั้งๆที่อาจารย์อยู่ในจุดเสี่ยงหลายจุด อาทิ เช่น กรณีคดีโฮปเวลล์เมื่ออาจารย์เป็นประธานการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือกรณีคดีเครื่องยนต์ Roll Royce เมื่ออาจารย์เป็นประธานกรรมการบริษัทการบินไทย เป็นต้น ในความคิดของผู้เขียนแล้วอาจารย์วีรพงษ์รักษาเนื้อรักษาตัวและอยู่รอดปลอดภัยมาตลอดเพราะท่านรักษาความถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง และไม่ใช้ตำแหน่งเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวกหรือพวกพ้องอย่างไม่ถูกต้องหรือโดยเสี่ยงต่อการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม คงจะเป็นเพราะความตรงไปตรงมาในวิธีการทำงานของอาจารย์วีรพงษ์ในภาครัฐนี้เองที่ทำให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่ง อาทิ บริษัท Advance Agro ผู้ผลิตกระดาษ Double A ส่งไปจำหน่ายทั่วโลก ต่างเชิญให้ท่านเข้ามาเป็นประธานกรรมการของบริษัทเพื่อเป็นหลักในการสร้างและรักษาธรรมาภิบาลแห่งการประกอบการทางธุรกิจของบริษัทนั้นๆ
ขอให้ดวงวิญญาณของเพื่อนไปสู่สุคติ และทิ้งความดีงามทั้งหลายไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และทำตามเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศสืบไป