"...“คอร์รัปชันในการจัดทำงบประมาณ” เป็นผลพวงของ คอร์รัปชันในกระบวนการนิติบัญญัติ + ผลประโยชน์ทับซ้อน + โกงงบกลาง + การสมคบคิด + ผลัดกันเกาหลัง + Organized Crime เป็นการโกงชาติจากต้นน้ำที่มีคนรู้เห็นมากมายและตกเป็นข่าวทุกปี แต่ยังไม่มีใครทำอะไรได้..."
.........................................
ปีนี้มีปัญหาร่ำลือกันมากคือ “งบกลาง” กับ “งบจังหวัดและกลุ่มจังหวัด” เรื่องหลังนี้พูดกันมาหลายปีแต่ก็ยังทำให้เห็นทำกันอยู่
งบกลาง..
- “งบกลาง” ปรกติมีวงเงินราว 4 - 5 แสนล้านบาทต่อปีหรือ 2.8% ของงบทั้งหมด แบ่งใช้เป็น 3 ก้อน 1) สำหรับงานบุคคล เบี้ยหวัด บำนาญ ฯลฯ 2) ภาระกิจเกี่ยวกับสำนักพระราชวัง 3) เงินสำรองฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วน
- เงินทอน (kick back) จากงบกลาง “ถ้ามี” จะเกี่ยวกับเงินก้อนที่ 3 ซึ่งน่าติดตามมากเพราะจะมีการอ้างว่าจำเป็นต้องใช้เพราะผลกระทบจากโควิด แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สร้างงานในพื้นที่ ฯลฯ เรื่องไหนจริงหรือไม่พิสูจน์ยาก มีแต่คนใน คนวางแผนและผู้มีประสบการณ์ตรงเท่านั้นที่รู้
งบจังหวัด..
- มีการตั้งงบลงทุนสำหรับกลุ่มจังหวัดและจังหวัด หลายจังหวัดดูงบแล้วเกิดประโยชน์ แต่หลายจังหวัด 1) เน้นสร้างซ่อม/สร้างถนน ขุดบ่อน้ำ น่าสนใจว่า 2) ทำแบบนี้มาหลายปีชาวบ้านได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง 3) ตั้งงบรายการละ 50 ล้านบาทเท่ากัน (ดูภาพประกอบ) น่าสงสัยว่าตั้งงบไปก่อนค่อยหาที่ทำหรือหากมีงานต้องทำอยู่แล้ว ทำไมทุกที่เท่ากันหมด ทำไมมีทั้งในงบจังหวัดและงบกลุ่มจังหวัด
- โดยรวมมีพิรุธมาก และมีข้อสังเกตว่า ความแตกต่างที่กล่าวมา “สัมพันธ์กับนักการเมืองในพื้นที่และคนเป็นผู้ว่าฯ”
ภาพรวม..
- นักการเมืองวางสายคุมการจัดทำงบเฉพาะกลุ่มเฉพาะทาง แบ่งอิทธิพลเหนือพื้นที่ - หน่วยงาน ทำให้เกิดความชำนาญและช่องทางเจรจาจนเป็นที่รู้กัน ว่าเมื่อจะตั้งงบหรืองบอนุมัติแล้วใครต้องการอะไรให้มาคุยกัน เช่น บางคนคุมงบมหาวิทยาลัย บางคนคุมงบวิจัย
- พฤติกรรมแย่งกันส่งพวกพ้องไปนั่งเป็นอนุกรรมาธิการมีให้เห็นเป็นปรกติ แต่ยังมีที่ส่งน้อง ภรรยา ญาติ ไปเป็นอนุฯ ด้วยขณะที่ตัวเองคุมหน่วยงานรับงบประมาณ จึงไม่แปลกที่มีข่าวว่าการพิจารณางบบางหน่วยงานมีคนออกปากให้ที่ประชุมเห็นชอบ โดยไม่พิจารณารายละเอียด
- หลายหน่วยงานเริ่มรู้ทาง ยอมให้ตัดลดงบประมาณโดยตัดรายการ “เงินค่างวด” การก่อสร้างหรือทำโครงการที่ค้างอยู่หรือเชื่อว่าเบิกไม่ทันแน่ ข้อดีคือเขาเตรียมข้อมูลมาดี แต่ที่น่าเห็นใจคือหน่วยงานจะปล่อยให้โครงการเหล่านั้นล่าช้าไปเรื่อยๆ
- ปีนี้ทุกหน่วยงานถูกลดงบฯ ส่วนมากแก้ไขโดยเอา “ทุนสำรองเงินสะสม” ของตนมาใช้ก่อน
- สถาบันวิเคราะห์งบประมาณประจำรัฐสภา ยังไม่เป็นที่ยอมรับของนักการเมืองทุกฝ่าย ข้าราชการทั่วไป และนักวิชาการ อาจเป็นเพราะอิทธิพลของนักการเมืองและขีดความสามารถของบุคลากรเอง
“คอร์รัปชันในการจัดทำงบประมาณ” เป็นผลพวงของ คอร์รัปชันในกระบวนการนิติบัญญัติ + ผลประโยชน์ทับซ้อน + โกงงบกลาง + การสมคบคิด + ผลัดกันเกาหลัง + Organized Crime เป็นการโกงชาติจากต้นน้ำที่มีคนรู้เห็นมากมายและตกเป็นข่าวทุกปี แต่ยังไม่มีใครทำอะไรได้
ถึงเวลาที่คนไทยต้องตั้งคำถามว่า “จะทำให้กระบวนการจัดทำงบประมาณแผ่นดินโปร่งใสได้อย่างไร” และ “เราจะสร้างกลไกกลติดตามตรวจสอบการใช้ให้โปร่งใสได้อย่างไร”
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