"..ความลำบากของแรงงานข้ามชาติ ไม่ได้มาจากการแพร่ระบาดของไวรัสเพียงอย่างเดียว แต่มีสาเหตุมาจากโครงสร้างระบบที่ไม่เอื้อ ที่ไม่มองไม่เห็นชีวิตจริงที่ต้องดิ้นรนในประเทศของเรา ทั้งที่แรงข้ามข้ามชาติเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเจริญให้กับประเทศไทย แต่ภาครัฐไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญ ออกกฎมาไม่เอื้อหรือช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการซ้ำเติม เหมือนเป็นการฆ่าพวกเขาซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า.."
-------------------------------------------------------
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2564 ในหัวข้อ #แรงงานข้ามชาติ #แรงงานร่วมชาติ เพื่อนร่วมทุกข์ในโควิด
ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนในสังคมบางครั้งอาจจะมีภาพจำของ 'แรงงานข้ามชาติ' ว่าพูดไม่รู้เรื่อง พูดไม่ชัด แต่จริงๆ แล้วแรงงานข้ามชาติ ก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับทุกคน มีความฝัน มีความหวัง อยากมีอนาคตไม่ต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม และมีความหลากหลายเช่นเดียวกัน
"ถ้าเรามองไม่เห็นวามหลากหลายของเขา เท่ากับว่าเรามองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา เขามีความฝันเค้ามีความหวัง อยากมีอนาคตไม่ต่างจากอะไรกับเรา"
ดร.บุษบงก์ กล่าวด้วยว่า 'แรงงานข้ามชาติ' เป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย เช่น ตลาดคลองเตย ถ้าไม่มีแรงงานข้ามชาติ ก็ไม่สามารถเปิดได้ตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนที่เป็นมา และในสถานการณ์โควิดทำให้ต้องปิด เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ เช่นเดียวกับ กรณีที่จังหวัดสมุทรสาคร ถ้าไม่มีแรงงานข้ามชาติ หลายโรงงานต้องปิดตัวทันที เพราะไม่มีคนทำงาน และงานบางอย่าง จำเป็นต้องใช้แรงงานคน
ดร.บุษบงก์ กล่าวถึงปัญหาที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญในยุคโควิดว่า แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกับความยากลำบากในสถานการณ์โควิด-19 จากหลายมิติ เช่น กรณีแรงงานชาวเมียนมา หลังจากการระบาดคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้ง แรงงานบางส่วนเตรียมตัวเดินทางกลับประเทศ แต่เกิดการปฏิวัติประเทศ ทำให้ไม่สามารถกลับได้ ส่งเงินกลับไปให้ที่บ้านก็ไม่ได้ แต่ถ้าจะอยู่ที่ไทยต่อ ก็ตกงาน อีกทั้งแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ไม่ได้มีเงินสำรองเก็บไว้สำหรับฉุกเฉิน เนื่องจากเงินที่ได้ก็ไม่สูงมากนัก และเมื่อได้เงินมา ส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ส่งกลับบ้าน ส่วนค่าเช่าห้อง ส่วนค่ากิน และส่วนสุดท้าย สำหรับการต่อใบอนุญาต หรือเอกสารต่างๆ ที่ต้องจ่ายทุกปี รวมถึงค่าตรวจโควิด เมื่อรวมค่าใช้จ่ายแล้วประมาณได้ 9 พันกว่าบาท แต่เมื่อถึงเวลาจ่ายจริงเสียทั้งหมดหมื่นกว่าบาท
อีกทั้งช่วงที่มีการระบาดของโควิด ทำให้แรงงานข้ามชาติ ต้องต่ออายุเอกสารต่างๆ ใหม่ และจากสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำงานได้ และเป็นภาวะฉุกเฉิน ทำให้บางส่วนไม่สามารถต่อเอกสารได้ และกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แรงงานเถื่อน และส่งผลกระทบเป็นปัญหาอีกหลายทอด เช่น ไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ และเมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานมีไม่มาก เวลาติดโควิด-19 ทำให้สูญเสียรายได้ จึงหลบหนี เพื่อหารายได้ดำรงชีพต่อ อีกทั้งสำหรับแรงงานที่จ่ายค่าประกันสังคม จ่ายค่าลงทะเบียน จ่ายมาตลอด แต่พอถึงเวลา รัฐไม่ดูแล
ดร.บุษบงก์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความลำบากของแรงงานข้ามชาติ ไม่ได้มาจากการแพร่ระบาดของไวรัสเพียงอย่างเดียว แต่มีสาเหตุมาจากโครงสร้างระบบที่ไม่เอื้อ ที่ไม่มองไม่เห็นชีวิตจริงที่ต้องดิ้นรนในประเทศของเรา ทั้งที่แรงข้ามข้ามชาติเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเจริญให้กับประเทศไทย แต่ภาครัฐไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญ ออกกฎมาไม่เอื้อหรือช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการซ้ำเติม เหมือนเป็นการฆ่าพวกเขาซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า
@ อยากกลับบ้าน เพราะรู้ว่าไทยมีวัคซีนไม่พอ
ดร.สาลี เซ็ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติในไทย มีอยู่ราว 2 ล้านกว่าราย แต่ลงทะเบียนอย่างถูกต้องแล้วเพียง 10% เหลืออีกประมาณสองล้านรายที่ไม่มีเอกสาร อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ประกอบอาชีพ เช่น ก่อสร้าง ลงเรือประมง ร้านอาหาร และแม่บ้าน
จากสถานการณ์โควิด แรงงานข้ามชาติ ประกอบปัญหาไม่ต่างกัน เช่น ไม่มีงานทำ มาตรการสั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ เนื่องจากมาตรการปิดพรมแดน อีกทั้งทางประเทศต้นทางก็รับไม่ไหว เช่น มีแรงงานชาวกัมพูชา ต้องการเดินทางกลับประเทศ แต่ทางฝั่งประเทศกัมพูชาไม่สามารถเปิดรับการเดินทางของคนจำนวนมากได้ขนาดนั้น ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ที่ต้องการเดินทางกลับบ้าน เพราะต้องการฉีดวัคซีน เนื่องจากรู้ว่าประเทศไทยไม่มีวัคซีนสำหรับพวกเขา รวมถึงปัญหาของคนในสังคม ที่มองว่าแรงงานข้ามชาติ เป็นตัวเชื้อโรค เป็นคนกระจายเชื้อ เป็นที่รังเกียจในชุมนุม
ดร.สาลี กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ ตัวเลขจากองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติ รายงานว่า มีชาวกัมพูชาต้องการกลับประเทศมากถึง 1 แสนคน แต่ทางประเทศรับได้แค่วันรละ 500 คน ทำให้ ต้องรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณชายแดน โรงเรียนและสถานที่ต่างๆ บริเวณชายแดน ถูกปรับให้เป็นสถานที่กักตัวเกือบทั้งหมด อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศกัมพูชาก็อยู่ในขั้นวิกฤติ ทำให้ภาครัฐมุ่งทำงานรับมือกับผู้ติดเชื้อในประเทศ และมองข้ามแรงงานกัมพูชาที่ทำงานที่ไทย
"แรงงานที่ค้างอยู่และต้องการกลับส่วนใหญ่ ความต้องการแรกของเขาเพราะเขาอยากไปฉีดวัคซีน เพราะเขารู้ว่าที่ไทยไม่พอ ความต้องการที่สอง ข้าวกิน เพราะตกงาน ความต้องการที่สาม ความเข้าใจจากคนในชุมชน ไม่คิดว่าเค้าเป็นตัวแพร่เชื้อ และเมื่อกลับประเทศกัมพูชาได้แล้ว ความต้องการแรกคือ สถานที่กักตัว และต่อมาคือ ความเป็นอยู่ งาน เพื่อพอเลี้ยงตัวเองต่อไปได้"
@ แรงงานต่างด้าวรับผิดชอบตัวเองมาโดยตลอด
ด้าน นายศิววงศ์ สุขทวี Migrant Working Group กล่าาว่า ในแง่ของนโยบาย อาจจะแยกจำนวนคนต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยแบบพิเศษเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1) กลุ่มที่เข้ามาตามข้อตกลงระหว่างประเทศ 2) กลุ่มที่เข้ามาก่อนหน้านี้รับการผ่อนผันโดยที่ยังไม่มีเอกสารอะไรเลย มีประมาณ 2-3 ล้านคน 3) กลุ่มคนต่างด้าวที่ไม่ได้เดินทางเข้าประเทศ แต่อาศัยอยู่แบบไร้สัญชาติ เรียกว่าคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติไทย ประมาณ 5 แสนคน จำนวนหนึ่งยังเป็นคนไม่มีเอกสาร เป็นปัญหาที่เกิดการทับซ้อนกันระหว่างคนที่เดินทางเข้ามาไม่มีเอกสารกับคนที่เกิดที่ไทยแต่ไร้สัญชาติ และ 4) กลุ่มที่ภัยเข้ามา ส่วนใหญ่ที่สุดจะหนีภัยการสู้รบและเข้ามาหลบภัยตามชายแดน ประมาณแสนกว่าคน รองลงมาคือผู้ลี้ภัยในเมืองที่ไม่มีสิทธิ์อยู่อาศัยในไทย เกือบหมื่นคน และจากแนวโน้มล่าสุด เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงในพม่าเกิดขึ้น มีแนวโน้มจะหลบหนีเข้ามาจากพม่ามากขึ้น คร่าวๆ ประมาณแสนห้าคน
นายศิววงศ์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาของแรงงานข้ามชาติในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นปัญหาใหม่ แต่เป็นการตอกย้ำปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้มากกว่า โดยสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เรื่องนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ เป็นผลมาจากการต่อรองกันมาตลอดระหว่างผู้ประกอบการเอกชนกับ หน่วยงานความมั่นคงของไทย พอมีการต่อรอง ก็เกิดการประนีประนอมทั้งสองฝ่าย อนุญาตให้นำแรงงานเข้ามาแต่อยู่ภายใต้นโยบายที่เคร่งครัดมาก มีอุปสรรคมากมาย มีการขออนุญาตทำงาน มีการรายงานตัว ถือว่าเป็นการอนุญาตเข้ามาโดยไม่ได้ตั้งใจอย่างจริงจังของภาครัฐ
โดยสถานการณ์ผู้ประกอบการยังต้องการแรงงานอยู่ แรงงานก็อยากเข้ามา แต่เนื่องด้วยข้อตกลงที่ทำอยู่ ไม่เอื้อให้เกิดขึ้นอย่างง่ายๆ กระบวนการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ประเทศต้นทางจนเข้ามาในประเทศไทย และค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้ามาอย่างถูกกฎหมายสูงกว่าเข้ามาโดยผิดกฎหมาย
ส่วนคำถามว่าทำไมรัฐต้องมารับผิดชอบภาระค่าดูแลต่างๆ นายศิววกรณ์ กล่าวว่า ถ้ามองจากสถานการณ์อาจจะเป็นเช่นนั้น แต่แท้จริงแล้วรัฐไทยพยายามผลักภาระให้แรงงานข้ามชาติต้องจัดการกันเองหมดแล้ว แรงงานต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าประกันสุขภาพของตัวเองมาโดยตลอด แม้ว่าจะไม่มีเงินมาก่อน ก็ต้องหาที่กู้ยืมมาก่อน จึงเป็นเรื่องที่พูดยากมากว่า รัฐรับภาระมาทั้งหมด ทั้งที่จริงแล้ว พวกเขารับภาระเองมาโดยตลอด นอกจากต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ พอเข้ามาทำงานต้องจ่ายค่าประกันสังคมอีก แต่พอถึงเวลาจริงๆ กลับไม่ดูแลพวกเขา
"เรื่องแรงงานข้ามชาติ เดิมเป็นความต้องการจากภาคเอกชนมาโดยตลอด ไม่ใช่ความต้องการภาครัฐ การดูแลรักษาให้เข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลจึงไม่ถูกให้ความสำคัญเลย หรือมีน้อยมาก จึงเป็นปัญหา แต่ก็ยังมี NGO เข้าไปช่วยบ้าง ยิ่งพอสถานการณ์โควิดก็ยิ่งทำให้เห็นชัดขึ้น"
นายศิววงศ์ กล่าวถึงกรณีการระบาดของคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้ง ว่า แรงงานข้ามชาติ เป็นหนึ่งในการแพร่ระบาดในพื้นที่สมุทรสาคร ทำให้มีมาตรการปิดพื้นที่ แต่คนไทยได้รับการยกเว้นในการออกนอกพื้นที่ได้ แต่แรงงานข้ามชาติถูกห้ามโดยเด็ดขาด และยิ่งมาตอกย้ำมากขึ้นในกรณีสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ที่เรียกว่าปิดตายแบบจริงๆ สร้างความหวาดกลัวให้คนไทยต่อแรงงานข้ามชาติ และสร้างความเครียดให้ตัวแรงงานเองด้วยว่า จะอยู่กันอย่างไร จะติดต่อใครได้เมื่อเจ็บป่วยหรือจะรักษาได้ไหม เนื่องจากพูดหรือเรียกร้องอะไรไม่ได้
"โควิดทำให้หลายคนพูดถึงการสูญเสียสถานะหรือการเข้าไม่ถึงการต่อเอกสารแรงงาน อย่างที่แจ้งไปว่าเป็นปัญหาสะท้อนจากระเบียบรัฐบาลไทยที่ทำให้ยุ่งยาก"
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage