"...การสะท้อนความเข้าใจต่างกันของหน่วยงานปฏิบัติและหน่วยงานติดตาม คือ ไม่เข้าใจว่าคณะกรรมการปฏิรูปต้องการให้เกิดการสิ่งใด หรือความมุ่งหมายของกิจกรรมที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่คล้ายกันแต่ส่งผลกระทบยิ่งกว่าคือ บุคลากรในหน่วยงานติดตามการปฏิรูปเองก็ขาดความรู้ ความเข้าในเรื่องที่ติดตาม ทำให้สูญเสียเวลา สร้างความขัดแย้ง และกดดันให้สับสนหรือเปลี่ยนแปลงไปมา..."
.......................
ปัญหาที่พบจากการติดตามความก้าวหน้าของกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีดังนี้
1. สัญญาณให้มีการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลยังไม่ชัดเจนพอ
เห็นได้จากการที่มีประเด็นปฏิรูปใดกระทบผลประโยชน์หรือจุดยืนของหน่วยงาน หน่วยงานนั้นก็จะปฏิเสธไม่ดำเนินการตามแผนฯ เช่น
ก. กรณีของร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะยืนยันร่าง พ.ร.บ. ฉบับเดิมที่เคยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและถอนออกมาก่อนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
ข. การปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ เมื่อหน่วยปฏิบัติเกิดข้อขัดข้องในการปฏิบัติก็จะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รอการพิจารณา รอคำสั่ง เช่น กรณีการลดขั้นตอน ลดการใช้เอกสาร ยังคงอ้างว่าขัดต่อกฎกระทรวง แต่กลับไม่เสนอแก้กฎกระทรวงของตน เป็นต้น
2. ระบบงานของหน่วยงานไม่เอื้อให้ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ
ทำให้การวางแผนและการขับเคลื่อนแผนประสบปัญหา เช่น ต้องรอการดำเนินการของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกำหนดให้ชัดเจนก่อน เกิดความล่าช้า การขอจัดสรรงบประมาณไม่ทันตามรอบการเสนอ หรือบางหน่วยงานมองว่าตนถูกกำหนดภารกิจปลีกย่อยไว้กว้างเกินไป เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. ในกิจกรรม Big Rock ที่ 3 พัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ในการดำเนินคดีทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
3. ขาดความจริงจังและจริงใจในการปฏิรูปประเทศของผู้เกี่ยวข้อง
กล่าวคือเมื่อพบอุปสรรคก็ละเว้นการดำเนินการ โดยเฉพาะหน่วยงานกลาง เช่น สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.)
4. หน่วยงานปฏิบัติไม่ชี้แจงข้อมูลที่เป็นประโยชน์เมื่อถูกติดตามความคืบหน้า
เมื่อถูกติดตามความคืบหน้า มักรายงานเฉพาะงานตามแผนการปฏิรูปประเทศที่เป็นภารกิจของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายว่าดำเนินการแล้ว หรือเริ่มดำเนินการแล้ว โดยไม่รายงานว่า
ก. ต้องดำเนินการในเรื่องใด หรือยังมิได้ดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ข. ได้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวแล้ว หรือมีการดำเนินการแล้ว แต่มิได้รายงานความพิเศษ การริเริ่ม การลดหรือแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้เกิดการพัฒนาอย่างไร
ค. มีความคาดหมายว่าประชาชนหรือราชการได้รับประโยชน์อย่างไรกับสิ่งที่ได้พัฒนาขึ้น
5. มีคำถามที่วนไปมา คือ
ก. คณะกรรมการปฏิรูปฯ และ คณะกรรมการ ป.ย.ป. ต้องการผลสัมฤทธิ์อย่างใด
ข. หน่วยงานใดต้องเป็นผู้เสนอกฎหมายฉบับใด หน่วยงานใดเป็นผู้ติดตามประเด็นใด
ค. ขาดงบประมาณขับเคลื่อน ต้องทำอย่างไร
6. มีคำชี้แจงหรือคำชี้แจงแบบเดิม ๆ คือ
ขอรับไปศึกษา หรือขอนำไปปรึกษาหารือกันอีกครั้ง ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของหน่วยปฏิบัติว่า
ก. การรายงานด้วยความเกรงใจ
ข. แต่ละองค์กร แต่ละหน่วยงานมีข้อจำกัดเรื่องอำนาจ และไม่มีผู้มีอำนาจชี้ขาด หรือขาดการ ตกลง/ประสานงานให้การดำเนินการสำเร็จลุล่วง
ค. ไม่มีใครอยากชนปัญหาจนเกิดการแก้ไข เพราะชนไปก็ไม่ได้อะไร ไม่เห็นหนทางชนะ คนอื่นก็ไม่ร่วมมือไม่ทำอยู่ดี
7. กรณีศึกษาเรื่อง นโยบาย No Gift Policy
ตามแผนฯ กำหนดให้เป็นหน้าที่ดำเนินการของสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง แต่ในทางปฏิบัติเมื่อพูดถึงการให้เงิน - ของขวัญ - ของรางวัล ทุกคนมักอ้างอิงประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 หรือการรับของขวัญราคาไม่เกินสามพันบาท เป็นการสะท้อนความเข้าใจต่างกันของหน่วยงานปฏิบัติและหน่วยงานติดตาม คือ ไม่เข้าใจว่าคณะกรรมการปฏิรูปต้องการให้เกิดการสิ่งใด หรือความมุ่งหมายของกิจกรรมที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่คล้ายกันแต่ส่งผลกระทบยิ่งกว่าคือ บุคลากรในหน่วยงานติดตามการปฏิรูปเองก็ขาดความรู้ ความเข้าในเรื่องที่ติดตาม ทำให้สูญเสียเวลา สร้างความขัดแย้ง และกดดันให้สับสนหรือเปลี่ยนแปลงไปมา
8. กรณีศึกษา การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ
มีปัญหาอย่างน้อย 3 มิติ มิติแรก หน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ สำนักงาน ก.พ.ร. ที่ขาดอำนาจในการสั่งการ มิติที่สอง ดำเนินการติดตามจากหลายหน่วย แต่เนื่องจากแต่ละหน่วยงานให้ความสนใจหรือเข้าใจเนื้อหาอย่างลึกซึ้งต่างกัน เช่น มีทั้ง กมธ. ของวุฒิสภาในส่วนที่รับผิดชอบ กมธ. การบริหารราชการแผ่นดิน กมธ. การศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล และคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มิติที่สาม หน่วยปฏิบัติมักกล่าวอ้างว่ามีข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบภายในหรือกฎหมายของหน่วยงาน
9. กรณีศึกษาเรื่อง การแบ่งภารกิจของหน่วยติดตามความก้าวหน้าแต่ละ Big Rock
เพื่อขับเคลื่อนตาม Big Rock รายการหนึ่ง ๆ อาจมีเรื่องสำคัญหลายรายการ เช่น กฎหมายเพื่อการต่อต้านการทุจริต จำนวน 10 ฉบับ และกฎหมายที่มีความเกี่ยวเนื่องอีกสองฉบับ จึงอาจมีช่องว่างหรือเกิดซ้ำซ้อนกันได้
10. กรณีศึกษาเรื่อง แนวทางและรูปแบบการกำหนดบัญชีดำ (Blacklist)
การห้ามทำธุรกรรมกับภาครัฐสำหรับนิติบุคคลที่มีพฤติกรรมให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและสนับสนุนการทุจริตในภาครัฐ” ประเด็นนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางและรูปแบบที่จัดทำโดยศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แล้ว แต่ในปัจจุบันการรายงานความคืบหน้าการปฏิรูปรายงานเพียงว่า “มีอยู่แล้ว” ในมาตรา 176 ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นคนละเรื่องกัน
ข้อเสนอแนะ
1. ถึงเวลาแล้วที่ทุกหน่วยปฏิบัติเป็นผู้ประกาศว่า ตามแผนปฏิรูปนั้น จะทำอะไร อย่างไร มีกำหนดเวลาอย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้มีอุปสรรคอะไรอยู่บ้าง
2. ควรเปิดให้คณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการเขียนแผนยุทธศาสตร์ ได้มีบทบาทในการอธิบายมุมมองและวัตถุประสงค์ ทุกประเด็นที่เสนอไว้แล้วเกิดข้อข้องใจ
3. หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงาน-ติดตาม ต้องมีความมุ่งมั่น รอบรู้ และเข้าใจเป้าหมายการปฏิรูปประเทศในแต่ละประเด็นให้ลึกซึ้งมากกว่าหน่วยปฏิบัติ
4. ทบทวนการจัดทำงบบูรณาการ ให้เป็นเครื่องมือผลักดันการขับเคลื่อนงานปฏิรูป
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
กรรมการปฏิรูปประเทศฯ และ อนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปองค์กรอิสระฯ คณะที่ 4, วุฒิสภา
6 ตุลาคม 2564