"...พระพุทธศาสนากับสสส.มีวัตถุประสงค์ที่ตรงกัน คือ ลดทุกข์และสร้างสุขให้คนทั้งมวล สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ตั้งมา 20 ปี ทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะแก่คนทั้งมวล ทั้งพระพุทธศาสนาและสสส.มีหลักคิดเกี่ยวกับสุขภาวะตรงกัน กล่าวคือ สสส.ถือหลัก สุขภาพ คือ สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา ทางพระพุทธศาสนามีหลักการพัฒนา 4 ด้าน ที่ตรงกัน..."
พุทธวิธีสร้างสุขสร้างสุขภาวะสำหรับคนทั้งมวล ถวายสมเด็จพระสังฆราช และคณะสงฆ์
1 พระพุทธศาสนาทุนอันยิ่งใหญ่ของไทย
ประเทศไทยมีวัด 30,000 – 40,000 วัด พระสงฆ์และสามเณรประมาณ 300,000 รูป มีพระธรรมคำสั่งสอนของพระศาสดา ซึ่งเป็นปัญญาสูงสุด มีประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชนประมาณ 90 เปอร์เซนต์ แม้ไม่จริงจังกับพุทธธรรมนักแต่ก็มีเชื้อแถวหรือเมล็ดพันธุ์ที่สามารถงอกออกมาได้ไม่ยาก ถ้ามีธรรมวาทีที่มีความสามารถสูง ทั้งหมดเป็นทุนอันยิ่งใหญ่ของไทยที่สามารถใช้สร้างสุขภาวะสำหรับคนทั้งมวล รวมทั้งขยายออกไปยังโลกได้ด้วย ฉะนั้นคนไทยควรตื่นตัวทำความเข้าใจว่า จะใช้พุทธวิธีสร้างสุขสำหรับคนทั้งมวลได้อย่างไร
2 โลกขาดความสุข
แม้โลกมีความเจริญทางวัตถุมาก แต่ก็เสียสมดุลในทุกมิติ ทั้งทางสิ่งแวดล้อม สังคมเศรษฐกิจ และในตัวมนุษย์เอง การเสียสมดุลทำให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง ขาดความสุข และขาดสันติภาพ มนุษย์มีความเครียด เหน็ดเหนื่อย ทุกข์กาย ทุกข์ใจ จนต้องใช้ยาเสพติด ใช้ยาแก้ปวด ใช้ยากล่อมประสาท เป็นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ฆ่าผู้อื่นตาย ดังที่มีการกราดยิงโดยไม่มีเหตุผลปรากฏอยู่เนืองๆ
ถ้ามีวิธีที่จะทำให้มนุษย์มีความสุข หรือสุขภาวะ สิ่งนั้นย่อมสำคัญที่สุด
พุทธธรรมเป็นประดุจมหาสมุทรแห่งความรู้ ซึ่งสามารถเลือกมาผสมหรือปรุงเป็นธรรมโอสถขนานต่างๆ ให้ตรงกับสภาพหรือสถานการณ์แห่งความทุกข์ที่แตกต่างกัน
โลกสมัยใหม่ต่างจากครั้งพุทธกาลที่มีโครงสร้างและระบบใหม่ๆ ผุดบังเกิดขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างรุนแรงและซับซ้อน การบรรยายธรรมโดยไม่คำนึงถึงบริบทแห่งความทุกข์ที่หลากหลาย ทำนอง “ใจเย็นๆ ไว้นะโยม” ย่อมยากที่จะได้ผล
แต่พุทธธรรมนั้นถือหลักอนิจจัง คือ สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยที่หนุนเนื่อง และการสืบสาวราวเรื่องตามเหตุปัจจัยให้สามารถตามรู้ได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร พุทธศาสนาเป็นปัญญานิยม ไม่ใช่อำนาจนิยม อำนาจไม่สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและยากได้ แต่ต้องใช้ปัญญา ฉะนั้นถ้าใช้พุทธธรรมให้ถูกต้องย่อมสามารถเข้าใจปัญหาใหม่ๆ และวิธีแก้ไขคงจะไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า
มีแต่โดยพุทธธรรมเท่านั้น ที่จะทำให้เข้าใจระบบซับซ้อน (Complexity System) ในปัจจุบัน ในขณะที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่สามารถสร้างโลกที่สมดุล เพราะเป็นเพียงความรู้ ยังไม่ใช่ปัญญาเหมือนพุทธธรรมที่ทำให้รู้ทั้งหมด รวมทั้งรู้ตัวเอง จนลดละกิเลสได้ เพิ่มความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่งได้
3 การเป็นภาคีกับสสส.
พระพุทธศาสนากับสสส.มีวัตถุประสงค์ที่ตรงกัน คือ ลดทุกข์และสร้างสุขให้คนทั้งมวล สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ตั้งมา 20 ปี ทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะแก่คนทั้งมวล
ทั้งพระพุทธศาสนาและสสส.มีหลักคิดเกี่ยวกับสุขภาวะตรงกัน กล่าวคือ สสส.ถือหลัก สุขภาพ คือ สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา ทางพระพุทธศาสนามีหลักการพัฒนา 4 ด้าน ที่ตรงกันคือ
กายภาวนา (ภาวนา = พัฒนา)
จิตภาวนา
ศีลภาวนา (การพัฒนาสังคม)
ปัญญาภาวนา
สสส.มีกำลังและประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงมากพอสมควรในการทำงานมา 20 ปี เพราะฉะนั้นการเป็นภาคีระหว่างสถาบันทางพุทธศาสนากับสสส. น่าจะเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันและร่วมกัน
4 หลักสูตรพุทธวิธีสร้างสุข
มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง คือ ทั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ควรจะมีหลักสูตรพุทธวิธีสร้างสุขสำหรับพระนิสิตทุกรูป และฆราวาสที่สนใจ พระนิสิตมีหลายหมื่นรูป ถ้าทุกรูปเป็นผู้เชี่ยวชาญในพุทธวิธีสร้างสุข จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสุขภาวะแก่คนทั้งมวล
หลักสูตรพุทธวิธีสร้างสุขที่เชื่อมโยงปริยัติและปฏิบัติต้องได้ผลจริง คือ สามารถสร้างสุขภาวะให้ทั้งพระนิสิต ให้ได้ลิ้มรสด้วยตนเอง (สันทิฏฐิโก) จึงจะสามารถสอนหรือส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนให้เกิดผลจริง เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายควรให้ความสนใจหลักสูตรพุทธวิธีสร้างสุขให้ดีๆ อย่าให้เหมือนการท่องวิชาในระบบมหาวิทยาลัยที่ทำอะไรไม่เป็น
5 สะพานเชื่อมพุทธธรรม
เราต้องมีพุทธวิธีสร้างสุขเป็นสะพานเชื่อมพุทธธรรม ดังรูป “สามเหลี่ยมพุทธวิธีสร้างสุข”
สามเหลี่ยม คือ การเชื่อมโยง พุทธธรรม – ชุมชน – วัด โดยมีพระนิสิตและมหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นตัวเชื่อมด้วยหลักสูตรพุทธวิธีสร้างสุข และมีกลุ่มสนับสนุนพุทธวิธีสร้างสุขเข้ามาเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย
พระนิสิตไปปฏิบัติการ นำพุทธธรรมไปเชื่อมโยงกับชุมชนและวัด ให้วัดเป็นวัดสร้างสุข ชุมชนเป็นชุมชนสันติสุข “ด้วยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง”
การเทศน์ธรรมะแบบ one way ผู้เทศน์ไม่ได้เรียนรู้ ไม่รู้บริบท หรือสถานการณ์ของผู้ฟัง จึงไม่ได้เลือกสรรข้อธรรมะที่สอดคล้องกับบริบทของความเป็นจริง เป็นการผูกขาดการสื่อสารแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ค่อยได้ผล และผู้เทศน์ไม่ฉลาดขึ้น เพราะไม่ได้เรียนรู้
แต่การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ในสถานการณ์จริง ทรงพลังอย่างยิ่งในการสร้างปัญญาและผลของการปฏิบัติ กระบวนการก็นำความสุขมาให้ทุกฝ่ายที่ร่วมปฏิบัติ
ชุมชนเป็นหน่วยสังคมสันติสุข ชุมชนขนาดเล็กที่มีประชากรประมาณ 500 – 1,000 คน เป็นหน่วยสังคมพื้นฐานที่สามารถสร้างความถูกต้องทุกด้าน และเกิดสุขภาวะอย่างยั่งยืนได้ง่าย โดยคนทั้งชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เป็นประชาธิปไตยทางตรง โดยพัฒนา 8 มิติ อย่างเชื่อมโยงกัน คือ เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม - วัฒนธรรม – สุขภาพ – การศึกษา - ประชาธิปไตย
ทั้ง 8 เรื่องนี้ ต้องบูรณาการอยู่ในกันและกัน แบบที่เรียกว่า มรรคสมังคี เมื่อจับเรื่องใดก็ต้องเชื่อมไปอีก 7 เรื่อง เช่น เศรษฐกิจไม่ได้เป็นเรื่องเงินทองเท่านั้น แต่เชื่อมไปอีก 7 หรือการศึกษาไม่ใช่เรื่องของการท่องวิชาเท่านั้น แต่เชื่อมอยู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ ประชาธิปไตย
เมื่อชุมชนมีการพัฒนาอย่างบูรณาการก็จะสมดุล สงบสุข ยั่งยืน เป็นชุมชนเข้มแข็ง หรือชุมชนสุขภาวะ หรือสังคมสันติสุข ประเทศไทยควรมีชุมชนขนาดเล็กที่เป็นชุมชนสุขภาวะประมาณ 100,000 ชุมชน ทั้งชุมชนชนบท และชุมชนเมือง และชุมชนแบบใหม่ๆ เช่น ชุมชนบ้านจัดสรร ชุมชนคอนโด
โดยวิธีนี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ – พระนิสิต – วัด – ชุมชน และกลุ่มชาวพุทธทั้งหลายทั้งปวงก็จะเข้ามาเชื่อมโยงกันด้วยพุทธธรรม โดยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงทั่วประเทศ
การสร้างสุขภาวะเพื่อคนทั้งมวลด้วยพุทธวิธีสร้างสุขจึงเป็นไปได้ พุทธธรรมจะอยู่ในวิถีชีวิตของคนทั้งหมด ประเทศไทยจะรุ่งเรืองด้วยพุทธธรรม แสงธรรมจะจับท้องฟ้าประเทศไทย
6 ประเทศไทยเต็มไปด้วยสัญลักษณ์แห่งธรรม
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริงตามธรรมชาติ ที่เรียกสั้นๆ ว่าธรรม มีผลให้ลดทุกข์ และสร้างสุข ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ก็ได้ ความสุขคือความสงบเย็น ความทุกข์คือความเร่าร้อน ความจริงตามธรรมชาติคือความไม่มีตัวตน (อนัตตา) มีแต่กระแสของเหตุปัจจัยหรือความเป็นเหตุเป็นผลที่หนุนเนื่อง มนุษย์เพราะความไม่รู้ เข้าไปยึดมั่น (อุปทาน) ในตัวตนแล้วเกิดกิเลส ตัณหา พาให้เร่าร้อน ถ้าระลึกได้เมื่อไหร่ว่าธรรมชาติไม่มีตัวตน ก็จะเกิดความสงบเย็นทันที อาจรู้สึกความสุขซาบซ่านทั้งเนื้อทั้งตัว
ในเรื่องพุทธวิธีสร้างสุขนั้น ในเบื้องต้นก็สร้างความเป็นชุมชนสุขภาวะ เมื่อมีสุขภาวะในขั้นพื้นฐานแล้วก็เป็นโอกาสที่จะพัฒนาจิตใจให้ยิ่งๆ ขึ้น
ยิ่งๆ ขึ้น จนสามารถสร้างโปรแกรมไว้ในจิตใจ เมื่อได้ยินหรือระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เกิดความสุขซาบซ่านไปทั้งเนื้อทั้งตัวทันที
ประเทศไทยเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของพุทธธรรม เช่น วัด โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ พระพุทธรูป พระสงฆ์ที่เดินขวักไขว่ ถ้าพัฒนาไว้เรื่อยๆ ก็จะไปถึงขั้นที่ว่า เมื่อเห็นสัญลักษณ์เหล่านี้ก็ไปกระตุ้นต่อมความสุข ให้ความสุขไหลซาบซ่านไปทั้งเนื้อทั้งตัว จะรู้สึกว่าเรามีบุญยิ่งนักเช่นเดียวกัน พอเริ่มสวดอิติปิโสภะคะวาความสุขก็แล่นไปแล้ว ช่างกำไรจริงๆ เป็นความสุขราคาถูก Happiness at low cost หรือ Happiness at no cost
7 เมื่อประเทศไทยแข็งแรงด้วยพุทธธรรมแล้ว
ดังได้กล่าวแต่เริ่มต้นว่า พระพุทธศาสนาเป็นทุนอันยิ่งใหญ่ของไทย สามารถนำมาสร้างสังคมสุขภาวะได้อย่างดี และดีกว่าใช้ทุนอย่างอื่น ถ้าใช้พุทธวิธีสร้างสุขเป็นเครื่องเชื่อมให้เกิดชุมชนสุขภาวะเต็มประเทศ ก็จะเป็นฐานให้พัฒนาระบบต่างๆ ที่ใหญ่และซับซ้อน ให้เกิดความถูกต้อง จนพุทธธรรมซึมซ่านอยู่ในทุกองคาพยพของประเทศ
คนไทยทั้งหมดก็จะกลายเป็นคนเก่ง คนดี ประเทศไทยรุ่งเรืองด้วยพุทธธรรม และโดยที่พุทธธรรมเป็นความจริงตามธรรมชาติ มีความเป็นกลาง ไม่มีเจ้าข้าวเจ้าของ จึงเป็นสากลไม่ต้องใช้คำว่าพุทธก็ได้ ประเทศไทยที่รุ่งเรืองด้วยธรรมมีโอกาสที่จะช่วยโลกให้เกิดสันติภาวะ หรือสันติภาพได้ พ้นจากความปั่นป่วนวุ่นวายรุนแรงและวิกฤตอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
พระพุทธศาสนามีความเชื่อในศักยภาพในการเรียนรู้ของมนุษย์ว่า
มนุษย์สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้ ถ้ามีการเรียนรู้ที่ดี
จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะแสวงหา และช่วยให้เพื่อนมนุษย์ได้พบการเรียนรู้ที่ดี
ขอกราบเรียนเสนอพระคุณเจ้า และพุทธศาสนิกชน โปรดพิจารณาตามสมควร