"…สถานการณ์ทั่วโลกตอนนี้สะท้อนให้เห็นว่าสายพันธุ์เดลต้า ไม่เพียงแพร่ระบาดได้เร็ว แต่ก่อให้เกิดคอาการที่รุนแรงและอันตรายมากกว่าสายพันธุ์เดิม โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อในเด็กเพิ่มมากขึ้นด้วย ที่สำคัญในการลดการแพร่ระบาดและอัตราการเสียชีวิตจะต้องมีสัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนที่มากพอ ประมาณ 50% ขึ้นไป โดยหลายประเทศส่วนใหญ่คล้ายกันคือฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงก่อน คือปล่อยให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ แต่ขออย่าให้เสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยก็ทำเหมือนกัน และยังคงต้องรักษามาตรการส่วนบุคคล…."
ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิดที่ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่แตะหลักหมื่นนับตั้งแต่ช่วง เม.ย.2564 ที่ผ่านมา และการเข้ามาแทนที่ของสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) สถานการณ์ขณะนี้ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างไร และทิศทางในอนาลคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลจากงานเสวนา ‘COVID-19 SOLUTION AND FUTURE’ ที่จัดโดยมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ มีรายละเอียดดังนี้
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพบาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้เตือนถึงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้าว่ามีกว่า 98 ประเทศที่พบเชื้อกลายพันธุ์นี้แล้ว และเรากำลังตกอยู่ในช่วงระยะเวลาของการระบาดที่อันตราย เพราะสายพันธุ์เดลต้าสามารถแพร่ระบาดได้เร็วและมีแนวโน้มทำให้ป่วยรุนแรงมากขึ้น
ต่อมาในช่วง 30 ก.ค.2564 WHO ได้ออกมาเตือนเป็นครั้งที่ 2 อีกว่า ตอนนี้สายพันธุ์เดลต้ากระจายไป 132 ประเทศแล้ว ซึ่งเร็วและรุนแรงกว่าที่คาดคิด ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 80% อย่างไรก็ตามแม้ตอนนี้จะมีสายพันธุ์มิว เกิดขึ้นด้วยแต่ขอประชาชนอย่าเพิ่งกังวล เพราะสายพันธุ์มิว ยังถูกจัดให้อยู่ในระดับ ‘สายพันธุ์ที่น่าสนใจ’ หรือ ‘Variants of Interest’ เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นเป็น ‘สายพันธุ์ที่น่ากังวล’ หรือ ‘Variants of Concern’ เหมือนอย่างสายพันธุ์เดลต้า
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หากดูกราฟสถานการณ์การระบาดของโลก จะพบว่าในช่วงเดือน มิ.ย.2564 เป็นช่วงที่หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนจำนวนมาก และยังไม่มีสายพันธุ์เดลต้าเข้ามา กราฟยอดผู้ติดเชื้อลดลงไปอยู่ช่วงหนึ่ง ลดลงมาจาก 800,000 ราย เหลืออยู่ที่ประมาณ 300,000 รายต่อวัน และอัตราผู้เสียชีวิตก็ลดลงมาจากหลักหมื่นราย เหลือ 3,000 รายต่อวัน แต่หลังจากนั้นเมื่อเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้ากระจายไปในหลายๆ ประเทศ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 600,000 ต่อราย แต่อัตราผู้เสียชีวิตกลับไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเหมือนยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากฉีดวัคซีน โดยปัจจุบันฉีดวัคซีน 5,633,240,415 โดส คิดเป็นค่าเฉลี่ยฉีดได้วันละประมาณ 35,015,662 โดส จากประชากรทั้งหมด 7,892,198,490 คน
ทั้งนี้หากดูสถานการณ์การระบาดในสหรัฐอเมริกาจะพบว่า หลังจากสายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาด ตอนนี้กระจายไปแทบทุกรัฐแล้วแทนที่สายพันธุ์เดิม ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น เกือบเท่ากับช่วงพีคของสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ยังไม่มีการฉีดวัคซีน แต่ด้วยสหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนไปแล้ว 377,622,065 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก คิดเป็น 62.7% และเข็มที่ 2 คิดเป็น 53.4% ทำให้อัตราการเสียชีวิตในช่วงที่เคยสูงที่สุดอยู่ที่ 3,000-4,000 ราย ตอนนี้เหลืออัตราการเสียชีวิตอยู่ที่หลัก 1,000 ราย และในจำนวนผู้เสียชีวิตนี้ โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบโดส
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า จากการที่สายพันธุ์เดลต้า กลายเป็นสายพันธุ์ สหรัฐอเมริกาจึงได้มีการปรับแผนการรับมือโควิดให้ประชาชนกลับมาฉีดวัคซีนให้ครบ กลับมาใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่เสี่ยงต่อการกระบาด หลังเมื่อเดือน พ.ค.เคยประกาศให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยแล้ว และได้มีการออกมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน และมีมาตรการให้ลูกค้าต้องฉีดวัคซีนครบถึงจะเข้าร้านค้าหรือสถานประกอบการต่างๆได้
ส่วนสถานการณ์ในฝรั่งเศส ตอนนี้ฉีดวัคซีนแล้ว 90,420,409 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก คิดเป็น 75.9% และเข็มที่ 2 คิดเป็น 71.1% ทำให้การควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศค่อนข้างดี แสดงให้เห็นว่าจำนวนการฉีดวัคซีนทั้งเข็มแรกและเข็มที่ 2 ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน มีผลต่อการควบคุมสถานการณ์ โดยปัจจุบันแม้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศที่สายพันธุ์เดลต้า กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดอยู่ในประเทศ ทำให้เข้าสู่การระบาดในระลอกที่ 4 รัฐบาลจึงออกมาตรการ Health Pass ให้ผุ้ที่เข้ารับบริการในสถานบริการต่างๆ มีผลการตรวจว่าไม่พบเชื้อ เพิ่งหายจากการติดโควิด หรือได้รับวัคซีนแล้ว ทั้งนี้ได้บังคับให้บุคลากรด่านหน้าต้องรับวัคซีน และออกมาตราการปรับสถานให้บริการต่างๆ ถ้าไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค
และในประเทศอิตาลี ฉีดวัคซีนแล้ว 80,124,273 โดส แบ่งเป็น เข็มแรก 243,703 โดส คิดเป็น 72% และเข็มที่ 2 คิดเป็น 65.2% ทำให้แม้จะเผชิญกับสายพันธุ์เดลต้าครอบคลุมกว่า 94.8% มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูง แต่อัตราผู้เสียชีวิตตอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันได้มีการปรับแผนการรับมือโควิดเกี่ยวกับการเดินทางในประเทศ และมีการใช้ Health Certificate เพื่อตรวจสอบว่าฉีดวัคซีนครบโดสรือไม่ และมีผลตรวจพบเชื้อหรือไม่
แต่สำหรับประเทศออสเตรเลีย ที่ฉีดวัคซีนได้เพียง 21,850,954 โดส ฉีดเข็มแรกได้เพียง 52.5% และเข็มที่สอง 31.9% ทำให้ขณะนี้มียอดติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมา และพบผู้ติดเชื้อในเด็กเพิ่มมากขึ้น แต่รัฐบาลได้รีบสั่งล็อกดาวน์ไปแล้ว ซึ่งเหมือนกับที่ผ่านมาก่อนหน้านี้หลายๆ อย่างออสเตรเลียรีบคุมเข้มมาตรการมาก จึงทำให้เขาสามารถควบคุมการระบาดได้ดี และมียอดผู้เสียชีวิตในอัตราต่ำ
ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 38,174,738 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 คิดเป็น 37.3% และเข็มที่สอง 31.9% ในกราฟยอดผู้ติดเชื้อรายวันดูเป็นเหมือนขาลง และอัตราเสียชีวิตลดลง แต่ขอประชาชนอย่าเพิ่งการ์ดตก ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัดต่อไป
“สถานการณ์ทั่วโลกตอนนี้สะท้อนให้เห็นว่าสายพันธุ์เดลต้า ไม่เพียงแพร่ระบาดได้เร็ว แต่ก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงและอันตรายมากกว่าสายพันธุ์เดิม โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อในเด็กเพิ่มมากขึ้นด้วย ที่สำคัญในการลดการแพร่ระบาดและอัตราการเสียชีวิตจะต้องมีสัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนที่มากพอ ประมาณ 50% ขึ้นไป โดยหลายประเทศส่วนใหญ่คล้ายกันคือฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงก่อน คือปล่อยให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ แต่ขออย่าให้เสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยก็ทำเหมือนกัน และยังคงต้องรักษามาตรการส่วนบุคคล” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
‘Universal Prevention - Covid Free Setting’ กลยุทธ์ใหม่สู้โควิด
ด้าน ศ.นพ.อุดม คชินทร รองประธานที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) กล่าวอีกว่า สถานการณ์การระบาดภายในประเทศไทยตอนนี้เรามีสายพันธุ์เดลต้ากลายเป็นสายพันธุ์หลัก ทำให้การระบาดระลอกใหม่นี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่ในช่วงเดือน ก.ย.นี้ กราฟยอดผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง เป็นผลมาจากการคลายล็อกดาวน์ในเดือนที่ผ่านมา แต่ตอนนี้เราได้มีการปลดล็อกแล้ว ดังนั้นขออย่าเพิ่งการ์ดตก กราฟยอดผู้ติดเชื้อและเพิ่มสูงอีกหรือไม่ อยู่ที่เราร่วมมือกันหลังจากนี้
นอกจากนี้จากสถิติผู้ติดเชื้อแฝง จากกระทรวงสาธารณสุข ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและไม่เคยตรวจหาเชื้อโควิด 5-6 เท่าของจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยัน แสดงว่าตอนนี้เชื้อกระจายไปหมดแล้ว เราจึงเห็นการติดเชื้อในบุคคลใกล้ชิด ในครอบครับ ที่ทำงาน และในชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง
สถานการณ์การระบาดที่เปลี่ยนแปลงไป และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะจบเมื่อไร ทำให้ตอนนี้เราต้องมีการปรับกลยุทธ์ตามไปด้วย ซึ่งการฉีดวัคซีนแม้จะเป็นทางออกที่สำคัญ แต่การฉีดวัคซีนนั้น ไม่สามารถป้องกันโควิดได้ 100% แต่ประโยชน์ของวัคซีน คือการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ดังนั้นเราจึงต้องมีมาตรการส่วนบุคคลมาตรการอยู่ร่วมกัน ที่เคร่งครัดในทุกที่ทุกเวลาด้วย โดยยึดตามหลักการ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) และ Covid-Free Setting ซึ่งเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ทั้งทางการแพทย์และเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปด้วยกัน
สำหรับ มาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิดแบบครอบจักรวาล คือ การให้ทุกคนคิดเสมอว่าเราอาจติดโควิดโดยไม่รู้ตัวและไม่มีอาการ รวมทั้งคนทุกคนที่อยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะสนิทแค่ไหน อาจเป็นผู้ติดเชื้อโควิดแฝงทั้งหมดและอาจแพร่เชื้อมาให้เราได้ เราจึงต้องป้องกันอย่างสุดความสามารถที่จะไม่ให้ตนเองไปรับเชื้อโควิด หรือแพร่เชื้อโควิดให้ผู้อื่น โดยสามารถทำได้ดังนี้
- ออกจากบ้านเมื่อจำเป็น
- เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่
- สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากาผ้าตลอดเวลา
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนกินข้าว ไอ จาม หรือสัมผัสวัตถุสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้มือถือสัมผัสหน้ากากอนามัย โดยไม่จำเป็น เพราะจากผลการศึกษาพบว่าด้านหน้าของหน้ากากอนามัยเป็นแหล่งสะสมของเชื้อต่างๆ หากไปสัมผัสแล้วนำไป
- จับหน้าหรือตาต่อ อาจเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ
- ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน
- ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ
- แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด
- เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ เพราะเชื้อไวรัสจะตายเมื่อเจออุณหภูมิตั้งแต่ 60 องศาเซลเซียส
- หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ให้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK บ่อยๆ เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
"Universal Prevention ถือเป็นมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิดคล้ายกับการฉีดวัคซีน แต่เป็นวัคซีนที่ไม่ได้อยู่ในขวด ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ดีที่สุด" ศ.นพ.อุดม กล่าว
ส่วน มาตรการ COVID-Free Setting คือ มาตรการสำหรับองค์กรที่จะต้องจัดสถานประกอบการณ์ให้สะอาดปลอดภัย ไม่แออัด และมีการเว้นระยะห่าง นอกจากนั้นจะต้องมีการฉีดวัคซีนให้พนักงานและตรวจหาเชื้อโควิดด้วย ATK ทุกสัปดาห์ รวมถึงอาจแนะนำให้ลูกค้ามีบัตร Green Card หรือ Yellow Card เพื่อแสดงว่าตนเองได้รับวัคซีน หรือมีการตรวจหาเชื้อโควิดแล้ว มีผลเป็นลบ
ภาพ: การคาดการณ์เชื้อโควิดในอนาคต
ลดโควิดกลายพันธุ์ ต้องกดผู้ติดเชื้อให้ต่ำ
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธรรมชาติของเชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์ตามระยะเวลาเล็กๆ น้อยๆ อยู่แล้ว ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของไวรัสอยู่ที่ 24 ตำแหน่งปี หรือเดือนละ 2 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะเป็นการกลายพันธุ์เล็กน้อย แต่ในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสะสมมากๆ จะกลายเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดปัจจัยการดื้อยาและวัคซีนได้
ยกตัวอย่างเช่น การระบาดที่อังกฤษ หากเรายังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ เกิดการระบาดหนัก มีการสะสมการกลายพันธุ์มากเข้า จะทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา อย่างสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ)
“ในสถานการณ์ปัจจุบัน แน่นอนว่าเราไม่สามารถควบคุมการรระบาดจากคนแพร่สู่คนได้ และการเกิดการระบาดรอบโลกเป็นปัจจัยที่คุมได้ยาก ดังนั้นเมื่อยังมีการระบาด การกลายพันธุ์ย่อมเกิดขึ้น เพียงแต่เราจะต้องไม่ปล่อยให้เกิดการระบาดหนัก จนเกิดการสะสมของไวรัสกลายพันธุ์ขที่จะกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ ดังนั้นการกดให้ผู้ติดเชื้อต่ำที่สุด จึงเป็นแนวทางหลักในตอนนี้” ผศ.นพ.โอภาส กล่าว
ผศ.นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า กลไกการระบาดของโควิด เราไม่อาจรู้ได้ว่าสุดท้ายแล้วจะจบลงที่ตรงไหน แต่อาจะเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ 1.จะเกิดการระบาดเป็นฤดูกาล เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ หรือ 2. จะเป็นโรคที่เชื้อไวรัสอ่อนกำลังลงมาก เหมือนกับอาการป่วยธรรมดา ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือการต่อสู้กับโควิด ได้แก่ การมีวัคซีนที่มีคุณภาพที่พอดี มีการรักษาที่ดี และต้องมียาที่ดี
วัคซีนไขว้ทางออกใหม่ของไทย รับมือโควิด
ขณะเดียวกัน ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกและอาจารย์โรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเรื่องวัคซีนด้วยว่า สำหรับวัคซีนปัจจุบัน มี 4 รูปแบบ mRNA, Viral Vector, Protein Subunit และ Inactivated Virus ซึ่งแต่ละชนิดต่างป้องกันอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดีใกล้เคียงกันหมด แต่ในการป้องกันโรคโควิดนั้นจะพบว่าวัคซีนชนิด Inactivated Virus ที่ประเทศไทยใช้อยู่นั้น เช่น วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพอยู่ที่ประมาณ 50-80% ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพกว่า 90%
ศ.พญ.กุลกัญญา อีกว่า ในการต่อสู้กับโควิด ที่มีเชื้อสามารถกระจายได้ไวและกว้าง ดังนั้นเราจึงต้องการวัคซีนที่มีคุณภาพที่ดีพอ เราจึงต้องสิ่งที่มีอยู่ดึงให้เป็นจุดเด่นให้ได้ ทำให้เราเริ่มคิดถึงการฉีดวัคซีนไขว้ และการฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นบูสเตอร์ หลังจากนั้นเราได้ทำการศึกษาและต่อมาเราพบว่าวัคซีนซิโนแวค จะเป็นวัคซีนเข็มแรกได้ดี และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า รวมถึงไฟเซอร์ จะเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ดีเช่นเดียวกัน จึงเป็นที่มาของสูตรวัคซีนทั้ง 4 สูตรที่เราใช้กันในปัจจุบัน ดังนี้
- วัคซีนซิโนแวค + วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
- วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า + วัคซีนไฟเซอร์
- วัคซีนซิโนแวค + วัคซีนซิโนแวค + วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
- วัคซีนซิโนแวค + วัคซีนซิโนแวค + วัคซีนไฟเซอร์
ส่วนการฉีดวัคซีนของหญิงตั้งครรภ์ ที่ตอนนี้พบการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตสูง และมีผู้ติดวัคซีนเข็มแรกอยู่ที่อัตรา 10% เท่านั้น เราจึงอยากแนะนำให้ฉีดในหญิงที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ ให้มารับวัคซีน ซึ่งสามารถฉีดได้ทั้งวัคซีนซิโนแวค วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า และวัคซีนชนิด mRNA พร้อมยืนยันว่าวัคซีนจะไม่ทำให้แท้งหรือเป็นอันตรายต่อทารก
แต่สำหรับเด็ก มีข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า ปัจจุบันวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรปแล้วว่าให้ฉีดกับเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปี ขึ้นไปได้ ดังนั้นเราจะให้เด็กได้รับวัคซีน 2 ชนิดนี้ก่อน แต่เนื่องจากวัคซีนชนิด mRNA มีสิ่งที่ต้องระวังคือการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ ซึ่งจะพบมากหลังฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเข็มที่ 2 ในเด็กชายอายุ 12-15 ปี คืออัตรา 1 ใน 20,000 ราย เราจึงแบ่งให้เด็กอายุ 16-18 ปีและเด็กอายุ 12-15 ปี เฉพาะกลุ่มที่มีโรคเสี่ยงเรื้อรัง ฉีดวัคซีนได้ก่อน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage