“…คนจนเมืองส่วนใหญ่ ทำงานในภาคที่ไม่เป็นทางการ ขาดความมั่นคง และไม่ได้รับสวัสดิการสังคม โดยได้รับผลกระทบด้านการทำงานจากวิกฤตโควิด ประกอบด้วย นายจ้างเลิกจ้าง 18.87% นายจ้างให้ลดเวลาทำงาน 18% สถานที่ค้าขายถูกปิด 18.22% ประกอบอาชีพค้าขายและค้าขายได้น้อยลง 18.22% ประกอบอาชีพอิสระและไม่มีผู้ว่าจ้างหรือมีลูกค้าใช้บริการ 18.44% และอื่นๆ 8.24% ส่งผลให้รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด ราว 60.24%…”
เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา สมาคมสังคมวิทยาสาธารณะ ได้จัดงานเสวนาออนไลน์เรื่อง “คนทุกข์ในเมือง:โรคระบาด ปากท้อง บ้าน และงาน” ผ่านเฟซบุ๊ก สมาคมสังคมวิทยาสาธารณะ ภายในงานได้พูดถึงคนจนเมืองซึ่งเป็นประชากรอีกกลุ่มในสังคมไทย นอกเหนือจากกลุ่มคนชนบท และกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด
โดย ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนเองได้ทำการศึกษากลุ่มคนจนเมือง อาทิ คนอาศัยอยู่ในย่านชุมชนแออัด ห้องเช่าราคาถูก หรือผู้ไร้บ้าน ถึงเรื่องผลกระทบจากโควิด โดยใช้การลงพื้นที่สังเกตชุมชนแออัดต่างๆ
จากการสำรวจคนจนเมืองในวิกฤตโควิดระลอกแรก ช่วง 9-12 เม.ย. 2564 จำนวน 507 คน พบว่า จังหวัดที่มีคนจนเมืองมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) 44.7% สมุทรปราการ 14.40% และเชียงใหม่ 10.65% ส่วนความพร้อมในการแยกกักตัวเองจากผู้อื่น กลุ่มตัวอย่างโดยส่วนใหญ่ คิดเป็น 43.79% ต่างไม่มีพื้นที่ให้กักตัวเองที่บ้านได้ ขณะเดียวกันอาชีพของคนจนเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ส่งผลให้เมื่อมีมาตรการ “อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ” กลุ่มตัวอย่าง คิดเป็น 78.97% ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้
“นอกจากนั้นคนจนเมืองส่วนใหญ่ ทำงานในภาคที่ไม่เป็นทางการ ขาดความมั่นคง และไม่ได้รับสวัสดิการสังคม โดยได้รับผลกระทบด้านการทำงานจากวิกฤตโควิด ประกอบด้วย นายจ้างเลิกจ้าง 18.87% นายจ้างให้ลดเวลาทำงาน 18% สถานที่ค้าขายถูกปิด 18.22% ประกอบอาชีพค้าขายและค้าขายได้น้อยลง 18.22% ประกอบอาชีพอิสระและไม่มีผู้ว่าจ้างหรือมีลูกค้าใช้บริการ 18.44% และอื่นๆ 8.24% ส่งผลให้รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด ราว 60.24% รายได้ลดกึ่งหนึ่ง 31.21% และมีรายได้เท่าเดิมเพียง 8.55%” ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าว
ส่วนปัญหาความเดือดร้อนที่คนจนเมืองประสบในช่วงโควิดระลอกแรก พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีเงินส่งหนี้ 54.41% รองลงมาคือ ต้องกู้หนี้ยืมสิน 33.82% ต้องนำเงินออมมาใช้ 32.14% แทบไม่มีเงินซื้ออาหารประจำวันกิน 29.83% ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย 26.05% ไม่มีเงินจ่ายที่จำเป็นของครัวเรือน เช่น ดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ 20.80% และต้องเอาข้าวของไปจำนำ 13.24% ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อถามถึงการได้รับประโยชน์จากมาตรการผ่อนปรนหนี้สินของธนาคารไฟแนนซ์หรือบัตรเครดิต พบว่า ได้รับประโยชน์ 44.4% ไม่ได้รับประโยชน์ เพราะหนี้ที่มีเป็นหนี้นอกระบบ 30.11% และไม่ได้ประโยชน์ เพราะไม่มีหนี้ 25.49%
ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบในปี 2564 นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอย่างเห็นได้ชัด แตกต่างจากปีที่ผ่านมาที่ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะในปีนี้ปัญหาที่พบ คือ การติดเชื้อโควิดทั้งบ้าน หาเตียงไม่ได้ มีผู้เสียชีวิตจากโควิดจำนวนมาก และชุมชน ภาคประชาสังคม ช่วยเหลือกันเอง โดยเฉพาะคนในชุมชนแออัดในพื้นที่ห้องเช่า ตรอกแคบๆ ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนวัดดวงแข กลับพบการระบาดมากกว่าชุมชนแออัดริมทางรถไฟที่มีพื้นที่โล่งมากกว่า
“การควบคุมการระบาดในพื้นที่ชุมชนแออัด กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทเป็นจุดเปลี่ยนทำให้กลุ่มคนจนเมืองได้รับการตรวจคัดกรองเชิงรุกและได้รับการรักษา ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงในขณะนี้ ทั้งนี้ยังมีตัวอย่างการควบคุมการระบาดที่สิงคโปร์ เป็นบทเรียนแสดงให้เห็นอีกว่า คนรวยไม่สามารถอยู่ได้ หากคนอีกกลุ่มนึงเขาไม่สามารถอยู่รอดได้ ทั้งสังคมจะกลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง ดังนั้นเราไม่อาจฝ่าวิกฤตได้ตามลำพัง เราควรให้ความสำคัญกับผู้มีรายได้น้อยมากกว่านี้ โดยเฉพาะผู้เช่าที่อยู่อาศัย” ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าว
นอกจากนี้ ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นการขาดระบบสวัสดิการสำหรับแรงงานนอกระบบที่ดีพอ และระเบียบราชการที่แข็งตัว ไม่ยืดหยุ่นกับสถานการณ์ เห็นได้ชัดว่าต้องอาศัยการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมเป็นตัวอย่าง ถึงจะมีการยอมรับ เช่น การดำเนินงานของแพทย์ชนบทในช่วงแรกที่ยังไม่มีการยอมรับในผลตรวจ ATK หลายคนไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษา เกิดการเสียชีวิตที่บ้านปรากฏให้เห็นบนหน้าข่าวหลายราย ต่อมาจึงมีการยอมรับในภายหลัง
ด้าน ดร.ศยามล เจริญรัตน์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงคนทำงานในระบบอาหาร (Food Worker) อาทิ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มขนส่งอาหาร พ่อค้าแม่ค้าอาหาร ไรเดอร์ รวมถึงกลุ่มผู้จัดการขยะ ว่า ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา การขนส่งอาหารไปยังพื้นที่ต่างๆ ทำได้ยาก ยกตัวอย่างการขนส่งไปใน กทม. เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ผลิตได้รับผลกระทบ คือ สินค้าเน่าเสีย เพราะการขนส่งลำบาก ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ขาดแคลนอาหาร โดยหากสังเกตการล็อกดาวน์ช่วงแรกจะพบว่า มาม่า น้ำตาล และไข่หมด
นอกจากนั้นยังพบปัญหาในเรื่องการจัดการขยะในครัวเรือนตามมาด้วย เนื่องจากในช่วงสถานการณ์โควิด คนอยู่บ้านมากขึ้น เราไม่สามารถจัดการขยะในครัวเรือนได้เหมือนเมื่อก่อนที่เรากินอาหารนอกบ้านเป็นชามแล้วก็จบ เพราะปัจจุบันเมื่อกินอาหารภายในบ้าน ก็จะต้องสั่งเข้ามา ประกอบกับการมีช่วงเวลาเคอร์ฟิว หลายคนอาจมีการสั่งอาหารล่วงหน้าในช่วงเย็น และมีการคิดต่อไปจนถึงช่วงเช้าว่าจะต้องมีการสั่งอาหารหรือไม่ เมื่อมีการคิดในลักษณะแบบนี้ หลายคนไม่สามารถจัดการได้ สั่งมาจำนวนมากเกิน ส่งผลให้อาหารในตู้อาหารเน่าเสียมากขึ้น เกิดขยะมากขึ้น และกลุ่มผู้ทำงานจัดการขยะ ต้องทำงานหนักขึ้นไปด้วย
“หลายคนเกิดความสงสัยว่าทำไมต้องสนใจคนทำงานในระบบอาหาร เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มสำคัญ ถ้าเราไม่มีเขา เราจะตาย แม้เขาจะเป็นกลุ่มที่ทำงานหน้าด่านเหมือนบุคคลากรการแพทย์ แต่กลับได้รับความสนใจและความคุ้มครองน้อยกว่า ซึ่งหลายคนไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่รายได้น้อยอยู่ที่ 10,001-15,000 บาท และงานไม่มีความมั่นคง” ดร.ศยามล กล่าว
ดร.ศยามล กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา กลุ่มทำงานในระบบอาหารต่างถูกจ้างออก หรือถูกลดรายได้จำนวนมาก ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่ที่รองรับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดทั้งหมด โดยเราจะเห็นในเฟซบุ๊กหลายคนเริ่มเปิดรับออเดอร์ทำอาหาร จากเดิมที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน หรือหลายคนก็ผันตัวไปเป็นไรเดอร์
“ถ้าเราไม่มีกลุ่มคนทำงานด้านอาหาร เราจะไม่มีข้าวกิน อยากให้เราดูแลซึ่งกันและกันในภาวะวิกฤตโควิด โดยเฉพาะการที่เราอาศัยอยู่ในเมือง โอกาสในการผลิตอาหารทำได้ยากมาก ทำอย่างไรให้เราสามารถดูแลเขาได้มากกว่านี้ เราไม่สามารถแก้ปัญหาโควิดด้วยภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งได้ เราต้องช่วยกันดูแล และในวิกฤตแบบนี้ เราคงไม่สามารถทอดทิ้งใครคนหนึ่งไว้ได้” ดร.ศยามล กล่าว
ขณะที่ นายสืบสกุล กิจนุกร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวด้วยว่า แรงงานข้ามชาติ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด คือ ถูกลดงาน ถูกเลิกจ้าง หรือให้หยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง รวมถึงยังไม่ได้รับสวัสดิการของรัฐ เพราะรัฐไม่มีงบประมาณในการแจกจ่ายสิ่งของ อาทิ ข้าวกล่อง หน้ากากอนามัย และระบบบริการรักษาสุขภาพ ให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติขาดความมั่นคง
ส่วนที่พักที่อยู่อาศัยหลายคนอาจนึกภาพการรวมตัวกันในแคมป์คนงานที่แยกออกมาแบบปัจเจกบุคคล แต่ในความเป็นจริงแล้วในสังคมเมือง จังหวัดเชียงราย กลุ่มแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ในหอพักทุกซอกทุกมุมในเมือง และอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนไทยและกลุ่มแรงงานของตนเอง ซึ่งทั้งหมดมีความเป็นชุมชน และความเป็นเครือญาติกัน มีวิถีชีวิตในหอพักที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน กินข้าวด้วยกัน เพราะหอพักจะมีห้องเปล่าๆ แบ่งเพียงไม่กี่ห้องเท่านั้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญในการแพร่ระบาดของโควิด
“แรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่ขาดไม่ได้ เพราะมีส่วนช่วยทางเศรษฐกิจ แต่โดยภาพรวมไม่มีใครอยากดูแล โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งในเมืองและนอกเมือง เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ใช่ฐานเสียง รวมถึงระเบียบราชการ ก็ยังไม่สามารถซื้อของมาแจกให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติในภาวะวิกฤตโควิดได้ เรายอมรับแรงงานข้ามชาติในทางเศรษฐกิจ แต่ในแง่สังคม วัฒนธรรม การเมือง เรากีดกันเขา ท้ายที่สุดแล้วเราใช้แรงงานเขา แต่เราไม่ได้ดูแลเขา” นายบสกุล กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage