“…สำหรับปัจจัยขององค์กรสื่อที่จะปังในอนาคต จะต้องมีคอนเทนต์ที่แข็งแรง แพลตฟอร์มครอบคลุม มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีการลงทุนที่ควบคุมได้ พร้อมรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงองค์กรสื่อ…”
เมื่อเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า ‘Digital Disruption’ สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์เข้ามามีอิทธิพลกับผู้คนในสังคมมากขึ้น แทนสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ โทรทัศน์
นับว่าเป็นความท้าทายของสื่อ ว่าควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรให้โดนใจผู้บริโภคหรือคนในสังคมทุกช่วงวัย ซึ่งเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2564 หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บยสส.) รุ่นที่ 1 ได้วิเคราะห์ปัญหาของสื่อที่เผชิญในยุคเปลี่ยนผ่าน และเสนอแนะแนวทางแก้ไข
โดยนำเสนอแบ่งออกมาเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป : รายการรูปแบบใหม่ที่โดนใจคนทุกรุ่น, กลุ่มที่ 2 ธุรกิจ TV Digital ไม่หายไปด้วยฐานคนรับสื่อมากขึ้น, กลุ่มที่ 3 Royal Family Today ทำอย่างไร จึงจะทำให้คนรุ่นใหม่ดูข่าวในพระราชสำนัก, กลุ่มที่ 4 I-DEE Award จรรยาบรรณ ความรับผิดชอบประโยชน์สาธารณะของอินฟลูเอนเซอร์ไทย
กลุ่มที่ 5 เสิร์ฟข่าวต้องรู้ของคนวัย 50+ Doraemon tank news, กลุ่มที่ 6 สำนัก “ไถทันข่าว” กับแนวทางใหม่ของคนทำสื่อ, กลุ่มที่ 7 องค์การข่าวยุคใหม่ทำอย่างไรถึงจะปัง!!! และกลุ่มที่ 8 โครงการท่อน้ำเลี้ยงเพื่อสื่อน้ำดี
สำหรับกลุ่มที่ 1 นางสาวศุภกิติ สหเวชชภัณฑ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการงานสื่อมวลชนสัมพันธ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด มหาชน เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในยุคสมัยที่ผู้คนในสังคมหันมาเสพสื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เพื่อทำความเข้าใจผู้บริโภคทุกคน จึงสำรวจพฤติกรรมการบริโภคสื่อของกลุ่มประชากรทุกช่วงอายุ จำนวน 955 คน ทั่วประเทศ พบว่า ในแต่ละเจเนอเรชันมีพฤติกรรมรับชมสื่อและมีผู้นำทางความคิดหรืออินฟลูเอ็นเซอร์ที่ต่างกัน
นายภูวสิษฏ์ สุขใส บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้ โฟกัส กล่าวต่อว่า เจเนอเรชันเบบี้ บูมเมอร์ ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และเจเนอเรชันเอ็กซ์ ที่มีอายุตั้งแต่ 38-54 ปี โดยส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมเสพสื่อผ่านทีวี ขณะที่เจเนอเรชันวาย ที่มีอายุตั้งแต่ 24-37 ปี จะมีพฤติกรรมเสพสื่อผ่านเฟซบุ๊กเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีบางส่วนดูโทรทัศน์บ้าง ส่วนเจเนอเรชันแซด ที่มีอายุตั้งแต่ 23 ปีลงมา จะมีพฤติกรรมเสพสื่อผ่านเฟซบุ๊กเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่นิยมดูโทรทัศน์แล้ว
นายนพดล ก่อนิธิ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สำนักข่าวไทย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวอีกว่า หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่า สื่อที่คนในยุคใหม่ชื่นชอบจะต้องมีเนื้อหา เชิงลึก ชัดเจน ตรงประเด็น และมีหลากหลายมุมมอง ส่วนผู้ดำเนินรายการ จะต้องน่าเชื่อถือและสามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ง่าย ขณะเดียวกันจะต้องมีการนำเสนอในรูปแบบแปลกใหม่และเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมหรือปฏิสัมพันธ์กับผู้รับสาร
ดังนั้น นางสาวนันทพันธ์ แสงไชย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ MONO 29 จึงให้ข้อเสนอแนะการสร้างสื่อใหม่ ในด้านเทคโนโลยี คือ ให้มีการสร้างกล่องข้อความหรือโมษณาบนสื่อที่ยิงข้อความหรือโฆษณาไปตามคุณลักษณะของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน เช่น โฆษณาอยุธยาฝนตก จะยิงไปที่ผู้อาศัยในอยุธยา หรือยิงโฆษณาขายเสื้อผ้า ไปยังกลุ่มผู้หญิง และยิงโฆษณาขายเสื้อผ้าเด็ก ไปยังกลุ่มหญิงที่มีบุตร เป็นต้น รวมถึงการปรับการส่งสัญญาณออกอากาศให้เป็น High Definition (HD)
นอกจากนั้นยังมีข้อแนะนำการสร้างสื่อใหม่ ที่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ คือ ให้รัฐสนับสนุนสื่อไทย ควรส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยท้ั้งในและต่างประเทศ และจัดการปัญหาด้านลิขสิทธิ์ รวมถึงควรมีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย พร้อมปรับเกณฑ์กำหนดเวลาออกอาการ และจัดลำดับความเหมาะสมของรายการ
สร้างฐานคนรับสื่อยุคใหม่ด้วย ‘OTT’
ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นการศึกษาว่าควรทำอย่างไรเพื่อเพิ่มฐานผู้ชมสื่อ เพื่อให้ทีวีดิจิทัลยังดำรงอยู่ต่อได้ แม้จะเผชิญกับ ‘Digital Disruption’ โดย ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน หันมาใช้สื่อโซเชียลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเจเนอเรชันแซดที่พบว่าหลายล้านคน มีการใช้สื่อผ่านแพลตฟอร์ม OTT หรือแพลตฟอร์มที่เราสามารถรับชมสื่อต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น Netflix Monomax เป็นต้น
ทำให้ร่างโมเดลการเพิ่มฐานผู้ชมออกมาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทีวีดิจิทัล โดยมีรูปแบบ คือ การจัดทำแพลตฟอร์ม OTT แห่งชาติของคนไทยเอง เอาไว้เป็นศูนย์รวมของสื่อไทยและต่างประเทศทั้งหมด เพราะทุกวันนี้ OTT ของสื่อไทยยังแยกกันอยู่โดยไม่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถเชื่อมผ่านอุปกรณ์ต่างๆ และสามารถซื้อโฆษณาได้ หากผู้ประกอบการไทยนำเงินมาลงโฆษณาตรงนี้ จะไม่ทำให้เงินรั่วไหลออกไปยังต่างประเทศด้วย
อย่างไรก็ตามแผนนี้จะสำเร็จได้จะต้องอาศัยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง (กสทช.) และรัฐบาลในการส่งเสริม ให้ต้นทุนค่าผลิตหรือซื้อคอนเทนต์ และให้สิทธิประโยชน์กับประชาชนที่รับชมด้วย
ด้าน นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล ประธานที่ปรึกษากลุ่มบริษัทเจริญเคเบิลทีวี กล่าวถึงการใช้งานโมเดลด้วยว่า จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรกจะรวบรวมสื่อทุกช่องทั้งไทยและต่างประเทศมาอยู่ในแพลตฟอร์มที่ตั้งชื่อว่า 'OTT Pool' ของเรา ต่อมาในระยะที่ 2 เมื่อมีผู้ชมแล้วและมีรายได้เข้ามา จะจัดสรรรายได้ตามเกณฑ์การวัดที่เหมาะสม เช่น เรตติ้ง หรือจำนวนผู้ชม เป็นต้น ให้กับผู้ผลิตสื่ออย่างเป็นธรรมและเหมาะสม และระยะที่ 3 เมื่อเริ่มใช้แพลตฟอร์ม OTT ได้อย่างสมบูรณ์ คนไทยจะสามารถดูสื่อผ่านโทรทัศน์ได้ตามเวลาปกติ และสามารถมาดูย้อนหลังได้ที่ OTT ของสื่อแต่ละช่อง รวมถึง OTT Pool ด้วย
“OTT Pool จะเปิดโอกาสให้ทั้งคนไทยและต่างประเทศได้ดู เม็ดเงินตรงนี้จะเกิดขึ้นได้ และเอามาแบ่งกันอย่างยุติธรรม” นายวิชิต กล่าว
‘พาดหัวกระชับ-เปลี่ยนโลโก้’ใหม่ ดึงเด็กดูข่าวราชสำนัก
ขณะที่กลุ่มที่ 3 โดยนายสมเกียรติ บุญศิริ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง จำกัด กล่าวถึงที่มาของการศึกษาความสนใจของคนรุ่นใหม่ต่อการดูข่าวพระราชสำนัก ว่า เราพบว่าเด็กและเยาวชนเข้าไม่ถึงข่าวพระราชสำนัก และไม่เสพสื่อนี้แล้ว ซึ่งแตกต่างจากรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ที่จะรอดูข่าวพระราชสำนักช่วงเวลา 20.00 น เพื่อรอดูละครต่อไป
และเมื่อสัมภาษณ์เจาะลึกเข้าไปถึงสาเหตุของการไม่เลือกเสพสื่อพระราชสำนัก เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ตอบว่าเป็นเพราะเวลา 20.00 น. ไม่ใช่ช่วงเวลาของเขา และรูปแบบรวมถึงเนื้อหาที่นำเสนอ ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ
“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้อินเทอร์เน็ตสูงเป็นอันดับที่ 9 โดยใช้เวลานานเฉลี่ยแต่ละวัน 5-7 ชั่วโมงต่อวัน ขณะเดียวกันข้อมูลจาก Nielson พบว่าเด็กและเยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตหลายล้านคน หมายความว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจทีวีเป็นหลัก ตรงนี้ทำให้เห็นว่า การนำเสนอข่าวพระราชสำนักในรูปแบบเดิมไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีและทัศนคติของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่” นายสมเกียรติ กล่าว
ข้อมูลที่พบดังกล่าวเป็นที่มาของการนำเสนอให้ข่าวพระราชสำนัก ให้มีรูปแบบที่จับต้องได้และเยาวชนสามารถมีส่วนร่วม เช่น การแชร์ ได้
นายกอบกิจ ประดิษฐผลพานิช มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลข้างต้นเราจึงได้พัฒนารูปแบบการนำเสนอข่าวพระราชสำนักมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการแชร์ของกลุ่มเยาวชน โดยทดสอบออกมาเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ดูเป็นทางการแต่ใส่ความวิ้งเพิ่มเติมเข้าไป และรูปแบบใส่สีสันที่โดนใจวัยรุ่น พร้อมกับใส่พาดหัวข่าว
ผลการทดสอบในกลุ่มเด็กและเยาวชนพบว่า มีความสนใจในรูปแบบที่ 2 ที่มากกว่า แต่ยังโดนติงเรื่องโลโก้ที่ยังมีความเป็นทางการ ทางกลุ่มจึงเปลี่ยนโลโก้ใหม่อีกครั้งเป็นรอบที่ 3 เพื่อไม่ให้เหมือนกับการเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำให้หลายคนเริ่มเปิดรับ เริ่มอยากรู้ เริ่มอยากดู
ร.อ.สำราญ อิบรอฮีม สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย กล่าวสรุปว่า พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่ไม่เคยดูข่าวในพระราชสำนัก เพราะไม่ได้เปิดรับมานานแล้ว จึงเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้ขาดการถ่วงดุลข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถาบัน และในการทำสื่อออกมาทดสอบด้วยกัน 3 รูปแบบ พบว่า ในรูปแบบที่ 3 ที่มีการใส่โทนของภาษา ใส่พาดหัว เปลี่ยนโลโก้ และการใส่สีสันให้โดนใจวัยรุ่น นำเสนอผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เป็นต้น ทำให้มีคนมาติดตามข่าวพระราชสำนักมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ต้องปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความสนใจและพฤติกรรมการรับสื่อของเด็กและเยาวชน ดังนั้นจึงเสนอแนะว่าให้ปรับข่าวพระราชสำนักให้ยืดหยุ่น และไม่จำเป็นต้องอยู่ในทีวีต่อไป
จัดทำ ‘I DEE Award’ สร้างมาตรฐานอินฟลูเอ็นเซอร์ให้มีจรรยาบรรณ
ด้านกลุ่มที่ 4 นางพิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวถึงที่มาของการศึกษาเรื่องจรรยาบรรณ ความรับผิดชอบ และประโยชน์สาธารณะของอินฟลูเอ็นเซอร์ ว่า อินฟลูเอ็นเซอร์ หรือบล็อกเกอร์เริ่มมีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคมมากขึ้น อย่างไรก็ตามใครก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ได้ ดังนั้นหากมีการมอบโล่รางวัลเพื่อสร้างมาตรฐานให้กับอินฟลูเอ็นเซอร์ให้มีจรรยาบรรณและมีความรับผิดชอบ จึงได้จัดทำ ‘I DEE Award’ ขึ้นมา
สำหรับ I DEE Award นายอดิศักดิ์ อมรฉัตร สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเองได้สัมภาษณ์อินฟลูเอ็นเซอร์จำนวน 31 คน ถึงการมอบรางวัลดังกล่าวว่ามีความคิดเห็นเห็นอย่างไรบ้างหากมีรางวัลด้านสาขาจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งพบว่า อินฟลูเอนเซอร์กว่า 90% มีความสนใจ เพราะเชื่อว่ารางวัลนี้จะเป็นการส่งเสริม สร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้ตั้งใจสร้างมาตรฐานและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพอินฟลูเอ็นเซอร์ และจะเป็นใบเบิกทาง เพื่อโอกาสในอาชีพและรายได้ รวมถึงยังเปิดโอกาสและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ที่มีจรรยาบรรณและสร้างผลงานที่ดีมาตลอด
ส่วนเกณฑ์การตัดสินใจมอบรางวัล ส่วนใหญ่อยากให้ตัดสินจากการสร้างสรรค์เนื้อหาที่เป็นจริงและรับผิดชอบต่อสังคม ความคิดสร้างสรรค์ของคอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นมามีความสดใหม่และแตกต่าง การให้ข้อมูลของสินค้าหรือบริการที่นำเสนออย่างครบถ้วนทั้งด้านที่ดีและไม่ดี หรือการคำนึงถึงผลกระทบของผู้ชม เป็นต้น ขณะที่คณะกรรมการ ส่วนใหญ่อยากให้มาจาก Popular Vote รองลงมาคือสมาคมวิชาชีพต่างๆ หรือนักวิชาการ ตามลำดับ
ด้านกระบวนการตัดสินรางวัล ส่วนใหญ่อยากให้การพิจารณารอบแรกตัดสินจาก Popular Vote แล้วเลือกผู้ชนะโดยคณะกรรมการ ซึ่งรางวัลที่สนใจ คือ เงินสด เป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ได้รับการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่สื่อในระดับนานาชาติ ตามมาด้วยการได้เข้าคอร์สอบรมหรือเวิร์คช้อปกับกูรูในด้านต่างๆ ตามลำดับ
นอกจากนั้นภารกิจสำหรับผู้ชนะ ส่วนใหญ่อยากให้ถ่ายทอด เสนอแนวทางเกี่ยวกับการหาอินไซต์ พฤติกรรมของผู้ชมมาปรับเป็นไอเดีย เพื่อสร้างจุดยืนและคอนเซปต์ให้อาชีพนี้เป็นอาชีพที่มั่นคง หรือเมื่อผู้ชนะได้เข้าคอร์สอบรม อยากให้นำความรู้มาถ่ายทอดและพัฒนาทักษะในคนที่สนใจอาชีพนี้
ด้าน ผศ.ดร.บุหงา ตโนภาส คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย กล่าวด้วยว่า การจัดประกวดนี้ เราจะไม่สร้างเวทีขึ้นมาเอง แต่จะสร้างพันธมิตรและเครือข่าย เราอยากให้มีการประกวดมอบรางวัลสาขาจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมและกระจายออกไปในหลายๆเวที เพื่อสร้างผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากๆ โดยเราจะเข้าไปเป็นหนึ่งในเวทีที่มีการมอบรางวัลอยู่และได้รับการยอมรับอยู่แล้ว ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเป็นเวทีใดเวทีหนึ่ง เพราะเราอยากให้สังคมและธุรกิจนี้ได้สร้างนักสื่อสารที่มีคุณธรรมและจริยธรรมในวงกว้าง
และนายนนยนฏฐ จงจรูญ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ข่าวและการตลาดข่าวสถานีช่อง ONE กล่าวด้วยว่า ในวันนี้หากถามเยาวชนว่าอยากเป็นอะไร จะพบว่า 70-80% อยากเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ หรืออยากทำงานที่อยู่ในแวดวงอินเทอร์เน็ต
“อินฟลูเอ็นเซอร์ไม่ใช่เพียงงานอดิเรก แต่กลายเป็นวิชาชีพแล้ว อาชีพและวิชาชีพไม่เหมือนกัน เพราะวิชาชีพคือสิ่งที่ดำรงอยู่ของอาชีพนั้น และจะมีการกำกับ ดูแล มีสถาบันควบคุม มีจรรณายาบรรณเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งควรจะผลักดันให้อาชีพอินฟลูเอ็นเซอร์กลายเป็นวิชาชีพ นี่คือแนวทางของเรา” นายนนยนฏฐ กล่าว
เสิร์ฟข่าวผ่านไลน์ ดึงความสนใจวัย 50+
สำหรับกลุ่มที่ 5 ได้ศึกษาถึงประชากรกลุ่มวัย 50 ปี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในประเทศ ทำให้คิดค้นนวัตกรรมการนำเสนอข่าวออนไลน์ที่ใช้ชื่อว่า ‘Daraemon Tank News’ ออกมาเพื่อตอบโจทย์
โดย รศ.ดร อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า เรามองว่าสังคมในยุคต่อไปจะมีผู้สูงวัยจำนวนมาก ขณะที่กลุ่มรุ่นใหม่จะมีจำนวนลดน้อยลง กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ต่างมีความคุ้นเคยกับพฤติกรรมบางลักษณะ มีความคุ้นชินกับอดีต เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล จะเกิดปัญหาอุปสรรคระดับหนึ่ง และการเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้เกิด Digital Disruption ซึ่งเข้ามาทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป และสื่อเก่า คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์เสื่อมถอยลงมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งมีผลต่อประชากรวัย 40-50 ปีมาก
สำหรับนวัตกรรมการนำเสนอข่าวออนไลน์ ‘Daraemon Tank News’ เราใช้โดราเอมอนเป็นสัญลักษณ์ เพราะเป็นความคุ้นเคยของคนทุกวัย แต่จะคุ้นเคยกับคนในวัย 40 - 50 ปี โดยให้โดราเอมอนป้อนข่าวผ่าน Line Official Account ซึ่งใช้ง่าย และจะใช้ระบบเอไอในการดึงข่าวสารทั้งหมด ทั้งในประเทศและต่างประเทศลงมาในถังข่าวโดราเอมอน ให้เราได้เสพข่าวตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนการหารายได้นั้น ดร.สรายุทธ มหวลีรัตน์ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด กล่าวว่า จะหาจาก Line AD และหาจาก Event เพราะประชากรวัย 50 ปีขึ้นไปชอบทำกิจกรรม เราจะจัดกิจกรรมทัวร์ไปเที่ยว พาไปทำบุญ หรือกิจกรรมใดๆที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายวัย 50 ปีขึ้นไปที่มีกำลังซื้อ และมีความ Loyalty กับแบรนด์
ขับเคลื่อนองค์กรข่าวด้วยคนรุ่นใหม่
ส่วนกลุ่มที่ 6 นางสาวธนสร จิรายุวัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานขายและการตลาดสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี HD 34 กล่าวว่า ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่นิยมดูสื่อหลัก นิยมดูสื่อผ่านโซเชียลมีเดีย และเป็นยุคสมัยที่ใครๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้ ทำให้มีโอกาสเกิดข่าวลวงได้ง่าย และมีการแข่งขันที่มากขึ้น สื่อต้องมุ่งสร้างเรตติ้ง (Rating) กระทบต่อจริยธรรมสื่อ จึงเป็นที่มาของการสร้าง ‘สำนักข่าวไถทันข่าว’ ที่มีเป้าหมายสร้างสำนักข่าวให้มีจริยธรรม
จุดเด่นของเรา คือ การนำเสนอข่าวที่สอดแทรกความรู้ให้คนมีทักษะการเอาตัวรอด หรือสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ผ่านการนำเสนอที่ถูกต้อง และเข้าใจง่าย
โดย นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ CEO Show No Limit Co.,Ltd กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของสำนักไถทันข่าว ดังนี้
1.สร้างความมีส่วนร่วมในการนำเสนอหัวข้อข่าว มีการตั้งไลน์กลุ่มให้สมาชิกร่วมเสนอหัวข้อข่าว กองบรรณาธิการคัดเลือกหัวข้อข่าวตามแนวนโยบายของสำนักข่าว ดังนั้นทีมข่าว ไม่ใช่นักข่าวลงพื้นที่ แต่คือ การรับข่าวจากทุกคน แต่มีการโทรเช็คความน่าถูกต้อง และนำหัวข้อข่าวที่ถูกคัดเลือกเข้าสู่ระบบโซเชียล เพื่อรับสมัครกองบรรณาธิการร่วม
2. กระบวนการทำงานของสำนักข่าว จะเลือกคนรุ่นใหม่เป็นองค์ประกอบของกองบรรณาธิการ เพราะเราต้องยอมรับว่าเสียงส่วนใหญ่นั้นมาจากเด็ก และใช้โซเชียลมีเดียเชิญผู้สนใจในกระบวนการผลิตข่าว
3. ทำรูปแบบข่าวให้ตรงใจ ได้รับความน่าเชื่อถือ จะนำเสนอข่าวสั้นกระชับ อ่านเข้าใจง่าย ข่าวทันเหตุการณ์ ตรงตามความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย และเพิ่มการใส่สัญลักษณ์เข้ามาเมื่ออินฟลูเอ็นเซอร์เข้ามาอ่านข่าวแล้วรวมถึงจะมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ มาให้คำแนะนำที่นำไปใช้ได้จริง
สำหรับแนวทางใหม่ของคนทำสื่อ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการฯ กล่าวว่า จะต้องไม่ยึดติดกับจริยธรรมเดิม แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยึดจริยธรรมเดิม หมายถึงว่าเราจะต้องตกผลึกด้านจริยธรรม และไม่เพียงแต่นำเสนอข่าวว่าใครทำอะไร ที่ไหน แต่จะมีการเพิ่มภูมิความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ มานำเสนอทักษะการแก้ปัญหาชีวิต และให้ความรู้ด้านกฎหมาย เพราะอาจเป็นทางออกของปัญหา เพื่อให้ผู้ชมมีความรู้และสามารถป้องกันตัวเอง จากการเกิดเหตุแบบในข่าวได้
5 ปัจจัยความปังสำหรับองค์กรข่าวยุคใหม่
สำหรับกลุ่มที่ 7 ได้ศึกษาแนวทางการทำองค์การข่าวยุคใหม่ ทำอย่างไรให้ปัง โดย ผศ.ดร.ณัฏฐชา หน่อทอง รองคณบดีคณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี กล่าวว่า สิ่งที่เราสนใจศึกษาคือผลกระทบของการทำงาน ทำอย่างไรที่จะให้คนรุ่นใหม่หลากหลายเจเนอเรชันกลับมาดูโทรทัศน์ เพิ่มรายได้ และยังคงรักษาความเป็นมืออาชีพของเราได้ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรรายได้จะเพิ่มขึ้น และจะขยายฐานการดูโทรทัศน์ไว้ได้
ซึ่งได้สำรวจข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กสทช. MDES Digital 2020 Thailand เป็นต้น รวมถึงเก็บข้อมูลจากผู้ชมแต่ละเจเนอเรชัน และองค์กรสื่อ พบว่า สื่อโทรทัศน์มีบทบาทลดลงในทุกเจเนอเรชัน และโซเชียลมีเดียได้เข้ามาแทนที่ ทั้งนี้ในกลุ่มเจเนอเรเอ็กซ์ลงไป พบว่า ไม่ดูข่าวด้วย เพราะข่าวในทีวีเหมือนกันหมด ไม่ตื่นเต้น และไม่น่าสนใจ
ด้านนายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวด้วยว่า รูปแบบโครงสร้างองค์กรข่าวที่พบในปัจจุบันเริ่มลดขนาดเหลือแค่สิ่งพิมพ์ กับออนไลน์ และบางองค์กรแยกการบริหารออกเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ หรือออนไลน์เลย ขณะเดียวกันองค์กรของสื่อดั้งเดิมยังมีความทับซ้อนกันระหว่างกองบรรณาธิการข่าว และกองบรรณาธิการนิวมีเดีย ทำให้เกิดการทำงานซับซ้อนกัน ต้นทุนมากขึ้นและการทำงานเริ่มอุ้ยอ้าย
ที่สำคัญเมื่อรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า ต้องลดต้นทุนลงให้สัมพันธ์กับประมาณการณ์รายได้ที่จะเกิดขึ้น แต่การลดต้นทุน กลับมุ่งเน้นไปที่ต้นทุนบุคลากร ส่งผลให้วงการข่าวสูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานการนำเสนอข่าวลดลง จนไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้คนรุ่นใหม่
ดังนั้นแนวทางการจัดวางองค์กรข่าวยุคใหม่ จะต้องมี 3 องค์ประกอบคือ 1. ยังคงทำหน้าที่สื่อมวลน 2. ให้ความเชื่อมั่น ในกรนำเสนอข่าวสาร และ 3. เป็นองค์กรหลักให้กับสังคม จากนั้นให้ดูเรื่องต้นทุนต้องลดลงไม่ต่ำกว่า 10 % เพิ่มช่องทางการหารายได้จากกลุ่มเป้าหมายออนไลน์ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
“สำหรับปัจจัยขององค์กรสื่อที่จะปังในอนาคต จะต้องมีคอนเทนต์ที่แข็งแรง แพลตฟอร์มครอบคลุม มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีการลงทุนที่ควบคุมได้ พร้อมรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงองค์กรสื่อ” นายพีระวัฒน์ กล่าว
จัดทำ ‘Crowdfunding’ เป็นท่อน้ำเลี้ยงหนุนสื่อน้ำดี
เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่าน ผู้บริโภคหันไปบริโภคสื่อใหม่ กระทบการทำงานของสื่อที่ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นแล้วจะทำอย่างไรให้สื่อน้ำดียังดำรงอยู่ได้ กลุ่มที่ 8 โดย นายชาคริต ดิเรกวิฒนชัย รองกรรมการผู้อำนวยการสำนักกิจการและสื่อสารองค์กรสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้สำรวจองค์กรสื่อ ผู้ติดตามสื่อ และสปอนเซอร์
พบว่า สปอนเซอร์จะเลือกสื่อที่ดัง และสื่อที่ดี เพื่อให้องค์กรเขามีภาพลักษณ์ที่ดี ขณะที่กลุ่มสื่อ จะต้องผลิตข่าวที่ตรงกับความต้องการของสังคม ไม่เช่นนั้นสปอนเซอร์จะไม่เข้า แต่เมื่อมีสปอนเซอร์รายใหญ่เข้ามาสนับสนุน ก็จะตามใจเขา แม้จะอยากทำข่าวที่ดี แต่จะไม่มีรายได้
ดังนั้นสื่อดีจะดำรงอยู่ได้ จึงได้เสนอแนวคิดโครงการ ‘ท่อน้ำเลี้ยง เพื่อสื่อน้ำดี’ ขึ้นมา
นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษา รองผู้อำนวยการด้านบริหารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) กล่าวว่า จากปัญหานี้เราได้ออกแบบการตั้งโครงการท่อน้ำเลี้ยง โดยตั้งเป็นกลุ่มกิจการไม่แสวงหาผลดำไร ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม 2562 ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ เป็นคนคอยกำกับดูแลวิสาหกิจเพื่อสังคม คอยบริหารจัดการให้กิจการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ คอยตรวจสอบและอนุมัติความเหมาะสมของข่าว และคอยตรวจสอบคุณภาพของข่าว
มีหลักการทำงาน คือให้ผู้สื่อข่าวที่เป็นสมาชิกท่อน้ำเลี้นงโพสต์วาระข่าวผ่านเว็บไซต์ Crowdfunding พร้อมกำหนดวงเงินที่ต้องการในการสนับสนุนให้ทำข่าวเจาะลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งต่อไป เพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาในเว็บไซต์สามารถเข้ามาบริจาค เข้ามาระดมทุน แต่ผู้บริจาคจะต้องเป็นผู้บริจาครายย่อยหรือรายบุคคลเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดการเข้ามามีอำนาจหรือแทรกแซงในเนื้อหาข่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage