"… ฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณสุข และฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ปรับกลยุทธ์การรับมือการระบาดในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ใช้ยาฟ้าทะลายโจรต่อเนื่อง 5 วัน ให้ผู้ติดเชื้อกลุ่มเปราะบาง กลุ่มอาการปอดบวม รวมถึงกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการน้อย พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหายป่วยได้ดี มีส่วนน้อยที่จะมีอาการมากขึ้น…."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : อ้างถึงเอกสารโทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย (มท.) หน้า 1 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด มท.แจ้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดถึงผลการถอดบทเรียนการใช้ยาฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิดในเรือนจำกลางเชียงใหม่และอำเภอแม่ริม ที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารสถานการณ์โควิดที่แต่ละจังหวัดสามารถนำไปพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ได้ จึงได้ส่งข้อเสนอแนะแนวทางการรับมือมา มีข้อมูลดังนี้
เรือนจำกลางเชียงใหม่ มีผู้ต้องขังรวมทั้งหมด 6,950 ราย เกิดการระบาดของโควิดเมื่อ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยติดมาจากผู้ต้องขังใหม่ และแพร่กระจายมากขึ้นตามลำดับ แม้ว่าเรือนจำได้จัดระบบรับมืออย่างเต็มที่แล้วก็ตาม มีการแยกแดนกักตัวผู้ติดเชื้อที่มีอาการแตกต่างกันออกจากผู้ต้องขังทั่วไปตามหลัก Bubble and Seal เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง ลดความรุนแรงของผู้ป่วยและป้องกันการเสียชีวิต แต่จนถึงสิ้นเดือน พ.ค.2564 มีผู้ต้องขังติดเชื้อรวม 3,997 ราย คิดเป็น 57.5% เสียชีวิต 2 ราย คิดเป็น 0.05% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด
อย่างไรก็ตามในช่วงต้นเดือน พ.ค.2564 ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ได้สั่งการให้กองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 3 ส่งหน่วยเฉพาะกิจเข้าไปควบคุมการระบาดของโควิดในเรือนจำกลางเชียงใหม่
และกองทัพภาคที่ 3 ได้ส่ง พล.ต.วุฒิไชย อิศระ รองเจ้ากรมการแพทย์ทหารบก รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำทีมจำนวน 18 นาย ไปร่วมปฏิบัติการที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ในช่วงระหว่างวันที่ 3-31 พ.ค.2564 จนสถานการณ์การระบาดสงบลง
ทีมงานจากกองทัพบกได้ร่วมมือกับฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณสุข และฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ปรับกลยุทธ์การรับมือการระบาดจากการตั้งรับเป็นเชิงรุก เน้นแยกผู้ต้องขังที่ติดเชื้อออกจากผู้ต้องขังทั่วไป แยกผู้ติดเชื้อที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและที่มีอาการหนักออกจากผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย มีการตั้ง Mini ICU ขึ้นมาดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงที่เกินขีดความสามารถในการรักษา และมีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลนอก
สำหรับผู้ติดเชื้อที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ผู้ติดเชื้อที่มีอาการปอดบวมร่วมด้วย รวมถึงผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย (สีเขียว) ก็ให้ฟ้าทะลายโจรต่อเนื่อง 5 วัน เพื่อให้ได้สาร Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหายป่วยได้ดี มีส่วนน้อยที่จะมีอาการมากขึ้น
ยาฟ้าทะลายโจรแม้ว่าจะยังไม่เป็นที่ยืนยันว่ารักษาผู้ป่วยโควิดได้ แต่ในช่วงปฏิบัติการข้างต้นเหมือนกับอยู่ในสภาวะสงคราม ที่ต้องหาทางเอาชนะข้าศึกให้ได้ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์เท่าที่มีและพอหาได้ การจ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้ผู้ต้องขังคาดว่าจะช่วยลดความรุนแรงของโรคให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยได้
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ภก สุพัฒน์ จิะนุสรณกุล คณบดีเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาฟ้าทะลายโจรด้วยว่า จากการทดลองพบว่า สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสโควิดได้ในช่วงต้น แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อ จนถึงปัจจุบันผลการวิจัยยังไม่เป็นที่ยืนยัน แต่เชื่อว่ามีแนวโน้มใช้รักษาผู้ป่วยโควิดติดเชื้อระยะต้นได้ ซึ่งยังต้องอาศัยการวิจัยที่มีขนาดตัวอย่างเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ในปัจจุบันยาฟ้าทะลายโจรได้ถูกกำหนดให้เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุรไพรแล้ว โดยจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) ยาสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร และ 2) ยาจากผงฟ้าทะลายโจร
ขยายผลใช้ฟ้าทะลายโจรถึงแม่ริม เชียงใหม่
ขณะเดียวกันช่วงเดือน ก.ค.2564 มีการแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มต้นที่ศูนย์เด็กเล็กบ้านกองแหะ และกระจายสู่ชุมชน มีผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 137 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อลงปอด 2 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต
ฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณสุข และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว จัดระบบป้องกัน ค้นหาเชิงรุก แยกกัก และการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่มีประสบการณ์อันเป็นบทเรีนมาก่อนแล้ว
ในการควบคุมโรคครั้งนี้ มีการจ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้กับผู้ป่วยอาการไม่หนักตามคำสั่งแพทย์ และนายภัควัติ ขันธหิรัญ นายอำเภอแม่ริม นอกจากยังให้แจกยาฟ้าทะลายโจรชนิดผงหยาบให้กับครอบครัวผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงน้อยด้วย
หลังจากการควบคุมโรค นายอำเภอแม่ริมได้จัดทำโครงการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ปลูกฟ้าทะลายโจรทุกหลังคาเรือน โดยมุ่งเป้าหมายให้ประชาชนมีฟ้าทะลายโจรเป็นยาสมุนไพรประจำบ้านต่อไปด้วย
แสดงให้เห็นว่า จากกรณีที่มีการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ จึงมีการใช้อย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นไปตามที่ทางราชการสนับสนุนให้ใช้ กลายเป็นกระแสนิยมสมุนไพรที่สูงมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ข้อเสนอแนะเกี่ยวการรับมือโควิด
1.การปรับแนวทางและบทบาทในการทำงานหรือกลไกของราชการส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อรองรับสถานการณ์ ภัยคุกคามอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด
-
ควรพัฒนากลไกการติดสินใจและการบริหารสถานการณ์ที่เน้นการมีส่วนร่วม ต้องได้รับข้อมูล ความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมจากพื้นที่และภาคส่วนต่างๆ
-
การบริหารงานขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ควรมีความยืดหยุ่นและผ่อนปรนมากขึ้น เช่น ให้เปิดรับลักษณะของโครงการหรือกิจกรรมประเภทใหม่ๆ ให้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้ปลอดภัยและมีสุขภาวะที่ดีภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด ประกอบด้วย การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง อปท.กับภาคส่วนอื่นๆ ภายในท้องถิ่น เช่น กับภาคธุรกิจ ร้านค้า หรือสถานประกอบการต่าง ๆ และควรจัดเก็บและใช้ข้อมูลที่แม่นยำ ทันสมัย เเช่น กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ตลอดจนการเข้าออกพื้นที่ของประชาชนที่อาจจะเป็นกลุ่มเสี่ยงเพื่อการเฝ้าระวังโรค
2. ควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรค ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานข้อเท็จจริงว่ายังไม่สามารถจำกัดเชื้อโควิดได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า และอาจกลายพันธุ์รุนแรงมากขึ้น รวมถึงยังอาจมีการผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้นหรือยารักษาโรคที่ได้ผลดีและราคาไม่แพง
3. ควรมีการสร้างระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
-
กำหนดเป้าหมายในการตรวจหาเชื้อให้รวดเร็ว โดยดำเนินการเป็นภารกิจประจำ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อไปกักตัวและรักษา ป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป
-
การสร้างสถานที่กักตัวและโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน
-
การล็อกดาวน์ ควรใช้ในกรณีพื้นที่ที่มีการระบาดสูง โดยการประกาศเป็นจุดๆ ไม่ล็อกดาวน์ในวงกว้าง เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีการบริหารจัดการร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่
-
ควรเร่งจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน 70% ของประชากรในเดือน ม.ค.2564
-
ควรให้ภาคประชาชน เอกชน อุตสาหกรรม และกลุ่มนักธุรกิจ เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ โดยรัฐบาลสนับสนุนการเงิน วัคซีน ยา และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและงบอุดหนุน
4. ควรให้ความสำคัญกับการแพทย์ปฐมภูมิ เนื่องจากในแต่ละชุมชนจะมีเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ใสชุมชนซึ่งเป็นการกระจายโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว จึงควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นการดำเนินการสริางความเข้มแข็งภายในชุมชนปลอดโควิด
ภาพจาก: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage