"...โลกเตือนเราแล้ว ว่าเปลี่ยนแปลงกันเถอะ ก่อนที่ระบบธรรมชาติจะไปถึงจุด Tipping point หรือ Point of No Return แล้วเปลี่ยนเผ่าพันธุ์ใหม่ มาอยู่แทน..."
ความเดิมตอนที่แล้ว ผมได้เล่าให้เห็นภาพว่าก๊าซเรือนกระจกคืออะไร มาจากไหน (อ่านประกอบ : Climate Change : Climate Chance เปลี่ยนตัวเราก่อนเราจะถูกเปลี่ยน (1))
ดังนั้น แน่นอนว่าการลดกิจกรรมที่ต้นเหตุทุกชนิด ย่อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปในตัว
ขอยกตัวอย่างสิ่งที่ควรลดและมาตรการเสริมดังนี้ครับ
1. เราต้องหาทางทดแทนเครื่องจักรเครื่องยนต์ทุกอย่างที่ใช้น้ำมันเป็นหลัก แล้วหันมาใช้พลังขับเคลื่อนมันด้วยพลังงานสะอาดอื่นๆแทน ยิ่งถ้าโรงผลิตไฟฟ้าของเราใช้พลังงานสะอาดได้มากเท่าไหร่ เราก็จะมีทางเลือกอื่นเข้ามาทดแทนได้เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถไฟไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า โดรนส่งของ รวมทั้งโรงงานสารพัดภาคขนส่ง และภาคพลังงาน ต้องรับบทหนักมากหน่อย
2. เราต้องเลิกเผาป่า เผาตอซัง และเศษวัสดุในแปลงเกษตร เพราะนั่นจะลดทั้งฝุ่นทั้งควัน ลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ทางเลือกที่น่าสนใจคือ การเอาฟางเอาเศษเปลือกต่างๆ ของพืช ขายเข้าโรงต้มในท้องถิ่น เป่าให้แห้งแล้วบดเป็นผงเพื่อนำมาอัดขึ้นรูปใช้แทนภาชนะโฟม สำหรับบรรจุอาหารซึ่งเรามีแผนห้ามใช้โฟมในปีหน้าที่จะถึงเป็นต้นไปอยู่แล้ว ทำดีๆ เราจะสามารถส่งออกเป็นสินค้า หารายได้เข้าประเทศได้อีกด้วย
3. เราต้องลดการทานเนื้อปศุสัตว์ แล้วหันมาเร่งพัฒนาโปรตีนจากพืชให้มาก ส่วนนมและเนยนั้น บัดนี้ มีนวัตกรรมใช้จุลินทรีย์เพื่อสร้างโปรตีนที่เหมือนน้ำนมวัวทุกประการ โดยไม่ต้องรบกวนวัว แม้แต่ตัวเดียว ไม่ต้องมีทุ่งหญ้าใส่ปุ๋ยเคมีไปเติมเป็นก๊าซเรือนกระจก ไม่ต้องแย่งน้ำมารดทุ่งหญ้าให้ปศุสัตว์ ลดการปลูกพืชไร่เลี้ยงสัตว์ได้ด้วย
เน้นปลูกพืชเลี้ยงคนก็น่าจะพอ ที่ดินที่เหมาะจะเพาะปลูก ไม่ได้มีมากจนไม่จำกัดเสียแล้ว
4. ลดสุสานขยะ ด้วยการแยกหมักขยะเปียกให้เป็นปุ๋ย เพื่อลดบ่อฝังกลบที่เต็มไปด้วยการเน่าเปื่อย ปล่อยก๊าซมีเทน แถมยังไม่ต้องเผาทำลายขยะ อย่างไม่จำเป็น
5. เสื้อผ้ารองเท้าผ้าใบสุดโทรม ซึ่งทำจากเส้นใย ควรถูกนำไปรีไซเคิล เหมือนที่เราทำได้แล้วกับขวดแก้ว กระดาษ โลหะ และพลาสติก ถ้าเส้นใยใช้แล้วถูกนำกลับมาใช้ใหม่ เราจะลดการถางป่าปลูกฝ้ายและลดการผลิตเส้นใยจากพลาสติกในภาคปิโตรเคมีอีกมาก
เส้นใยที่มนุษย์สร้างมาตลอดศตวรรษนี้ น่าจะมีเพียงพอในการห่อหุ้มให้ความอบอุ่นและนำมาผลิตใช้ใหม่ตามแฟชั่นของยุคต่างๆ ได้เพียงพอทั้งโลกอยู่แล้ว ขอเพียงแยกสีของเส้นใยที่จะรีไซเคิลไว้ ก็จะลดขั้นตอนการฟอกย้อมใหม่ได้อีกมหาศาลเช่นกัน
6. เร่งส่งเสริมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้มีวิวัฒนาการใหม่ ในการสะสางก๊าซเรือนกระจกเดิมที่ขึ้นไปสะสมในชั้นบรรยากาศอย่างจริงจัง
7. ปลูกไม้ยืนต้นให้มากๆ ทั้งที่เป็น ไม้ชายเลน และไม้บกต่างๆ เพราะต้นไม้จะดึงคาร์บอนไดออกไซด์ ไปเก็บในเนื้อไม้ แถมยังคายออกซิเจนออกมาเติมให้อากาศ รักษาความชุ่มชื้นในดิน และเป็นเครื่องจักรทางธรรมชาติที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนที่มหัศจรรย์ที่สุด
8. ฝึกใช้ทุกทรัพยากรและพลังงานอย่างประหยัด ให้เป็นนิสัย พยายามเลิกจากวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง มาเป็นใช้เท่าที่จำเป็น
9. รัฐพึงมีมาตรการสนับสนุน การเปลี่ยนรูปแบบการผลิต ต่อทุกภาคส่วนในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างพอเพียง
โลกเตือนเราแล้ว ว่าเปลี่ยนแปลงกันเถอะ ก่อนที่ระบบธรรมชาติจะไปถึงจุด Tipping point หรือ Point of No Return แล้วเปลี่ยนเผ่าพันธุ์ใหม่ มาอยู่แทน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา