“..การเป็นพ่อแม่ ก็มีสิทธิในระดับหนึ่ง ต่อให้เป็นลูกก็มีสิทธิของเด็กที่จะได้รับการปกป้องดูแล ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน ประเทศไหน เพราะฉะนั้นต่อให้เขาเป็นลูกเราก็ตาม เมื่อเขารู้สึกว่าไม่ได้รับการปกป้องหรือถูกละเมิดสิทธิในร่างกายตนเอง เขาก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นได้ พ่อแม่ควรเคารพสิทธิในตัวเด็ก ไม่ใช่ว่าการเป็นพ่อแม่เขา เราจะบงการเขาได้..”
พฤติกรรมการแสดงออกในครอบครัวของโปรดิวเซอร์เพลงชื่อดัง กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง กรณีที่มีการเผยแพร่ภาพและวิดีโอในกิจกรรมและอิริยาบถต่างๆ จนทำให้สังคมแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลายเกี่ยวกับการแสดงความรักของคนในครอบครัว ตลอดจนตั้งถามถึงความเหมาะสมถึงพฤติกรรมการแสดงออกระหว่าง พ่อ - ลูกสาว
'สิทธิในร่างกายตนเอง'เรื่องควรสอนเด็กให้รับรู้
ผศ.พญ.พรชนก วันทนากร กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติไหน ฐานะอะไร ล้วนแต่มีสิทธิในร่างกายของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี ฉะนั้นแล้ว จำเป็นจำต้องสอนให้เด็กรู้จักสิทธิ รู้จักขอบเขตของตนเอง
ปัญหาสังคมไทยส่วนใหญ่ คือ ไม่กล้าพูดเรื่องเพศกับลูก เหมือนกับเป็นเรื่องที่น่าอายต้องปกปิด แต่แท้จริงแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรจะต้องเข้าใจว่า นั่นคือเรื่องปกติที่เด็กคนหนึ่ง เมื่อเด็กโตขึ้นควรจะต้องรู้
ผศ.พญ.พรชนก กล่าวว่า เราจำเป็นจะต้องสอนเด็กให้รู้จักสิทธิส่วนตัวของตนเอง รู้จักขอบเขตและร่างกายของตัวเองว่า จุดไหนเป็นจุดส่วนตัวที่ควรจะปกป้องและไม่อนุญาตให้ใครจับหรือสัมผัส โดย พ่อแม่ ผู้ปกครองควรจะเริ่มสอนตั้งแต่เล็ก เริ่มตั้งแต่วัยที่เด็กสามารถรับรู้ได้แล้ว เช่น 3-4 ขวบ โดยสอนให้รู้จักอวัยวะต่างๆ เป็นเรื่องปกติ เช่น ส่วนไหนเรียกว่าอะไร ส่วนไหนที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว
ทั้งนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรที่จะต้องสอนให้เด็กรู้จักสิทธิของตนเองและการปกป้องสิทธิ เช่น สอนให้เด็กสามารถพูดแสดงความรู้สึก และร้องขอความช่วยเหลือได้ เมื่อถูกแตะเนื้อต้องตัวไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนก็ตาม รวมถึงพื้นที่ส่วนตัวจากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะจากพ่อแม่ หรือคนใกล้ชิด โดยไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผิด เนื่องจากบางครั้งเด็กไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิในร่างกายของตนเอง ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ในการเคารพสิทธิของร่างกายเด็ก เช่น ในการแสดงความรัก แสดงได้ ขึ้นอยู่กับวัย และขอบเขตที่เหมาะสม
“การเป็นพ่อแม่ ก็มีสิทธิในระดับหนึ่ง ต่อให้เป็นลูกก็มีสิทธิของเด็กที่จะได้รับการปกป้องดูแล ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน ประเทศไหน เพราะฉะนั้นต่อให้เขาเป็นลูกเราก็ตาม เมื่อเขารู้สึกว่าไม่ได้รับการปกป้องหรือถูกละเมิดสิทธิในร่างกายตนเอง เขาก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นได้ พ่อแม่ควรเคารพสิทธิในตัวเด็ก ไม่ใช่ว่าการเป็นพ่อแม่เขา เราจะบงการเขาได้” ผศ.พญ.พรชนก กล่าว
ผศ.พญ.พรชนก วันทนากร กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
แสดงความรักเป็นเรื่องดี แต่การสัมผัสต้องมีขอบเขต
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชครินทร์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า การให้ความรักความอบอุ่นในครอบครัวเป็นเรื่องดีและถูกต้อง แต่การแสดงความรักมีรูปแบบต่างกันในแต่ละครอบครัว คำถามคือ ขอบเขตแบบไหนที่จะไม่เข้าเกณฑ์การละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งตรงนี้คิดยาก
แต่ปกติแล้วเด็กจะต้องถูกสอนให้รู้จักขอบเขตร่างกายตัวเอง สิ่งที่ควรสื่อให้ชัด คือ ความรักของพ่อที่มีต่อลูกเป็นสิ่งถูกต้อง แต่วิธีการที่กระทำต่อลูกอาจทำให้ขอบเขตของการรักษาสิทธิเด็กไม่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้เด็กสับสนว่า การที่พ่อแม่รักจึงกระทำแบบนี้ หากคนอื่นรักก็ทำแบบนี้ได้เช่นกัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ต่างจากการสัมผัสร่างกายของเด็กในกรณีที่เด็กยังช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันไม่ได้ เช่น การล้างก้น แต่งตัว อาบน้ำ
“เด็กจะไม่รับรู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วไป ไม่ควรกระทำกับเขา จะกลายเป็นว่าเขารับรู้ว่าสิ่งนี้คนอื่นก็สามารถทำได้ แล้วแสดงแค่ไหนถึงจะดี ต้องคิดกลับว่าหากมีคนแปลกหน้ามาทำแบบนี้กับลูก เราโอเคหรือไม่ ซึ่งหากเราไม่โอเค แต่ลูกไม่รู้ว่าสิ่งนี้ไม่โอเค เขาจะปกป้องตัวเองอย่างไร ต้องเน้นย้ำเด็กให้รู้จักระหว่างความรักกับการสัมผัสว่า 2 สิ่งนี้เป็นคนละเรื่องกัน” พญ.ดุษฎี กล่าว
พญ.ดุษฎี กล่าวว่า ความรักกับขอบเขตในร่างกายของเด็กต้องมาด้วยกัน ซึ่งต้องเริ่มสอนตั้งแต่เด็กเริ่มพูดรู้เรื่อง หรือ 1 ขวบปีขึ้นไป คำแนะนำสำหรับเด็ก ผู้ปกครองต้องสอนให้เด็กรู้จักขอบเขตของร่างกาย เป็นสิทธิของตัวเองที่จะปฏิเสธไม่ให้คนอื่นมาสัมผัสร่างกาย โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหว คือ หน้าอก บั้นท้าย อวัยวะเพศ และแก้ม ต้องสอนให้รู้ว่าไม่ใช่จะให้ใครมาจับได้ เพราะจะนำมาสู่การล่วงละเมิดทางเพศได้ มีความเสี่ยงว่าคนที่มาจับในส่วนนี้ไม่มีเจตนาดีกับเด็ก
ขณะเดียวกัน การเลี้ยงดูก่อนจะสอนให้เด็กรู้จักป้องกันอวัยวะได้ ต้องสอนให้รู้จักอวัยะก่อน เช่น กิจกรรมที่พ่อแม่เล่นกับลูก สอนให้รู้จักหู ตา จมูก แก้ม แขนขา รวมถึงอวัยะเพศ ซึ่งต้องสอนเด็กว่าส่วนนี้แม่จับได้หรือไม่ หากจับไม่ได้ ก็ต้องป้องกันไม่ให้คนอื่นมาจับเช่นกัน
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชครินทร์
สร้างครอบครัวอบอุ่น-ลดความหวาดระแวง
พญ.ดุษฏี กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวการแสดงความรักของพ่อแม่และลูกที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ จะกระทบต่อเด็กอย่างไร และมีวิธีป้องกันอย่างไร ว่า คำแนะนำสำหรับเด็กและครอบครัว คือ เลี่ยงการเสพข่าวในเด็ก ยังไม่ควรให้เด็กรับรู้ข่าวหรือความเห็นของสังคมในตอนนี้ที่มีทั้งบวกและลบต่อครอบครัวหรือเด็กเอง เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวต้องแข็งแรง ลดการตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้สถานการณ์สงบที่สุดสำหรับเด็ก
ส่วนในวันที่เด็กไปโรงเรียน ต้องคาดการณ์กันถึงปฏิกริยาของเพื่อนที่มีต่อเด็กเป็นอย่างไร ซึ่งครูประจำชั้นสามารถช่วยดูแลเด็กได้ สังเกตว่าเกิดปฏิกิริยาอะไรบ้าง เด็กถูกรังแกล้งหรือล้อเลียนหรือไม่ รวมถึงสังเกตอาการของเด็กว่าผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ แต่ไม่แนะนำให้ปฏิบัติกับเด็กมากกว่าปกติ
“หากเด็กไม่ได้เสพสื่อ ก็จะไม่เกิดความระแวงในครอบครัว รวมถึงความสัมพันธ์เดิมที่ครอบครัวอบอุ่นดีอยู่แล้ว ก็จะช่วยให้ความไม่ไว้วางใจหรือไม่ศรัทธาก็จะเกิดยากกว่า ขณะนี้สังคมกำลังช่วยสะท้อนอุณหภูมิสังคมว่า ยังไม่เหมาะสม ครอบครัวต้องประคองกัน ทุกคนเคยผิดพลาด แต่สิ่งที่เราจะช่วยกัน นอกจากสะท้อนแล้ว ก็ต้องให้พื้นที่เขาฟื้นขึ้นมา ลุกขึ้นมาดูแลลูกให้แข็งแรง ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะกับเด็ก มากกว่าการรุมกระหน่ำซ้ำเติม ต้องให้โอกาสให้พื้นที่เขาเปลี่ยนแปลงปรับให้เหมาะสมกับเด็ก” พญ.ดุษฏี กล่าว
หลักการกฎหมาย เข้าข่ายละเมิด แม้ไม่ตั้งใจ
พญ.ดุษฎี กล่าวถึงการแสดงออกของศิลปินที่มีต่อลูกสาวนั้น เข้าข่ายผิดกฎหมายล่วงละเมิดเด็กหรือไม่ ว่า ถือเป็นการล่วงละเมิดเด็กได้ ในประเทศไทยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ดูแลปกป้องให้เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาเพื่อเติบโตอย่างมีความสุขตามศักยภาพของตนเอง โดย พ.ร.บ.วางไว้ 2 หลักการ คือ 1.ตัวของเด็ก และ 2.พฤติการณ์ที่กระทำเป็นไปในแนวทางละเมิดเสรีภาพของเด็กหรือไม่
“กรณีดังกล่าวโดยเจตนาของพ่อแม่อาจไม่ได้แย่ แต่พฤติการณ์ไม่เหมาะสม ส่วนพฤติการณ์ที่เข้าข่าย เช่น เด็กเป็นทุกข์กับสิ่งนั้น มีการคุกคามเสรีทางร่างกายและจิตใจเด็ก ประเด็นนี้อธิบายได้จากหลายครั้งที่การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ถูกแต่งตัวหรือสร้างความเข้าใจให้เหมือนว่าไม่ใช่การล่วงละเมิด (Child Grooming) เช่น พ่อบอกลูกว่าพ่อรักจึงทำแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วพ่อกำลังข่มขืนลูก (Rape) ทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อ (Victims) เป็นต้น” พญ.ดุษฎีกล่าว
พญ.ดุษฎี กล่าวเน้นย้ำว่า สิ่งที่จะต้องฝากพ่อแม่ที่เลี้ยงลูก คือ การให้ความรักกับเด็กเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่สม่ำเสมอ แต่ขณะเดียวกันต้องอยู่บนพื้นฐานของการสอนให้เด็กรู้จักขอบเขตในการดูแลร่างกายตัวเอง เพราะจะเป็นความปลอดภัยให้เด็กในอนาคตที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว ลูกจะต้องดูแลตัวเองให้ปลอดภัยได้
สถิติชี้เด็กถูกละเมิดจากคนใกล้ชิดเพิ่มขึ้นทุกปี
ด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย มีปัญหาเรื่องการละเมิดในครอบครัวอยู่มาก โดยทางมูลนิธิฯ ได้มีการเก็บสถิติพบว่ามีกรณีพ่อข่มขืนลูก หรือละเมิดทางเพศลูกเยอะ รวมถึงการละเมิดทางเพศต่อเด็กโดยคนใกล้ชิด คนในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี
ฉะนั้น สังคมต้องตระหนักเรื่องนี้ให้มากขึ้น สังคมจะมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัวไม่ได้ เพราะจะเห็นว่าสถิติการข่มขืนเพิ่มขึ้นจริงๆ โดยโดยเฉพาะเด็กเล็ก ดังนั้นกรณีอย่างนี้เป็นการละเมิดสิทธิเด็กอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ต้องฝากสังคมว่าไม่ควรนิ่งเฉยต่อความรุนแรง การละเมิดในครอบครัว แต่ก็ไม่ควรเปิดเผย ส่งต่อข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก และผู้ที่เกี่ยวข้องที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงตัวเด็กด้วยเพราะจะทำให้เกิดผลกระทบกับเด็กโดยตรง
สังคมต้องไม่นิ่งเฉย เด็กทุกคนต้องได้รับการปกป้อง
นายจะเด็จ กล่าวถึงกรณีการแสดงความรักในครอบครัว ระหว่างพ่อกับลูกสาว แม่กับลูกชาย ว่า การแสดงความรักถึงแม้จะเป็นคนในครอบครัว พ่อกับลูกสาว แม่กับลูกชายก็ตาม จะต้องเข้าใจว่าปัจจุบันมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอยู่ การแสดงความรักของคนในครอบครัวเดียวกันนั้น ถ้าคนเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก การแสดงความรักโดยการจับอวัยวะในจุดหวงห้ามนั้นไม่สามารถทำได้ ถือว่าจะเป็นการละเมิดได้
นอกจากนี้ กรณีการแสดงความรักเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็ก หากไม่มีการบ่มเพาะหรือฝึกทักษะเขาในเรื่องนี้อาจจะไม่รู้ หรือไม่เข้าใจว่าลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการละเมิด
ดังนั้น ต้องฝึกให้เขารู้ว่าการแตะต้องเนื้อตัว อวัยวะส่วนสงวนเป็นสิ่งที่ไม่ควรให้ผู้อื่นแตะต้อง เป็นต้น ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เด็กมีโอกาสถูกคุกคาม ถูกละเมิดโดยบุคคลอื่นๆ นอกบ้านได้ เช่น ที่โรงเรียน แม้แต่ที่วัดก็เคยมีกรณีการละเมิดเด็กเกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก สังคมไม่ควรนิ่งเฉย
“การแสดงความรัก กับการคุกคาม ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน การเลี้ยงลูกไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย โอกาสละเมิดนั้นมีสูง พ่อ แม่ต้องรู้ว่ามีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอยู่ ต้องรู้ว่าเลี้ยงลูกจุดไหนที่ต้องดูแล จุดไหนคือขอบเขตการแสดงความรัก กรณีการล้วง การจับอวัยวะหวงห้ามของเด็กนั้นทำไมได้ หากเป็นเด็กเล็กที่ดูแลตัวเองไม่ได้ แล้วเราต้องช่วยดูแลความสะอาดให้เขาอันนั้นไม่เป็นอะไร แต่เมื่อเด็กโตสามารถดูแลตรงนี้เองได้แล้ว ก็ไม่ควรทำ แม้กระทั่งการหอมแก้ม หากเด็กรู้สึกอึดอัดก็ถือว่าไม่ควรทำ ต้องเข้าใจว่าเราไม่ใช่เจ้าของลูก แต่มีสิทธิความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน” นายจะเด็จ กล่าว
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
เด็ก คือบุคคลที่จะเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติ ฉะนั้นแล้ว คนในสังคมควรที่จะช่วยกันดูแลเด็กๆ ทุกคน สอดส่องดูแล และยื่นมือเข้าให้การช่วยเหลือ เมื่อพบว่าเด็กถูกละเมิดหรือทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ โดยไม่ต้องกังวลว่า เมื่อหากเกิดการพิสูจน์แล้ว ผลออกมาว่าไม่ใช่การละเมิดก็ตาม เนื่องจากกฎหมายของไทย ได้ให้ความคุ้มครองบุคคลที่ให้แจ้งเหตุ ว่าเป็นการปกป้องเด็ก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage