"...ทุกรัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารบ้านเมือง มีเป้าหมายคือ อยากปฏิรูปตำรวจ ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่สามารถทนอำนาจชักจูงจิตใจอาชีพตำรวจ ว่าหากครอบครองตำรวจ หรือมีอำนาจเหนือตำรวจแล้วจะทำให้มีพลังเหนือการพรรคการเมืองอื่น ๆ..."
......................
พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร อดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษสบ.10 ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นนายตำรวจที่ครบเครื่องทั้งสายบู๊ มีภาพของตร.มือปราบและสายบุ๊นในด้านสืบสวนสอบสวน และยังมีภาพของความเป็นนักวิชาการ โดยเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
ปัจจุบันมีตำแหน่งนายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ให้สัมภาษณ์รายการคุยกับ“ขุนลักษณ์” (สามารถชมรายละเอียดย้อนหลังอีกครั้งได้ในเฟซบุ๊ก เว็บไซต์และช่องยูทูป “อีสานบิซ”)
......................
(กรณีอดีตผกก.โจ้รู้สึกอับอาย)
พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร กล่าวว่า กรณีอดีตผกก.โจ้ หรือ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ และพวก “ส่วนตัวผมรู้สึกอับอายและสร้างความเสียหายให้กับสถาบันตำรวจ โดยรวมเพราะเป็นการกระทำที่นอกลู่นอกทาง หรือ การกระทำความชั่วของตำรวจคนหนึ่งส่งผลให้กระทบกระเทือนทั้งองค์กร
ตำรวจมีการสั่งสอนกันมาตลอดให้ประพฤติละอายเกรงกลัวต่อบาป (หิริโอตัปปะ)รวมไปถึงเรื่องของกรรม โดยมีการเรียกแบบฉบับตำรวจว่า “กรรมมุนา วต ตตี โลโก คุก คุก” หากทำผิดก็จะได้รับบทลงโทษทั้งทางกฎหมายและของสังคม” การทำแบบนี้มีกันมานานแล้ว ทำให้ตำรวจต้องมีการปรับปรุง ทุกวันนี้การสืบสวน ซักถาม หรือหาพยานหลักฐานจากผู้ต้องหา/คนร้าย มีการพัฒนาเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการแบบโบราณ เช่น การแกะมือถือ แกะรอยจีพีเอส หรือ แกะระบบเครือญาติ
ฉะนั้นการใช้วิธีของอดีตผกก.โจ้ นอกจากจะทำให้ประชาชนรับไม่ได้ ยังทำให้ตำรวจที่ยืดหลักปฏิบัติในทางดี หรือปรับปรุงตัวแล้วนั้นรับไม่ได้เช่นเดียวกันไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมแบบนี้
(มูลเหตุจากการแต่งตั้งโยกย้าย)
พล.ต.อ.ศักดา กล่าวถึงสาเหตุสำคัญการเกิดขึ้นกรณีอดีตผกก.โจ้ ว่า มาจากการการโยกย้ายแต่งตั้งในสมัยนี้ไม่เหมือนกับสมัยก่อน ที่คนเก่ง คนดีมีฝีมือจะได้รับการพิจารณาโดยผ่านระดับจังหวัด ระดับภาค มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โดยมีโผจากข้างล่างพิจารณาเสนอบุคคลแล้วนำเสนอสู่ข้างบน แต่ในปัจจุบันการแต่งตั้งตำรวจไปรวมอยู่ที่ศูนย์กลางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ เอาไปรวมที่กรุงเทพฯ คนจากจังหวัดอีสานก็ไปรวมการแต่งตั้งที่กรุงเทพ
คนพิจารณาแต่งตั้งไม่ใช่ผู้พิจารณาในภาค แต่มีโผมาจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง มันกลับทางกันหมด ฉะนั้น จึงไม่ทราบการเจริญเติบโตของ อดีตผกก.โจ้ ว่ามาจากวิธีการใด ซึ่งไม่เหมือนกับสมัยที่ตนเจริญเติบโต แต่ถ้าหากเป็นผกก.ก็ถือว่าอยู่ในวัยเดียวกัน
“ผมเป็นผกก.ครั้งแรกอายุประมาณ 39 - 40 เหมือนกันตอนนั้นถือว่ารับราชการได้รวดเร็ว เพราะมีผลงานที่ประจักษ์และผู้บังคับบัญชาสนับสนุนว่าให้เด็กคนนี้โตเพื่อวางตัวเป็นทายาทของตำรวจอีสานซึ่งนั้นคือความเห็นของผู้บังคับบัญชาในสมัยนั้น”
(อดีตผกก.โจ้มาแบบอิทธิฤทธิ์ปฎิหาริย์)
การแต่งตั้งตำแหน่งผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ควรจะเป็นผู้นำที่มีขีดความสามารถ มีดุลพินิจที่รอบคอบ และผ่านประสบการณ์มาพอสมควร ในกรณีนี้เขาขึ้นจากรองผกก.ขึ้นมาเป็นผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์เลยนั้น มันได้มาเป็นเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
มันผิดแปลกจากการแต่งตั้งโดยทั่วไป ประสบการณ์การเป็นผู้กำกับฯยังไม่มีเลยแต่โตขึ้นมาได้เป็นผู้กำกับเมืองนครสวรรค์ซึ่งเป็นเมืองใหญ่และมีปัญหาค่อนข้างเยอะ ปกครองผู้บังคับบัญชาจำนวนมาก ทำให้มองต่างมุมว่าเติบโตมาโดยอิทธิฤทธิ์ปฏิหาริย์
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยส่วนตัวหาข้อมูลทั้งประเด็นการกระทำโดยประสงค์ต่อทรัพย์สินเงินทอง หรือประเด็นการกระทำโดยหวังผลงานแต่ด้อยประสบการณ์ให้ทุกท่านใช้ดุลพินิจและรับฟังสองทาง เพราะโรงพักเมืองนครสวรรค์ มีการแตกเป็นหลายเสี่ยง มีทั้งมิตรและศัตรู การเหยียบย่ำซ้ำเติม หรือการใส่สีตีไข่เพื่อให้เกิดกระแสสังคมที่รุนแรง ทั้งหมดนั้นเป็นไปได้ ฉะนั้นประชาชนต้องฟังหูไว้หู
ผมยืนยันว่า การสั่งสอนในหลักสูตรนายร้อยตำรวจใช้การสอบสวนโดยใช้เทคโนโลยีและคุณธรรมประจำใจ เป็นตำรวจต้องมีจิตใจหนักแน่นปานขุนเขา ต้องไม่ถูกอบายมุขครอบงำ ต้องไม่ถูกสิ่งล่อลวงต่าง ๆ ครอบงำ หรือวิธีการที่ผิดครอบงำ ฉะนั้นต้องมีความหนักแน่น
ผมยอมรับว่ามีตำรวจบางส่วนที่ยังมีการใช้วิธีการสอบสวนเก่าๆแบบนี้อยู่ โดยการใช้กับเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะอาจจะพัฒนาเทคโนโลยีไม่ทันหรือเรียนรู้วิธีการใหม่ๆไม่ทัน การซักถามหาข้อมูลไม่จำเป็นต้องทำร้ายร่างกายหรือรีดไถ โดยใช้ศิลปะการสอบปากคำที่ได้รับการสั่งสอนมาเท่าเทียมกันหมด แต่จะเก่งเท่ากันก็คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นต้องมีการพัฒนายอมรับว่าทุกวันนี้ การใช้วิธีเก่ายังมีอยู่ แต่หากการใช้วิธีนี้ประสงค์ต่อทรัพย์ เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ
(รธน.60ชัด! ให้ปฎิรูปตำรวจ!)
ทุกรัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารบ้านเมือง มีเป้าหมายคือ อยากปฏิรูปตำรวจ ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่สามารถทนอำนาจชักจูงจิตใจอาชีพตำรวจ ว่าหากครอบครองตำรวจ หรือมีอำนาจเหนือตำรวจแล้วจะทำให้มีพลังเหนือการพรรคการเมืองอื่น ๆ
ไม่มีพรรคการเมืองหรือรัฐบาลใดยอมปล่อยให้ตำรวจเติบโตอย่างมีอิสระและมีคุณธรรม ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมีรัฐธรรมนูญใหม่ ตำรวจเป็นอาชีพเดียวที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 กับ มาตรา 260 ซึ่งระบุให้ปฏิรูปตำรวจให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี
ทุกวันนี้เวลาผ่านมาแล้ว 3-4 ปี มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อปฏิรูปตำรวจเป็นชุดที่ 6 แล้ว ซึ่งยังไม่เป็นรูปเป็นร่างได้เลย ตอนผมเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย เคยระดมความคิดเห็นจากตัวแทนของกองบัญชาการต่าง ๆ มา brain storming กันที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจว่า ตำรวจเราเองนั้นอยากปฏิรูปอย่างไร ควรฟังเราบ้าง
ผลของการสัมมนานั้น พบว่า ตำรวจต้องการให้มีการกระจายอำนาจ เพราะการที่เอาการแต่งตั้งไปไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง ทำให้ข้อมูลข้อเท็จจริงทาง “ตร.” หรือ กรุงเทพ ไม่ทราบเกี่ยวกับข้อมูลบุคคลที่แต่งตั้ง หรือเสนอชื่อแต่งตั้งไปเป็นข้อมูลแท้หรือไม่อย่างไร? มีความสามารถจริงหรือไม่? เป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือไม่?
(กระจายอำนาจ/คำตอบ?อยู่โรงพัก)
การกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพื่อให้ตำรวจมีผู้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิด แต่ตำรวจดันถูกโยกย้ายข้ามภาคไปเริ่มต้นใหม่เป็นตำรวจแปลกหน้าในถิ่นใหม่ ที่ถูกต้องเป็นตำรวจที่ประชาชนรู้จัก หวังเป็นที่พึ่งพิงได้ แล้วที่สำคัญ ใครดี ?ใครชั่ว? ประชาชนจะรู้เอง
เมื่อมีเสียงสะท้อนจากประชาชนจะทำให้ผู้บังคับบัญชารู้และส่งผลต่อการแต่งตั้ง ซึ่งการรับรู้ข้อมูลความจริงจากสังคม จากพื้นที่ จากประชาชน และรู้จากผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้ใกล้ชิดมากขึ้น จะทำให้องค์กรตำรวจดีขึ้น
มีผลการวิจัยว่าผลแตกหักของตำรวจจะชนะใจประชาชนได้หรือไม่? ประชาชนจะยอมรับหรือไม่? ขึ้นอยู่กับการทำงานของตำรวจโรงพัก หรือ สถานีต่างๆที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน และมีผลการวิจัยอีกหลายชิ้นที่ระบุว่า โรงพักหรือสถานีตำรวจไหนจะดีต้องได้หัวหน้าโรงพักที่ดี
ฉะนั้นถ้าจะปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปที่เดียวคือ โรงพัก ขอให้ได้คนดี เก่งจริง เป็นหัวหน้าโรงพักตามความเหมาะสม ตามขีดความสามารถ จะทำให้เข้ากับประชาชนได้ดีมากขึ้น เข้าใจประชาชน เข้าใจสังคม สามารถบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาและบริหารการจัดการสำหรับประชาชนให้ดีขึ้น
ทุกวันนี้ตรงกันข้ามไปหมด จะเห็นได้จากมีเสียงโอดครวญจากตำรวจมากมายที่ต้องห่างไกลครอบครัว โยกย้ายโดยไม่มีเหตุมีผล ไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ ไม่มีความรู้ในเรื่องสังคม บุคลากรและประชาชน ก็เหมือนกันการเรื่องนับหนึ่งใหม่หมด...
(แยกอธิบดีฯ 9 ภาคขั้นตรงสตช.)
