'ปิยกุล บุญเพิ่ม' ประธานศาลฎีกาคนที่ 47 ประกาศนโยบาย 'ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย' มุ่งส่งเสริมบทบาทคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน-สร้างหลักประกันการพิจารณาคดีปลอดภัยด้านสุขอนามัย ภายหลังดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกาคนที่ 47 ประกาศนโยบายประธานศาลฎีกา พ.ศ. 2564 - 2565 'ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย' ภายหลังดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ส่งเสริมบทบาทศาลยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้หลักนิติธรรม
-
ปรับปรุงกระบวนการในชั้นฝากขังและการปล่อยชั่วคราวให้เกิดการบูรณาการเพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น
-
ยกระดับการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายให้เข้าถึงการได้รับการเยียวยาความเสียหายทุกมิติอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม
-
พัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราว และส่งเสริมการใช้มาตรการตามกฎหมาย เพื่อลดการเรียกหลักประกันควบคู่กับการสร้างความปลอดภัยให้สังคม
2. สร้างหลักประกันการพิจารณาคดีที่ปลอดภัยด้านสุขอนามัย
-
สนับสนุนมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยแก่ประชาชนและบุคลากรในการดำเนินคดีที่ศาล
-
วางระบบการบริหารจัดการคดีให้สามารถดำเนินการเสร็จภายในมาตรฐานระยะเวลาที่กำหนดภายใต้ข้อจำกัดของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
-
ส่งเสริมการใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกขั้นตอนของการดำเนินคดีสำหรับคู่ความที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี
3. สร้างสรรค์ระบบงานให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
-
ส่งเสริมการใช้กลไกการระงับข้อพิพาททางเลือกและการดำเนินคดีเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมถึงการบริโภควิถีใหม่และข้อพิพาทเฉพาะด้าน
-
สร้างระบบนิเวศในการทำงานที่ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยให้ความสำคัญ กับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
-
สนับสนุนบทบาทขององค์กรศาลยุติธรรมในการเป็นแหล่งความรู้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมการวิจัยเพื่อการพัฒนาองค์กรให้สอดรับกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลง
4. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพความก้าวหน้าและสุขภาวะที่ดีของบุคลากร
-
สนับสนุนการศึกษาเรียนรู้ของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่
-
ส่งเสริมให้บุคลากรมีโอกาสปฏิบัติงานตามความรู้ ความเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหลักประกันแก่ประชาชนในการได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีที่ถูกต้อง และเป็นธรรม โดยมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างเป็นธรรมและทัดเทียม
-
ยกระดับระบบการดูแลรักษาสุขภาพของบุคลากรเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage