"...ผมจําได้ว่ารัฐบาลได้เร่งประชุมด่วน และมีมติให้ นายวรการบัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเปิดฉากต่อสู้ โดยใช้กําลังจากกองทัพอากาศเป็นหลัก นําโดยจอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้บัญชาการให้เครื่องบินทหารอากาศทิ้งระเบิดลงเรือรบหลวงศรีอยุธยาจนล่มลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา แต่จอมพล ป. กระโจนลงแม่น้ำว่ายน้ำไปขึ้นฝั่งที่ท่าพระราชวังเดิมของกองทัพเรือ..."
หมายเหตุ เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสืออัตชีวประวัติของศาสตราจารย์มารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภา ชื่อ 'คนห้าแผ่นดิน รอประชาธิปไตยของเมืองไทย' บทที่นำมเผยแพร่นี้อยู่ในหัวข้อ 'การต่อสู้ในช่วงเป็นนักศึกษา ม.ธ.ก.
ผมจบการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ปี 2484 และสมัครเข้าเรียนต่อในโรงเรียนเตรียมปริญญาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งมีชื่อย่อว่า “ต.ม.ธ.ก.”
ผมเข้าเรียนในปี 2485 ปีที่ผมเข้าไปเรียนเตรียมปริญญาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นเป็นรุ่นที่ 5 (ต.ม.ธ.ก. รุ่น 5) ระหว่างปี 2485-2486 มีเพื่อนร่วมรุ่น 1,800 คน แบ่งเป็น 19 ห้อง ห้องละประมาณ 50 คน ซึ่งในรุ่นดังกล่าวประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายด้าน มีทั้งที่เป็น นักหนังสือพิมพ์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทูต ผู้พิพากษา อัยการ และที่ประกอบอาชีพอิสระก็มีมากหลายคนรวมทั้งตัวผมเองด้วย อาทิ ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย อดีตประธานสภาสังคมสงเคราะห์ คุณชาญ กาญจนาคพันธุ์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย คุณสุจินต์ ทิมสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมอัยการ คุณโสรัจ สุจริตกุล อดีตเลขาธิการ ก.พ. คุณชูชาติ ประมูลผล อดีตปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี คุณปลั่ง มีจุล อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคุณเปลื้อง วรรณศรี กวีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเจ้าของคำขวัญที่ว่า
“ถ้าขาดโดมเจ้าพระยาท่าพระจันทร์ ก็เหมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม”
ทำไมพวกเรา ต.ม.ธ.ก.จึงรักกัน เพราะธรรมศาสตร์สอนให้เรารักความสุจริต รักความยุติธรรม รักความถูกต้อง รักส่วนรวม พร้อมที่จะอุทิศตนให้แก่ส่วนรวมได้ตลอดเวลา ดังนั้นจึงมีคํากล่าวที่เป็นอมตะว่า
“เรารักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้เรารักประชาชน”
ภายหลังจากจบ ต.ม.ธ.ก.แล้ว ผมได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองระดับปริญญาตรีในหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต และขณะเดียวกันได้สอบเข้าเป็นข้าราชการชั้นจัตวา ตําแหน่งเสมียนพนักงาน กองคลัง กรมปศุสัตว์ ได้เงินเดือนเดือนละ 78 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาและอื่นๆ ที่ทําการของกรมปศุสัตว์ในขณะนั้นตั้งอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทางด้านประตูหลัง ผมก็อาศัยเดินไปฟังคําบรรยายกฎหมายในตอนเช้า และตอนเย็นเดินเข้าไปเพื่อซ้อมกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการซ้อมรักบี้ฟุตบอล ผมมีความสนใจในกีฬานี้อย่างมาก จึงทุ่มเทเวลาฝึกซ้อมจนได้รับคัดเลือกเป็นนักรักบี้ฟุตบอลในทีมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทีมชาติไทย โดยได้รับเสื้อสามารถด้วย ผมได้ลงเล่นให้รักบี้ฟุตบอล นัดสุดท้ายปี 2495 ในนามทีมชาติไทยแข่งกับทีมไซ่ง่อน(ปัจจุบันคือ นครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม) ผมได้รับบาดเจ็บจากการถูกเตะของฝ่ายคู่แข่งทำให้หางคิ้วซ้ายแตกต้องเย็บหลายเข็ม
ผมเรียนปริญญาโททางนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อ สำหรับการเรียนในระดับปริญญาโทนี้เรียนยากมาก โดยทางมหาวิทยาลัยได้กําหนดให้เรียน วิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย อาชญาวิทยา กฎหมายอาญาพิสดาร กฎหมายแพ่งและพาณิชย์พิสดาร กฎหมายของประเทศ แองโกลแซกซอน กฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย การฝึกหัดในทางอรรถคดี และวิชา อื่น ๆ แล้วต้องสอบปากเปล่ารายวิชาก่อนทําวิทยานิพนธ์
ในปี 2491 ผมรับราชการในกรมปศุสัตว์ มาครบ 4 ปีแล้ว ผมจึงตัดสินใจสมัครสอบเข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรม จําได้ว่าข้อสอบเป็นข้อเขียน 10 ข้อ เป็นระเบียบศาลเสีย 4 ข้อ อีก 6 ข้อเป็นทฤษฎี ความที่ผมทํางานอยู่กรมปศุสัตว์ อยู่กับวัวควาย ไม่รู้ระเบียบศาลมาก ส่วนทฤษฎีนั้นไม่มีปัญหา แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือในช่วงวาระสุดท้าย เลยอ่านๆๆ แล้วไปสอบ
พอดีผมได้อ่านหนังสือเรื่องระเบียบศาลพอดี จึงตอบข้อสอบปากเปล่าได้ อาจารย์พระปรีชาวินิจฉัย และอาจารย์อรรถวิจิตร ไกรฤกษ์ ซึ่งเป็นกรรมการสอบ พูดว่า
“เป็นเสมียนกรมปศุสัตว์มาสอบ แล้วตอบได้ดี ใช้ได้ เอาไป 85 คะแนน ก็แล้วกัน” ซึ่งคนที่สอบได้คะแนนสัก 60 ขึ้นไปก็ถือว่าดีแล้ว
ผมจึงได้เข้ารับราชการเป็นชั้นตรีของกระทรวงยุติธรรม ในตําแหน่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองบังคับคดีล้มละลาย (ชื่อในขณะนั้น)
ตัวผมซึ่งเคยรับราชการเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กระทรวงยุติธรรม และเรียนปริญญาโททางกฎหมาย ถ้าจบก็จะได้มีโอกาสเป็นผู้พิพากษาทันที ในขณะนั้นแต่ชีวิตของผมผันแปรไปเพราะผมต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมในฐานะนักศึกษาปริญญาโทและเป็นประธานนักศึกษาในขณะนั้น
ถ้าจะบอกเล่าถึงบรรยากาศชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยุคนั้นแล้ว ต้องเรียกว่า มีแต่ความรัก ความร่มรื่น ความอบอุ่น เพราะว่าพวกเรานักศึกษาทุกคน มีความเคารพนับถือท่าน ผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ มาก เพราะท่านให้ความเมตตาและใกล้ชิด เวลานักศึกษามีกิจกรรมอะไร ท่านก็จะมาร่วมด้วยเสมอ แม้ท่านจะมีภารกิจอื่นๆอีกมากมาย แต่ความร่มรื่นใต้ร่มเงาของโดมธรรมศาสตร์ เป็นอย่างนี้มาได้อีกไม่นานก็เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น และส่งผลกระทบต่อทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษา และตัวผมด้วย
อุบัติเหตุทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นมีหลายครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อจอมพล ผิน ชุณหะวัณ ทํารัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ยึดอํานาจการปกครอง และเชิญจอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์ในวันนั้นผมจําได้ว่า ผมอยู่ที่บ้านได้ข่าวจากเพื่อนมาบอก ในใจก็นึกเป็นห่วงทางครอบครัวของท่านปรีดีมาก ภายหลังจึงมาทราบรายละเอียดว่า มีกําลังทหารพร้อมรถถังไปยิงถล่มที่พํานักของท่านที่ทําเนียบท่าช้าง โชคดีที่ท่านปรีดีหลบหนีไปได้ทัน เหลือแต่ท่านผู้หญิงพูนศุขและลูกๆ นับจากวันนั้นครอบครัวของท่านก็ต้องประสบกับภัยทางการเมืองต่อมาอีกหลายสิบปี
หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารแล้ว ความที่รัฐบาลมีความ หวาดระแวง และต้องการรักษาอํานาจและผลประโยชน์ จึงเพ่งเล็งว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นแหล่งซ่องสุมกําลังคนของท่านปรีดี เพื่อหวังล้มรัฐบาล จึงพยายามลิดรอน และกีดกันสิทธิต่างๆ ของผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองไม่ให้มีบทบาทหรืออํานาจขึ้นมาง่ายๆ เมื่อพ้นท่านไปแล้ว ความว้าเหว่วังเวงก็เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ชีวิตการเป็นประธานนักศึกษาต่อสู้เรื่องสิทธิ์ต่างๆของนักศึกษาที่ถูกกีดกัน
ผมเป็นกรรมการนักศึกษา เป็นรองประธานนักศึกษา และต่อมาได้เป็นประธานนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพราะชอบทํางานเพื่อส่วนรวม ซึ่งผมมีนิสัยนี้มาตั้งแต่เด็ก ผมชอบต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรม ถึงแม้เราจบปริญญาตรี และทํางานแล้ว แต่เรายังไปวุ่นอยู่ในมหาวิทยาลัย รวมทั้งเพื่อน ๆ อีกหลายคนได้เรียกร้องต่อสู้ เพื่อสิทธิและความเป็นธรรมให้กับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สิทธิ์ของนักศึกษาที่ถูกกีดกันในเรื่องการรับราชการเป็นปลัด สังกัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวคือ ผู้ที่จบรัฐศาสตร์บัณฑิตจะเป็นปลัดจัตวา แต่ถ้าจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นปลัดตรี ส่วนผู้ที่สําเร็จรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เข้ารับราชการที่กระทรวงมหาดไทย ต้องเริ่มเป็นปลัด จัตวาก่อน แล้วจึงปรับเป็นปลัดตรี ซึ่งผิดกันกับผู้ที่สําเร็จการศึกษา จากรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะได้เป็นปลัดตรีทันที
สิทธิ์ของนักศึกษาที่ถูกกีดกันในเรื่องการเข้ารับราชการตํารวจ แต่เดิมหากเป็นผู้ที่สําเร็จ การศึกษาจากมหาวิทยาลัย ต้องผ่านการอบรมเป็นนายดาบ 6 เดือน จึงเป็นว่าที่ร้อยตํารวจตรี แต่ได้มีการเปลี่ยนใหม่ว่า เมื่อผู้ที่จบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะต้องเป็นผ่านการอบรม แล้วจะเป็นแค่จ่าตํารวจ ซึ่งไม่แน่ว่าจะได้รับการเลื่อนเป็นนายร้อยตํารวจ เมื่อใด
ผมต่อสู้ในเรื่องนี้
ผมได้กล่าวถึงสิทธิในการศึกษาที่ถูกกีดกันของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในทางวิทยุกระจายเสียง ผมได้ถือโอกาสโดยขออนุญาตเพื่อนรุ่นพี่ ที่ทํางานกระทรวงโฆษณาการเพื่อชี้แจงต่อรัฐบาลและ ประชาชนว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักศึกษาที่รักชาติทั้งนั้น นักศึกษาต้องการเสรีภาพในการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ต้องการการศึกษาที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การศึกษาที่กีดกันในทางประชาธิปไตย แต่ต้องการความเป็นธรรมดังเช่นผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยอื่น ปรากฏว่าได้รับความเห็นใจจากประชาชนมาก แต่ก็เกิดผลกระทบต่อรุ่นพี่ท่านนั้น ที่ให้ผมชี้แจงต่อรัฐบาล
สิทธิต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ มีเหตุการณ์สําคัญเกิดขึ้นอีกครั้ง
ขอทวงมหาวิทยาลัยคืน
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 เกิดกบฏแมนฮัตตัน หรือกบฏทหารเรือ ที่ท่าราชวรดิฐ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือเปิดหัวหรือเรือขุดสันดอนชื่อ “แมนฮัตตัน” ของสหรัฐอเมริกาที่มอบให้รัฐบาลไทยซึ่งได้ทําพิธีรับมอบกันที่ท่าราชวรดิฐใกล้กับมหาวิทยาลัย รัฐบาลไทยได้เชิญทูตและบุคคลสําคัญไปร่วมพิธีเป็นอันมาก
เวลาประมาณบ่ายสามโมง ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงครามทําพิธีรับมอบ และลงไปเจิม และคล้องพวงมาลัยที่หัวเรือ ทันใดนั้นนาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ได้ปราด เข้าไปใช้ปืนจี้บังคับให้จอมพล ป. ออกจากเรือแมนฮัตตัน ต่อหน้าทูตสหรัฐอเมริกาและทูตประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศ โดยนําตัวไปขึ้นเรืออีกลําหนึ่งและกักขังไว้ในเรือรบหลวงชื่อ “ศรีอยุธยา” ที่จอดอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสร้างความตกตะลึงแก่ผู้คนที่เห็นเหตุการณ์อย่างยิ่ง
ผมจําได้ว่ารัฐบาลได้เร่งประชุมด่วน และมีมติให้ นายวรการบัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเปิดฉากต่อสู้ โดยใช้กําลังจากกองทัพอากาศเป็นหลัก นําโดยจอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้บัญชาการให้เครื่องบินทหารอากาศทิ้งระเบิดลงเรือรบหลวงศรีอยุธยาจนล่มลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา แต่จอมพล ป. กระโจนลงแม่น้ำว่ายน้ำไปขึ้นฝั่งที่ท่าพระราชวังเดิมของกองทัพเรือได้อย่างปลอดภัย
สถานที่หลายแห่งในเขตพื้นที่ของทหารเรือในละแวกนั้นถูกไฟไหม้ได้รับความเสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บล้มตายนับร้อยทั้งทหารของทั้งสองฝ่าย รวมถึงประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องมีสะเก็ดระเบิด ถูกราษฎรหลายคน รวมทั้งเพื่อนสนิทของผมด้วยได้รับบาดเจ็บลําไส้ขาดต้องนอนป่วยอยู่หลายเดือน ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตในต่างประเทศ
เป็นอันว่ารัฐบาลสามารถปราบกบฏแมนฮัตตันได้สําเร็จ จากนั้นมีการกวาดล้างครั้งใหญ่ ได้นายทหารเรือคนสําคัญตกเป็นผู้ต้องหาจํานวนมาก ซึ่งการกบฏครั้งนี้มีเสียงเล่าลือว่าท่านปรีดี อยู่เบื้องหลัง ยิ่งทําให้รัฐบาลมีความหวาดระแวงมากยิ่งขึ้น จึงทําให้มีผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย มากยิ่งขึ้น
ภายหลังกบฏแมนฮัตตัน ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2494 รัฐบาลส่งทหารเข้าควบคุมและครอบครองพื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยอ้างว่า “ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราว และเพื่อความสงบเรียบร้อย” มหาวิทยาลัยได้ออกประกาศให้นักศึกษานิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ไปเรียนที่เนติบัณฑิตยสภา ส่วนพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี เศรษฐศาสตร์ ไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
การชุมนุมคัดค้าน และเรียกร้องเอามหาวิทยาลัยคืนจึงเกิดขึ้น และขยายตัวอย่างรวดเร็ว
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2494 พวกเราจึงวางแผนส่งนักศึกษาเข้าฟังการตอบกระทู้ถามในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดย ส.ส. เพทาย โชตินุชิต ซึ่งเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี (ในเวลานั้นธนบุรีมีสถานะเป็นจังหวัด) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จะตั้งกระทู้ด่วนถามรัฐบาลถึงเรื่องการคืนมหาวิทยาลัยในสภา ซึ่งตอนนั้นใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมสภา เราจึงปลุกระดมนักศึกษาประมาณสองพันคนพร้อมกันที่สนามหลวง และเดินไปลานพระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อไปรอฟังคําตอบในการทวงมหาวิทยาลัยคืน
เมื่อพวกเราไปถึงเขาปิดประตูไว้ พวกเราเข้าไม่ได้ จึงใช้แรงดันประตู นักศึกษาพังประตูล้มลงแล้วกรูไปนั่งรวมตัวที่สนามหญ้า เราตกลงกันว่าให้นักศึกษาหญิงเป็นด่านหน้า อาทิ คุณวิภา สุขกิจ อดีตบรรณาธิการหนังสือมติชน (เสียชีวิตแล้ว) คุณสุภางค์ โพวาทอง เป็นต้น ตะโกนร้องว่า “พวกเราต้องการพบท่านจอมพล ป. ถ้าท่าน เป็นชายชาติทหาร โปรดออกมาพบพวกเรานักศึกษาด้วย” ในที่สุด จอมพล ป. ก็ออกมาพร้อมองครักษ์ล้อมรอบ ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสถามว่า “ลูกหลานจะเอาอะไรกันเหรอ” นักศึกษาตอบว่า “หนูจะเอามหาวิทยาลัยคืน ไม่มีที่เรียนค่ะ” จอมพล ป. ตอบว่า “งั้นเหรอ เอ้า...จะคืนให้” พวกเราถามว่าจะคืนเมื่อไร ท่านบอกว่าภายใน 1 เดือน พวกเราก็ปรบมือกันเกรียว แล้วแยกย้ายกันกลับ แต่พอใกล้ระยะเวลาครบหนึ่งเดือนแล้วก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะได้มหาวิทยาลัยคืน
แผนปฏิบัติการปลดมหาวิทยาลัยจากการถูกยึดครอง
เราจึงได้วางแผนกันว่า ขณะนั้นเป็นเวลาปิดภาคการศึกษา ซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติว่า เมื่อปิดภาคการศึกษา สโมสรนักศึกษาจะจัดรายการพักผ่อน นํานักศึกษาไปทัศนศึกษาต่างจังหวัด
ซึ่งในปี 2494เราจะจัดกิจกรรมพานักศึกษาไปทัศนศึกษาที่จังหวัดนครสวรรค์ เดินทางไปวันที่ 4 พฤศจิกายน 2494 เมื่อเราเดินทางไปถึงจังหวัดนครสวรรค์ ปรากฏว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการ ต่างล้วนเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต จึงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี
สําหรับแผนการที่วางไว้ก็คือ พวกเราจะกลับโดยกระบวนรถไฟ ถึงสถานีรถไฟหัวลําโพง กรุงเทพฯ ในตอนตีห้ากว่าของเช้าวันที่ 5 พฤศจิกายน 2494 เมื่อมาถึงสโมสรนักศึกษาได้จัดรถเมล์ขาวเตรียมไว้กว่าสิบคัน มีป้ายที่ติดรถว่า “พวกเราจะยึดมหาวิทยาลัยคืน” รวมทั้งมีรถบัสรับนักศึกษาในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้ไปจังหวัดนครสวรรค์ด้วย เข้าร่วมสมทบที่สถานีรถไฟหัวลําโพงโดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมประมาณสามพันคน มุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ท่าพระจันทร์
เมื่อเคลื่อนขบวนกันไปถึงสนามหลวงใกล้บริเวณศาลแพ่งในขณะนั้น พวกเราก็ลงจากรถแล้วเริ่มเดินขบวนเข้ายึดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองคืนจากฝ่ายทหาร ภายใต้คําขวัญใน สมัยนั้นว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” โดยนักศึกษาเข้าเจรจากับทหารผู้เฒ่าที่เฝ้าหน้ามหาวิทยาลัย บอกว่า ลูกหลานต้องการเข้าเรียน การปิดกั้นไม่ถูกต้อง ขอให้กลับไปยังกรมกองที่สังกัด เพราะที่มาเฝ้านั้นอดอยาก เบี้ยเลี้ยงก็ไม่ได้ ทหารที่เฝ้าอยู่ได้รับคําสั่งไม่ให้ขัดขวางจึงยอมเปิดทางให้ พวกเราทั้งหมดก็ยกขบวนเข้าไปในมหาวิทยาลัย
พวกเรายึดมหาวิทยาลัยคืนได้โดยเรียบร้อยด้วยวิถีทางอย่างสงบและสันติ โดยมิได้ใช้อาวุธ และไม่เสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด
วันที่ 5 พฤศจิกายน จึงเป็นวันสําคัญในประวัติศาสตร์ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรียกกันว่า “วันธรรมศาสตร์สามัคคี หรือ วันคืนสู่เหย้า” หลังจากที่นักศึกษาต้องพลัดพรากไปเรียนที่ เนติบัณฑิตยสภา และโรงเรียนเตรียมอุดมถึงสี่เดือนเศษ
สิ่งที่ผมภูมิใจก็คือได้รับการยกย่องจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เป็นบุรพาจารย์ และชมรมเพื่อนโดมได้สร้างประติมากรรม “วันธรรมศาสตร์สามัคคี 5 พฤศจิกายน” บริเวณตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ออกแบบโดย ภัฎ พลชัย (ฏ.ปตัก) เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อรักษามหาวิทยาลัยเอาไว้ แสดงออกถึงความสามัคคีของนักศึกษา ทั้งเผยแพร่ให้ศิษย์เก่าและปัจจุบันทุกคนได้รู้ว่าการได้สิ่งใดมา ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องต่อสู้เรียกร้องจึงได้มา โดยผม นายมารุต บุนนาค อดีตประธานนักศึกษาที่เป็นผู้นำเรียกร้องทวงคืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเวณด้านหน้าของประติมากรรม มีแท่นจารึกบรรยายเหตุการณ์ “วันธรรมศาสตร์สามัคคี 5 พฤศจิกายน”
การเรียกร้องเสรีภาพ
เมื่อเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้แล้ว ในช่วงขณะนั้นก็มีการต่อสู้ ทางความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ในปี 2495 มีการเรียกร้องเสรีภาพทั่วโลก ทั้งต่างประเทศ และประเทศไทย
นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แสดงความคิดเห็นในเรื่องเรียกร้องเสรีภาพด้วย โดยขอให้รัฐบาลถอนทหารไทยที่ส่งไปรบที่เกาหลี ให้กลับประเทศไทยโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของสหรัฐอเมริกา และให้ผูกสัมพันธไมตรีกับจีนคอมมิวนิสต์ (จีนแผ่นดินใหญ่) แต่ปรากฏว่าไม่ประสบความสําเร็จ
ก่อนที่ผมจะถูกจับกุมคดีการเมือง หน้าที่การงานของผมก็มีความเปลี่ยนแปลง กล่าวคือเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2495 ผมกำลังจะถูกคำสั่งย้ายให้ไปเป็นจ่าศาลที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่สุดแสนจะทุรกันดาร ข้าราชการทั้งหลายต่างทราบกันดีว่าเป็นดินแดนเนรเทศของข้าราชการในขณะนั้น เพราะต้องเดินทางด้วยขี่ช้างที่จังหวัดเชียงรายเพื่อไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมระยะเวลาเดินทางถึงสามวันสามคืน
ก่อนที่ผมจะลาออกจากราชการ ผมได้เข้าพบคุณหลวงท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองบังคับคดีล้มละลาย เพื่อขอคำปรึกษาและขอให้ช่วยเหลือในเรื่องนี้ ปรากฏว่าท่านมิได้ให้กำลังใจแต่อย่างใด ท่านกลับพูดพลักไสไล่ส่งว่า
“คุณไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้พิพากษาหลอก จะทำให้กระทรวงยุติธรรมวุ่นวาย ให้ไปทำมาหากินเป็นทนายความจะดีกว่า”
ซึ่งอาชีพทนายความในขณะนั้นถือว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยที่สุดในกระบวนการยุติธรรม เพราะถูกปกครองโดยเนติบัณฑิตยสภา(ประกอบด้วยตุลาการและอัยการ) และมักจะถูกดูแคลนในทางสังคม ดังจะเห็นได้ว่าในคำพิพากษาศาลฎีกาบางเรื่อง ในระหว่าง ร.ศ.112-120ได้มีคำพิพากษาที่ตำหนิผู้ที่เป็นทนายความไว้เป็นอันมาก
ผมจึงตัดสินใจยื่นใบลาออกจากกระทรวงยุติธรรม และระบุข้อความในหนังสือว่า
“ผมขอลาออกจากราชการกระทรวงนี้ และถ้าลาออกไปแล้วจะไม่ขอกลับเข้ารับราชการในกระทรวงนี้อีกแน่นอน” พระดุลยภาคสุวมันต์ ปลัดกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น แจ้งให้ผมตัดข้อความประโยคท้ายสุด ของหนังสือลาออกนี้ได้หรือไม่
ผมตอบว่า“ไม่ได้ เพราะมีเจตนาเช่นนั้น”
พอวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ได้มีการจับกุมครั้งใหญ่ ซึ่งเรียกว่า “กบฏสันติภาพ” มีผู้ถูกจับกุมเป็นประชาชนจํานวนมาก เช่น ขบวนการกู้ชาติ อดีตนักการเมือง นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง ขบวนการนักศึกษาโดยผมเป็นผู้นํา และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ใช้ แรงงานหรือเรียกว่า จับกัง ไม่มีใครเข้าใจคําว่ามาร์กซิสต์แต่อย่างใด)
ผมใคร่จะกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ที่ผมถูกจับเป็นกบฏทั้งภายนอกและภายในประเทศซึ่งเรียกว่า“กบฏสันติภาพ”ผมถูกคุมขังสามเดือน ถูกขังที่เรือนนอนของโรงเรียนตํารวจ ซึ่งเป็นเรือนนอนใต้ถุนโปร่ง (ที่ตั้งโรงพยาบาลตํารวจในปัจจุบัน)
สําหรับการสอบสวนจะไม่ทําในเวลากลางวัน แต่จะเริ่มตั้งแต่ เวลา21.00 น. ไปจนถึงเวลาตี 1 หรือ ตี 2 ผมถูกเรียกเข้าสอบสวนประมาณ 30 ครั้ง การสอบสวนมีทั้งการขู่เข็ญ โอ้โลมปฏิโลม รวมทั้งขอให้เป็นพยานเท็จซัดทอดท่านปรีดี พนมยงค์ และขู่ว่าถ้าไม่ยอมเป็นพยานเท็จ ก็จะมีพยานอีกประมาณ 300 ปาก และผมอาจต้องถูกขังถึง 3 ปีจึงจะปล่อยได้
ผมมีหลักการนิดหนึ่งในฐานะเรียนจบกฎหมายนิติศาสตร์ และถูกจับกุมขณะเรียนปริญญาโท
เจ้าหน้าที่ตํารวจที่ทําการสอบสวนมักจะชอบถามเรื่องเดิมซ้ำๆ ซากๆ เพื่อจับผิดว่าจะให้การเป็นความจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตํารวจเรียกมาสอบกลางคืน พอผมกลับมาที่พักผมก็จะบันทึกไว้ว่า ถูกสอบในเรื่องอะไร เมื่อเจ้าหน้าที่ตํารวจเรียกตัวไปสอบสวนใหม่ก็จะถามเรื่องใหม่ก่อนจากนั้นถามเรื่องเก่า ซึ่งผมก็ตอบเหมือนเดิม ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่เจ้าหน้าที่ตํารวจค้นหาความจริงจากผู้ต้องหาว่าที่ให้การเป็นความจริงหรือไม่
ผมต้องถูกสอบสวนและได้เห็นเล่ห์เหลี่ยมวิธีการที่ไม่ชอบมาพากลในการสอบสวนครั้งนั้น และที่น่าเศร้าใจก็คือผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำเร็จปริญญาธรรมศาสตร์บัญฑิต รุ่นก่อนผมเข้าเป็นตำรวจทำการสอบสวน โดยใช้ปืนตบหน้าผม ผมยังจำได้จนถึงขณะนี้ และแค้นยังไม่ชำระ แต่บุคคลผู้นั้นก็เสียชีวิตไปก่อน ซึ่งเป็นผลกรรมของท่านเอง ต่อมาผมได้รับความเป็นธรรมจากพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง
ตัวผมถูกลบทะเบียนออกจากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถูกยกเลิกวิทยานิพนธ์ในคณะนิติศาสตร์ ทั้งๆที่ทำวิทยานิพนธ์แล้ว อยู่ระหว่างรอสอบ (ต่อมาเพิ่งเปิดเผยในภายหลังว่าศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้ผมทำปริญญาโทใหม่ได้ แต่ในช่วงนั้นผมประกอบอาชีพทนายความมีความรุ่งเรืองจึงไม่สามารถกลับมาทำวิทยานิพนธ์ได้จนถึงขณะนี้)