การปฏิรูปตำรวจที่คาดหวัง คือ การบรรจุตำรวจมาให้เพียงพอกับโรงพัก กระจายโรงพักออกไปเพื่อให้ใกล้ชิดดูแลประชาชนได้มากขึ้น ในช่วงตอนเริ่มมีการปฏิรูปตำรวจให้อยู่ใต้บังคับบัญชาและขึ้นกับอบจ. มองว่าประเทศไทยยังไม่พร้อม
เนื่องจากหากย้อนไปผลการสำรวจเมื่อปี 2547 ว่าอาชีพเก่าก่อนจะมาเป็นนายกอบจ.คืออะไร พบว่า 80% กว่าๆ เป็นพ่อค้าหรือผู้รับเหมาก่อสร้าง อีกไม่ถึง 10% เป็นข้าราชการเก่า และอีกไม่ถึง 10% มาจากวงจรธุรกิจสีดำหรือสีเทา ทำให้มีการเปลี่ยนแนวคิดให้ขึ้นตรงกับผู้ว่าฯ แต่ดันให้ตำรวจเติบโตสูงสุดแค่เป็นผู้การจังหวัดซึ่งถือเป็นการจำกัดสิทธิ
ดังนั้นจึงเสนอว่าให้ตำรวจเติบโตและแยกอำนาจเป็นภาค ทั้ง 9 ภาค เป็นนิติบุคคลและระดับอธิบดีทั้ง 9 ภาค สถานที่ที่ทุกคนนับถือเลยคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ทุกวันนี้มีการขยายตำแหน่ง เพื่อสนองความต้องการของทางการเมือง ให้มีการแต่งตั้งได้เพียงพอ ลดความกดดัน โดยการตั้งกองบัญชาการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็น 10 กองบัญชาการ ซึ่งบางกองบัญชาการมีลูกน้องไม่ถึง 50 คน ตำแหน่งเต็มไปหมดแต่ไม่มีงานทำ เกิดหน่วยงานซ้ำซ้อนที่น่าจะจบได้ที่ภาค เช่น งบประมาณ กำลังพล แต่ละกองบังคับการอำนวยการระดับมีความเข้มแข็งเพียงพอที่สามารถดูแลได้ทุกเรื่อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกองบัญชาการที่กุมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง แทนที่งานซ้ำซ้อนต่างๆควรจัดการเสร็จสิ้นที่ภาคไม่ต้องรอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(ปฎิรูปตำรวจ/ก.ตร.มาจากเลือกตั้ง)
ประเด็นที่ต้องพูดให้หนักเลยคือ เรื่องคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร.ซึ่งตอนนี้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดที่ 6 กำลังพิจารณาพระราชบัญญัติตำรวจ และกำลังถกกันในเรื่องประธานก.ตร. จะมาจากไหน?
หากมาจากนายกรัฐมนตรีต้องไปอิงการเมือง อิงส.ส. อย่างแน่นอน สิ่งเหล่านี้จะตามมาด้วย ‘โผแต่งตั้ง’ เพราะจะเห็นว่าตำรวจกลายเป็นเครื่องบรรณาการ เครื่องมือตอบแทนในฐานะการเมืองไป
ปัจจุบันก.ตร.ประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งเข้ามากำกับดูแลที่เหลือเป็นผบ.และรองผบ.ตร.
สมัยก่อนจะมีการเลือกตั้งก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิจากข้างนอก 5 ท่านในยุคคสช. ก.ตร.ที่มาจากการเลือกตั้งหมดอำนาจไปทุกวันนี้มีก.ตร. 2 ท่านที่ได้รับการแต่งตั้งจากสว.เข้าไปทำหน้าที่แทน
หากจะปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มที่หัวก่อน โดยการปฏิรูปก.ตร.ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งว่า น่าจะมาจากการเลือกตั้ง อย่างเช่น คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษา และคณะกรรมการอัยการ ก็มาจากการเลือกตั้งในหมู่ของอัยการด้วยกัน
บุคคลเหล่านี้จะดูแลและช่วยพัฒนาองค์กรไปในทิศทางที่ดี ไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของการถูกบีบบังคับ หรือถูกควบคุมจนเสียวัตถุประสงค์หลักของการทำงาน ซึ่งตำรวจก็ต้องการแบบนั้นเช่นเดียวกัน ที่มีคณะกรรมการตำรวจมาจากการเลือกตั้งของตำรวจ จุดนี้จะทำให้ตำรวจมีพัฒนาการ
การโยกย้ายที่ต้องมีการจ่ายเงินก็ต้องยอมรับว่ามี แล้วแต่บางยุคสมัย เช่น ยุคไหนที่ได้ผู้บังคับบัญชาดีไม่เอาเงินของลูกน้อง โดยมองเรื่องขีดความสามารถและคุณงามความดีเป็นหลัก ส่งผลให้ยุคนั้นตำรวจที่ทำงานอย่างมีอุดมการณ์ก็จะเจริญก้าวหน้า
แต่หากยุคไหนโชคร้ายได้ตำรวจไม่ดีมาเป็นผู้บังคับบัญชาเห็นแก่เงินทองทรัพย์สิน หรือเอาตำแหน่งตอบแทนเส้นทางอื่นๆเพื่อผลประโยชน์ ถือว่าเป็นเรื่องโชคร้ายต้องอดทนต่อความเจ็บใจและยากลำบาก
(ประธานก.ตร.เลือกจากก.ตร.)
การเลือกตั้งก.ตร. ควรเลือกตั้งจากตำรวจที่เกษียณราชการไปแล้วและจากตำรวจที่ยังรับราชการอยู่ โดยเลือกมาจากทั้งสองฝั่ง วิธีนี้จะทำให้เป็นการถ่วงดุลอำนาจนำไปสู่การพัฒนาก้าวหน้า และตัวประธานฯก็เช่นกัน ควรมาจากการเลือกตั้งของคณะกรรมการที่ได้รับเลือกไป ทั้งหมดนี้ต้องแยกขาดจากการเมือง ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนยอมเนื่องจากอำนาจนั้นเย้ายวนใจ บ้างเห็นแก่ทรัพย์สินเงินทอง บ้างเห็นแก่พลังอำนาจ
เป็นความจริงเกี่ยวกับข้อจำกัดของวงการตำรวจที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ เพราะยังผูกโยงเกี่ยวกับเรื่องการเมืองในแบบเดิมและต้องเอาใจนักการเมืองอยู่ ต้องรอรับโผจากนักการเมืองในการโยกย้ายแต่งตั้ง นักการเมืองต้องการกระจายตำรวจออกไปเพื่อควบคุมพื้นที่ไว้คอยแก้ปัญหาเมื่อมีปัญหา ซึ่งตำรวจไม่สามารถหลุดออกจากวงจรนี้ได้
ข้อเสนอต่างๆข้างต้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลผู้มีอำนาจต้องเสียสละ ผบ.ตร.ที่อยู่ในขณะนั้นต้องยอมเสียสละอำนาจและทุกวันนี้มีการอ้างให้ตำรวจอยู่ส่วนรวมเพื่อความมั่นคง
เมื่อก่อน ก.ตร.แต่งตั้งเฉพาะระดับนายพล แต่ทุกวันนี้แต่งตั้งพิจารณาพ.ต.อ.ด้วย ซึ่งไม่สามารถรู้ได้เลยว่าส่วนไหนเป็นของแท้หรือของเทียม เพราะตั๋วไม่ได้มาจากผู้ใต้บังคับบัญชา หรือ ผู้บังคับบัญชาระดับภาค ระดับจังหวัดแล้ว กลายเป็นว่าตั๋วมาจากเบื้องบนฝาก มีตั๋วหลายประเภท เกิดผู้มีอิทธิฤทธิ์ข้ามภาค ข้ามน้ำ ข้ามทะเลมา กระโดดข้ามขั้น คุณสมบัติไม่ครบก็เข้ามารับตำแหน่งได้
(ยุคที่ตำรวจตกต่ำที่สุด)
โดยสรุปหลักการใหญ่ คือ 1. การกระจายอำนาจ กต.ตร. ต้องมาจากการเลือกตั้งของตำรวจ และเป็นอิสระจากการการเมือง 2.การกระจายอำนาจไปให้กองบัญชาการต่างๆ ได้มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายในระดับพื้นที่อย่างแท้จริง 3.ประเด็นในแง่ของการแก้ไขปัญหาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประชาชนในระดับภาพรวม ซึ่งปัญหาด้านการแต่งตั้งโยกย้ายนั้นได้กระจายอย่างที่บอกหรือไม่ อย่างไร 4.ประเด็นข้อเสนอให้มีการแยกส่วนงานที่ไม่ใช่ภารกิจของตำรวจออก เช่น กฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ที่เดิมทีเป็นของกระทรวงพาณิชย์ กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ที่เป็นเรื่องของกรมป่าไม้ เป็นต้น ถูกโยนมาให้อยู่ในความดูแลของตำรวจ ทำให้การปฏิรูปตำรวจในครั้งล่าสุดนี้มีการพยายามจะผลักดันงานเหล่านี้ออกไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเอง
ตำรวจควรมีหน้าที่ดูทุกข์สุขประชาชน ช่วยปราบปรามอาชญากรรม ยุคที่ผ่านมาเป็นยุคที่ตำรวจตกต่ำที่สุด วิกฤตศรัทธาจากประชาชนมากที่สุด มีการทำลายศรัทธาขององค์กรตำรวจมากที่สุด เรื่องชั่วๆจะถูกพูดถึงอีกยาวนาน แต่เรื่องดีๆจะไม่มีใครกล่าวถึง’ เราอยู่ในภาวะที่ต้องอดทน และตำรวจดีๆที่ยังทำงานอยู่ รักษาองค์กรอยู่ ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่มากมาย
ถ้าหากมีพรรคการเมืองมีนโยบายปฏิรูปตำรวจตามที่เสนอมา คาดว่าเขาจะได้คะแนนจากตำรวจทั้งประเทศ เพียงแค่บอกว่า ก.ตร. จะมาจากการเลือกตั้งของตำรวจ
เลือกจากตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าชั้นประทวนหรือนายพล และเลือกจากอดีตข้าราชการตำรวจ โดยประธานกต.ตร.มาจากการเลือกตั้งของกต.ตร. จะสามารถทำให้ตำรวจเทคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองนั้น
(บทเรียนตำรวจกรณีอดีตผกก.โจ้)
วงการตำรวจจะได้บทเรียนที่ให้แง่คิดจากกรณี อดีตผกก.โจ้ ‘ตราบใดที่ยังไม่พัฒนาการทำงานของตน จะตกเป็นข่าวจากการกระทำอย่างนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ควรใช้วิธีที่พัฒนาแล้ว เทคนิคการเจรจาซักถามปากคำ หรือการใช้เทคโนโลยี มากกว่าการรีดนาทาเร้นแบบนี้ เพราะว่ามันต้องมีการพัฒนาการไม่งั้นตำรวจจะกลายเป็นจำเลยของสังคมอยู่ตลอดเวลา’
ถ้าการปฏิรูปไม่เกิดขึ้นโครงสร้างระบบการพึ่งพิงนักการเมืองถึงจะได้เติบโต ทำให้ทุกคนวิ่งหานักการเมืองเพื่อสนับสนุนตนเอง จะยังคงเป็นแบบนี้ไปตลอด จนกว่าจะมีรัฐบาลที่ยอมเสียสละอำนาจเสนอนโยบายเพื่อปฏิรูปองค์กรตำรวจอย่างแท้จริง ในวันนั้นภาพลักษณ์ตำรวจจะดีขึ้นและจะเป็นเพื่อนของประชาชนได้
ฝากถึงประชาชน ‘ท่านคงหวังพึ่งองค์กรตำรวจที่มีความเข้มแข็ง เป็นมิตรกับท่าน และสามารถปกป้องท่านในยามมีภัยได้ ผมคิดว่าเราคงใช้เวลารอ และคงอีกไม่นานประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลง’
ฝากถึงนายตำรวจทุกระดับ ‘ผมขอย้ำเตือนท่านทั้งหลาย ว่า เราได้สอนสั่งเรื่องกฎแห่งกรรมกันมาทุกยุคทุกสมัย ขอให้ท่านยึดถือ มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป งานตำรวจไม่ยากเลยทำหน้าที่ตรงไปตรงมาโดยอาศัยหลักกฎหมายและความถูกต้อง พระคุ้มครอง ทำความดี ปฏิบัติงานในหน้าที่ให้ดี’
เขียนโดย กอบทอง รัตนมณีรัศมี